อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วอยากจะรู้คำศัพท์มากขึ้นใช่มั้ย? วันนี้เมย์พามาเจาะลึก!ศัพท์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับการ์ตูน ที่แฟน ๆ มังงะตัวยงต้องรู้! มาดูกันเลย
manga มังงะคือคำที่มีความหมายว่าการ์ตูนในภาษาญี่ปุ่นค่ะ (漫画) มังงะพัฒนามาจากอุคิโยเอะและจิตรกรรมตะวันตก และเริ่มคงรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยครอบคลุมการ์ตูนทุกรูปแบบ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การ์ตูนญี่ปุ่นเท่านั้นนะ การ์ตูนทุกแนวสามารถเรียกว่ามังงะได้หมดค่ะ แต่ภาพโดยรวมเวลาพูดถึงมังงะทุกคนจะนึกถึงหนังสือการ์ตูนที่มีเรื่องราวและช่องคำพูด ลายเส้นที่ออกแนวการ์ตูนญี่ปุ่น ส่วนการ์ตูนแนวอเมริกัน ที่ญี่ปุ่นจะเรียกทับศัพท์ตรงตัวเลยว่าอเมริกันคอมิก (アメリカン コミック) ซึ่ง Manga นั้นจะเกี่ยวข้องกับอีกคำหนึ่งคือ tankobon
ทังโกบง (ญี่ปุ่น: 単行本) เป็นภาษาญี่ปุ่น หมายถึง หนังสือชุดหนึ่ง ซึ่งแต่ละเล่มอาจจบในตัวไม่ต่อเนื่อง หรือจะเกี่ยวข้องกันเป็นหนังสือชุดก็ได้ ส่วนใหญ่จะตีพิมพ์เป็นเล่มเล็ก ๆ เท่าฝ่ามือเราเนี่ยแหละ ทั่วไปจะเป็นขนาด 128×182 mm. หรือ B6 อย่างการ์ตูนเล่มที่เราซื้ออ่านกันก็เรียกว่า Tankobon ได้ จะมีอีกคำที่ความหมายคล้ายกันนั่นคือ 文庫本 Bunkobon ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่า Tankoubon โดยปกติจะมีขนาด 105×148 mm. หรือขนาด A6 ทั้งนี้ขนาดอาจแตกต่างกันไปเล็กน้อยตามแต่ละสำนักพิมพ์ แต่จะไม่เกิน 5 mm.
ชื่อหมวดหมู่ของอะนิเมะและมังงะ
เริ่มจาก Shounen เกิดจากตัวคันจิสองตัว คือ 少 ที่แปลว่าเล็ก และ 年 ที่แปลว่าปี โดยคำนี้มีความหมายว่า เด็กผู้ชาย การ์ตูนแนวโชเน็นจึงหมายถึงการ์ตูนแนวที่เด็กผู้ชายนิยมกัน ทำมาเพื่อมีกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็กผู้ชายเป็นหลัก โดยมากจึงมักจะเป็นการ์ตูนแอ็กชันต่อสู้ มิตรภาพลูกผู้ชายนั่นเองค่ะ ตัวอย่างการ์ตูนโชเน็น: One Piece, นารุโตะ นินจาจอมคาถา, My Hero Academia
ต่อไป Shoujo คำว่าโชโจจะมีความหมายตรงตัวกว่าโชเน็น เพราะคันจิทั้งสองตัวนั้นคือ 少 เล็ก และ 女 ผู้หญิง รวมกันจึงแปลว่าเด็กผู้หญิง ดังนั้นการ์ตูนโชโจจึงหมายถึงการ์ตูนที่มีกลุ่มเป้าหมายที่เด็กผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่นการ์ตูนตาหวาน การ์ตูนแนวรักบริสุทธิ์ หรือสาวน้อยเวทมนต์ เป็นต้น ตัวอย่างการ์ตูนโชโจ: หน้ากากแก้ว, กุหลาบแวร์ซายส์, ซากุระ มือปราบไพ่ทาโรต์ค่ะ
ต่อไปคือ เซย์เน็น (青年 – Seinen) 青 หมายถึงสีฟ้า และ 年 หมายถึงปี ในภาษาญี่ปุ่นนั้นรวมกันแล้วจะหมายถึงช่วงวัยหนุ่มสาว เซย์เน็นจึงแปลได้ใกล้เคียงกับคำว่าวัยรุ่น เพียงแค่ว่าในความหมายของเซย์เน็นนั้นจะไม่ใช่เด็กมัธยมต้น แต่จะเน้นไปที่วัยนักศึกษามหาวิทยาลัย จนถึงเรียนจบและวัยทำงาน คือตั้งแต่อายุประมาณ 18 และอาจจะเลยไปไกลได้จนถึง 30 หรือ 40 เลย
ถึงแม้ว่าคำนี้จะหมายถึงหนุ่มสาวได้ทั้งสองเพศ แต่สำหรับการพูดถึงประเภทของการ์ตูนนั้น เซย์เน็นจะเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่การ์ตูนผู้ชายซะมากกว่า โดยเนื้อหาของการ์ตูนเซย์เน็นจะเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น มีประเด็นให้กลับมาขบคิดมากกว่าเดิม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่การ์ตูนเนื้อหาหนักหน่วงอย่างเดียว เหล่าการ์ตูนตลกหลายเรื่องก็ถูกจัดให้อยู่ในหมวดนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างการ์ตูนเซย์เน็น: Chobits ดิจิทัลเลดี้, สาวน้อยเวทมนตร์มาโดกะ, รับน้องกระต่ายซักแก้วมั้ยคะ?
โจเซย์ (女性 – Josei) แปลได้ตรงตัวคือเพศหญิง, ผู้หญิง ซึ่งความหมายของคำนี้ไม่ได้จำกัดช่วงอายุแต่อย่างใด จะเป็นเด็กหญิงตัวน้อยหรือคุณยายอายุเฉียดร้อยก็นับเป็นโจเซย์ได้หมด เพียงแต่ในความหมายของการจัดประเภทการ์ตูนนั้น โจเซย์จะหมายถึงการ์ตูนที่มีกลุ่มเป้าหมายที่โตขึ้นมา อาจกล่าวได้ว่าเป็น โชโจ เวอร์ชันโตแล้ว หรือเป็น เซย์เน็น เวอร์ชันเพศหญิงก็ได้
เช่นเดียวกันกับเซย์เน็น การ์ตูนโจเซย์นั้นจะมีเนื้อหาที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่นหากเป็นการ์ตูนที่พูดถึงเรื่องความรักก็อาจจะมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น อาจจะเป็นรักสามสี่ห้าเส้าเข้ามาปะปนกัน หรือจะเป็นแนวรีเวิร์สฮาเร็มที่มีเหล่าหนุ่มหล่อมากหน้าหลายตาเข้ามารุมล้อมนางเอกก็ใกล้เคียงกับแนวโจเซย์เช่นกัน ในหลายครั้งนั้นแนวโจเซย์ก็อาจรวมเข้ากับโชโจก็มี ตัวอย่างการ์ตูนโจเซย์: NANA, Nodame Cantabile วุ่นรัก นักดนตรี, Paradise Kiss
โคโดโมะ (子供 – Kodomo) คำนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูในการจัดประเภทการ์ตูนสักเท่าไร เพราะบ้านเรามีการใช้คำอื่นมาแทนคำทับศัพท์แล้ว นั่นก็คือ การ์ตูนเด็ก นั่นเอง เพราะ Kodomo แปลตรงตัวได้ว่า เด็ก การ์ตูนโคโดโมะ หรือการ์ตูนเด็ก จึงเป็นการ์ตูนที่มีกลุ่มเป้าหมายไปที่เด็ก โดยเน้นช่วงวัยอนุบาลไปจนถึงประถมนั่นเอง
บางครั้งอาจจะเห็นคำว่า Kodomomuke หรือ 子供向け ซึ่งมีความหมายว่า สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ก็เป็นได้
ตัวอย่างการ์ตูนเด็ก: โดราเอมอน, หนูน้อยจอมซ่า มารุโกะจัง, อันปังแมน
เล่าไปเล่ามาชักจะยาวมากแล้วค่ะ เดี๋ยวคลิปหน้าเมย์มาต่อกับศัพท์เรียกตัวละครต่าง ๆ ดีกว่า ถ้าอยากรู้ว่า Tsundere มีที่มายังไง ทำไมกลายเป็นคำไทยว่า หนุ่มซึน สาวซึน ขึ้นมาได้ เมย์เล่าให้ฟังค่ะ อย่าลืมนะคะ ถ้าชอบช่วยแชร์ และกด See First ด้วยค่า
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส