NFT ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปมากขึ้นหลังจากในเดือนมีนาคม 2021 Jack Dorsey ผู้ก่อตั้ง Twitter สามารถประมูลขายทวีตแรกของตัวเองผ่าน NFT ได้มูลค่ากว่า 2.9 ล้านเหรียญ หรือราว ๆ 91 ล้านบาท ส่วนฟากฝั่งคนไทย เมื่อเดือนเมษายน 2021 ก็มีการซื้อขายหน้าปกการ์ตูน “ขายหัวเราะ” เล่มแรกพร้อมลายเซ็นของ บก. วิธิต อุตสาหจิต ผ่าน NFT ด้วยมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านบาท จนสร้างความสงสัยไปทั่วว่าแล้ว NFT คืออะไร ทำไมซื้อขายกันมูลค่าสูงจัง ซึ่งเราจะมาแบไต๋ให้ฟังกันในวันนี้ครับ
NFT หรือ Non-fungible token แปลตรงตัวคือโทเคนที่ทดแทนไม่ได้ แต่ละโทเคนมีความเฉพาะตัว มีจำนวนจำกัด ทำซ้ำไม่ได้ แต่สามารถซื้อ-ขายถ่ายโอนได้ และต้องซื้อเต็มโทเคนเท่านั้น ไม่สามารถซื้อเป็นหน่วยย่อย หรือซื้อครึ่งโทเคนได้ ที่สำคัญคือการซื้อ-ขายจะถูกบันทึกและตรวจสอบในระบบ Blockchain ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานแบบไม่มีศูนย์กลาง ทำให้คนทั้งระบบรู้ว่า NFT ชิ้นนั้นเป็นของใคร ซึ่งไม่สามารถมีเจ้าของเกินจำนวนที่ผู้สร้างกำหนดได้ ด้วยการกำหนดคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้เราใช้ NFT เพื่อแทนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตั้งใจให้มีชิ้นเดียวในโลกได้
ขั้วตรงข้ามของ Non-fungible token ก็คือ Fungible Token หรือโทเคนที่ทดแทนกันได้ เช่น Bitcoin ที่แต่ละเหรียญก็เหมือน ๆ กัน เราจ่าย Bitcoin ไป ก็รับ Bitcoin อะไรกลับมาก็ได้ เพราะมันก็คือเหรียญเหมือนกัน มูลค่าเท่ากัน แตกต่างจาก NFT ที่แต่ละโทเคนนั้นมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ส่งมอบทดแทนกันไม่ได้
ยกตัวอย่างล่าสุดกรณีที่พี่ติ๊ก ชิโร่ นำผลงานภาพวาดส่วนตัว 3 ภาพมาแปลงเป็น NFT หรือคลิปโตอาร์ต เพื่อประมูลผ่านเว็บ OpenSea.io จตุจักรของนักสะสมภาพ และตั้งจำกัดจำนวนแค่ 1/1 Limited หรือแต่ละภาพมีแค่ชิ้นเดียวในโลกของ Blockchain ก็ทำให้คนทั่วโลกสามารถประมูลเป็นเจ้าของผลงานภาพแบบดิจิทัลของพี่ติ๊กได้ ซึ่งผู้ที่ประมูลไปก็สามารถนำ NFT หรือสิทธิ์ความเป็นเจ้าของนี้ไปขายต่อได้เหมือนเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง เมื่อขายหรือส่งมอบไปแล้วก็ไม่สามารถก๊อปปี้หรือเก็บสิทธิ์ความเป็นเจ้าของไว้ มันจึงเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างความจำกัดให้กับไฟล์ดิจิทัล แก้ปัญหา Double-spending ที่เคยเกิดขึ้น
ด้วยความที่ผู้สร้างสามารถกำหนดจำนวนของไอเทมนั้นบนโลกของ Blockchain ได้ จึงมีการทำ NFT ไปใช้ในหลายวงการมาก ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะดิจิทัลที่เรายกตัวอย่างไป วงการการ์ดสะสม ที่สามารถแลกเปลี่ยนการ์ดดิจิทัลกันได้ วงการเกมก็สามารถสร้างทรัพย์สินในเกมขึ้นมา อาจจะเป็นไอเท็ม ชุดแต่ง หรือที่ดินในเกมที่มีจำกัดสามารถซื้อขาย หรือใช้แทนทรัพย์สินจริง ๆ อย่างแหวนแต่งงานแบบ NFT ก็มีมาแล้ว
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วอย่างภาพดิจิทัล ที่เราก็เห็นภาพนั้นในเน็ต แถมเซฟเป็นไฟล์ลงเครื่องได้ฟรี ๆ ทำไมจะต้องซื้อแบบ NFT แพง ๆ ด้วย? ประเด็นนี้ต้องตอบในเชิง “สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ” เพราะการซื้อผ่าน NFT นั้นหมายถึงว่าเราเป็นเจ้าของงานดิจิทัลชิ้นนั้นจริง ๆ ไม่ใช่การเซฟมาใช้ที่ไม่มีสิทธิ์เอาไปขายต่อเพื่อสร้างมูลค่าได้
แต่ไม่ได้หมายความว่าการซื้อผ่าน NFT จะได้ลิขสิทธิ์ทั้งหมดของงานชิ้นนั้นนะครับ สิทธิ์ทั้งหมดของงานก็ยังเป็นของเจ้าของผลงานอยู่ดี เว้นแต่จะมีสัญญาตกลงให้เป็นอย่างอื่น ถ้าวันดีคืนดี เจ้าของผลงานเอางานนั้นมาขายบน NFT เพิ่ม ก็เป็นสิทธิ์ของเจ้าของงานที่ทำได้เช่นกัน แต่ส่วนใหญ่คงไม่มีใครทำเพราะถือเป็นการทำลาย หรือลดทอนคุณค่าของงาน และตัวศิลปินที่สร้างสรรค์ชิ้นงานก็จะเสียความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ NFT ยังมีความเสี่ยงที่จะสูญหายได้ แต่เป็นการสูญหายในเชิงเทคนิค เช่นมีปัญหากับการเก็บไฟล์งานต้นฉบับ หรือกุญแจในการเข้าถึงไฟล์ ทำให้ต้นฉบับหรือรหัส/กุญแจที่ใช้ในการเข้าถึงไฟล์หายไป แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อยแต่ก็ต้องเตือนให้ผู้ใช้ NFT เรียนรู้ ทำความเข้าใจวิธีการเก็บรักษาจัดการไฟล์ต้นฉบับที่ซื้อมาด้วย
NFT เป็นนวัตกรรมการแปลงสินทรัพย์ให้มีมูลค่าในเชิงดิจิทัล ที่เจ้าของทรัพย์สินสามารถสร้างมูลค่าให้กับงานของตัวเองโดยที่ไม่ต้องวุ่นวายเรื่องการจัดส่งข้ามโลก การจัดการธุรกรรมการเงินมากมายเหมือนเช่นในอดีต ซึ่งก็น่าติดตามว่าแนวคิด NFT นี้จะเติบโตได้อย่างไรต่อไป อย่างศิลปินไทยเอง เช่น Kun Vic @victorio, หรือคุณ Phrchy @Fxag27 ก็เป็นหนึ่งในศิลปินหลายคนที่ขายงาน NFT ได้ราคาหลักหลายหมื่นและหลักแสนบาทในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งก็น่าจะสร้างโอกาสให้หลาย ๆ คนด้วยเช่นกันครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส