หนุ่ยทอล์กหนุ่ยโทร (25 ต.ค. 63) ร่วมวิเคราะห์อนาคตการค้าไทยหลังสหรัฐฯ หลังนายโจ ไบเดน อายุ 77 ปี ถูกประกาศว่าเขาเป็นผู้ชนะในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นรัฐสมรภูมิ (Battleground States) ที่สำคัญและมีคณะผู้เลือกตั้ง 20 คน ทำให้มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งของนายไบเดนเพิ่มเป็น 273 คน และเกินครึ่งหนึ่งที่ต้องการที่ 270 คน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ความเปลี่ยนแปลงหลังสหรัฐฯ ได้ปธน.คนใหม่

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจีน มองว่า การเข้ามาของนายโจ ไบเดน อาจเรียกว่าเป็นการทำให้โลกกลับสู่สภาวะปกติ หลังจากปั่นป่วนมานาน โดยนายไบเดนจะนำพาสหรัฐฯ เข้าสู่การเจรจาพหุภาคีต่าง ๆ ที่นายทรัมป์เลือกนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกมา เช่น สนธิสัญญาปารีส, WHO, WTO รวมไปถึง CPTPP อย่างแน่นอน ซึ่งในส่วนนี้อาจเป็นตัวนำที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – จีน ดีขึ้น เนื่องจากจีนให้การสนับสนุนการเจรจาพหุภาคีต่าง ๆ ส่วนการแบนสินค้าจีนและกำแพงภาษีที่นายทรัมป์ดำเนินมาตลอดนั้น อาจมีทิศทางดีขึ้น

สหรัฐฯ รอดพ้นวิกฤตด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ

รศ.ดร.สมภพ มองว่าทุกครั้งที่สหรัฐฯ เกิดวิกฤตภายในประเทศ จะมี 3 ปัจจัยสำคัญที่่ช่วยแก้ไขปัญหาหรือทำให้รอดพ้นวิฤต คือ ภาคเทคโนโลยี, ภาคการเงิน และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – จีน

รศ.ดร.สมภพ ยกตัวอย่าง ปี 2009 ในสมัยของนายบารัก โอบามา ที่เกิดวิกฤตทางการเงิน ‘วิกฤติซับไพรม์’ หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อ ‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ โดยวิกฤตนี้มีสาเหตุหลักมาจากความซบเซาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง และระดับหนี้สินของบริษัทและบุคคลที่สูงเกินไป ซึ่งในปีที่เกิดวิกฤตนี้ ตรงกับปีที่สหรัฐฯ เริ่มต้นการประมูล 4G

4G มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาสหรัฐฯ ทางด้านเทคโนโลยี เช่น AI อีกทั้งโครงข่าย 4G ยังใช้อุปกรณ์จากจีน ซึ่งจุดนี้แสดงให้เห็นว่า ณ เวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – จีน มีการค้าขายระหว่างกัน นอกจากนี้ เพื่อเป็นการแก้วิฤต นายโอบามายังออกคำสั่งให้ FED (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) ลดดอกเบี้ยจนเหลือ 0% จีนจึงเข้ามาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ท้ายที่สุดสหรัฐฯ จึงมีเงินทุนในการแก้วิกฤตต่อไปได้

การเข้ามาของนายไบเดนครั้งนี้ จึงอาจเป็นความหวังใหม่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อนาคตการค้าไทยต่อจากนี้ไป

สำหรับประเทศไทยนั้น รศ.ดร.สมภพ ให้ความคิดเห็นไว้ว่า ควรปรับตัวตามคลื่นลมให้ทัน ต้องรักษาสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งความเห็นนี้สอดคล้องกับนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ที่แนะยุทธศาสตร์ “เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ” โดยไทยต้องเปิดรับทั้งคู่และอยู่ร่วมกับสหรัฐฯ และจีนให้ได้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส