#beartaiกระป๋องกล่องขวด ศึกแห่งศักดิ์ศรี เยลลี่หมี 2 ซีกโลก เจาะส่วนผสม หมีไทย (Jolly Bear) ปะทะ หมีเยอรมัน (Haribo) สมัยก่อนตอนยังมีขนมไม่หลากหลายเท่าปัจจุบัน เราตอนเด็กๆ แยกขนมได้ 2 อย่าง อย่างแรกซื้อเพื่อเอา “ของเล่น” กับอย่างสองซื้อเพื่อเอา “ของกิน”
เด็ก ๆ ชอบกินขนมอะไร? มีขนมอยู่อย่างนึงที่ซื้อแล้วได้ทั้งเล่นและกิน นี่เลยยย เจ้าหมีเยลลี่ Jolly Bear ไม่ใช่สปอนเซอร์นะ นี่ทีมงานซื้อมาให้ ตอนเด็ก ๆ ชอบหักคอ ตัดตัว เอาหัวไปสลับสีกัน หรือบางทีก็เอาไปจิ้มแก้มเพื่อนเล่น ติดเป็นตุ่มก็ตลกดี
วันก่อนลองไปดู หาอยู่ตั้งนานหมีน้อยเพื่อนเก่าไปกองอยู่ในหลืบชั้นล่างสุดเลย โถ่ปล่อยให้เยลลี่เกาหลี กับหมีเยอรมัน (Haribo) มากินพื้นที่ไปหมดแผง ก็สงสัยเหมือนกันว่า Jolly Bear ด้อยกว่ายี่ห้ออื่นตรงไหน หรือเป็นเพราะส่วนประกอบ?
สงสัยเหมือนกันงั้นลองดูหลังซอง เจาะข้อมูลโภชนาการกันสักหน่อย วัดกันเฉพาะเยลลี่หมี เนี่ยแหละ Haribo VS Jolly Bear
- Haribo : กลูโคส 51% น้ำตาล 24% เจลาติน 6% น้ำผักและน้ำผลไม้เข้มข้น < 2% และอื่น ๆ / น้ำหนักสุทธิ 30 กรัม 110 กิโลแคลอรี่
- Jolly Bear : กลูโคส 39% น้ำตาล 35% น้ำผลไม้ 12% สารทำให้เกิดเจลและอื่น ๆ / น้ำหนักสุทธิ 55 กรัม 192.5 กิโลแคลอรี่ (Gluten Free* และไม่มีวัตถุกันเสีย)
- ขอโชว์ความรู้หน่อย ๆ Gluten เนี่ยเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในข้าวสาลีหรือข้าวบาร์เลย์ และเนื่องจากผู้บริโภคบางกลุ่มมีอาการแพ้สาร Gluten จึงต้องมีการระบุ Gluten Free ไว้บนฉลาก เพื่อแจ้งว่าผลิตภัณฑ์นี้ มีกลูเตนที่น้อยกว่า 20 ppm สามารถรับประทานได้
โดยรวม ก็ไม่ขี้เหร่นี่หน่า น้ำตาลรวมแล้วพอกัน แถมหมีไทยใส่น้ำผลไม้มากกว่าตั้งเยอะ แล้วทำไม Jolly Bear ถึงได้ตกกระป๋องไปขนาดนี้ สงสัยเป็นเพราะรสชาติ และรสสัมผัสที่ไม่เหมือนกันเลยทำให้คนเลือกที่จะกิน Haribo มากกว่า ขึ้นกับความชอบส่วนบุคคลละ
สุดท้ายนี้ เราก็เลือกซื้อยี่ห้ออะไรก็แล้วแต่ที่เราเจอ ไม่ยึดติดยี่ห้อเท่าไหร่ แต่แค่คิดว่าถ้าจะไม่ได้หักคอหมีมาสลับหัวเล่นก็ ตะเตือนไตแล้ว!!