หลังจากที่คำว่า “Metaverse” ติดอยู่บนริมฝีปากของทุกคน บริษัทบิ๊กเทคต่าง ๆ ก็พากันวางแผนที่จะเข้าไปสร้างโลกใน Metaverse นำไปสู่การซื้อที่ดินดิจิทัลในราคาที่พุ่งสูงปรี๊ด บางแห่งมีราคาขายกันแพงกว่าที่ดินในโลกจริงด้วยซ้ำ

อย่างในเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนิวยอร์กอย่าง Republic Realm ทุ่มเงินซื้อที่ดินบน The Sandbox ในราคามากถึง 4.3 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงเป็นประกฏการณ์

นอกจากนั้นยังมีการวิเคราะห์ดัชนีราคาที่ดินทั้งหมดใน The Sandbox ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2019 ถึง มกราคม 2022 พบว่ามีราคาพุ่งสูงกว่าเดิมถึง 300 เท่า!

อะไรเป็นสาเหตุให้บริษัทยักษ์ใหญ่พากันทุ่มเงินมหาศาล เพื่อซื้อที่ดินดิจิทัลที่จับต้องไม่ได้ ไปหาคำตอบกันในรายงานพิเศษ beartai ORIGINALS ว่า “ที่ดินในเมตาเวิร์ส” ซื้อไปทำไม? ก่อนอื่นเราไปทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ที่ดินดิจิทัล” คืออะไร และซื้อขายกันยังไง

ที่ดินดิจิทัล หรือ Virtual Land คือที่ดินเสมือนจริงที่อยู่ในเกม หรือ Metaverse ที่ถูกเข้ารหัสให้อยู่ในรูปแบบของ NFT และกลายเป็น Asset ที่นักลงทุนสามารถเป็นเจ้าของและทำกำไรจากการซื้อขายได้จริง

คนที่สนใจก็สามารถเชื่อมกับกระเป๋า Crypto Wallet ของคุณ เพื่อซื้อได้จากหน้าเว็บไซต์ของผู้พัฒนาโดยตรง หรือจากตลาดซื้อขาย NFT Marketplace ก็ได้

ในตอนนี้มีค่ายเกมออนไลน์มากมาย ที่กำลังได้รับความนิยมในการซื้อขายที่ดิน ไม่ว่าจะเป็น The Sandbox, Decentraland, Cryptovoxels (คริปโตว็อกเซลส์) และแล้วในเมื่อที่ดินใน Metaverse เป็นที่ดินดิจิทัลที่จับต้องไม่ได้ ไปอยู่อาศัยจริงก็ไม่ได้ แล้วคนจะทุ่มเงินหลักล้านซื้อไปทำไมกัน?

จุดประสงค์ของการซื้อที่ดินใน Metaverse มีหลายอย่างครับ แต่ต้องยอมรับว่าโดยส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไร ทำกำไรจากส่วนต่าง ซื้อมาแล้วก็ขายไป เหมือนกับการซื้อ NFT หรือ Crypto นั่นแหละ แต่ก็มีบริษัทเทคยักษ์ใหญ่หลายบริษัทเริ่มให้ความสนใจ พากันเข้าไปลงทุน พัฒนาโปรเจกต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Samsung, Nike, Adidas, Binance, SCB 10X และแม้แต่ แร็ปเปอร์ Snoop Dogg ก็ทำโปรเจ็กต์ชื่อ MOBLAND สำหรับ “ทำฟาร์มกัญชาใน Metaverse”

ส่วนที่เหลือก็ซื้อเพื่อนำไปใช้เป็น Sand Box หรือพื้นที่ทดลองในการสร้างเกม ไอเท็ม และโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ของตัวเองหรือขององค์กรถ้าหลายคนยังสงสัยว่ารูปแบบการทำคอนเทนต์บนที่ดินดิจิทัลเป็นยังไง ผมจะอธิบายง่าย ๆ แบบนี้ครับ

NFT หรือที่ดินดิจิทัลบางโปรเจ็กต์ มีระบบเก็บข้อมูล สถิติ ว่ามีคนเข้ามาเดินเข้ามาใช้งาน เกิดจำนวนธุรกรรมบนที่ดินผืนนี้มากเท่าไหร่ ใครบ้างที่เข้ามา หรือผ่านสายตาของคนมากแค่ไหนในแต่ละวัน

ข้อมูลตัวเลขนี้ก็อาจเปรียบได้กับ ‘ยอดวิว’ หรือยอด engagement ที่สามารถใช้วิเคราะห์ ชี้วัด ประเมินมูลค่าที่ดิน หรือ NFT ชิ้นดังกล่าว หรือทั้งโปรเจ็กต์ได้ เหมือนกับที่เราประเมินมูลค่าเว็บไซต์, ยอดวิวขณะ Live, จำนวนผู้ติดตามเพจ, ผู้ติดตามช่อง YouTube ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปี ไปเล่าให้ใครฟังก็คงไม่มีใครสนใจ เข้าใจ หรือเห็นมูลค่าของตัวเลขเหล่านี้

นั่นแหละครับ เป็นไปได้ว่า ที่ดินดิจิทัล NFT ก็น่าจะถูกวัดผลในลักษณะนี้ในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า ว่าที่ดินของใครได้รับความนิยม มีคนเข้าไปมากที่สุด แต่ก็ต้องบอกว่ามีที่ดินดิจิทัลใน Metaverse หลายโครงการที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ อย่างเช่น โปรเจ็กต์ขาดความน่าสนใจ ทีมงานใช้เวลาพัฒนานานเกินไป วางแผนเรื่องการขาย จำนวนที่ดิน และ Tokenomic หรือกลไกการควบคุมปริมาณเหรียญที่ใช้ในโปรเจ็กต์ยังไม่ดีพอ ทำให้ Supply ล้นเฟ้อเกินความต้องการ บางทีมเลือกชิ่งหนีไม่พัฒนาต่อ หรือทิ้งโปรเจ็กต์ไปเฉย ๆ ก็มี
แต่ถีงเทรนด์นี้จะมาแรงยังไง แต่ก็มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าคิดเกี่ยวกับมูลค่าของที่ดินใน Metaverse อยู่ดี นั้นคือความ Multiverse ของมัน

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พื้นดินจริง ๆ ในโลกนั้นมีมูลค่ามาก เพราะมันมีพื้นเดียวจริง ๆ ในโลก คุณไม่สามารถซื้อที่ดินที่มีลักษณะเดียวกันในโลกอื่นๆ ได้อีก แต่ใน Metaverse คุณมีโลกให้ซื้อที่ดินได้นับไม่ถ้วน เช่นที่ดินบน The Sandbox, ที่ดินบน Decentraland, ที่ดินบน Translucia ที่ดินบน Metaverse Thailand และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกว่า “ใน Metaverse คุณมี Multiverse ให้เลือกโลกไปอยู่เพียบ”

แล้วถ้าตัดการเก็งกำไรออกไป มูลค่าที่ดินบน Metaverse จะขึ้นอยู่กับอะไร ก็น่าจะเป็นการได้รับการยอมรับ หรือการได้รับความนิยม ซึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้เข้าไปใช้งานในโลกนั้น ๆ อีกทั้งที่ดินในโลก Metaverse แต่ละเจ้าก็ไม่ได้อยู่ในจักรวาลเดียวกัน ถ้าคุณจะกระโดดข้ามจาก Metaverse หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ก็ต้องทำบัญชีผู้ใช้เพิ่ม ต้องลงทุนเพิ่มสำหรับการใช้งานในโลกใหม่ เพราะฉะนั้นสุดท้าย ถ้า Metaverse เกิด มันก็น่าจะเหลือรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ที่สามารถครองผู้ใช้ได้มากพอที่จะสร้างน้ำหนักในการลงทุนเพิ่มได้ ส่วนรายเล็ก ๆ ที่ดึงดูดผู้ใช้ไม่ได้ก็จะตายไปพร้อมกับที่ดินในนั้น ซึ่งปัญหาในตอนนี้คือ เราก็ยังไม่รู้ว่ารายไหนจะเติบโตกันแน่

เพราะแม้แต่โปรเจกต์ Metaverse ของพี่มาร์กเอง ก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะประสบความสำเร็จ หรือได้รับความนิยมแค่ไหน เพราะต้นทุนในการเข้าสู่โลก Meta ของมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก รวมถึงโปรเจกต์ Metaverse อื่น ๆ ยังสูงและใช้งานยากเกินกว่าจะ mass ได้ในเร็ว ๆ นี้ ทั้งตัวแว่นเองที่ยังมีราคาสูง ขนาด – น้ำหนัก – คุณภาพของภาพก็ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ในการเข้ามา ยังไม่พูดถึงความ Centralize หรือการผูกขาดอำนาจไว้กับบริษัท Meta หรือตัวบุคคลอย่างพี่มาร์กเอง ในขณะที่แพลตฟอร์มอื่นซึ่งขับเคลื่อนด้วยเทคโนโยลีบล็อกเชน และชูจุดเด่นเรื่อง Decentralize หรือการกระจายอำนาจ ปราศจากศูนย์กลาง ก็ได้รับความสนใจ และมีกระแสนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไปครับว่า Metaverse จะเป็นอีกแค่หนึ่ง buzz word ที่ผ่านมาแล้วผ่านไป หรือจะเป็นอนาคตใบใหม่ที่ผู้คนให้การยอมรับ ยอมพากันเข้าไปใช้งาน สร้างประสบการณ์ใหม่ที่ใช้งานได้จริง หรือใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบในยุคของเรา

คำตอบ อยู่อีกไม่นานเกินรอ ครับ