แบไต๋เราเคยรีวิวเครื่องพิมพ์ของ Ultimaker กันไปครั้งหนึ่งแล้วนะครับ ซึ่งเราคงไม่ต้องอธิบายกันมากนักว่าเจ้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่อาศัยความร้อนที่หัวพิมพ์หลอมละลายเส้นพลาสติกให้อ่อนตัวแล้วค่อย ๆ ฉีดออกมาที่ฐานร้อน เพื่อขึ้นรูปไปเรื่อยๆ นั้นมันเป็นยังไง เราข้ามพื้นฐานไปดู Ultimaker S5 เครื่องระดับท็อปกันเลยดีกว่า รุ่นนี้รองรับงานได้ถึงระดับอุตสาหกรรมที่ต้องพิมพ์ชิ้นงานที่มีรายละเอียดเยอะ ความเที่ยงตรงสูง
เครื่องพิมพ์ 3 มิติตัวท็อป ๆ มีอะไรที่แตกต่างจากรุ่นทั่วไปบ้าง?

Ultimaker S5

เริ่มต้นที่เรื่องเจ๋งสุดเลยคือระบบการพิมพ์ 2 หัวพร้อมกัน ทำให้เราสามารถพิมพ์งาน 3 มิติที่มี 2 สีแบบนี้ในการพิมพ์ครั้งเดียวได้ ไม่ต้องพิมพ์ 2 ครั้งแล้วมานั่งประกอบเอง ทำให้ได้งานที่หลากหลายและประหยัดเวลาขึ้นอีกมาก

และการมี 2 หัวพิมพ์ไม่ใช่แค่เรื่องพิมพ์ 2 สีได้พร้อมกัน แต่หมายถึงพิมพ์วัสดุ 2 อย่างได้พร้อมกันด้วย ซึ่งเรื่องนี้แหละที่เปลี่ยนการพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ 3 มิติไปเลย เพราะมันสามารถพิมพ์วัตถุซับซ้อนได้ด้วยการใช้วัสดุที่เรียกว่า PVA เป็นวัสดุรองรับระหว่างการพิมพ์ได้ ซึ่งเจ้า PVA นี้มันละลายน้ำได้ เมื่อพิมพ์เสร็จก็จับผลงานที่พิมพ์แช่ลงในน้ำแล้วทิ้งไว้สักครึ่งวันเพื่อให้ส่วนที่เป็น support นี้ละลายน้ำหายไป เราจึงได้ผลงานที่ไม่มีทางพิมพ์ได้ด้วยเครื่องพิมพ์แบบหัวเดียว

นอกจากนี้ Ultimaker ยังมีวัสดุการพิมพ์ในกลุ่ม Breakaway ที่พิมพ์ออกมาเพื่อรองรับไม่ให้งานพิมพ์ 3 มิติเราเสียหาย เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วก็สามารถใช้คีบค่อยๆ ดึงวัสดุที่เป็น Breakaway ออกมาได้เลย และเนื่องจาก Ultimaker S5 นั้นรองรับวัสดุการพิมพ์หลากหลาย ตัวเครื่องจึงมีระบบ NFC เพื่ออ่านข้อมูลวัสดุการพิมพ์ที่ถูกต้อง แค่ใส่โรลวัสดุเข้าเครื่อง ระบบก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นวัสดุการพิมพ์อะไร ไม่ต้องมานั่งตั้งค่ารายละเอียดพวกความร้อนหรือระยะเวลาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง แต่ถ้าไม่ได้ใช้วัสดุการพิมพ์ของค่าย Ultimaker ก็ยังสามารถคอนฟิกวัสดุด้วยตัวเองตามสไตล์เครื่องพิมพ์แบบ Opensource ที่เปิดโอกาสให้เราใช้วัสดุการพิมพ์ได้อย่างอิสระ

ปัญหา “ปริ้นลม” ถูกแก้ไขแล้ว!

ถ้าเป็นคนเล่น 3D Printer น่าจะรู้จักปัญหา “ปริ้นลม” ที่สร้างความปวดใจ เสียทั้งงานทั้งเวลากันดี เพราะเครื่องพิมพ์หลายรุ่นโดยเฉพาะรุ่นระดับพื้นฐาน เวลาหัวพิมพ์เกิดปัญหาจนฉีดเส้นไม่ออก หรือเส้นวัสดุพันกัน เครื่องจะไม่หยุดพิมพ์ แต่ยังทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการ “ปริ้นลม” แต่ Ultimaker S5 นั้นมีเซนเซอร์ตรวจสอบการไหลของเส้นวัสดุหรือ Flow Sensor ตลอดเวลา ถ้าระบบตรวจพบว่าเส้นวัสดุหยุดวิ่งด้วยเหตุผลใดๆก็แล้วแต่ เครื่องจะหยุดทำงานและแจ้งให้ผู้ใช้ทราบเพื่อแก้ไข และพิมพ์ต่อได้ทันที

โดยแบไต๋ก็ได้จำลองเหตุการณ์เส้นวัสดุมีปัญหาด้วยการดึงเส้นออกจากเครื่องให้ดู เครื่องจะหยุดพิมพ์และแจ้งให้เราแก้ไข เมื่อใส่เส้นวัสดุกลับเข้าที่เรียบร้อยเครื่องก็พร้อมพิมพ์จากจุดเดิมเลย ลดปัญหาและประหยัดเวลาการพิมพ์ไปได้เยอะ

สเปค

มาดูรายละเอียดพื้นฐานของ Ultimaker S5 กันบ้าง เครื่องรุ่นนี้ถือเป็นเครื่องรุ่นใหญ่ของ Ultimaker จึงมีพื้นที่ที่พิมพ์มากถึง 330 x 240 x 300 มม. พิมพ์งานได้ใหญ่กว่าเครื่องพิมพ์ทั่วไป ตัวหัวพิมพ์ 2 หัวยังสามารถถอดเปลี่ยนให้เหมาะสำหรับวัสดุพิมพ์ประเภทต่างๆ ได้ ซึ่งสามารถพิมพ์ได้ความละเอียดตั้งแต่ 600 – 20 micron ให้ผู้ใช้เลือกความละเอียดและระยะเวลาการพิมพ์ให้เหมาะสมกับงานได้ และรองรับวัสดุการพิมพ์ได้หลายหลายมาก เช่น PLA, Nylon, ABS, CPE, PC, PP, Carbon fiber

ตัวถาดรองรับงานพิมพ์ด้านล่างมีทั้งแบบที่เป็นกระจกเพื่อให้ชิ้นงานเลเยอร์แรกเนียนกว่าฐานพิมพ์ทั่วไป หรือต้องการเปลี่ยนเป็นฐานพิมพ์อลูมิเนียมก็ทำได้
เมื่อพูดถึงเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เราก็มักจะนึกถึงเครื่องพิมพ์ที่ดูยุ่งๆ ใช้งานยาก แต่ Ultimaker S5 ออกแบบให้เราใช้งานง่ายที่สุดครับ หน้าเครื่องมีหน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ แสดงผลเป็นกราฟิกและข้อความที่ชัดเจน ให้สั่งงานและตั้งค่าต่างๆ ได้จากหน้าเครื่องเลย เอาไฟล์โหลดลง USB ก็พร้อมสั่งพิมพ์ได้เลย

นอกจากนี้ตัว Ultimaker S5 ยังสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายผ่านสายแลนและ WiFi ได้ด้วย ซึ่งสามารถสั่งงานผ่านโปรแกรม Cura (คิวล่า) ของ Ultimaker ได้ทันที เพื่อปรับแต่งโมเดลก่อนพิมพ์หรือกำหนดค่าต่างๆ ของเครื่องพิมพ์ผ่านคอมพิวเตอร์ได้ด้วย พร้อมฟังก์ชั่นอย่าง Cura Connect เพื่อเชื่อมต่อเครื่องพิมพ์หลายเครื่องทำงานได้พร้อมกัน, Cura Cloud เพื่อเก็บข้อมูลการทำงานไว้ในคลาวด์ หรือ Cura Marketplace ดาวน์โหลดแพลตฟอร์มฟรี เพื่อซื้อความสามารถเพิ่มเติมครับ

และในส่วนของมือถือก็ยังมีแอป Ultimaker เพื่อติดตามการทำงานของเครื่องพิมพ์ สั่งหยุดพักหรือรับแจ้งเตือนสำคัญเกี่ยวกับงานพิมพ์ได้ด้วย

ซึ่งทั้งแอป Ultimaker ในมือถือและโปรแกรม Cura สามารถดูภาพวิดีโอการพิมพ์ในขณะนี้ได้ด้วย จากกล้องที่อยู่ตรงนี้ของเครื่อง Ultimaker S5 แต่ก็มีข้อจำกัดนิดหน่อยตรงที่ต้องอยู่ในเครือข่ายวงเดียวกับเครื่องพิมพ์ถึงจะดูวิดีโอวงจรปิดตัวนี้ได้นะ

ราคา

ปิดท้ายกันด้วยราคา เครื่องพิมพ์ 3 มิติตัวท็อปที่มี 2 หัวพิมพ์ รองรับวัสดุหลากหลาย และให้ความเที่ยงตรงสูงแบบนี้ ราคาไม่เบาแน่นอน Ultimaker S5 ตั้งราคาไว้ที่ 299,000 บาทเหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการเครื่องพิมพ์ความสามารถสูงไปใช้ทำธุรกิจ หรือสร้างชิ้นส่วน prototype ต่าง ๆ

แต่ถ้าใครที่คิดว่าการซื้อขาดเป็นการลงทุนที่สูงเกินไป ก็สามารถติดต่อบริษัท Septillion (เซฟทิลเลี่ยน) ผู้จัดจำหน่ายในไทยเพื่อเช่าใช้เครื่อง หรือจะให้พิมพ์ชิ้นงาน 3 มิติให้ได้ด้วย ก็สามารถติดต่อได้เลยที่เบอร์ 02-865-2688