ทุกวันนี้เราน่าจะพอรู้ความยิ่งใหญ่ของเฟซบุ๊กกันดีนะครับ เพราะตั้งแต่ตื่นเช้ายันเข้านอน หลายคนก็มีชีวิตผูกติดอยู่กับเฟซบุ๊กนี่แหละ ซึ่งเราอาจให้เหตุผลว่าทำไมเฟซบุ๊กถึงมีอิทธิพลได้ 3 ประการคือ 1. จำนวนผู้ใช้ 2. อัลกอริทึม และ 3. มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่วันนี้เราจะแบไต๋อิทธิพลของเฟซบุ๊กและคาดการณ์อนาคตให้ฟังกันครับ
ประการแรก จำนวนผู้ใช้มหาศาลของเฟซบุ๊ก ปัจจุบันเฟซบุ๊กมีผู้ใช้กว่า 2,740 ล้านคนทั่วโลก นับเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก ถ้าคิดเป็นประเทศ เราต้องเอาจำนวนประชากรของจีนและอินเดีย 2 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมารวมกัน ถึงจะพอๆ กับจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กตอนนี้ แถมเฟซบุ๊กยังเป็นเจ้าของบริการที่มีผู้ใช้มากกว่าพันล้านรายอีก 3 บริการคือ WhatsApp, FB Messenger และ Instagram
ส่วนในไทยเอง เฟซบุ๊กก็รายงานว่ามีผู้ใช้มากกว่า 51 ล้านคนจากจำนวนประชากร 70 ล้านคนของไทย หรือราว 73% เลยทีเดียว เห็นไหมครับว่าเฟซบุ๊กใหญ่ขนาดไหน
ประการที่ 2 คืออัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก อย่างที่เราทราบกันว่าสิ่งที่เราเห็นในหน้า News Feed ของเรานั้นถูกควบคุมโดยอัลกอริทึม ที่จะคิดวิเคราะห์ว่าเราควรเห็นเนื้อหาอะไรบ้าง ซึ่งเฟซบุ๊กก็พยายามเรียนรู้ความชอบของเราจากการโพสต์ ความสนใจเนื้อหาหรือการกดไลค์ต่างๆ รวมกับการกดติดตามเพจหรือกรุ๊ปต่างๆ เพื่อนำเสนอเนื้อหาให้ถูกใจเรามากที่สุด ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีกับผู้ใช้ แต่ภาวะนี้ก็เกิด Echo Chamber หรือภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อนได้เช่นกัน
เมื่อเราสนใจอะไรมากๆ เฟซบุ๊กก็จะคัดเอาแต่เนื้อหานั้นมาให้ ทำให้เราคิดว่านี่คือความจริงเพียงหนึ่งเดียวของโลก เช่นกรณีดังอย่าง ดอนัลด์ ทรัมป์ ยืนกรานไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแล้วกล่าวหาว่ามีการโกง พยายามกดดันให้มีการตรวจสอบและถอนมติรับรองผลการเลือกตั้งผ่านเฟซบุ๊กและโซเซียลมีเดียอื่นๆ ทำให้เกิดการประท้วงจนเกือบเป็นสงครามกลางเมือง
ซึ่งต้นเหตุมาจากกลุ่มผู้ติดตามทรัมป์มีแนวคิดคล้าย ๆ กัน และเฟซบุ๊กก็สนับสนุนโดยการนำเสนอแต่เนื้อหาที่สนับสนุนแนวคิดทางการเมืองแบบนั้นเป็นหลัก จนแม้ข่าวปลอมก็กลายเป็นข่าวจริงได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วเฟซบุ๊กก็มีอำนาจในการลบโพสต์โกหกของทรัมป์ได้ แต่เฟซบุ๊กก็เลือกที่จะไม่ทำ จนเกิดเหตุวุ่นวายดังกล่าว
ประการที่ 3 คือมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กนั้นสามารถรักษาอำนาจในการตัดสินใจในบริษัทได้ด้วยการครองคะแนนเสียง 58% ของผู้ถือหุ้นบริษัทด้วย ซึ่งทำให้มาร์กเป็นหนึ่งในบุคคลมหาอำนาจของโลกไปโดยปริยาย ด้วยอำนาจการครองคะแนนเสียงเกินครึ่ง ทำให้มาร์กสามารถตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ในบริษัทได้โดยไม่ต้องฟังเสียงคัดค้าน ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็ใช้อำนาจนี้ในการเข้าซื้อกิจการ Instagram หรือ WhatsApp ได้อย่างรวดเร็ว
เมื่อเฟซบุ๊กเข้าถึงคนทั่วโลกได้มากขนาดนี้ มีอำนาจในการดัดแปลงความคิดและอารมณ์ของมนุษย์ขนาดนี้แล้ว ถ้าจะมีใครเข้ามาขวางเฟซบุ๊กได้ ก็น่าจะเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐครับ ซึ่งเราอาจมองได้ 2 ทางคือ เฟซบุ๊กตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีกฎระเบียบมาก หรือกฎระเบียบน้อย
ถ้าเฟซบุ๊กต้องต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลที่ขยันขันแข็ง ออกกฎระเบียบเข้ามาควบคุมบริษัทยักษ์ใหญ่ อนาคตของเฟซบุ๊กอาจถูกแยกบริษัท ให้แต่ละบริการแยกย่อยเป็นบริษัทของตัวเอง ไม่สามารถนำข้อมูลและทรัพยากรต่างๆ ใช้ข้ามไปข้ามมาได้ง่ายเหมือนเดิม ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นกับอดีตบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Standard Oil ของ John D. Rockefeller ที่ศาลสูงของสหรัฐตัดสินให้มีความผิดฐานผูกขาดทางการค้าจนต้องแยกออกเป็น 7 บริษัทเมื่อปี 1911 กลายมาเป็นบริษัทอย่าง Chevron, Esso และ Mobil ซึ่งต่อมา Esso ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Exxon และรวมกับ Mobil กลายเป็น ExxonMobil ในปัจจุบัน
ถ้าเฟซบุ๊กโดนกรณีเดียวกัน คือผูกขาดตลาดอินเทอร์เน็ตด้วยการไล่ซื้อคู่แข่งหรือทำลายคู่แข่งจนไม่มีการแข่งขันในตลาด และรัฐแข็งแรงพอ ก็มีสิทธิ์ได้เห็นการต่อสู้กันระหว่างรัฐกับเอกชน ซึ่งถ้าสุดท้ายเฟซบุ๊กเกิดถูกแยกบริษัทขึ้นมา ก็น่าจะเห็นบริการใหม่ ๆ จากผู้สร้างอื่น ๆ ขึ้นมาแข่งขันกับธุรกิจย่อยๆ ของอดีตเฟซบุ๊กก็เป็นได้ ซึ่งอำนาจในการควบคุมตลาดของเฟซบุ๊กก็จะถูกลดทอนไปมาก ซึ่งมาร์กคงไม่ยอมให้เกิดเรื่องนี้แน่ ๆ
แต่ถ้าเฟซบุ๊กสามารถล็อบบี้ ควบคุมทิศทางรัฐบาลได้ กรณีนี้เฟซบุ๊กจะกลายเป็นพระเจ้าไปเลยครับ คือสามารถซื้อบริษัทอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องถูกแยกบริษัทมากนัก มีอำนาจครองโลกอินเทอร์เน็ต และกำหนดความเป็นไปของหลาย ๆ อย่างได้ แถมยังดำเนินการออกเหรียญของตัวเองได้จนสำเร็จ ซึ่งล่าสุดได้เปลี่ยนจาก Libra เป็น Diem USD หรือเหรียญที่อ้างอิงจากดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน่าจะจัดการได้ง่ายกว่า Libra เดิมเพราะอยู่ในกฎระเบียบของสหรัฐเป็นหลัก และอ้างอิงสกุลเงินเดียว
ซึ่งเอาจริง ๆ กรณีที่เฟซบุ๊กเป็นพระเจ้าก็ดูจะไม่ต่างจากสถานการณ์ตอนนี้สักเท่าไหร่นะครับ คือแม้เฟซบุ๊กจะมีปัญหารายทางบ้าง แต่ก็สามารถจัดการได้ไม่ยากเย็นนัก ถูกรัฐบาลเรียกไปสอบสวนบ้าง ก็ยังเอาตัวรอดมาได้ แล้วคุณผู้ชมละครับ คิดว่าอนาคตของเฟซบุ๊กเป็นแบบไหน เป็นเจ้าใหญ่ต่อไป หรือโดนแบ่งบริษัท หรือเป็นอื่น ๆ แสดงความคิดเห็นกันมาได้นะครับ