หลังจากที่ปีก่อน #beartai รีวิว Asus Zenbook Pro ที่มีหน้าจอตรง Trackpad เมื่อปีที่แล้ว มาปีนี้ Asus พัฒนาขึ้นไปอีกโดยเพิ่มพื้นที่จอที่ 2 ให้ใหญ่ขึ้นเป็นครึ่งหนึ่งของพื้นที่ด้านล่าง ทำให้ใช้งานได้เต็มตายิ่งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า Zenbook Pro Duo
หน้าจอ
หน้าจอหลักนั้นเปิด Chrome เพื่อใช้เขียนงานอยู่ ส่วนหน้าจอด้านล่างก็เปิด Chrome อีกหน้าเพื่ออ่านข้อมูล เปิด PowerPoint อ่านบรีฟแบบนี้ สามารถเปิด LINE ทิ้งไว้ในหน้าจอล่างเพื่อคุยงานได้ด้ว
แต่เครื่องนี้มันมีสเปกแรงจัด จะเอามาใช้พิมพ์งานอย่างเดียวมันจะดูใช้อุปกรณ์ไม่ถูกกับความสามารถ #beartai จึงลองนำ Asus ZenBook Pro Duo ไปให้ทีมตัดต่อใช้ เปิด Adobe Premiere Pro เต็มพื้นที่หน้าจอบน ส่วนหน้าจอล่างก็เปิด Timeline เต็มพื้นที่ เมื่อเราไม่ได้เอา Timeline ไปรวมอยู่ในหน้าต่างหลักแล้ว ก็ทำให้สามารถขยายหน้าต่าง Preview ให้ใหญ่ขึ้นได้ รวมถึงมีพื้นที่สำหรับเครื่องมือปรับแต่งวิดีโอต่าง ๆ ได้มากขึ้น หรือจะเป็นการใช้งาน Adobe Lightroom สำหรับแต่งภาพ ก็สามารถแยกหน้า Library ออกมาข้างล่าง แล้วทำให้หน้าจอ Preview ด้านบนใหญ่ขึ้นได้อีก ซึ่งก็ทำให้การทำงานสะดวกมาก
หน้าจอ 2 ตัวของ Asus Zenbook Pro Duo นั้นสามารถจัดการได้ง่ายๆ เพียงลากโปรแกรมจากจอบนลงไปจอล่าง สามารถลากไปสแนปเพื่อแบ่งจอได้หลากหลายรูปแบบ จอด้านล่างสามารถสแนปแบ่ง 3 โปรแกรมหรือลากโปรแกรมไปขอบจอซ้าย-ขวาก็จะสแนปแบบแบ่งครึ่งจอก็ได้ แล้วเวลาเราลากโปรแกรมไป ก็จะมีไอคอนขึ้น 3 ตัวเรียกว่า Action Menu ถ้าจะเอาแอปจากจอบนไปแสดงในจอล่าง ก็ลากไปทับไอคอนแรกแบบนี้ หรือกลับกัน จากจอล่างจะแสดงขึ้นจอบน ก็ทับไอคอนแรกเหมือนกัน ส่วนถ้าจะให้แอปแสดงเต็มจอ ก็ลากไปทับไอคอนที่ 3 แล้วถ้าจะเก็บโปรแกรมที่เปิดอยู่ให้เรียกใช้ได้ง่ายๆ ก็ลากไปวางที่ไอคอนพินตัวที่ 2 ของ Action Menu ก็จะสามารถเรียกโปรแกรมนี้จากปุ่มลูกศรที่อยู่ในจอล่างเพื่อเปิดเมนูลัด แล้วกดไอคอนเพื่อเรียกโปรแกรมได้เลย
นอกจากนี้ยังมีระบบ Quick Key ให้ผู้ใช้บันทึกปุ่มลัดที่จำเป็น แต่จำยากๆ ของโปรแกรมที่ใช้บ่อยลงไปได้ มีปุ่มลัดให้สลับจอบนจอล่างได้ทันที เปิดแป้นตัวเลขมาป้อนในหน้าจอนี้ก็ได้ แถมยังรองรับการเขียนตัวอักษรด้วยนิ้วหรือปากกาเพื่อเปลี่ยนเป็นตัวพิมพ์ด้วย เพียงแต่ว่ายังใช้กับภาษาไทยไม่ได้นะ แล้วถ้าจะเขียนบนจอด้านล่างให้ถนัด ก็สามารถกดปิดแป้นคีย์บอร์ดได้ด้วย จะได้วางข้อมือ เพื่อใช้ปากกากันได้อย่างสบายใจ ซึ่งชุดของ Zenbook Pro Duo ก็แถมปากกามาให้ใช้เขียนได้ทั้งจอบนและจอล่าง และแป้นลัดชุดนี้ยังสามารถควบคุมความสว่างของจอ ScreenPad Plus ด้านล่างนี้ได้ด้วย
ทีเด็ดของปุ่มควบคุมในจอที่ 2 คือเราสามารถสั่งให้จำตำแหน่งการจัดวางโปรแกรมในจอทั้ง 2 ได้เป็นรูปแบบจอ 1 ถึง 4 อย่างตอนนี้ผมทำงานค้นคว้าข้อมูลก็กดที่เบอร์ 4 ที่ตั้งไว้เพื่อเปิด Chrome ทั้งหน้าจอบนและล่าง ส่วนถ้าจะกลับไปทำงานตัดต่อก็กดเบอร์ 2 โปรแกรม Premiere Pro ก็จะกลับมา สะดวกไปอีกขั้น
แล้วจอ 2 ตัวของ Asus Zenbook Pro Duo นี้สเปกไม่ธรรมดา ตัวด้านบนก็เป็นจอสัมผัสแบบ OLED ขนาด 15.6 นิ้ว ความละเอียด 4K คือปัจจุบันเราแทบไม่เห็นโน้ตบุ๊กใช้จอ OLED เลย แต่มีในโน้ตบุ๊กตัวนี้ แถมให้ความละเอียด 4K อีก และสเปกของจอตัวนี้ก็ยังไม่จบแค่นี้ มันเป็นจอที่รองรับขอบเขตสี DCI-P3 ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เต็ม 100% ให้ Contrast 100,000:1 แถมได้ตรา Pantone Validated ด้วยก็การันตีว่าแสดงภาพสีสันได้ถูกต้องแน่นอน ตัดคลิปหรือทำงานกราฟิกก็สีไม่เพี้ยน
จอตัวนี้ขอบจอยังบางมาก ขอบข้างหนาแค่ 5 mm ส่วนด้านบนหนาขึ้นมาหน่อยเพราะต้องใส่กล้อง Webcam พร้อมมี IR หรือ Infrared เพื่อใช้กับ Windows Hello ล็อกอินเข้าวินโดวส์ด้วยใบหน้าได้
เราทดสอบการเล่นวิดีโอ HDR จาก Youtube ก็แสดงภาพได้สวยงามจริงๆ เมื่อเปิดโหมด HDR ของวินโดวส์ให้รองรับสมบูรณ์แบบ ซึ่งถ้าไม่เปิดโหมดนี้ จะทำให้วิดีโอ HDR นั้นจัดเกินจริงไปครับ ส่วนเมื่อทดสอบกับแอป Netflix ก็ยังไม่สามารถแสดงวิดีโอแบบ HDR ได้ ส่วนหน้าจอ ScreenPad Plus ด้านล่างนี้ก็เป็นจอ 4K เหมือนกันครับ โดยมีความละเอียด 3840 x 1100 pixel หรือสูงประมาณครึ่งหนึ่งของจอ 4K ปกติ ซึ่งก็ให้ความคมชัดในการทำงานสูงมาก
คีย์บอร์ด
มาดูที่ตัวแป้นคีย์บอร์ดด้านล่างนี้สักหน่อย มีดีไซน์ที่น่าสนใจหลายอย่าง สิ่งแรกที่ต้องเอะใจคือตำแหน่งของคีย์บอร์ดที่ลงมาชิดขอบล่าง เพื่อให้พื้นที่กับหน้าจอด้านบน ต่างจากโน้ตบุ๊กทั่วไปที่จะต้องมีที่พักข้อมือ ซึ่ง Asus ก็กลัวเราจะใช้ไม่สบาย เลยแถมแผ่นรองข้อมือมาให้ด้วย ซึ่งถ้าพิมพ์งานโดยมีแผ่นรองข้อมือตัวนี้ ก็พิมพ์สบายมาก แต่ถ้าบางจังหวะไม่สามารถใช้แผ่นรองข้อมือได้ เช่นเวลาวางเครื่องบนตัก มันก็พิมพ์ลำบากพอสมควร เพราะเหมาะสำหรับการใช้งานเครื่องบนโต๊ะเป็นหลัก
TrackPad
ส่วน TrackPad ที่อยู่ด้านขวา อันนี้ไม่ใช่ TrackPad ที่ใช้ควบคุมเครื่องธรรมดา แต่สามารถกดตรงมุมนี้เพื่อเปิดการใช้งาน NumberPad หรือเป็นแป้นตัวเลขได้ด้วย ก็ทำให้ป้อนตัวเลขได้สะดวกขึ้นอีกเยอะ แล้วระหว่างที่เปิดแป้นตัวเลข ก็ยังลากไปลากมาเพื่อใช้งานแบบ TrackPad ได้ด้วย ไม่ใช่กดเป็นแป้นตัวเลขแล้วจะควบคุมเมาส์ไม่ได้เลย
ปุ่มควบคุม
ปิดท้ายกันที่ปุ่มควบคุมที่น่าสนใจของเครื่องนะครับ เหนือ TrackPad จะมีปุ่มเร่งเทอร์โบพัดลมในเครื่อง เวลาที่ต้องการให้เครื่องหายร้อนเร็ว ๆ ก็กดเทอร์โบเลย, ปุ่มสลับจอบน-ล่าง, ปุ่มปิดจอเล็ก ScreenPad Plus และปุ่มเปิด-ปิดเครื่องครับ
ดีไซน์
ดูรายละเอียดงานออกแบบ Asus ZenBook Pro Duo รอบนอกดีกว่า เริ่มด้วยสีตัวเครื่องที่ไม่ใช่สีดำธรรมดา แต่เป็นสีน้ำเงินเข้มที่เรียกว่า Celestial Blue ซึ่งเมื่อรวมกับการออกแบบฝาหลังที่ปรับโลโก้ Asus ให้มาอยู่เยื้องๆ ทางด้านขวา พร้อมเส้นสายวงกลมรัศมีตีออกไปรอบๆ ซึ่งสีสันหรูหราแบบนี้ก็ต่อเนื่องมาถ่ายตัวคีย์บอร์ดด้วย ก็ให้ภาพลักษณ์โน้ตบุ๊กหรูพรีเมียมมากๆ
และแน่นอนว่าเป็นโน้ตบุ๊กของ Asus ก็ต้องมี Ergolift หรือการใช้จองัดเครื่องขึ้นเพื่อให้คีย์บอร์ดเอียงรับข้อมือ และยกใต้เครื่องให้ระบบระบายความร้อนทำงานได้ดีขึ้น แต่ถ้าใครคิดว่ายังไม่สูงพอ Asus ก็แถมแผ่นรองเครื่องตัวนี้ให้ ที่สามารถพับและรองเครื่องให้สูงขึ้นไปได้อีก จัดไปให้สะใจเลยครับ
ด้านหน้าหน้าเป็นแสงไฟเพื่อแสดงการทำงานของ Alexa ระบบสั่งงานด้วยเสียงของ Amazon ซึ่งในไทยคงไม่ได้ใช้กันเท่าไหร่
พอร์ต
ส่วนพอร์ตรอบเครื่อง ทางด้านซ้ายก็จะเป็นพอร์ตเสียบไฟแบบกลมจากอแดปเตอร์ตัวใหญ่นี้ที่สามารถจ่ายไฟได้ถึง 230 Watt เพื่อให้พอสำหรับเครื่องที่ต้องการความแรงขนาดนี้ ถัดมาก็เป็น HDMI เอาไว้ต่อภาพ แล้วก็ USB 3.1 Gen 2 พอร์ตแรก
พลิกมาอีกข้างก็จะเจอ USB3.1 Gen 2 อีกพอร์ตก็นับรวมได้ 2 พอร์ต แล้วก็ช่องต่อหูฟังและช่อง USB-C ที่เป็นพอร์ต thunderbolt 3 ได้ด้วย แถมพอร์ต USB-C นี้ก็ยังสามารถต่อภาพออกจอได้ด้วย แต่ไม่สามารถชาร์จไฟผ่านช่องนี้ได้ เพราะเครื่องกินไฟเยอะ
พอร์ตที่หายไปมีอยู่ 2 อย่างคือพอร์ต LAN กับช่องอ่านการ์ด SD ครับ ช่องอ่านการ์ดนี่เสียดายหน่อย เพราะการทำงานระดับโปร พวกตัดต่อวิดีโอหรือแต่งภาพต้องอ่านการ์ดเยอะด้วย แต่ก็สามารถใช้ตัวอ่านการ์ดภายนอกได้
ลำโพง
บริเวณหน้าเครื่องตรงนี้ยังเป็นที่อยู่ลำโพง 2 ตัวที่จูนโดย Harman/Kardon ที่ให้เสียงดีใช้ได้ครับ แต่ฟังเสียงเร่งสุดแล้วยังเบาไปเล็กน้อย
สเปก
หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า Asus ZenBook Pro Duo นั้นอัดสเปกมาโหดขนาดไหน สำหรับเครื่องที่เรารีวิวนั้น ใช้ CPU เป็น Intel Core i7 Gen 9 รหัส 9750H ตัวแรงเลยแหละ อัดแรมมาให้ 32 GB พร้อม SSD ความจุ 1 TB ใช่ครับคุณฟังไม่ผิด แรม 32 GB SSD อีก 1 TB มาพร้อมชิปกราฟิก nvidia GeForce RTX 2060 และหน่วยความจำสำหรับกราฟิก 6 GB แถมยังรองรับ Wi-Fi6 รุ่นใหม่ล่าสุดรองรับการส่งข้อมูลระดับ Gigabit
ซึ่งสเปกแรงขนาดนี้เราเอาไปใช้งานตัดต่อคลิป 4K ครับ ซึ่งสามารถทำงานได้เร็วมากๆ โปรเจก 4K จาก Premiere Pro ที่ใส่วิดีโอหลาย Layer ก็ยังใช้เวลา Export แค่ไม่กี่นาที
ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพเครื่อง
-
Geekbench 5 ตัวล่าสุด ได้คะแนน Multicore – 5377
-
3Dmark ชุดทดสอบ Time Spy Extreme สำหรับเทสต์เกมระดับสูงบนความละเอียด 4K ได้คะแนน 2,619 คะแนน ส่วน Timespy ธรรมดาได้ 5,545 คะแนน ซึ่งก็ถือว่าเร็วมาก
-
ส่วน SSD นั้นเทสต์ความเร็วผ่าน Crystal Disk Mark ทำความเร็วในการอ่านได้ถึง 3 GB/s ซึ่งใกล้เคียงกับความเร็วสูงสุดของ PCI Express x4 ที่ใช้เชื่อมต่อ SSD ตัวนี้เลยทีเดียว
ที่น่าสังเกตคือระหว่างที่ทำงานหนัก ๆ เสียงพัดลมก็ยังจัดว่าเงียบมาก แม้เปิดพัดลมเป็นโหมด Turbo แล้ว ซึ่งแตกต่างจากโน้ตบุ๊กแรงๆ ทั่วไปที่ทำงานหนักนิดหนักหน่อย เสียงพัดลมก็ดังเป็นเครื่องดูดฝุ่นแล้ว
น้ำหนักเครื่อง
Asus ZenBook Pro ตัวนี้มีน้ำหนักตามสเปกที่ 2.5 Kg ครับ ชั่งจริงได้ 2.58 กก. เพราะเครื่องนี้มีแผ่นแปะหลังด้วย เทียบว่าโน้ตบุ๊กนี้คือตัวสุดแรง มาพร้อมจอใหญ่ 15.6 นิ้ว ก็ถือว่าเบานะครับ เพียงแต่ว่าเราคงไม่สามารถเอาโน้ตบุ๊กไปเครื่องเดียวโดด ๆ แม้ Asus จะเคลมว่าใช้งานต่อเนื่องได้ 7.5 ชั่วโมง แต่งานโปรดักชันมันทำให้เครื่องต้องทำงานหนักตลอด เพื่อความชัวร์เราก็ต้องพกหม้อแปลงไฟไปด้วย แถมต้องพกแผ่นรองข้อมืออีก ก็ชั่งทั้งหมดนี้ออกมาได้ที่ 3.56 กก. เพราะแค่อแดปเตอร์ไฟก็ 772 กรัมแล้วต้องแบกน้ำหนักชุดใหญ่เหมือนกัน
ข้อสังเกต
ใช้ครั้งแรก ๆ จะรู้สึกแปลกหน่อย เพราะคีย์บอร์ดมาวางอยู่สุดเครื่องแบบนี้ ทำให้ระยะระหว่างตัวเรากับจอนั้นห่างกว่าการใช้โน้ตบุ๊กปกติพอสมควร ใช้ครั้งแรก ๆ อาจรู้สึกไกลหูไกลตาไปบ้าง แต่ใช้ไปสักพักก็น่าจะชินเอง
ราคา
นี่เป็นการรีวิวก่อนที่ Asus Zenbook Pro Duo จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่เปิดเผยราคา
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส