หลายคนน่าจะได้เห็นความน่ากลัวของภัยธรรมชาติ อย่างไต้ฝุ่นยางิที่ถล่มประเทศเวียดนามจนมีคนเสียชีวิตแล้ว
ซึ่งสิ่งที่มักถูกพูดถึงตามมาหลังภัยพิบัติ คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเรามักเข้าใจว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างโลกร้อนทำให้เกิดภัยพิบัติบ่อยขึ้น แต่จากข้อมูลการศึกษาส่วนหนึ่งพบว่าการที่โลกร้อนขึ้นไม่ได้เพิ่มความถี่ของไต้ฝุ่นชัดเจน
แต่จากการรายงานของ IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ในปี 2024 พบว่าปัญหาโลกร้อนมีส่วนทำให้ความเร็วของพายุเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไต้ฝุ่นรุนแรงและอันตรายยิ่งกว่าเดิม
ไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นชื่อใช้เรียกพายุที่มีจุดศูนย์กลางที่มหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ หรือก็คือทางตะวันออกของทวีปเอเชีย โดยมีความเร็วลมเริ่มต้นที่ 118 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจัดว่าเป็นพายุที่รุนแรงที่สุด
แต่โลกร้อนอาจทำให้ไต้ฝุ่นรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
เพราะการศึกษาอีกชิ้นได้เก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของไต้ฝุ่นมังคุดที่เคยขึ้นในปี 2018 พบว่าสาเหตุของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของพายุไต้ฝุ่น มาจากอุณหภูมิบริเวณพื้นผิวของน้ำทะเลที่สูงขึ้น 2.26 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ค่าความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเลลดลง และอาจเป็นเหตุให้ไต้ฝุ่นมังคุดรุนแรงถึง 215 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่สามารถทำลายบ้านทั้งหลังได้
ด้วยสถานการณ์โลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกวัน อาจส่งผลให้อนาคตอันใกล้ ทั่วทั้งโลกอาจต้องเจอกับพายุที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นได้