ถามว่าเราใช้ iPad Air 4 ทำอะไร เราใช้งานแทนโน้ตบุ๊กในการทำเนื้อหาเลยครับ ซึ่งหลังจากที่เราใช้งาน iPad Air 4 อย่างนอกคอกกับอุปกรณ์เสริมที่แอปเปิ้ลคงไม่อยากให้เราใช้ นี่คือรีวิวสรุปการใช้งานจริงจากเราที่เอาไปเทียบกับ iPad Pro 11 ให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นด้วยนะ

ดีไซน์

ดูดีไซน์ของ iPad Air 4 กันหน่อยครับ สำหรับคนที่คุ้นเคยกับ iPad Pro 11 อยู่จะไม่รู้สึกแตกต่างกันนะครับ เพราะมีดีไซน์ขอบตัดและขนาดเท่ากันเลย มันจึงสามารถใช้กับเคส Magic Keyboard ได้เลยโดยไม่ต้องซื้อใหม่ เพียงแต่ว่า iPad Air 4 นั้นจะมีความหนากว่านิดหนึ่งคือ 6.1 mm ส่วน iPad Pro หนาแค่ 5.9 mm ซึ่งเราลองงอดูเบาๆ แบบไม่กล้าออกแรงเยอะ เพราะนี่เครื่องซื้อมาใช้เอง ไม่มีใครสนับสนุน ก็คิดว่ามันน่าจะงอยากกว่า iPad Pro ที่มีปัญหานะ ส่วนน้ำหนัก iPad Air 4 จะเบากว่านิดหน่อยที่ 458 กรัมครับ ส่วน iPad Pro 11 จะหนักที่ 471 กรัม

แต่ที่ต่างกันเยอะคือสีสันครับ iPad Air 4 จะมีสีเงินและเทา Space Grey เหมือนกับ iPad Pro และสีที่เพิ่มเข้ามาคือทอง Rose Gold, เขียว และสีฟ้า Sky Blue ครับ

iPad Air 4 กับ iPad Pro 11 2020 นั้นแตกต่างกันตรงไหนบ้าง?

ในเมื่อดีไซน์เครื่องเหมือนกันขนาดนี้ แล้ว iPad Air 4 กับ iPad Pro 11 2020 นั้นแตกต่างกันตรงไหนบ้าง ผมสรุปให้ฟังสั้น ๆ ว่าราคาที่ต่างกัน 8,000 บาทของรุ่นความจุเริ่มต้นคือ iPad Pro 11 128 GB และ iPad Air 4 64 GB มันต่างกันตรงไหนบ้าง?

  • เรื่องแรกคือ iPad Air นั้นไม่มี Face ID สแกนหน้าปลดล็อกเหมือนรุ่น Pro นะครับ ใช้เป็น Touch ID ที่ปุ่มล็อกจอแทน ซึ่งเราใช้งานแล้วชอบเลยนะ มันสแกนเร็ว ทำงานได้แม่นยำ เวลาใช้งานแนวตั้งก็ใช้นิ้วชี้ขวาปลดล็อกแบบนี้ ส่วนเวลาใช้งานแนวนอนก็ใช้นิ้วชี้ซ้ายปลดล็อก ซึ่งเอาตรงๆ การสแกนนิ้วมันเหมาะสำหรับการใช้งานในยุคนี้มากกว่าการสแกนหน้าอีกนะ อยากให้ iPhone 12 มี Touch ID บ้างจัง

  • ต่อมาคือหน้าจอที่ iPad ทั้ง 2 รุ่นเป็นจอ Liquid Retina เหมือนกันครับ ให้คุณภาพภาพและความสดใสได้พอๆ กัน แต่จอของ iPad Pro 11 2020 จะให้ความสว่างสูงสุด 600 nit มากกว่า iPad Air 4 ที่สว่างสุด 500 nit ทำให้สู้แสงได้ดีกว่า นอกจากนี้จอของ iPad Pro 11 จะมีขนาด 11 นิ้วพร้อมเทคโนโลยี ProMotion ให้ภาพลื่นไหล 120 Hz ส่วน iPad Air 4 ให้จอเล็กกว่านิดหนึ่งคือ 10.9 นิ้ว และเป็นจอ 60 Hz ที่ใช้กันทั่วไปนะครับ ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้หลายคนที่ชินกับจอนุ่มแล้ว ตัดสินใจไป iPad Pro เลย

  • กล้องหลังของ iPad Pro 11 2020 จะมีเลนส์มุมกว้างมากมาให้พร้อมกับเซนเซอร์ LIDAR สำหรับวัดระยะ ซึ่งจุดนี้เราว่าไม่ใช่น้ำหนักในการตัดสินใจสำหรับคนทั่วไปเท่าไหร่ นานๆ ทีเราถึงจะยกเอา iPad มาถ่ายรูปเนอะ

  • ประสิทธิภาพ iPad Pro 11 2020 ใช้ชิป Apple A12Z ส่วน iPad Air 4 ใช้ชิป A14 ตัวล่าสุด

  • รอบเครื่องนี้ก็จะมีจุดที่น่าสนใจคือช่องลำโพง 4 ชุดนะครับ ซึ่งถ้าเปิดเสียงดังสุดคือดังมากจริง ๆ เป็นสเตอริโอซ้าย-ขวาด้วยถ้าเราถือเครื่องแนวนอน ให้เสียงดีกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปอีก เบสแน่นใช้ได้เลย แต่สเปกของแอปเปิ้ลบอกว่า iPad Air 4 จะเป็นระบบ 2 ลำโพงซ้าย-ขวานะครับ ต่างจาก iPad Pro 11 ที่เป็นระบบ 4 ลำโพง ซึ่งให้เสียงดี เบสแน่นกว่า นอกจากนี้ iPad Air 4 ยังไม่มีช่องหูฟัง 3.5 mm เหมือน iPad Pro นะครับ ถ้าต้องการเพลงผ่านสาย ก็ต้องเสียบผ่านช่อง USB-C เท่านั้น

ซึ่งช่อง USB-C นี้ก็ทำงานได้หลายอย่าง เอาฮาร์ดดิสก์ภายนอกมาเสียบก็ได้ ก็สามารถทำงานกับไฟล์ภายนอกได้โดยตรงแบบไม่ต้องโหลดลงเครื่องก่อน หรือต่อฮับแปลง HDMI ก็สามารถต่อภาพออกจอนอกได้โดยตรง สบายกว่าใช้ Lightning เยอะ ไม่รู้เมื่อไหร่ iPhone จะเปลี่ยนตามมาบ้าง

นอกจากนี้ยังรองรับการชาร์จเร็ว ซึ่งเราเทสต์กับหัวชาร์จ 61 Watt ของ MacBook Pro ก็สามารถรับกำลังไฟได้สูงสุดราวๆ 27 Watt เลยทีเดียว ซึ่งก็เป็นสเปกที่มากกว่าหัวชาร์จ 20 Watt ที่แถมมาในกล่องพร้อมสาย USB-C มาด้วย ไม่เหมือน iPhone รุ่นใหม่ๆ ที่ไม่แถมหัวชาร์จแล้ว

มาถึงประสบการณ์การใช้ iPad Air 4 แบบนอกคอกของเรากันบ้าง คือเราใช้อุปกรณ์เสริมแบบที่แอปเปิ้ลไม่ได้อยากให้เราใช้ แต่เราใช้เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีและคุ้มค่าที่สุด

เริ่มตั้งแต่ Apple Pencil 2 ที่ตั้งราคามาไร้สาระมาก 4,490 บาท ทำไมจะต้องซื้อล่ะ ในเมื่อเรามีปากกาจีนที่ใช้งานได้ลื่นไหลได้เหมือนกัน ผมลองให้คุณสต็อป Art Director ของแบไต๋เอาไปใช้ทำภาพให้ดู มันก็ทำงานออกมาได้สวยแบบนี้ แถมเอาไปแปะข้างเครื่องก็ได้ (แต่ชาร์จไม่ได้นะ ต้องชาร์จปากกาโดยเสียบ USB-C เอา) ที่สำคัญคือมันใช้กับ iPad ได้ทุกรุ่นที่รองรับ Apple Pencil ไม่ต้องซื้อแยกแบบ Pencil 1

สำหรับ iPad รุ่นพอร์ต Lightning กับ Pencil 2 สำหรับรุ่นที่ใช้ USB-C จีนทำให้รวมกันหมดในแท่งเดียวนี้แหละ ที่ตีความง่ายๆ เลยว่าในทางเทคนิคแอปเปิ้ลทำให้ Pencil 1 กับ 2 ใช้งานด้วยกันได้ แต่เพราะอยากขายของทำให้ต้องซื้อแยกกัน ซึ่งปากกาจีนนี้ราคาไม่ถึงพัน ตัวเลขที่น่าสนใจคือทำหายแล้วซื้อใหม่ 5 แท่ง เอาราคามารวมกันแล้ว ยังไม่ได้ Apple Pencil 2 แท่งเดียวเลย

ต่อมาคือคีย์บอร์ด อันนี้เราเลือกสิ่งที่ดีที่สุดคือ Magic Keyboard สำหรับแมคครับ เพราะเป็นแป้นที่ดีที่สุดสำหรับงานพิมพ์ในฝั่งแอปเปิ้ลแล้ว ตัวแป้นไม่โดนบีบให้เล็กลงเหมือนคีย์บอร์ดที่มากับในเคส ทำให้ทุกแป้นมีขนาดมาตรฐาน หลับตาพิมพ์ได้ และมันเป็นคีย์บอร์ดปุ่มเต็มแบบไม่มี Numpad ที่น้ำหนักเบาสุดที่เราจะหาซื้อได้ทั่วไปแล้วครับ มันหนักแค่ 230 กรัมเท่านั้น ชั่งรวมกับเคสคีย์บอร์ดตัวนี้ที่สามารถกางออกมาตั้ง iPad จะหนักประมาณ 473 กรัม เบากว่า Magic Keyboard for iPad ที่หนักถึง 601 กรัม ซึ่งชุดนี้ถ้าชั่งรวมกับ iPad Air 4 จะหนัก 936 กรัม ก็สามารถใช้งานได้สบายแบบโน้ตบุ๊กเลย

ส่วนราคานั้นถูกกว่ามากด้วย คือ Magic Keyboard สำหรับแมคมีราคา 3290 บาท ส่วนเคสตัวนี้เราซื้อมาราว 700 บาท รวมแล้วประมาณ 4,000 บาท ในขณะที่ Magic Keyboard for iPad มีราคา 9,990 บาทจ้า

ส่วนเมาส์ อันนี้เป็นส่วนเสริมเนอะ เราไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ ซึ่งเราทำงานจริงบน iPad แล้ว เอานิ้วแตะจอมันก็สะดวกดี ไม่ต้องใช้เมาส์หรอก แต่ก็เอามาให้ดูว่ามันใช้งานร่วมกับ Microsoft Designer Mouse ที่เชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ได้ดีมาก ตอนนี้ iPadOS ใช้งานเมาส์ได้แบบเมาส์เลยนะ ไม่ใช่ใช้แทนนิ้วมือแบบเดิมแล้ว เมาส์ไม่แบนจนใช้แล้วปวดมือเหมือน Apple Magic Mouse ด้วย

ทีมบรรณาธิการแบไต๋ใช้ iPad Air 4 เพื่อเขียนบทรีวิวชิ้นนี้ และใช้ในการทำเนื้อหาลงเว็บด้วย ซึ่งสรุปการใช้งานเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหาจริงออกมาว่ามันสามารถทำงานแทนโน้ตบุ๊กได้เลย ซึ่งให้ประสิทธิภาพดีกว่าโน้ตบุ๊กในระดับราคาเดียวกัน เพียงแต่ว่าการใช้งานจะต้องปรับตัวพอสมควรเพื่อเรียนรู้การสั่งงาน iPad แบบต่างๆ ครับ ซึ่งผมยกตัวอย่างการใช้งานในขณะเขียนเนื้อหาให้ดูนะครับ

เมื่อต่อ iPad Air 4 เข้ากับคีย์บอร์ดภายนอกเรียบร้อยแล้ว เราจะได้พื้นที่จอทั้งหมดมาเพื่อทำงาน ซึ่งโดยปกติแล้วเราจะเปิดหน้าข้อมูลไปพร้อม ๆ กับหน้าเขียนเนื้อหา ซึ่งเราสามารถเปิดเบราว์เซอร์ไปพร้อมกับแอปจดบันทึกเพื่อทำเนื้อหาได้ หรือถ้าเป็น Safari ก็สามารถเปิดเบราว์เซอร์พร้อมกัน 2 ตัวเพื่อทำงานได้พร้อมกัน นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ปุ่ม Command + Tab เพื่อสลับหน้าต่างอย่างเร็ว หรือลากเอาแอปอย่าง LINE หรือ Facebook มาซ่อนอยู่ที่ขอบจอ เพื่อดึงออกมาใช้งานได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย

นอกจากนี้ iPad Air 4 ยังใช้อ่านหนังสือได้ดีด้วย การอ่านการ์ตูนสามารถเปิดแบบ 2 หน้าได้อย่างเต็มตา แต่การอ่านแบบหน้าเดียว อาจจะใหญ่ไปสักนิดครับ ต้องถืออ่านห่างเครื่องหน่อย ซึ่งสำหรับการอ่านหนังสือในขนาด Pocket Book ใช้ iPad Mini จะเหมาะกว่าครับ

ประสิทธิภาพ

ส่วนเรื่องความแรงของชิป A14 ใน iPad Air 4 นั้นน่าสนใจครับ ทำคะแนน Geekbench 5 แบบ Single-Core ได้ถึง 1580 คะแนน แรงกว่า iPad Pro 2020 ที่ใช้ชิป A12Z เสียอีก แต่คะแนนแบบ Multicore ของ iPad Air 4 ที่ได้ 4129 คะแนน ก็ยังแพ้ iPad Pro 2020 ที่ได้ไปราว 4600 คะแนนครับ

แต่ในส่วนของการทดสอบ Compute ที่วัดประสิทธิภาพของ GPU เป็นหลัก ผลปรากฎว่าชิป A14 ใน iPad Air 4 สามารถทำคะแนนชนะ iPad Pro 2020 ไปได้ครับ

ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพกราฟิกแบบจริงจัง เราใช้ 3Dmark Wild Life ทดสอบประสิทธิภาพออกมาได้ราวๆ 6600 คะแนน ซึ่งผลทดสอบนี้น่าสนใจตรงที่ประสิทธิภาพกราฟิกนั้นแพ้ชิป A13 ที่อยู่ใน iPhone 11 ที่ทำคะแนนได้ราว 7000 คะแนน และยังต่างชั้นกับชิป A12Z ที่กวาดไปเกือบหมื่นคะแนน ส่วนการทดสอบ Wild Life Stress Test ที่ทดสอบประสิทธิภาพต่อเนื่องกัน 20 รอบ ก็ให้คะแนนราว 6600 คะแนนนิ่งๆ ไม่ค่อยเกิดปัญหาความร้อนจนคะแนนตกลงไปครับ

สุดท้ายคือการทดสอบกับกับ Genshin Impact ก็สามารถเลือกกราฟิกระดับสูงสุดแบบ 60 fps ก็เล่นได้อย่างลื่น ๆ เช่นกัน

กล้อง

ปิดท้ายกันที่เรื่องกล้อง เราไม่ค่อยได้ใช้กล้องใน iPad ถ่ายรูปกันบ่อยเท่าไหร่ เพราะเครื่องใหญ่ ลูกเล่นกล้องก็โดนตัดไปจาก iPhone เยอะ เช่น มีเลนส์เดียว ไม่มีเลนส์มุมกว้าง ไม่มี Night Mode ไม่มี Deep Fusion ที่ถ่ายหลายๆ รูปมาประมวลผลให้ได้ภาพที่ชัดที่สุด หรือโหมด Portrait ที่ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอก็ไม่มี

แต่คุณภาพภาพถ่ายจาก iPad Air 4 ก็ถือว่าดีมากครับ ด้วยกล้องหลัง 12 ล้านพิกเซล f/1.8 ที่มี Smart HDR ในการจูนภาพให้โทนสีภาพออกมาสวย เอาไว้ถ่ายแทนมือถือได้เลยแหละ แต่ก็ตามสไตล์กล้องจากแอปเปิ้ลนะที่ถ่ายในที่แสงน้อยไม่ค่อยรอด ส่วนกล้องหน้าความละเอียด 7 ล้านพิกเซล f/2.2 ก็ถ่ายรูปออกมาสวยกว่า iPad Gen 8 ที่มีกล้องความละเอียด 1.2 ล้านพิกเซลมากครับ แต่ไม่สามารถถ่าย Portrait หน้าชัดหลังเบลอได้เหมือน iPad Pro ที่เป็นระบบกล้อง TrueDepth นะ

ส่วนการถ่ายวิดีโอ iPad Air 4 สามารถถ่ายวิดีโอได้ถึงระดับ 4K 60 fps ออกมาได้สวยงามดี มีการป้องกันภาพสั่นไหวในระดับหนึ่ง แต่ถ้าลดเปกลงไปถ่าย Full HD จะได้ภาพที่นุ่มนวลกว่าครับ

ข้อสังเกต

ข้อเสียของ iPad Air 4 บอกตรง ๆ ว่าหายากอยู่ครับ ส่วนใหญ่จะเป็นข้อจำกัดที่รับกันได้อยู่แล้ว เช่นเพิ่มความจุภายในไม่ได้ ไม่มีช่องหูฟัง หรือพื้นที่ iCloud แบบฟรีที่มีให้แค่ 5 GB เท่านั้น

รีวิวที่ดีต้องมีราคา

สำหรับ iPad Air นั้นมีราคาเริ่มต้น 19,900 บาทสำหรับรุ่น 64 GB นะครับ และ 24,900 บาทสำหรับรุ่น 256 GB ราคานึ้ปรับเพิ่มจาก iPad Air 3 รุ่นละ 2,000 บาท

ซึ่งถ้าเทียบกับ iPad Pro 11 นิ้ว ที่ความจุ 256 GB เท่ากันซึ่งขาย 31,400 บาท ก็จะถูกกว่า 6,500 บาท เอาเป็นว่าใครไม่ต้องการจอนุ่ม ไม่ต้องการกล้องมุมกว้าง ไม่ต้องการ Face ID ซื้อ iPad Air ประหยัดกว่าเห็น ๆ ครับ