ความสัมพันธ์ของสหรัฐอเมริกากับจีนในตอนนี้ ดูห่างไกลจากคำว่า ‘พันธมิตร’ ทั้งการตั้งกำแพงภาษี การแบนสินค้าและบริการ การแบน Huawei บริษัทผู้นำด้าน 5G, การแบน TikTok แอปพลิเคชันขวัญใจชาวโลก และล่าสุด ก่อนลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี นายทรัมป์ยังประกาศแบนอีก 9 บริษัทสัญชาติจีน หนึ่งในนั้นคือ Xiaomi สหรัฐอเมริกามองว่านี่คือ ‘ภัยต่อความมั่นคงของชาติ’ แล้วอะไรที่ทำให้ทั้ง 2 ประเทศนี้ไม่ลงรอยกัน?
ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบว่าอะไรที่ทำให้สหรัฐอเมริกากับจีนไม่ลงรอยกัน เราควรเริ่มต้นที่แนวคิดพื้นฐานของทั้ง 2 ประเทศกันก่อน
รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล อดีตผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าไว้ในรายการ “หนุ่ยทอล์กหนุ่ยโทร” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปีที่ผ่านมาว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง สหรัฐอเมริกาก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจ ความรู้สึกของคนอเมริกันเริ่มมีความทะนงตนว่า พวกเขาเหนือกว่าชาติอื่น ๆ ในโลก ประกอบกับเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง และชัยชนะตกเป็นของฝ่ายทุนนิยม สหรัฐฯ ก็ยิ่งได้ใจขึ้นไปอีก และมีความพยายามวางตัวเองให้เป็นตำรวจโลก ทั้งสอดส่อง ดูแล และคอยยื่นมือเข้าไปในประเทศต่าง ๆ โดยมองว่าตนนั้นเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา จนกลายเป็นแนวคิดพื้นฐานว่า ‘โลกควรมีมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว’ เพื่อตัดสินและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในโลก
รัสเซียและจีน มีแนวคิดพื้นฐานที่ต่างจากสหรัฐฯ ไปอย่างสิ้นเชิง โดยทั้งคู่มองว่า ‘โลกควรมีมหาอำนาจมากกว่าหนึ่ง’ เพื่อถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ไม่ให้ใครกุมชะตากรรมของโลกไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่ทำไมมวยคู่เอกของโลกจึงไม่เป็นรัสเซียกับสหรัฐฯ ?
รศ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ได้ให้คำตอบไว้ว่า เมื่อหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ในช่วงปี 1990 รัสเซียตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก ในขณะที่จีนเจริญเติบโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเทคโนโลยี ทางสหรัฐฯ จึงมองว่าจีนคือคู่แข่งที่น่ากลัว
กลับมาที่ปัจจุบัน หลายคนอาจจะคิดว่า ดอนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่เพิ่งลาตำแหน่งไปหมาด ๆ เป็นคนจุดชนวนความขัดแย้งเหล่านี้หรือเปล่า ถ้าบอกว่าเป็นคนจุดชนวนคงไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่าเป็นคนเร่งกระบวนการ ก็คงไม่ใช่การพูดที่ผิดแต่อย่างใด ซึ่งกระบวนการที่ว่านั้นก็คือ การคงไว้ซึ่งการเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก
ในสมัยของ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ในช่วงนั้นเราจะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ บุกเข้าไปในประเทศอิรักโดยให้เหตุผลทางด้านการรักษาความมั่นคง เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่า ผู้ก่อการร้ายคือภัยคุกคามของสหรัฐฯ และภัยคุกคามของโลก ดังนั้นในฐานะตำรวจโลก สหรัฐฯ จะต้องจัดการเรื่องนี้ ซึ่งกว่าสงครามครั้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ก็ล่วงเลยมาถึงสมัยของ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ ที่หลายคนเชื่อว่าจะนำพาความสงบกลับคืนมา แต่ถ้ามองลึก ๆ เข้าไป นโยบายของบารัก โอบามาคือ การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ
ในปี 2009 ที่โอบามาเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขามองว่าศัตรูของสหรัฐฯ ไม่ใช่ผู้ก่อการร้ายอีกต่อไปแล้ว แต่การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนต่างหากคือศัตรูที่แท้จริง หากสหรัฐฯ ไม่รีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลมโลกนี้คงไม่อาจมีมหาอำนาจได้เพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป
สิ่งที่โอบามาทำคือ การสร้างกฎกติกาและจัดระเบียบโลกเรื่องการค้าการลงทุน โดยการทำข้อตกลงทางการค้า Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งเป็นการมาจับมือกับประเทศในแปซิฟิก และข้อตกลงทางการค้า Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) ซึ่งเป็นข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป หากเปิดแผนที่โลกดูจะเห็นได้ว่านี่คือการโดดเดียวจีนที่แท้จริง
ทีมงาน #beartai ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอาจารย์ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ว่า แม้ว่าจะดักกันทุกทางขนาดนี้ โอบามาก็ไม่อาจสกัดกั้นการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนได้ เนื่องจากข้อตกลงทางการค้าเหล่านั้น ต้องใช้เวลาหลายปีในการร่างข้อตกลง เงื่อนไข กฎระเบียบ ซึ่งกว่าจะมีผลบังคับใช้จริงจังก็อีกหลายปี ส่งผลให้ทันทีที่ ดอนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในช่วงปลายปี 2017 เขาจึงรีบถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงทางการค้า TPP แล้วเดินหน้าประกาศสงครามการค้ากับจีนทันที!
ในปี 2018 กระสุนนัดแรกจึงพุ่งออกไปที่จีน โดยสหรัฐฯ สั่งขึ้นภาษีสินค้าจีน 25% รวม 1,102 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และต่อจากนี้ยังมีการประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกหลายครั้ง รวมไปถึงมหกรรมการแบนจากสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศแบน Huawei และ ZTE บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน รวมไปถึงสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง WeChat, TikTok และล่าสุดก่อนอำลาตำแหน่ง ทรัมป์ยังประกาศแบนอีก 9 บริษัทสัญชาติจีน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Xiaomi โดยให้เหตุผลสุดคลาสสิกว่า นี่คือภัยต่อความมั่นคงของชาติ
แต่จีนก็ไม่ใช่ประเทศเล็ก ๆ ที่ใครจะมารังแกก็ได้ เพราะหลังการประกาศตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ จีนก็ตอบโตทันควันด้วยมาตรการทางภาษี แถมดูจะเจ็บน้อยกว่าด้วย เนื่องจากจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ น้อยกว่าที่สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีน
อีกหนึ่งยุทธศาสตร์จีนใช้เพื่อขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก คือ One Belt One Road ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาหลัก ซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นำมาปัดฝุ่นเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2013 เพื่อเชื่อมต่อจีนกับประเทศต่าง ๆ ที่อยู่บนเส้นทางระหว่าง เช่น ยุโรปและประเทศในเอเชีย ถ้าโครงการนี้สำเร็จ มีโอกาสสูงมากที่จีนจะแซงสหรัฐฯ และขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกตัวจริง
ได้เห็นยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าไปแล้ว คราวนี้มาดูฝั่งสงครามเทคโนโลยีกันบ้าง ในยุคสงครามเย็นที่ใช้กำลังอาวุธมาเป็นเครื่องต่อรอง แต่ในยุคนี้อาวุธที่ 2 ประเทศมหาอำนาจใช้ต่อรองกันคือ เทคโนโลยีและข้อมูล (Data)
Data is the New Oil คือประโยคที่สะท้อนให้เห็นว่า ข้อมูล (Data) คือทรัพยากรหลักในการผลักดันเศรษฐกิจยุคดิจิทัล สหรัฐฯ ผู้ซึ่งต้องการเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว จึงไม่อาจยอมให้จีนปักธงชัยในเทคโนโลยีสำคัญอย่าง 5G, สมาร์ตโฟน หรือแพลตฟอร์มโซเซียลที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้
ความวุ่นวายเหล่านี้ดูเหมือนจะมีหนทางคลี่คลาย หลังนายโจ ไบเดน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และได้เข้าพิธีสาบานตนไปเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา แต่ภายในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ จีนได้ประกาศคว่ำบาตรชาวสหรัฐฯ 28 ราย ที่ได้ทำการละเมิดอธิปไตยของจีนอย่างร้ายแรง โดย 1 ในนั้นคือ นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า จีนได้ทำการล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งการกระทำของจีนในครั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่าเป็นการตอบโต้ทรัมป์ที่ประกาศแบน 9 บริษัทสัญชาติจีนก่อนอำลาตำแหน่ง มากกว่าเป็น ‘การรับน้อง’ นายไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
นับจากนี้ เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า สหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน จะจัดการความสัมพันธ์กับจีนอย่างไร ใครจะเป็นผู้ชนะ หรือว่าโลกไม่จำเป็นต้องมีมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว?
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส