PM 2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน ขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ หรือครึ่งหนึ่งของขนาดเม็ดเลือด ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และขนจมูกของมนุษย์ไม่สามารถกรองได้ เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปากและจมูก แพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดบวม โรคหัวใจขาดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) มะเร็งปอด
PM 2.5 เกิดขึ้นจาก?
การเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต และการรวมตัวของก๊าซอื่น ๆ ในบรรยากาศ มีฝุ่นละอองมากในพื้นที่ย่านเขตเมือง ย่านเศรษฐกิจ และเขตก่อสร้าง โดยปกติแล้วฝุ่นขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นตามแรงดึงดูดของโลก แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) จะสามารถลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานและปะปนกับมลพิษอื่นในอากาศ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บแบไต๋)
องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเป็นสาเหตุให้ 1 ใน 8 ของประชากรโลกเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ไทยไม่ใช่ประเทศเดียว แล้วต่างประเทศจัดการยังไง?
กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย
รัฐบาลอินเดียออกนโยบาย “ห้ามรถยนต์” ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่, รถ SUV ที่มีเครื่องยนต์แรงม้ามากกว่า 2000 ซีซี, ให้รถแท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซลหลายพันคันหยุดวิ่ง, ทดลองการให้รถยนต์หยุดวิ่งวันคี่หรือวันคู่, กระตุ้นให้ใช้รถสาธารณะมากขึ้น
เกาหลีใต้
รัฐบาลสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในเกาหลีใต้ 8 แห่งชั่วคราวเพื่อลดมลพิษทางอากาศ หลังจากที่เคยสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราวเป็นเวลา 4 เดือนในช่วงฤดูใบไม้ผลิ
และยังมีแผนการจะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่าถาวรภายในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ.2563 เพื่อลดมลพิษทางอากาศ
เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
เมืองส่วนใหญ่ในเดนมาร์กเริ่มทยอยหยุดใช้รถยนต์ มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว เพื่อทำตามนโยบายเมือง ที่มุ่งจะเป็นเมือง Carbon Neutral หรือเมืองที่มีกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเท่ากับ 0 ภายในปี พ.ศ. 2568
เครดิต sanook.com/news/7642102
ในไทยเอง อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ก็ได้เตรียมทำฝนหลวงจากพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ล้างฝุ่น กทม. และในบางพื้นที่ เช่น สีลมก็เริ่มมีการฉีดน้ำล้างฝุ่นบ้างแล้ว อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ถ่ายเท ถ้าต้องการออกไปข้างนอกให้ใส่หน้ากากอนามัย ติดตั้งแผ่นกรองอากาศที่บ้าน กินอาหารและเครื่องดื่มที่มีวิตามิน C E และโอเมก้า 3 สูง
แต่เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องป้องกันด้วย “หน้ากาก” แต่หน้ากากอนามัยทั่ว ๆ ไปที่เรามักใช้เวลาไม่สบายเป็นหวัด ลักษณะเป็นเยื่อกระดาษ หรือผ้า ไม่สามารถใช้กันฝุ่นพิษ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กว่า 3 ไมครอนอย่าง PM 2.5 ได้ หน้ากากที่แนะนำคือ หน้ากากอนามัยชนิด N95 สามารถป้องกันฝุ่นละอองและเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กได้ถึง 0.3 ไมครอนเลยทีเดียว