ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกของทั้ง OnePlus และ HASSELBLAD แบรนด์กล้อง Medium Format เก่าแก่จากสวีเดนที่ช่างภาพมืออาชีพใช้กันมายาวนาน ได้ร่วมกันพัฒนาสมาร์ตโฟนที่ถ่ายภาพดีเยี่ยมออกมานะครับ และรีวิว OnePlus 9 Pro พร้อมเปรียบเทียบ OnePlus 9 ในครั้งนี้ จะเจาะลึกให้ดูกันว่ากล้องตัวนี้ ดีแค่ไหน ซึ่งเราได้รับมาเป็นกล่องใหญ่มากสำหรับส่งสื่อโดยเฉพาะครับ และมีตรา HASSELBLAD อยู่ด้วยนะ เพิ่มความขลังและจิตวิญญาณช่างภาพมาเต็ม!

แกะกล่อง OnePlus 9 Series Media Kit กันเลย ว้าวเปิดกล่องออกมาเห็นเป็นรูปนักบินอวกาศอยู่ด้านล่าง ส่วนด้านบนนี้เป็นกล่องของ OnePlus 9 และ OnePlus 9 Pro ครับ ซึ่งปกติเราซื้อมือถือจากหน้าร้าน ก็จะได้แค่กล่องเล็ก ๆ สีแดงนี้นะครับ ไม่ได้กล่องใหญ่นักบินอวกาศแบบนี้ไปด้วยนะ

ส่วนด้านล่างก็เป็นลิ้นชักเก็บอุปกรณ์เสริมครับ มีแท่นชาร์จไร้สาย OnePlus Warp Charge 50 ชาร์จไฟไร้สาย 50 Watt ให้ OnePlus 9 Pro ได้ ส่วน OnePlus 9 จะรองรับการชาร์จไร้สายแค่ 15 Watt นะ นอกจากนี้ก็มีเคสพิเศษมาโชว์อีก 2 ตัวเป็นผิวเคฟล่าร์ กับผิวทรายหรือ Sand Stone ที่สามารถไปหาซื้อเพิ่มได้ครับ

ดีไซน์

สำหรับ OnePlus 9 เราได้มาเป็นสีเอกคือ Winter Mist ก็เป็นฝาหลังสะท้อนแสงอมม่วงแบบนี้ นอกจากสีม่วงแล้วก็ยังมีสีฟ้า Arctic Skyและสีดำ Astral Black ให้เลือกครับ

ส่วน OnePlus 9 Pro เราได้เป็นสี Morning Mist ก็เป็นสีเงินแบบไล่เฉดอ่อนเข้ม เหล่ท่อ-หล่อเท่มาก ๆ นอกจากสีนี้ก็จะมีสีเขียว Pine Green และสีดำ Stellar Black ให้เลือกครับ ซึ่งรุ่นโปรนี้กันน้ำได้ที่ IP68 คือลงน้ำแล้วเครื่องไม่เสีย แต่ถ้าเสียประกันก็ไม่จ่ายนะครับ เค้าดีไซน์เอาไว้กันอุบัติเหตุเฉย ๆ ส่วนรุ่นธรรมดาไม่ได้ระบุมาตรฐาน IP เอาไว้

ซึ่งอุปกรณ์ในกล่องของทั้งคู่ก็จะคล้าย ๆ กันคือมีหัวชาร์จแบบ Warp Charge 65T พร้อมสายชาร์จสีแดงให้เหมือนกัน ไม่มีหูฟังแถมนะ ส่วนเคสแถมของ OnePlus 9 จะเป็นเคสใส ส่วน OnePlus 9 Pro จะเป็นเคสสีเทาเท่ ๆ เลย

เลนส์ของ OnePlus 9 Pro ประกอบด้วยเลนส์ 4 ตัว

  • เลนส์ตัวบนสุดนี้เป็นเลนส์มุมกว้างมาก 0.6 เท่า ความละเอียด 50 ล้านพิกเซล f/2.2 เซนเซอร์ IMX 766 เป็นเลนส์แบบ free form ให้ภาพผิดเพี้ยนน้อย แถมยังสามารถใช้ถ่ายมาโครได้ด้วย
  • ตัวถัดมาเป็นเลนส์หลัก 48 ล้านพิกเซล f/1.8 โดยใช้เซนเซอร์ IMX 789 ที่ OnePlus ร่วมพัฒนากับโซนี่โดยเฉพาะให้เป็นเซนเซอร์ที่เก็บข้อมูลภาพเยอะเป็นพิเศษ
  • ตัวเล็กทางซ้ายเป็นเลนส์ขาว-ดำสนับสนุนการถ่าย
  • ตัวเล็กทางขวานี้เป็นเลนส์ซูม 3.3 เท่า ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล f/2.4 ครับ

ถ้าเทียบกับ OnePlus 9 จะมีความแตกต่างอยู่ 2 อย่างคือเลนส์หลักของ OnePlus 9 จะเป็นเซนเซอร์ IMX689 ซึ่งเป็นเซนเซอร์เกรดท็อปรุ่นเก่ากว่า และไม่มีเลนส์ซูม 3.3 เท่ามาให้ครับ การซูมจะใช้เลนส์หลักมาขยายเท่านั้น

การถ่ายภาพ

มาดูในหน้าแอปกล้องนะครับ ก็ออกแบบให้มีกลิ่นอายของ HASSELBLAD อยู่ คือปุ่มชัตเตอร์เป็นสีส้ม และเสียงชัตเตอร์เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์กล้องนี้ครับ ผมกดให้ฟัง เสียงมีเสน่ห์ไหมครับ นอกจากนี้โหมดโปร ก็สามารถเลือกถ่ายไฟล์ RAW แบบ 12-bit เพื่อนำมาตกแต่งต่อภายหลังได้อย่างละเอียดด้วย

การประมวลผลสีใหม่ใน OnePlus 9 Pro นี้เรียกว่า Natural Color Calibration with Hasselblad ที่เป็นการนำประสบการณ์ในวงการถ่ายภาพกว่า 80 ปีของ Hasselblad มาพัฒนาเป็นการประมวลผลสีสันที่แม่นยำ เป็นธรรมชาติ แต่ยังให้สีที่อิ่มแน่นเฉพาะตัว อย่างตัวอย่างภาพที่เราถ่ายให้ดูนี้ครับ ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับโหมด AI วิเคราะห์ซีนภาพ และโหมด HDR อัตโนมัติ เราจึงได้ภาพถ่ายที่พร้อมแชร์ทันทีโดยไม่ต้องตกแต่งให้เหนื่อย และที่เราชอบอีกอย่างหนึ่งคือฟิลเตอร์ขาว-ดำ ถ่ายภาพออกมาได้โทนสวยเลย

ซึ่งถ้าเอาภาพถ่ายจาก OnePlus 9 และ OnePlus 9 Pro มาเทียบกับ จะเห็นว่าลักษณะคล้ายกันมาก แต่ถ้ามองดี ๆ ภาพของ OnePlus 9 Pro จะมีความอิ่มของสีมากกว่า ซึ่งน่าจะมาจากเซนเซอร์ตัวใหม่ที่เก็บรายละเอียดดีขึ้น

เลนส์มุมกว้างของ OnePlus 9 Pro ก็น่าสนใจครับ เพราะใช้เซนเซอร์คุณภาพสูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเลนส์หลัก จึงให้ภาพระยะ 0.6 เท่าที่คมชัด เต็มไปด้วยรายละเอียด แถมภาพไม่เบี้ยว ไม่ป่องด้วย ได้ใช้กันบ่อย ๆ แน่นอน และเลนส์ Ultra Wide ตัวนี้ยังใช้ถ่ายมาโครที่ระยะใกล้สุด 4 cm ได้อีกด้วย ซึ่งให้ภาพออกมาสวยไม่ต่างจากใช้เลนส์หลักถ่ายเลยครับ

เลนส์ซูม 3.3 เท่าก็ให้ผลงานออกมาได้คมชัด ลองซูมต่อที่ระยะ 5 เท่าก็ยังให้ภาพที่ดูดี ซึ่ง OnePlus 9 Pro สามารถซูมได้สูงสุดที่ 30 เท่าครับ ที่ระยะนี้ก็ให้ภาพแตกเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ยังมองรายละเอียดในภาพได้อยู่นะ

การถ่ายภาพบุคคลก็ให้โทนสีของภาพดูอิ่มแน่นแตกต่างจากโหมด Portait ของมือถือทั่วไป สีผิวออกมาดูจริงเหมือนใช้กล้องใหญ่พร้อมเลนส์ถ่ายภาพบุคคลถ่าย ส่วนการทำฉากหลังเบลอก็ออกมาดูดีเป็นธรรมชาติ การตัดเส้นผมในภาพทำได้ดีด้วย

ส่วนการถ่ายภาพในที่แสงน้อย ก็เก็บรายละเอียดยามค่ำคืนออกมาได้สวยงาม มีโหมด Nightscape ช่วยเปิดรับแสงนานขึ้นสำหรับสถานการณ์ที่แสงน้อยจริง ๆ และโหมดถ่ายกลางคืนนี้ยังมีฟิลเตอร์พิเศษให้ถ่ายกลางคืนได้มีสีสันแปลกตา แถมยังมี Night City ฟิลเตอร์พิเศษที่ร่วมกับ Cybetpunk 2077 ด้วยนะ

นอกจากนี้ยังมีโหมด Tilt-Shift เพื่อถ่ายภาพให้ชัดและเบลอเป็นระนาบเหมือนการถ่ายภาพโมเดลในสมัยก่อนแบบไม่ต้องโหลดแอปมาเพิ่ม

การถ่ายวิดีโอ

การถ่ายวิดีโอของ OnePlus 9 Pro ระดับ 4K 60 fps ทำออกมาได้ดีแบบนี้เลยนะครับ ผมเดินถ่ายให้เห็นภาพและเสียงกันชัดๆ เลย ก็สามารถป้องกันการสั่นไหวของภาพได้ในระดับที่น่าพอใจ สามารถสลับระหว่างเลนส์มุมกว้างมากกับเลนส์หลักได้ และซูมดิจิทัลที่ 2x ได้ แต่ไม่สามารถใช้เลนส์ซูม 3.3 เท่าระหว่างถ่ายวิดีโอ 4K ได้นะครับ ต้องถ่าย Full HD เท่านั้นถึงจะใช้เลนส์ซูมได้ และการถ่าย 4K 60 fps จะสามารถถ่ายได้ยาวสุด 5 นาทีต่อคลิปเท่านั้นครับ

นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายวิดีโอหน้าชัดหลังเบลอได้แบบนี้ แต่จะถูกจำกัดความละเอียดแค่ 1080p 30 fps เท่านั้น หรือถ้าต้องการวิดีโอไฮสเปกมากๆ OnePlus 9 Pro ก็สามารถถ่ายได้สูงสุด 8K 30 fps ทั้งเลนส์หลักและเลนส์มุมกว้างมาก หรือถ่าย 4K 120 fps ก็ได้นะ

ลูกเล่นที่สนุกอีกอย่างของการถ่ายวิดีโอคือ สามารถถ่าย Timelapse ในโหมด Hyperlapse ได้ด้วย คือเราสามารถถือกล้องเดินถ่ายไปเรื่อยๆ แล้วเร่งความเร็วจนได้วิดีโอเก๋ ๆ ได้

ส่วน OnePlus 9 จะมีสเปกด้านวิดีโอแตกต่างจาก OnePlus 9 Pro นิดหน่อยครับคือแม้จะถ่าย 8K 30 fps ได้ แต่ไม่สามารถถ่าย 4K 120 fps ถ่ายได้สูงสุดแค่ 4K 60 fps เท่านั้น นอกจากนี้ใน OnePlus 9 ยังมีโหมดวิดีโอ 4K HDR 30 fps ที่บันทึกความแตกต่างของแสงได้มากกว่าปกติ ที่เราใช้ถ่ายน้องเอิร์นอยู่นี้ครับ

ส่วนกล้องหน้าของ OnePlus 9 และ OnePlus 9 Pro นั้นอยู่ตรงมุมจอนี้ มีความละเอียด 16 ล้านพิกเซล f/2.4 แบบ Fixed Focus นะครับ

ซึ่งเราขอให้น้องเอิร์นเทส Selfie งาม ๆ ก็ได้ผลงานออกมาแบบนี้ สีผิว การเบลอหลังดูดีเลย และสามารถปรับระดับการแต่งหน้าสวยได้อีก 3 ระดับ เลือกปรับได้ตามใจชอบเลย

นี่คือตัวอย่างภาพและเสียงระดับ 1080p 60 fps จากกล้องหน้าของ OnePlus 9 Pro นะคะ เป็นยังไง สวยไหมเอ่ย คอมเมนต์บอกเอิร์นและพี่หนุ่ยได้นะคะ

หน้าจอ

จบเรื่องกล้องไปแล้ว มาดูหน้าจอต่อครับ หน้าจอของ OnePlus 9 Pro เป็น Fluid Display 2.0 หรือจอนุ่มที่มี Refresh Rate ตั้งแต่ 1-120 Hz ความละเอียด QHD+ ขนาด 6.7 นิ้ว พร้อมขอบโค้งทั้ง 2 ด้านครับ ซึ่งแตกต่างจาก OnePlus 9 ที่เป็นจอ Fluid Display 120 Hz แบบตายตัว ไม่มีขอบโค้ง ความละเอียด FHD+ ขนาด 6.55 นิ้วครับ ซึ่งถึงสเปกจะต่างกัน แต่ถ้าเอา 2 จอนี้มาเทียบกันก็แทบไม่ต่างกันเลยครับ ทั้งความสว่างและสีสัน ความละเอียดของภาพที่เห็นด้วยตาก็ไม่ได้ต่างกัน ที่รู้สึกอยู่เรื่องเดียวคือจอขอบโค้งกับไม่โค้งเท่านั้นเอง

แต่จอโค้งของ OnePlus 9 Pro เท่าที่ใช้มาในชีวิตจริงก็ไม่มีลั่นเลย และสัมผัสเวลาจับถือจะรู้สึกพรีเมียมกว่า เพราะสัมผัสที่ขอบเครื่องบางกว่า

และในแง่ของฟังก์ชันการใช้งานนั้นมีความแตกต่างกันอยู่หน่อยครับ คือใน OnePlus 9 Pro เราสามารถเปิดโหมด Motion Graphic Smoothing หรือฟังก์ชัน MEMC การแทรกเฟรมให้ภาพนุ่มขึ้นสำหรับแอปที่รองรับอย่าง Netflix หรือ Youtube อย่างที่มือถือเรือธงของ OnePlus รุ่นที่แล้วทำได้ ส่วนใน OnePlus 9 จะไม่มีความสามารถนี้เลย แต่ความสามารถ Motion Smooth ของ OnePlus 9 Pro ก็มีเงื่อนไขการทำงานอยู่บ้าง เช่นหนัง HDR ของ Netflix จะไม่สามารถเพิ่มเฟรมได้

นอกจากนี้ทั้ง OnePlus 9 และ OnePlus 9 Pro ยังมีความสามารถของหน้าจอที่น่าสนใจอีกคือ Ultra-high Video Resolution คือฟังก์ชันเพิ่มความคมชัดของวิดีโอที่แสดง ซึ่งเราลองแล้ว วิดีโอใน Instagram คมชัดขึ้นจริงๆ ครับ เพียงแต่ว่าตอนนี้มันใช้ได้กับ Instagram ได้อย่างเดียวนี่สิ ถ้าต่อไปใช้ได้กับ facebook ด้วยก็จะดีมาก

อีกฟีเจอร์หนึ่งที่ชอบคือหน้าจอ Ambient Display สไตล์ Insight ครับ ที่ทั้งแสดงเวลาและการแจ้งเตือนที่ค้างอยู่ แถมยังแสดงได้ด้วยว่าวันนี้เราปรับล็อกเครื่องกี่ครั้งแล้ว โดยทั้งแสดงตัวเลขและช่องว่างในขีดสีตรงกลางจอนี้ครับ แนวคิดดี เก๋มาก

ส่วนตัวสแกนลายนิ้วมือในหน้าจอของเครื่องทั้ง 2 รุ่นก็ทำงานได้รวดเร็วดีครับ

รอบ ๆ เครื่องก็คงเอกลักษณ์ของ OnePlus ได้ดีครับ คือมีตัวเลื่อน เปิดเสียง-สั่น-ปิดเสียง ที่หลายคนชอบอยู่ ซึ่งระบบสั่นของ OnePlus 9 ก็ทำได้พรีเมี่ยมเลย จังหวะการสั่งงานต่าง ๆ ก็มีการสั่นกระชับ ไม่ย้วย เพื่อให้ผู้ใช้รู้ว่ามีการสั่งงานแล้วนะ

ส่วนลำโพงใน OnePlus 9 ทั้ง 2 รุ่นนั้นเป็นลำโพงสเตอริโอที่ออกบน-ล่าง ให้เสียงมีมิติดีครับ ซึ่งให้เสียงได้ดังดีทั้งคู่ เพียงแต่ว่าลำโพงของ OnePlus 9 Pro จะให้เสียงที่สมดุลย์กว่า OnePlus 9 ที่เสียงแตกกว่านิดหน่อย

การชาร์จไฟ OnePlus เครมว่าเราสามารถใช้หัวชาร์จ Warp Charge 65T ชาร์จแบตเตอรี่ 4500 mAh จาก 0-100 ในเวลาแค่ 29 นาทีเท่านั้น และสำหรับ OnePlus 9 Pro สามารถชาร์จไร้สาย Warp Charge 50 Wireless จาก 0-100 ในเวลาแค่ 43 นาทีเท่านั้น ส่วนการใช้งานในชีวิตประจำวัน เราถือเครื่องใช้จริงมาเกือบสัปดาห์ ก็ถือว่าแบตเตอรี่อึดใช้ได้ครับ ใช้ครบจบวันได้สบาย ๆ

สเปก

OnePlus 9 ทั้ง 2 รุ่นที่เราได้มารีวิวครั้งนี้มีสเปกเหมือนกันครับ คือใช้ชิปตัวแรง Qualcomm Snapdragon 888 5G พร้อมแรม 12 GB และหน่วยความจำ 256 GB ซึ่งใส่ MicroSD เพิ่มอีกไม่ได้แล้วนะครับ ถาดซิมมีเพียงช่องใส่ซิม 2 ช่องเท่านั้น ซึ่งก็รองรับ 5G ได้รวดเร็วดีครับ

ซึ่งผลการทดสอบ Geekbench 5 แบบ Multi-core ออกมาพอ ๆ กันที่ 3,555 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนกลุ่มท็อปของโลก Android ส่วนการทดสอบ 3Dmark ชุด Wild Life Stress Test ก็ได้คะแนนสูงสุดราว 5700 คะแนน ก่อนที่คะแนนลดลงไปเกือบครึ่งในรอบการทดสอบที่ 4 ก่อนจะสลับขึ้น-ลง ตามความร้อนของ CPU ก็ถือว่าระบบระบายความร้อนทำได้กลาง ๆ ไม่ได้ทำได้ดีเยี่ยมเหมือนกลุ่มสมาร์ตโฟนเพื่อเกมเมอร์ครับ

ส่วนการทดสอบกับเกม Genshin Impact บน OnePlus 9 Pro ที่ปรับคุณภาพภาพสูงสุด พร้อมปรับเฟรมเรตสูงสุดเป็น 60 fps ประสบการณ์การเล่นโดยรวมลื่นไหลดีครับ อาจจะมีกระตุก ๆ ตอนหมุนฉากบ้าง ส่วนความร้อนนั้นขึ้นสูงบริเวณข้าง ๆ กล้องเป็นหลัก อยู่ในระดับอุ่นเฉียดร้อน

สรุป

OnePlus 9 และ OnePlus 9 Pro นั้นมีตัวเครื่องที่ออกแบบได้สวยงาม ข้อสังเกตจึงอยู่ที่ซอฟต์แวร์เป็นหลักครับ ที่ฟีเจอร์พิเศษอย่างการปรับเฟรมภาพนุ่ม หรือการปรับวิดีโอที่ดูให้มีความละเอียดสูงขึ้นดันมีเงื่อนไขในการใช้เยอะ และการอัปเดตซอฟต์แวร์ที่ OnePlus การันตีอัปเดตฟีเจอร์ให้แค่ 2 ปี นอกจากนี้เราว่าในรุ่นโปรกล้องซูมได้น้อยไปหน่อยนะ แค่ 3.3x เท่านั้น

เล่ามาขนาดนี้แล้ว แล้วค่าตัวมันเท่าไหร่กัน คือตอนที่เรารีวิวเครื่องนี้ ราคาในไทยยังไม่ออกเลยครับ เราเลยบอกได้แค่ราคาจากงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการ คือ OnePlus 9 รุ่นแรม 8 GB พร้อมหน่วยความจำ 128 GB

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส