เรื่องของภาวะโลกร้อนที่หลัง ๆ เราเริ่มเรียกว่าภาวะโลกเดือดแทน นั้นใกล้ตัวเราไปทุกทีนะครับ เราเริ่มเห็นบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ก็สื่อสารเรื่องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมออกมาชัดเจนขึ้น ผมเองก็เริ่มต้นช่วยเหลือโลกจากตัวเองก่อน ทั้งการใช้รถ EV แทนรถสันดาปเพื่อลดการปล่อยมลพิษ พร้อมติดตั้ง Solar Cell ที่ไม่ใช่แค่ลดค่าใช้จ่ายอย่างเดียว แต่เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดด้วย ทั้งหมดนี้เพราะไม่ใช่แค่ผมเองที่ต้องอยู่ในโลกนี้ต่อไป แต่เพื่อลูกหลานที่จะมีโลกที่ดีขึ้นในอนาคตด้วย

แต่เรื่องนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าอธิบาย เพื่อให้เข้าใจภาพรวมว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่ Energy Transition หรือการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดสำคัญเพียงใด คลิปนี้ผมเล่าให้ฟังครับ
สาเหตุสำคัญของภาวะโลกเดือดคือการที่มนุษย์ปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไป ซึ่งถ้ามองลึกลงไป คาร์บอนที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมากมาจากประเภทของ ‘เชื้อเพลิง’ ที่ใช้ โดยเฉพาะเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมัน ที่เมื่อนำมาใช้ ก็คือการปลดปล่อยคาร์บอนที่เกิดเคยเก็บกักไว้ใต้ดินให้ออกมา

ข้อมูลจากคุณกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานที่กล่าวในงาน SCG ESG Symposium 2023 คือโรงไฟฟ้าในไทยยังคงใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล 70% คือใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ 53% รองลงมา 16% เป็นถ่านหิน และอีก 1% เป็นน้ำมัน ส่วนที่เหลือ 30% แบ่งเป็นพลังงานสะอาด 10% และ 20% ใช้พลังงานหมุนเวียนจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนภาคขนส่งมีรถยนต์ไฟฟ้าในท้องถนนแค่ 2% เท่านั้น

ไทยจึงต้อง “ร่วม” “เร่ง” “เปลี่ยน” มาใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืนหรือ Energy Transition ซึ่งจะช่วยกู้โลกเดือดได้มาก เพราะ 70% ของการปล่อยคาร์บอนฯ ที่ทำให้โลกร้อนของไทย มาจากการใช้พลังงาน ถ้าทำเรื่องนี้ได้ ก็ลดโลกเดือดไปได้เยอะ

SCG ESG Symposium 2023 จึงเป็นงานที่ชวนทุกภาคส่วนมาระดมสมองแก้วิกฤตโลกเดือด หาทางขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดย SCG จัดงานนี้เป็นปีที่ 11 แล้ว

ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน เป็นวาระระดับโลกและระดับชาติ ในส่วนของประเทศไทยเอง กระทรวงพลังงานมีการทำแผนพลังงานชาติ ซึ่งมีสาระสำคัญอย่างการใช้โรงไฟฟ้าใหม่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 50% พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร พร้อมพัฒนา Grid Modernization หรือระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าสมัยใหม่ที่ยืดหยุ่นขึ้น สามารถจัดการกับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่อาจมีบางช่วงไม่สามารถผลิตได้อย่างยืดหยุ่นขึ้น รองรับการขายไฟให้การไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้การผลิตไฟใช้เองของประชาชนทำได้ง่ายขึ้น รวมถึงมีการผลิต EV จากยอดทั้งหมด 30% ภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม การทำ Energy Transition ที่ผ่านมาที่ยังมีข้อจำกัดหลายเรื่อง ที่มาถกกันในงาน SCG ESG Symposium 2023

เช่นแม่เมาะที่ลำปาง มีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินลิกไนท์เป็นเชื้อเพลิง 14 เครื่อง ปัจจุบันปลดออกจากระบบไปแล้ว 7 เครื่อง แล้วเมื่อปี 2564 มีแผนที่จะหยุดใช้อีก 2 เครื่อง เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน แต่ก็หยุดไม่ได้เพราะปัญหาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานอื่น ๆ พุ่งสูงขึ้นจนไทยยังจำเป็นต้องใช้ลิกไนท์ต่อไปสักพัก

หรือปัญหาการเข้าถึงความรู้เรื่องมาตรการสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ถ้าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นไม่มีปัญหาเรื่องการทำตามแผน เพราะมีทีมงานดูแลเฉพาะ เช่นอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ ซึ่งกระบวนการผลิตนั้นปล่อยคาร์บอนเยอะเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงต้องมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยจับคาร์บอน เช่นการเติมไฮโดรเจนเข้าไปในคาร์บอนส่วนเกินเพื่อให้กลายเป็นมีเทน แล้วนำไปใช้ต่อ รวมถึงการกักเก็บคาร์บอน และการนำของเหลือหรือ Waste จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ มาเผาเป็นเชื้อเพลิงด้วยอุณหภูมิสูงมากจนความเป็นพิษหายไปหมด

แต่กับธุรกิจขนาดเล็ก ยังมีปัญหาเรื่องการรับรู้ และการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อลดคาร์บอน เช่นอุตสาหกรรมการเกษตรอาจยังไม่เข้าใจผลกระทบของการดำเนินงาน อย่างการเลี้ยงวัว-ควายที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก แล้วจะมีปัญหาในอนาคตกับการส่งออกไปยังประเทศที่ดำเนินนโยบายสิ่งแวดล้อมเข้มข้น หรือขายไปยังบริษัทใหญ่ ๆ ที่ต้องควบคุม Carbon Credit ไม่ได้ เพราะเมื่อเพิ่มการสร้างคาร์บอนจากการไปซื้อวัตถุดิบที่ผลิตโดยไม่ได้ควบคุมคาร์บอน ก็ทำให้ต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้นเพราะต้องไปซื้อ Carbon Credit มาชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกไป

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เราจึงต้องช่วยกันแก้ไขวิกฤตโลกเดือดของเรา เริ่มต้นจากเรา ภาคประชาชน นอกจากมาตรการต่าง ๆ ที่เราน่าจะรู้อยู่แล้ว เช่นการลดการใช้ถุงพลาสติก รวมถึงการใช้เสื้อผ้าที่ต้องรีดน้อย เพื่อลดการใช้พลังงาน หรือการคัดแยกขยะเพื่อให้นำกลับไปใช้ใหม่ได้ แต่เรื่องที่คนทั่วไปอย่างเรา ๆ สามารถช่วยเหลือได้อีก คือเพิ่มเติมความรู้ในยุคโลกเดือดครับ เพื่อเข้าใจว่าสิ่งใดที่ช่วยโลกได้อีก

ส่วนภาคธุรกิจ เราได้แนวคิดจากงานเสวนาครั้งนี้หลายเรื่องครับ ทั้งจากกลุ่มอาคารที่บอกว่า ระบบปรับอากาศเป็นส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดในอาคาร ซึ่งเบื้องต้นที่ปรับได้คืออุณหภูมิ หรือการปรับอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอาคารที่อยู่ในเมืองใหญ่ จะมีพื้นที่ติดตั้ง Solar Cell น้อย แต่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้จากการผลักดันความตกลงซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Direct PPA) ซึ่งถ้าสำเร็จจะสามารถเจรจาซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนได้โดยตรง

ส่วนกลุ่มภาคการผลิตไฟฟ้าก็มีการพัฒนาหลายอย่าง เช่น ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี และเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีการติดตั้งแผงโซล่าร์ลอยน้ำ ซึ่งกำลังพัฒนาให้มีกำลังผลิต 3,000 เมกะวัตต์ โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก ซึ่งจะทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ทั้งจากแสงอาทิตย์และพลังน้ำในเขื่อน

นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนหรือ CCS มาใช้ ที่นำคาร์บอนกลับไปเก็บในชั้นดิน หน่วยงานของไทยที่กำลังพัฒนาอยู่คือ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่กำลังพัฒนาให้แหล่งขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ “อาทิตย์” ในอ่าวไทยสามารถจัดการกับคาร์บอนส่วนเกินแล้วเก็บลงในชั้นดินอย่างถาวร
และในระดับภาพรวมของประเทศ ที่น่าสนใจคือ “Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” ซึ่งเรารู้กันดีว่าสระบุรี เป็นแหล่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่พื้นฐานปล่อยคาร์บอนเยอะอยู่แล้ว แต่โครงการนี้จะจำลองพื้นที่จังหวัด เป็นเสมือนตัวแทนประเทศไทย นำเอกชน รัฐ ประชาชน มาร่วมกัน แล้วใช้รูปแบบการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ มาลองทำ เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ อย่างปูนซีเมนไฮดรอลิกในทุกงานก่อสร้าง หรือการจัดการวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม/ ภาคชุมชน หรือการทำนาน้ำน้อย มาใช้ เพื่อเป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเป็นโครงการระหว่างปี 2566-2569

นอกจากนี้ในวงเสวนายังพูดถึง การสื่อสารนโยบายจากภาครัฐถึงภาคธุรกิจต้องทำอย่างชัดเจน ทำพร้อมกันทั้ง ‘เร่งรัด’ ให้รับรู้และเข้าใจประเด็นการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งรอผู้ประกอบการอยู่ในอนาคต และ ‘ผ่อนปรน’ เพื่อลดแรงต้านจากกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงต้องคิดถึงภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย เพราะแน่นอนว่ากระบวนการลดคาร์บอนทำให้ธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ถ้าไม่ทำก็จะมีปัญหากับการส่งออกได้

เพราะปัญหาสภาพอากาศปั่นป่วนมันใหญ่เกินกว่าที่ภาครัฐและเอกชนจะทำได้โดยไม่มีภาคประชาชนมาช่วยครับ

ใครอยากอัปเดตความรู้เพิ่มเติม “ร่วม เร่ง เปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” สามารถรับชมวิดีโอย้อนหลังได้ที่ Facebook : SCGofficialpage / YouTube : SCGchannel ครับ