โลกของธุรกิจออนไลน์ในปัจจุบันมีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะฝั่ง Social Media เช่น Facebook Twitter Instagram แต่คุณรู้หรือไม่? ธุรกิจเหล่านี้ถือว่าเป็นธุรกิจออนไลน์ที่ “ไม่ได้จ่ายภาษี” กล่าวคือ ทุกบาททุกสตางค์ที่เราจ่ายค่าบูสต์โพสต์ไปนั้น 100% ไปที่เขาโดยตรง ไม่ได้ผ่านการจ่ายภาษีในประเทศไทยก่อน ซึ่งเปรียบเหมือนกับประเทศของเรากำลังมีเงินไหลออกต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา

แบไต๋ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยเดินทางไปสัมภาษณ์คุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เจ้าของเว็บไซต์ TARAD.com เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า มีอะไรที่น่าเป็นห่วงบ้าง?

ปัจจุบันมีสินค้าประเภทใดหลีกเลี่ยงภาษีบ้าง?

คุณป้อมได้แบ่งออกเป็นทั้งหมด 12 หมวดหมู่ด้วยกันคือ

  1. สินค้า E-Commerce บนเว็บไซต์ออนไลน์ต่างประเทศเช่น E-bay, Amazon, Alibaba เป็นต้น
  2. Media หรือกลุ่มสื่อที่ต้องซื้อโฆษณาบน Facebook Google  YouTube ต่าง ๆ ใน 1 ปีมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
  3. บริการ Service บริการต่าง ๆ บนแอปฯ ที่เป็นระบบ Premium ก็จะมีบริการรายเดือนเกิดขึ้น
  4. บริการการเดินทาง Transportation ของต่างประเทศ รวมไปถึงการจองบริการเดินทางสายการบินต่าง ๆ ผ่านแอปฯ ต่างประเทศ
  5. ท่องเที่ยว Travel เช่น Booking.com หรือ AirBNB
  6. Digital Content อย่าง Netflix เป็นต้น
  7. Software ซึ่งเป็นบริการดาวน์โหลดผ่านออนไลน์
  8. Video Game ที่ปัจจุบันมีบริการมากมายในรูปแบบการซื้อผ่านออนไลน์ รวมไปถึงการซื้อสินค้าภายในเกม
  9. Infrastructure หรือกลุ่มนักพัฒนาบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายค่าเช่า Server ต่างประเทศ ก็จะต้องหันไปใช้บริการ Cloud ของต่างประเทศ
  10. Online Payment System เช่นบริการ Paypal เป็นอีก 1 บริการที่เราจะต้องเสียค่าบริการบางส่วน ซึ่งค่าบริการนั้นกฎหมายไทยไม่ครอบคลุมตรงจุดนี้
  11. Investment หรือการลงทุนทางด้านธุรกิจ เช่น forex หรือการเล่นค่าเงินเป็นต้น
  12. การพนันออนไลน์หรือ Online Gambling เป็นอีก 1 ธุรกิจที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมากและธุรกิจนี้แทบ 100% เป็นของต่างประเทศ

เทคนิคที่บริษัทต่างชาติหลบเลี่ยงภาษี?

คุณป้อมได้เผยว่า เทคนิคนี้เขาอาจจะไม่ได้ตั้งใจทำโดยตรง เพราะเขาเปิดให้บริการเว็บไซต์หรือแอปฯ ในต่างประเทศ ซึ่งบริการเหล่านี้จะมีช่องทางการชำระเงินอยู่เช่น การชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ก็จะสามารถดึงเงินไปต่างประเทศได้ทันที หรือการตัดเงินผ่านบัญชี Play store หรือ App Store ก็จะมีการส่งเงินไปต่างประเทศทันที ซึ่งตรงนี้ทำให้เกิดช่องว่างการเก็บภาษี

ถ้าต้องการเก็บภาษีจากการใช้จ่ายในต่างประเทศ ภาครัฐควรมีบทบาทอย่างไรบ้าง?

ปัจจุบันภาครัฐฯ กำลังพยายามออกกฎหมายตัวหนึ่งขึ้นมาโดยกรมสรรพพากรว่า หากคุณมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณจะต้องทำการจดภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ Vat โดยกฎหมายตัวนี้ยังไม่ถูกบังคับใช้ แต่กำลังเริ่มมีการพยายามบังคับใช้แล้ว ซึ่งเมื่อมีการบังคับใช้ หมายถึงใครก็ตามที่เป็นผู้ให้บริการที่มีการสร้างรายได้กับคนไทยเกิน 1.8 ล้านบาท เขาต้องมาจดทะเบียน Vat ในประเทศไทย ซึ่งเมื่อมีรายได้เกิดขึ้น ก็จะต้องมาเสียภาษี Vat ให้กับประเทศไทย

เริ่มดำเนินการเมื่อไหร่?

โดยกฎหมายตัวนี้ผ่านการร่างฯ มาแล้ว 1 ครั้ง ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นภายในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ให้บริการแอปฯ ในต่างประเทศเช่น บางบริการที่ไม่ได้เน้นกลุ่มลูกค้าในไทย ซึ่งถ้ามีกฎหมายตัวนี้แล้ว เราจะสามารถบังคับใช้กับผู้ให้บริการเหล่านี้ ให้เขามามีตัวตน มาจดบริษัทในไทยได้ ซึ่งถือว่าเป็นอีก 1 กลยุทธ์ที่ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ประเทศไทยได้ ซึ่งมีความเสี่ยงในด้านการโดนผลักภาระค่าภาษีมาสู่ผู้บริโภคได้เช่นเดียวกัน