อันตรายจากหูฟัง ไม่ได้มีแค่เสียงที่ดังมากเกินไปเท่านั้น เพราะยังมีแบคทีเรียมากถึง 119,186 ตัว!! โดยผลการศึกษาจากเว็บไซต์ SeniorLiving.org เปิดเผยออกมา ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้เกิดจากความร้อนของร่างกาย บวกกับความอับของหูฟัง ทำให้แบคทีเรียเหล่านี้เจริญเติบโต ยิ่งคนที่ใส่หูฟังออกกำลังกายด้วยแล้ว เหงื่อเพียบ!!
แล้วมันส่งผลกระทบต่อร่างกายเราอย่างไร?
แบคทีเรียเหล่านี้ ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น
- การอักเสบในช่องหู
- มีสิวในหู
- เป็นฝี
- คัน
- มีน้ำเหลืองไหล เป็นต้น
เพื่อหลีกเลี่ยงจากโรคเหล่านั้น วันนี้ผึ้งจะชวนชาว #beartai มาทำความสะอาดหูฟังกันค่ะ ซึ่งมีทั้งแบบ Earbuds และ In-Ear อุปกรณ์ก็หาได้ไม่ยากเลย ไปดูกันค่ะ
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- แปรงสีฟัน (ใช้แบบขนเรียว เพื่อถนอมหูฟัง)
- สบู่เหลวล้างมือ (สูตรขจัดแบคทีเรีย)
- สำลีก้าน
- สำลีแผ่น
- แอลกอฮอล์
- ถุงมือยาง (อันนี้ใครไม่มีก็ไม่เป็นไรค่ะ ล้างมือให้สะอาดก็พอ)
วิธีทำความสะอาดหูฟังแบบ Earbuds
สำหรับหูฟังแบบ Earbuds เริ่มต้นด้วยการใช้แปรงสีฟันขัดเบา ๆ ที่หูฟัง ต้องคว่ำหูฟังลงด้วย เพื่อให้ฝุ่นผงหล่นลงมาและไม่หลุดย้อนกลับเข้าไปในหูฟัง โดยแนะนำให้ทำอย่างเบามือ เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนชิ้นส่วนภายในหูฟัง
เมื่อขัดเสร็จแล้ว ถ้ายังมีสิ่งสกปรกบนหูฟังอยู่ ซึ่งแนะนำให้ใช้คอตตอนบัดชุบแอลกอฮอล์แค่เล็กน้อย แล้วเช็ดออกเบา ๆ โดยระวังอย่าชุบแอลกอฮอล์มากเกินไปจนชุ่ม เพราะหูฟังอาจเกิดความเสียหายได้
ส่วนสายของหูฟัง ให้ใช้สำลีแผ่นชุบแอลกอฮอล์เล็กน้อยและทำความสะอาดได้เช่นกัน
วิธีทำความสะอาดหูฟังแบบ In-Ear
ให้ดึงจุกซิลิโคนของหูฟังออก แล้วใส่ลงในน้ำอุ่นผสมสบู่อ่อน ใช้คอตตอนบัดในการทำความสะอาดซอกเล็ก ๆ แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ตากให้แห้งสนิท ถ้าให้ชัวร์ก็ตากไปเลย 1 คืน! แค่นี้ก็นำไปใช้ได้แล้ว
ด้วยวิธีง่าย ๆ เหล่านี้ เราก็ปลอดภัยจากโรคภัยต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับหูฟังแล้ว!
ทางลัดวิธีทำความสะอาด
ทางลัดแบบเร่งด่วน สำหรับหูฟังแบบ Earbuds โดยใช้กาวดินน้ำมัน แค่ปั้นแล้วกดลงบนหูฟังเบา ๆ ย้ำ!! กดเบา ๆ สิ่งสกปรกก็จะติดออกมาพร้อมกาวเลย แต่อันนี้เฉพาะกรณีเร่งด่วนเท่านั้น เพราะเชื้อโรคอีกหลายตัวไม่ได้ติดมาด้วย ให้ทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์จะดีที่สุด