ใครจะดูหนังที่บ้านให้เต็มอารมณ์ แค่ลงทุนกับ TV จอใหญ่ๆ อย่างเดียวมันไม่จบนะครับ ต้องลงทุนกับ Sound Bar ด้วย แล้วซาวด์บาร์จะเลือกให้ถูกใจต้องดูอะไรบ้าง วันนี้ผม ป๋าเต็ด จะเล่าให้ฟังครับ

รู้จักประเภทของซาวด์บาร์กันก่อนครับ วันนี้เรามีตัวอย่างมา 3 รุ่น 3 แบบหลัก ๆ ที่เห็นในท้องตลาดนะครับ

All-in-One Soundbar คือซาวด์บาร์ชิ้นเดียวจบ อย่าง Devialet Dione (เดเวียเลย์ ดียอง) รุ่นนี้ จุดเด่นของซาวด์บาร์ประเภทนี้คือวางง่ายครับ หาที่วางแค่ชิ้นเดียว ไม่ต้องมีซับวูฟเฟอร์หรือลำโพงคู่หลังให้เกะกะห้อง แต่จุดอ่อนคือให้มิติเสียงรอบทิศทางสู้แบบที่มีลำโพงหลังจริงๆ ไม่ได้ และส่วนใหญ่จะให้เบสได้ไม่หนักเท่ารุ่นที่มีซับวูฟเฟอร์แยก ยกเว้น Devialet Dione ตัวนี้นะครับ ที่แม้จะมีชิ้นเดียว แต่ก็ยังให้เบสที่หนักแน่นมาก

ซาวด์บาร์แยกชิ้น ก็คือตรงกันข้ามกับ All-in-One Soundbar ที่แต่ละส่วนประกอบแยกกันหมด เช่น Samsung HW-Q990B รุ่นนี้ มีทั้งบาร์ด้านหน้า ตัวซับวูฟเฟอร์ และลำโพงหลังอีก 1 คู่ ซึ่งข้อดีคือให้เสียง 360 องศาได้สมจริงที่สุด เพราะมีลำโพงด้านหลังจริงๆ ไม่ได้อาศัยเสียงสะท้อนหรือเสียงหลอกให้เรารู้สึกว่ามีเสียงด้านหลัง แต่ข้อเสียคือกินพื้นที่เยอะ และต้องจัดห้องพิเศษเพื่อรองรับการวางลำโพงทุกจุดครับ

สุดท้ายที่เราเตรียมมาวันนี้คือ ซาวด์บาร์ตัวเล็ก มีขนาดที่เล็กและสั้นกว่าซาวด์บาร์ทั่วไปครับ เล็กจนผมถือได้แบบนี้ครับ

2 แบบแรกมันใหญ่จนถือไม่ไหว ออกแบบมาใช้สำหรับห้องเล็กๆ หรือใช้กับทีวีขนาดเล็กกว่า 50 นิ้วที่อาจมีพื้นที่วางซาวด์บาร์จำกัด เหมาะสำหรับคนที่อยากอัปเกรดคุณภาพเสียงจากทีวี แต่ไม่มีพื้นที่มาก เช่น LG Éclair ตัวนี้ที่ยาวแค่ 30 cm เท่านั้นครับ วางง่าย วางที่ไหนก็สวย แต่ข้อเสียคือมิติเสียง และความสมบูรณ์ของเสียงก็จะสู้ซาวด์บาร์ตัวใหญ่ไม่ได้ แต่ก็เสียงดีกว่าลำโพงทีวีแน่นอนครับ

เมื่อรู้จัก Soundbar แต่ละประเภทแล้ว สิ่งต่อไปที่คุณต้องคิดคือ “พื้นที่ติดตั้ง” ครับ เรื่องนี้ถ้าคุณซื้อซาวด์บาร์ไปพร้อมๆ กับทีวีจะไม่ยากเท่าไหร่ เพราะคิดมาพร้อมกันแล้วให้ดีไซน์ของทีวีกับซาวด์บาร์สอดคล้องกัน และต้องคิดขนาดโต๊ะวางไปพร้อมกัน

แต่ถ้าซื้อซาวด์บาร์ตามหลังทีวี อย่างแรกให้วัดขนาดพื้นที่หน้าทีวีก่อน ว่าสามารถวางซาวด์บาร์ได้ถึงขนาดเท่าไหร่ อย่าง Devialet Dione ซาวด์บาร์แบบ All-in-One ตัวนี้มีความยาวถึง 1.2 เมตร ถ้าระยะห่างของขาตั้งทีวีคู่นี้กว้างไม่ถึง 1.2 เมตร ก็ต้องพิจารณาการวางพื้นที่ด้านหน้าทีวีแทน แต่ Dione ก็มีด้านกว้าง 16.5 ซม. ถ้าพื้นที่บนโต๊ะวางทีวีไม่พอ ก็ต้องหาซื้อโต๊ะแยกมาวางแทนครับ

แต่ถ้าทีวีของคุณแขวงผนังอยู่แล้ว ก็ต้องดูความเป็นไปได้ว่าจะแขวนซาวด์บาร์ติดกับผนังไปด้วย หรือหาโต๊ะมาวางใต้ทีวีที่แขวนผนังเพื่อวางซาวด์บาร์

ส่วนถ้าคุณต้องการประสบการณ์เสียงรอบทิศทางที่แท้จริง แล้วห้องคุณกว้างพอ ก็สามารถวางซาวด์บาร์แยกชิ้นอย่าง Samsung HW-Q990B ได้ ซึ่งซาวด์บาร์ยุคใหม่ก็อำนวยความสะดวกในการติดตั้งด้วยการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงไร้สายครับ สัญญาณเสียงจากบาร์ตัวหลักที่ต่อทีวี จะถูกส่งไร้สายไปถึงซับวูฟเฟอร์และลำโพงด้านหลัง ทำให้เราแค่ต่อสายไฟอย่างเดียว ไม่ต้องลากสายสัญญาณเสียงให้ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว

เรื่องต่อไปที่ต้องพิจารณาคือช่องสัญญาณเสียง ที่เราจะเห็นตัวเลขอย่าง 5.1.2 ของ Devialet Dione หรือ 3.1.2 ของ LG Éclair หรือ 11.1.4 ของ Samsung HW-Q990B ตัวเลขพวกนี้บอกอะไรเรา ตัวเลขนี้คือจำนวนช่องสัญญาณ

อย่าง 5.1.2 เลข 5 ตัวแรกคือช่องสัญญาณเสียงรอบตัวผู้ฟังมี 5 Channel คือซ้าย-กลาง-ขวา-หลังขวา-หลังซ้าย เลข 1 ตัวถัดมาคือเป็นช่องสัญญาณสำหรับเสียงต่ำหรือ Subwoofer 1 ช่อง และเลข 2 ตัวสุดท้ายคือช่องสัญญาณเสียงที่จะยิงขึ้นเพดานในระบบ Dolby Atmos

สำหรับลำโพงซาวด์บาร์ที่ใช้เพื่อดูภาพยนตร์ ผมแนะนำว่าอย่างน้อยก็ควรรองรับ 3.1 คือให้ด้านหน้ามีทั้งช่องสัญญาณเสียง ซ้าย-กลาง-ขวา เพื่อให้ได้ยินเสียงพูดชัดขึ้น และมี .1 เพื่อให้เสียงเบสชัดครับ ซึ่ง soundbar รุ่นล่าสุดก็มักจะมาในแพ็กเกจ 3.1.2 คือมีลำโพงยิงขึ้นเพดานอีก 2 ตัวสำหรับ Dolby Atmos ก็ยิ่งดีเลย

ส่วนถ้าต้องการให้ได้เสียงรอบทิศทางก็ต้องดูลำโพงที่รองรับ 5.1 Channel ขึ้นไปครับ

นอกจากช่องสัญญาณเสียงแล้ว เราต้องดูระบบเสียงที่ซาวด์บาร์รุ่นนั้นจะรองรับด้วย พื้นฐานที่สุดต้องรองรับระบบ Dolby Digital ที่ให้เสียงรอบทิศทางแบบ 5.1 Channel ครับ ซึ่งซาวด์บาร์ทั้งตลาดต้องรองรับอยู่แล้ว เราจึงแนะนำให้ดูซาวด์บาร์ที่รองรับ Dolby Atmos ไปด้วยเลย เพราะเนื้อหาในปัจจุบันทั้งจาก Netflix, Amazon Prime หรือ Apple iTunes ก็รองรับ Atmos ระบบเสียงขั้นสูงสุดของ Dolby ที่มีเสียงสะท้อนเพดานมาจากด้านบนนี้แล้วครับ

ส่วนอีกมาตรฐานหนึ่งที่แม้รับความนิยมน้อยกว่าคือ DTS แต่สำหรับคนที่นิยมดูหนังแผ่น โดยเฉพาะแผ่นที่มีเสียงในระบบ DTS ก็ต้องเลือกซาวด์บาร์ที่รองรับ DTS ครับ เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงสูงสุดที่แผ่นนั้นจะรองรับ แต่ DTS ไม่ค่อยจำเป็นสำหรับคนดูหนังผ่านสตรีมมิ่งเท่าไหร่ เพราะบริการหลักๆ ที่เราดูกันอย่าง Netflix หรือ Disney+ ไม่มีเสียงในระบบ DTS ครับ

เรื่องพอร์ตสำหรับ Sound Bar ก็เป็นเรื่องที่เราต้องรู้ก่อนซื้อซาวด์บาร์ จริง ๆ ต้องรู้ตั้งแต่ก่อนซื้อ TV เลยแหละครับ

ถ้าคุณจะซื้อทีวีใหม่ ให้เลือกทีวีที่มีพอร์ต HDMI แบบ eARC เท่านั้นครับ เพื่อให้ใช้กับซาวด์บาร์ได้ยืดหยุ่นและง่าย ทำไมต้องเป็น eARC เรื่องนี้ผมต้องเล่าย้อนไปถึงสายสัญญาณเสียงแบบ Optical เลยครับ

สมัยก่อนในยุค Home Theater แบบแยกชิ้น เราจะใช้สาย Optical ในการส่งข้อมูลจากทีวีหรือเครื่องเล่นไปสู่ชุดลำโพงกันครับ ซึ่งข้อดีของสาย Optical คือเป็นสายแบบดิจิทัล จึงให้เสียงได้คมชัด และส่งสัญญาณเสียง Dolby 5.1 หรือ DTS ได้

แต่สาย Optical มีจุดอ่อนตรงที่ใช้ส่งสัญญาณเสียงได้อย่างเดียว ไม่สามารถส่งการควบคุมไปด้วยได้ เราจึงต้องมีรีโมทควบคุมเครื่องเสียงแยกต่างหาก ไม่สามารถใช้รีโมททีวีเร่งเสียง-ลดเสียงที่ชุด Home Theater

จึงมีการพัฒนาช่องต่อ HDMI แบบ ARC หรือ Audio Return Channel ขึ้นมาในมาตรฐาน HDMI 1.4 เพื่อให้ส่งสัญญาณเสียงผ่านสาย HDMI ไปที่เครื่องเสียงได้

ซึ่งจุดเด่นของ HDMI-ARC คือทำให้ชุด Home Theater หรือซาวด์บาร์ทำงานผสานร่วมกับทีวีได้อย่างสมบูรณ์ เราใช้รีโมตทีวีเร่งเสียง-ลดเสียงได้ หรือเมื่อปิดทีวี ซาวด์บาร์ก็จะดับไปด้วย ทำให้ผู้ใช้สะดวกขึ้นมาก

แต่ HDMI-ARC ก็ยังมีข้อจำกัดที่ส่งข้อมูลได้ไม่เร็วพอสำหรับสัญญาณเสียงที่มีช่องสัญญาณเยอะๆ คือไม่เร็วพอที่จะใช้สัญญาณเสียงแบบที่ไม่บีบอัด ที่เรียกว่า LPCM หรือ DTS:X ได้ ส่วน Dolby Atmos ยังใช้บนการเชื่อมต่อแบบ ARC ได้ แต่จะใช้ได้เฉพาะ Atmos ที่บีบอัดสัญญาณเสียงมาเท่านั้น เช่นเสียง Atmos ที่มากับบริการสตรีมมิ่งต่างๆ ไม่สามารถใช้กับ Dolby Atmos ในระบบ TrueHD ที่มากับแผ่น Blu-ray ได้ จึงมีการพัฒนามาตรฐานต่อมาคือ eARC หรือ Enhanced Audio Return Channel ใน HDMI 2.1 ครับ

eARC จึงเป็นมาตรฐานการเชื่อมต่อที่ฟีเจอร์ครบที่สุดในปัจจุบัน รองรับเสียง 5.1 แบบไม่บีบอัดเลยหรือ LPCM อย่างที่เครื่อง PlayStation ส่งออกมา รองรับ Dolby Atmos ที่ส่งผ่าน TrueHD หรือ DTS:X ได้

เพราะฉะนั้นถ้าทีวีของคุณรองรับ eARC และซาวด์บาร์รองรับ eARC ด้วย ชีวิตก็ง่ายครับ เสียบสายเส้นเดียวก็ใช้ได้เต็มระบบแล้ว

แต่ทีวีไม่รองรับ eARC คุณอาจต้องดูเป็นซาวด์บาร์ที่มีช่อง HDMI In อย่าง LG Éclair ตัวนี้ เพื่อเสียบ Player อย่างเครื่องเล่นแผ่นหรือ PlayStation เข้ากับช่อง HDMI In ของซาวด์บาร์ แล้วค่อยต่อ HDMI Out จากซาวด์บาร์ไปที่ทีวี ก็จะได้เสียงเต็มคุณภาพครับ

ส่วนช่อง Optical หลังๆ ไม่ค่อยนิยมแล้ว เพราะใช้รีโมททีวีตัวเดียวสั่งงานไม่ได้ แต่ด้วยความเรียบง่ายของมันที่ส่งแต่ข้อมูลเสียงอย่างเดียว ก็ทำให้การเชื่อมต่อเสถียร ไม่ค่อยเจอปัญหาแบบเสียงไม่ออก หาซาวด์บาร์ไม่เจออย่างที่การต่อเสียงผ่าน HDMI อาจจะเจอบ้างครับฃ

เรื่องสุดท้ายที่ควรพิจารณาคือความสามารถเสริมอื่นๆ ครับ ที่ซาวด์บาร์ยุคปัจจุบันควรมีคือ Room Correction หรือระบบจูนเสียงอัตโนมัติให้เสียงดีที่สุดสำหรับห้องที่ติดตั้ง นอกจากนี้ก็ควรมีความสามารถในการปรับเสียงเบสและเสียงแหลมหรือปรับ EQ มาด้วย เพราะแต่ละคนจะชอบเสียงไม่เหมือนกัน จะได้ปรับให้ถูกใจมากขึ้นได้ครับ

ส่วนใครจะใช้ซาวด์บาร์เพื่อฟังเพลงด้วย ให้ดูความสามารถอย่าง AirPlay, Chromecast หรือ Spotify Connect เข้าไปด้วยครับ จะทำให้เราสามารถเปิดเพลงจากมือถือไปขึ้นซาวด์บาร์ได้โดยตรงผ่าน Wifi ไม่ต้องรอต่อ Bluetooth

และผมแนะนำว่าใครจะใช้ซาวด์บาร์เพื่อฟังเพลงด้วย ให้ดูรุ่นที่เปลี่ยนโหมดระหว่างการดูหนังกับฟังเพลงได้ครับ เพราะเสียงที่เราต้องการจากการดูหนังและฟังเพลงจะไม่เหมือนกัน ถ้าคุณเอาโหมดดูหนังมาฟังเพลง ซาวด์บาร์ส่วนใหญ่จะให้เพลงที่เบสบวมๆ ส่วนถ้าคุณเปิดโหมดฟังเพลงกับหนัง จะรู้สึกว่าเสียงไม่กระหึ่ม ไม่มีเบสแบบสั่นๆ

สุดท้ายที่คุณต้องตัดสินใจคือเสียงครับ เรื่องนี้ผมตัดสินใจแทนคุณไม่ได้ ต้องหาโอกาสไปนั่งฟังว่าซาวด์บาร์รุ่นที่คุณสนใจให้เสียงได้ถูกใจแค่ไหน คุณรู้สึกถึงมิติรอบทิศทางได้ชัดเจนรึเปล่า ซึ่งบางทีซาวด์บาร์ที่ราคาไม่สูง อาจจะให้เสียงถูกใจคุณมากกว่าซาวด์บาร์ราคาแพงก็เป็นไปได้ และนี่คือแบไต๋ออริจินอล เนื้อหาดีๆ ที่ตั้งใจทำเน้นๆ เพื่อคุณครับ