วันนี้ คุณอลิสา นภาทิวาอำนวย CEO ของ Socialgiver จะมาเล่าถึงความเป็นมาของ Socialgiver เกิดขึ้นได้อย่างไร Socialgiver เป็นอย่างไร มีอะไรน่าสนใจ
Socialgiver เกิดขึ้นได้อย่างไร?
Socialgiver เกิดขึ้นมาจากไอเดียว่า จะทำอย่างไรที่จะทำความดีได้ต่อเนื่อง มีความโปร่งใส และมีผลกระทบที่วัดผลได้ อีกส่วนหนึ่งเราก็มองว่า ทำอย่างไรที่เราจะสร้าง Solution หรือวิธีการแก้ปัญหาบางอย่าง เพื่อที่จะให้บางแบรนด์หรือบางธุรกิจได้มีประโยชน์ของการทำความดีและมีผลกระทบที่ดีต่อธุรกิจของเขา
เรามองว่าการที่เราชอปหรือการที่เราช่วย บางทีมันมีความถี่ไม่เท่ากัน เราอาจจะชอปปิงบ่อยกว่าที่เราจะบริจาคไหม ยกตัวอย่าง เราจะไปบริจาค เพราะว่าเดี๋ยวช่วงนี้ เดี๋ยวปลายปีนี้ต้องหักภาษีแล้ว หรือว่าอาจจะมีการบริจาค เพราะว่าได้เจอสถานการณ์อะไรที่ฉุกเฉิน แล้วเราอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ แต่ว่าคนที่ทำงานทางภาคสังคมจริง ๆ แล้ว เขามีค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ตลอดทั้งปี เราเลยมองว่าจะต้องทำยังไงที่จะจับคู่ส่วนนี้ ระหว่างคนที่ชอป และมีความถี่ในการชอปมากขึ้น แล้วยังได้ช่วยอีก
เราเองควรเริ่มตั้งคำถามไหมว่า เรากำลังจะจับจ่ายกับแบรนด์ที่มีคุณภาพ เป็นธุรกิจใจดีที่ช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยไหม
ข้อดีของการนำสินค้ามาลง Socialgiver
การที่เรามีจะแพลตฟอร์มที่เป็นทั้งเว็บไซต์และแอป คือการวางแผนตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่มทำ Socialgiver เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เรารู้ว่าการเข้าถึง ในเชิงทั้งดีลที่ดี ข้อมูลจากแต่ละโครงการ หรือการอัปเดตต่าง ๆ มันสำคัญมาก ๆ ที่เราจะทำแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา ถ้าเข้าไปใน www.socialgiver.com หรือดาวน์โหลดแอป Socialgiver ทั้ง iOS และ Android เราก็เห็นเลยว่าชอปปิงมีให้เลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
เวลาลูกค้าชอปดีล นอกเหนือจากที่เขาจะเห็นเลยว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคืออะไร อย่างเช่น ปลูกต้นไม้ได้ 20 ต้น ส่งน้องได้ไปเรียนอีก 2 ปี จะเห็นเป็นหน่วยที่ทำให้คนรู้สึกว่าเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับข้อมูลส่วนนี้ รายได้ของเรา 50-70% หรือ 100% ของกำไร ไปสู่โครงการเพื่อสังคมเป็นเงินสดเลย
มีปัญหาอะไรไหมในการทำ Socialgiver?
ทุกวันค่ะ การที่คนจะมาทำงานตรงส่วนนี้ได้ต้องมีความอดทนสูงมาก เพราะว่าผลลัพธ์ที่เราจะเห็นมันไม่ใช่วันนี้ พรุ่งนี้ มันอาจจะไม่ใช่อาทิตย์ เดือนหน้า หรือว่าปีหน้าด้วยซ้ำ บางครั้งการทำงานเพื่อสังคม มันเป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าต้องทุ่มเทและมีความมั่นใจ ที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ เหมือนสิบปีให้หลังมองกลับมาและเห็นว่า เป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่เราเห็นความเปลี่ยนแปลง แล้วให้กลับไปตอบคำถามว่าเราได้อะไร และเรามีความคาดหวังว่าจะได้อะไรจากการทำ Socialgiver
ถึงจุดหนึ่งทรัพยากรที่เราใช้ร่วมกันทั้งหมด คนที่เป็นเจ้าของคือคนที่มีเงินมากที่สุดหรือเปล่า แล้วเราอยากให้มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เราควรที่จะเริ่มตระหนักในตอนนี้เลยว่า การที่เราได้ชอปและเราได้สนับสนุนธุรกิจที่วิสัยทัศน์ ที่อยากเห็นโลกที่ดีขึ้นแล้วยินดีที่จะทุ่มเททรัพยากร ทั้งบุคคล เงินทุน ในการแก้ปัญหาส่วนนี้ เป็นการแก้ปัญหาธุรกิจของเขาเองในระยะยาว
คิดว่าการที่เราจะทำอะไรก็ตาม หรือว่าการที่เราอยากที่จะสร้างอะไรใหม่ ๆ หลายครั้งมันจะมีอุปสรรคอยู่แล้ว เราว่ามันเป็นการที่ต้องเตรียมกายเตรียมใจ และมีแนวคิด หรือแนวทาง หรือทัศนคติ หรือวิธีการมองโลกแบบหนึ่ง ในการที่ให้เราข้ามอุปสรรคนั้นไปได้ อุปสรรคมันมีหลากหลายมาก ซึ่งทำให้เราเองบางทีก็ท้อนะคะ เหมือนเวลาคนทำดีทำไมมันยากจังเลย เวลาคนที่อยากจะทำอะไรให้มันมีประสิทธิภาพ มันอาจจะไม่ใช่ทางออกที่เร็วหรือง่ายที่สุด
ซึ่งเราเองก็พยายามที่จะแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด และพยายามจะสะท้อนกลับมาหาตัวเองว่า งานที่เราทำตรงส่วนนี้กำลังช่วยเหลือใครอย่างไรบ้าง บางทีการอยู่นิ่งและไม่ได้ทำอะไรเลย มันคือการที่พลอยจมกันไปพร้อมกัน ทำไมเราไม่ลองฮึดสู้ดูว่า เราจะทำอะไรที่จะขยายผลลัพธ์ให้กับคนอื่น จริง ๆ แล้วเวลาเราทำอะไรเพื่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ท้ายที่สุดแล้วมันก็กลับมาที่ตัวเรา การที่เรามีป่าที่อุดมสมบูรณ์ และมีมลพิษที่น้อยลง มันก็ช่วยสุขภาพปอดของเรา สุขภาพลูกเรา หรือคนที่ใกล้ชิดกับเราที่เราแคร์