กรมชลประทาน ถือเป็นองค์กรภาครัฐที่ดูแลและบริหารจัดการเรื่องน้ำในประเทศไทยมาอย่างยาวนานถึง 119 ปี ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวิถีชีวิตและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน และการเตรียมพร้อมสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการ ภายในปี 2580
และในโอกาสพิเศษนี้จึงได้จัดทำนิทรรศการเสมือนจริง หรือ Virtual Exhibition” ในชื่อ “RID Team สานพลังน้ำเป็น 1 เพื่อทุกคน” ภายใต้คอนเซ็ป RID Floating City เมืองอัจฉริยะเหนือน้ำ โดยนำเสนอในรูปแบบ 360 องศา ผ่าน 119year.rid.go.th สามารถเข้าชมได้ทุก Device วันนี้ชลลี่จะมาแบไต๋กิจกรรมนี้กันค่ะ
โดยการจัดแสดงของนิทรรศการนี้ มีทั้งหมด 5 โซน ได้แก่
โซนที่ 1 ปณิธานแห่งสายน้ำ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเล่าถึงแก่นแท้ของกรมชลประทาน ที่ตั้งปณิธานในการทำงาน เพื่อสืบสาน รักษา และ ต่อยอด จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน เพื่อนำมาพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุลสูงสุด และเพิ่มความเชี่ยวชาญในงาน รวมถึงการพัฒนาระบบงานอย่างมีมาตรฐานที่ทันสมัย ใส่ใจการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน
โซนที่ 2 การเดินทางแห่งสายน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ที่จะเล่าถึงแผนงานและโครงการภายใต้การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในการให้ความสำคัญกับการกระจายนํ้าโดยการขุดคลองเชื่อมโยงนํ้าระหว่างแม่นํ้าสายหลักและต่อยอดสู่การสร้างประตูระบายน้ำ รวมถึงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในด้านอุปโภค บริโภคอย่างทั่วถึง และเป็นธรรมรักษาระบบนิเวศน์ ทั้งภาคการเกษตรภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการคมนาคมขนส่งทางน้ำเพื่อส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
โซนที่ 3 เรื่องเล่าจากสายน้ำ การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน เล่าถึงการเปลี่ยนแปลง และทรัพยากรที่มีจำกัดของธรรมชาติ กรมชลประทานในฐานะผู้ดูแลการจัดการด้านน้ำ จึงเตรียมรับมือกับทุกปัญหาที่เกิดจากน้ำ ทั้งการดูแลบริหารจัดการ การเฝ้าระวัง และตรวจสอบสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ยังได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ Smart Water Operation Center (SWOC) ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลสภาพภูมิอากาศ สภาพน้ำในแม่น้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งแบบรายวัน รายชั่วโมง และ เรียลไทม์ในช่วงวิกฤติ ด้วยระบบติดตาม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อนำข้อมูลที่ได้ มาประมวลผล วิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์น้ำได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โซนที่ 4 ชีวิตกับสายน้ำ การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเปิดโอกาสให้ประชาชน มีส่วนร่วมและเข้าใจขั้นตอนการส่งน้ำและบำรุงรักษาแหล่งน้ำ ผ่านเกมตอบคำถาม ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้หลักคิดว่า การจัดการน้ำอย่างสมดุลเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน การดูแลและการบริหารการจัดการน้ำจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทุกคน เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด
โซนที่ 5 นวัตกรรมแห่งสายน้ำ กรมชลประทานกับการก้าวไปสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ ที่จะเล่าถึงนวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อก้าวสู่องค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ โดยนวัตกรรมเด่นของกรมชลประทาน อาทิ กระบวนการสำรวจภาคพื้นดินด้วยสัญญานดาวเทียม กระบวนการสำรวจพื้นผิวน้ำ ด้วยเทคโนโลยี Echo Sounder แบบ Multi beam กระบวนการสำรวจทางอากาศโดยใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพทางอากาศ เป็นต้น ที่จะช่วยเพิ่มความแม่นยำและการจัดการทรัพยากรน้ำโดยอย่างทั่วถึง
สำหรับนิทรรศการ RID TEAM : สานพลังน้ำ เป็น 1 เพื่อทุกคน” เนื่องในวาระวันสถาปนากรมชลประทาน ครบรอบ 119 ปี ผ่านเว็บไซต์ 119year.rid.go.th ซึ่งมีกิจกรรมตั้งแต่วันที่ 11-13 มิถุนายน 2564 โดยตลอด 3 วันที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากประชาชนที่ดีเกินคาด ด้วยยอดผู้เข้าไปชมกว่า 1 ล้านวิว
นอกจากนี้ทางกรมชลประทาน ยังได้ให้ประชาชนร่วมบริจาคเงินสมทบทุน เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน โดยมียอดบริจาครวม 1,593,434 บาท
และถึงแม้การจัดกิจกรรมจะเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ทางกรมชลประทานก็ยังคงมีนิทรรศการออนไลน์ส่วนนี้ต่อไป เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจต่อไปค่ะ
ถือเป็นความตั้งใจของกรมชลประทานที่ต้องการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับน้ำ ด้วยการนำเสนอผ่าน Virtual Exhibition เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับรู้ถึงการดูแล การบริหารจัดการน้ำ และการรองรับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ซึ่งกรมชลประทานมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่ใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอย่างมีความสุข เพราะ “น้ำคือชีวิต” ค่ะ