เมื่อกลางปี 2019 ที่ผ่านมา Lenovo คลอดโน้ตบุ๊กทำงาน ซีรีส์ใหม่อย่าง “ThinkBook” ออกมาเอาใจธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ด้วยดีไซน์เด็ด และฟีเจอร์สำหรับธุรกิจที่ถอดมาจากโน้ตบุ๊กรุ่นท็อปอย่าง ThinkPad มาขายในราคาน่ารักๆ จับต้องได้ และเจ้าโน้ตบุ๊กที่ว่าก็มาอยู่ในมือผมแล้ว มันเป็นยังไง ผมหนุ่ยพงศ์สุขจะมาเล่าให้ฟัง
ตอนแรกผมสงสัยว่าทำไม Lenovo ถึงแตกแบรนด์ ThinkBook ออกจาก ThinkPad สอบถามไปแล้วได้คำตอบว่า Lenovo ทำรีเสิร์ชกับ Forrester Conulting แล้วสรุปได้ว่า พนักงานยุคใหม่ Millennials, Gen Z, Gen Y หวังว่าจะได้โน้ตบุ๊ก ที่คล่องตัว พกพาสะดวก แต่ธุรกิจขนาดกลาง-เล็กในไทย ส่วนใหญ่ยังใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะอยู่ และพอซื้อใหม่ก็ดูแต่ประสิทธิภาพ ไม่ดูเรื่องดีไซน์ ทำให้ได้โน้ตบุ๊กที่ไม่ตรงกับความต้องการ
Lenovo ก็เลยเอาความต้องการของคนยุคใหม่มาสร้างเป็น ThinkBook ที่ตอบโจทย์ขึ้นมานั่นเอง คลายข้อสงสัยไปแล้ว มาเริ่มรีวิวกันเลย
ดีไซน์
ThinkBook มาในสีเทา Mineral Grey งานประกอบเนี้ยบ เพราะเป็นอะลูมิเนียมขึ้นรูปชิ้นเดียว (Unibody) ฝาหลังมีโลโก้ ThinkBook และ Lenovo ส่วนด้านใต้เครื่องจะเห็นช่องดูดอากาศเย็นเข้าไประบายความร้อน ถัดลงมาเป็นรายละเอียดชื่อรุ่นและสติกเกอร์
- บานพับของ ThinkBook กางได้ถึง 180 องศา ส่วนจอขอบค่อนข้างบาง มีกล้องหน้า 720p (HD) อยู่ด้านบน ถ้าสังเกตดูจะเห็นว่ามีที่ปิดกล้องด้วย อันนี้เขาเรียก ThinkShutter ปิดไว้กันคนแอบมาดูกล้องเรา อันนี้ดีสำหรับองค์กร
- คีย์บอร์ดเป็น Full-Size ไม่มี NumPad สัมผัสการพิมพ์โอเค การพิมพ์ลื่นไหล แถมมีปุ่มรับสาย และวางสายที่ใช้ทำงานร่วมกับ Skype ด้วย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการ conference มากขึ้น เหมือนเราใช้งานผ่าน Smart phone เลยครับ ด้าน ClickPad ก็ปกติทัชลื่น สุดท้ายเป็นจุดเด่นที่ถอดมาจาก ThinkPad ก็คือ ปุ่มเปิดปิดที่ฝังตัวสแกนนิ้วไว้ แตะแล้วปลดล็อกเครื่องในทันที เหมือนมือถือเลยครับ สะดวก ปลอดภัย
- น้ำหนักและขนาดตัวเครื่อง ThinkBook ชั่งให้เห็นกันจะๆ หนัก 1683 กรัม (อันนี้จะหนักกว่ามาตรฐาน เพราะเพิ่ม HDD เพิ่มอีกหนึ่งลูก) พอรวมอแดปเตอร์จะเป็น 2007 กรัม ส่วนความหนาก็อยู่ที่ 1.79 มม ถือว่ากำลังดีสำหรับโน๊ตบุ๊คทำงาน 14 นิ้ว
- ฝั่งซ้าย มี LAN RJ45, HDMI, USB-A 3.1 ที่จ่ายไฟได้ เหมือน Power Bank (ปิดเครื่องก็จ่ายไฟได้)
- USB-C 3.1 พอร์ตแบบธรรมดาๆ ที่ใช้รับส่งข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ Display Port และไม่รองรับการชาร์จ ต่างจากอีกพอร์ตที่เป็น USB 3.1 (Gen2) แบบ Full-Function ที่นอกจากจะรับส่งข้อมูลได้ ยังเป็น Display Port ต่อจอแยก 4K ได้ และเสียบชาร์จแบตได้อีกด้วย สังเกตได้จากสัญลักษณ์ แต่อแดปเตอร์ที่เสียบต้องรองรับด้วย สุดท้ายเป็นหูฟัง 3.5 มม. และไฟแสดงสถานะ
- ฝั่งขวามีพอร์ตเสียบไฟ DC (แนะนำให้ใช้) ถัดมาเป็น USB-A 3.1 ธรรมดาๆ กับช่องอ่านการ์ด ช่องสุดท้ายเป็นอะไรไม่เคยเห็น มันเป็น “ช่องลับไว้ซ่อนตัว USB” รับส่งสัญญาณเมาส์ไร้สาย ไม่หลุด ไม่หาย
สเปก
- ThinkBook มีหน้าจอ 3 ขนาดคือ 13 | 14 | 15 โดยรุ่นที่เรารีวิวอยู่คือตัว ThinkBook 14 สเปกตัวท็อป หน้าจอ IPS 14 นิ้ว ความละเอียด FHD (1920 x 1080) ผิวจอเป็นแบบด้าน Anti-glare กันแสงสะท้อนดี และยังมาพร้อม Dolby Vision (HDR) ให้ภาพคมชัด สีสันจัดจ้าน
- สเปกใช้ Core i7-10510U + AMD Readeon 625 2GB แรม 8GB ความจุตัวเครื่อง SSD NVMe M.2 512GB ใส่ HDD 2.5” เพิ่มสูงสุด 2TB ได้อีกหนึ่งลูก ส่วนระบบปฏิบัติการเป็น Windows 10 Pro
- ลำโพงซ้ายขวาเป็นแบบ Stereo ที่ปรับจูนโดย HARMAN/KARDON มาพร้อมระบบเสียง Dolby Audio เสียงใส เสียงคนพูดชัด เบสไม่หนักมาก เลือกปรับแต่งได้
การรับประกัน
สำหรับการประกันเป็น 1 ปีแบบเพื่อธุรกิจโดยเฉพาะ ต่างจากธรรมดาตรงที่จะซ่อมเร็วขึ้น 30% และมีบริการซ่อมถึงที่ พร้อม Call Center คอยแก้ปัญหาตลอด 24 ชั่วโมง
ผลการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพ
ผมได้ทดสอบด้วยโปรแกรม PCmark: 4584 คะแนน, ส่วนซีพียูก็ได้ทดสอบด้วย Geekbench 5 : Single Core 1201, Multi-Core 3924 สำหรับด้านกราฟิกก็ได้จาก 3DMark: 583 คะแนน การอ่านเขียนข้อมูลก็ได้จาก CrytalBechmark: Read 3382 MB/s, Write 2986 MB/s อันนี้ถือว่าเร็วแบบสุด ๆ เลย
ข้อสังเกตและฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
การใช้งานโปรแกรมธุรกิจ เช่น Micorsoft Office ใช้ได้ไม่มีปัญหาเลยครับ ส่วนโปรแกรมที่หนักขึ้นมาหน่อยอย่าง Adobe Photoshop หรือ Illustrator ก็สบาย ๆ แบต 45Wh ถือว่าเป็นจุดเด่นเลย เพราะมันอึดมาก เปิดวิดีโอ YouTube 4K แบบหนัก ๆ ต่อเนื่อง 1 ชั่วโมง แบตลดไป 24% ส่วนการทำงานทั่วไป 8 ชั่วโมงแบต เหลือ ๆ นอกจากนี้ยังรองรับชาร์จเร็วหรือ RapidCharge 65W อีกด้วย
สำหรับฟีเจอร์ที่ใช้สำหรับการทำธุรกิจก็มี ปุ่มรับสายรับสาย Skype บนคีย์บอร์ด Wifi 6 AX ที่มีความเร็วมากกว่า Wifi AC ถึง 3 เท่า TPM 2.0 (Trusted Platform Module) เฟิร์มแวร์ที่ฝังมาในเครื่อง ช่วยปกป้องข้อมูลเพื่อใช้ Windows 10 security และ user data encryption ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฟีเจอร์ Smart Power On ปลดล็อกเครื่องด้วยลายนิ้วมือ ร่วมกับ Windows Hello ThinkShutter ปิดกล้องหน้า ป้องกันคนแฮกเข้ามาแอบดู Active Protection System (APS) ฟีเจอร์หยุดการทำงานของ HDD เวลาเครื่องเกิดแรงกระแทก ป้องกันความเสียหายของข้อมูล มีซอฟต์แวร์ Lenovo Vantage โปรแกรมติดมากับเครื่อง ช่วยจัดการระบบฯ เช็กปัญหาและอัปเดตไดรเวอร์ในคลิกเดียว
สุดท้ายเป็นโน้ตบุ๊กทำงาน ก็ต้องทนทาน ThinkBook กันน้ำได้ 60cc น้ำหกใส่เครื่องไม่พังนะครับ แต่ไม่แนะนำให้เทสแบบนี้เพราะทั้งหมดถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในธุรกิจ และได้ใช้จริงๆ ครับ โดยเฉพาะ ThinkShutter อันนี้ต้องปิดไว้ครับ ถ้าไม่ได้ใช้ และก็มาถึงจุดสังเกต Lenovo ThinkBook 14 ก็คือเรื่องขนาดตัวที่ค่อนไปทางหนาและหนัก แต่ก็ยังพกได้สะดวกสบาย แถมยังได้เรื่อง พอร์ตครบ ๆ แบตอึด ๆ ประสิทธิภาพดี ดีไซน์สวย ๆ จุดสังเกตนี้ดูเล็กไปเลยครับ
รีวิวที่ดีต้องมี “ราคา”
- ThinkBook 14 เริ่มต้นที่ราคา 19,490 บาท ส่วน ThinkBook 15 เริ่มต้นที่ 19,990 บาท รุ่นเริ่มต้นทั้งสองใช้สเปค i5-10210U + AMD Radeon 625 แรม 8GB + SSD 512GB + Win 10 Home ถือว่าราคาน่ารักเลย เป็นมิตรกับธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก
- ส่วนรุ่นที่เรารีวิวอยู่คือ ThinkBook 14 ตัวท็อป สเปค Intel i7 Gen-10 แรม 8GB + SSD 512GB + Win 10 Pro ราคาอยู่ที่ 26,490 บาท
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส