เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว Bloomberg ได้เผยแพร่รายงานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ VIU ผู้ให้บริการหนังและซีรีส์แบบสตรีมมิ่ง มีจำนวนผู้ใช้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด 49.4 ล้านคน เป็นอันดับ 1 แซงทั้ง Netflix และ Disney+ แถมถ้านับเฉพาะจำนวนผู้ใช้งานแบบเสียเงินก็ยังแซง Netflix โดย VIU นั้นมีผู้จ่ายรายเดือนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากเป็นอันดับ 2 รองจาก Disney+ เลย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้บอกอะไรเรา มาวิเคราะห์กันครับ
ที่เราสนใจประเด็นนี้เพราะธุรกิจสตรีมมิ่งแบบ OTT หรือ Over The Top กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งบริการในลักษณะนี้เป็นการชมเนื้อหาแบบส่งตรงจากผู้ให้บริการถึงผู้ชม ไม่ผ่านสถานีออกอากาศ หรือช่องเคเบิ้ลต่างๆ ที่ตอนนี้หลายบ้านไม่เปิดช่องทีวีดูกันแล้ว ดูแต่บริการสตรีมมิ่ง บริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกก็กระโดดลงมาเล่นในสมรภูมินี้ รายใหญ่ของโลกก็ที่เรารู้จักกันดีทั้ง Netflix, Disney+, HBO Go, Amazon Prime หรือผู้แข่งขันในภูมิภาคเอเชียก็เช่น WeTV, iQiyi และ VIU ที่เราจะเจาะลึกในคลิปนี้ก็แข่งกันกันดุเดือดเช่นกัน แข่งกันทั้งด้านเนื้อหาและผลประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้รับกันอย่างสนุกเลย
VIU เป็นบริการสตรีมมิ่งที่ก่อตั้งในฮ่องกงตั้งแต่ปี 2015 นะครับ โดยอยู่ในเครือของ PCCW Group บริษัทโทรคมนาคมและความบันเทิงยักษ์ใหญ่ ผู้ก่อตั้งคือ Richard Li ลูกชายคนเล็กของ Li Ka-shing มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง ที่สนใจธุรกิจความบันเทิงมายาวนาน ในยุค 90s เขาก็เป็นผู้ก่อตั้ง Star TV เจ้าของช่อง Star World ด้วย ซึ่งปัจจุบันนอกจาก PCCW Group จะเป็นเจ้าของ VIU แล้ว ยังมีธุรกิจในมือคือ NOW บริการโทรทัศน์รับสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง, VIU tv ช่อง Free TV ที่ออกอากาศทั้งภาษาจีนและอังกฤษในฮ่องกง และ MOOV บริการสตรีมดนตรีที่เน้นเพลงคุณภาพสูง
VIU ให้บริการในไทยตั้งแต่ปี 2017 จุดเด่นตั้งแต่เริ่มให้บริการของ VIU คือ คอนเทนต์จากเกาหลีที่จับมือกับ 5 ผู้ผลิตรายการหลักของเกาหลีใต้เพื่อนำมาออกอากาศนอกประเทศเกาหลีอย่างรวดเร็ว อย่างเนื้อหาที่ออกอากาศช่วง 2 ทุ่มในเกาหลี วันรุ่งขึ้น ไม่เกิน 6 โมงเช้าก็ได้ดูในไทย พร้อมซับไทยที่ถูกต้อง นอกจากนี้ถ้าเนื้อหาไหนได้รับความนิยมก็มีพากย์ไทย และถ้าได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก ก็ยังมีพากย์อีสาน หรือพากย์เหนือเพื่อให้คนดูทั่วไทยได้อรรถรสในการชมสูงสุด
แน่นอนว่าจุดเด่นเหล่านี้คงได้ผลกับแฟนๆ ซีรีส์เกาหลีหรือรายการวาไรตี้จากเกาหลีเป็นหลัก คงไม่สามารถสร้างความสำเร็จ กวาดผู้ใช้งานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 49.4 ล้านคนมาเป็นสมาชิก เติบโต 37% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แซงทั้ง Netflix และ Disney+ มาได้ เราจึงวิเคราะห์ว่า VIU ใช้อีก 3 กลยุทธ์เพื่อดึงดูดใจผู้ชม
กลยุทธ์แรกของ VIU คือเสริมเนื้อหาอื่นๆ ที่เหมาะสำหรับผู้ชมในแถบเอเชียเข้าไปด้วย เพราะธุรกิจ Content วงการสตรีมมิ่งนั้นสู้กันดุเดือดกว่าที่เนื้อหาประเภทใดประเภทหนึ่งจะครองตลาดได้ ถ้าต้องการให้ VIU เป็นบริการที่เกิดในเอเชีย เพื่อคนเอเชีย ก็ต้องมีเนื้อหาที่เหมาะสมด้วย เช่นในไทยมีการจับมือกับ GMM Grammy เพื่อนำเนื้อหาจากช่อง GMM25 และช่อง One31 มารีรันบน VIU รวมถึงละครจากช่อง 3 ช่อง Amarin TV และสตูดิโอ CHANGE2561 ที่มีให้รับชมผ่าน VIU เช่นกัน นอกจากนี้ยังเสริมเนื้อหาจากจีนพากย์ไทย เข้ามาให้บริการ และยังเพิ่มเนื้อหาในกลุ่มการ์ตูนอนิเมะซึ่งหลายเรื่องก็อัปเดตทันการฉายที่ญี่ปุ่นมาให้บริการอีกด้วย ซึ่งเนื้อหาในกลุ่มนี้เป็นจุดอ่อนที่บริการสตรีมมิ่งจากตะวันตกมีให้เลือกน้อย VIU จึงสามารถอุดช่องว่างทางการตลาดได้
เรื่องต่อมา เรามาพูดถึงความยากกันครับ คือในวงการสตรีมมิ่งต้องมีการลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างเนื้อหา Original ที่รับชมได้เฉพาะในช่องทางตัวเองด้วย เพื่อสร้างความแตกต่างจากบริการอื่นๆ ซึ่งถ้าสามารถผลิตเนื้อหา Original ที่ได้รับความนิยมขึ้นมาได้ จำนวนสมาชิกก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน กลยุทธ์ที่ 2 VIU จึงมีการจับมือกับสตูดิโอผู้สร้างในหลายประเทศ นำข้อมูลเนื้อหาที่ผู้ใช้ชื่นชอบมาพัฒนาเป็น VIU Original ของตัวเอง เช่น “เสียงรักในสายฝน” จากไทย, Doom at Your Service จากเกาหลี หรือ BLACK จากมาเลเซีย ถ้าคุณชอบ VIU Original เรื่องไหน คอมเมนต์บอกเราได้นะครับ
และกลยุทธ์ที่ 3 คือเรื่องค่าบริการ VIU ก็เข้าใจธรรมชาติการใช้จ่ายของผู้ใช้ในแถบเอเชีย จึงให้บริการใน 2 รูปแบบคือ ดูเนื้อหาทั้งหมดของ VIU ได้ฟรีในอุปกรณ์พกพาแบบมีโฆษณาคั่น สมัครสมาชิกแล้วก็ดูฟรีไปได้ยาวๆ ตลอดครับ หรือจะจ่ายรายเดือนเพื่ออัปเกรดเป็น VIU Premium แล้วดูเนื้อหาทั้งหมดแบบไม่มีโฆษณาคั่น ด้วยคุณภาพสูงสุด Full HD พร้อมรับชมผ่านจอใหญ่ใน Smart TV ก็ได้ และยังดูรายการโปรดซับไทยได้เร็วขึ้น พร้อมฉายไม่เกิน 8 ชั่วโมงหลังออกอากาศที่ประเทศต้นทาง
ทำให้ล่าสุด VIU มีสมาชิกแบบจ่ายเงินกว่า 7 ล้านบัญชี โตขึ้น 62% จากปีที่แล้ว ถือเป็นบริการสตรีมมิ่งที่มีจำนวนผู้จ่ายเงินเป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจาก Disney+ แซง Netflix ที่อยู่ในอันดับ 3 ไปได้ครับ
จะเห็นได้ว่าการทำสตรีมมิ่งให้ประสบความสำเร็จนั้นประกอบไปด้วยปัจจัยหลายด้านมากๆ การมองเนื้อหาต้องขาด ต้องเข้าใจว่าคนดูต้องการอะไร กำลังขาดเนื้อหาด้านไหน หรือขาดส่วนเสริมความสนุกอย่างการพากย์ไทย พากย์อีสาน พากย์เหนือ VIU ก็ทำตรงนี้เติมเข้าไป และปรับตัวให้เข้ากับแต่ละตลาดท้องถิ่นจนประสบความสำเร็จได้
ปัจจุบัน VIU เป็นบริการสตรีมมิ่งจากเอเชียเพียงไม่กี่รายที่ยังยืนหยัดทำธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งคู่ต่อสู้ของ VIU ไม่ใช่บริการสตรีมมิ่งรายเล็กๆ อีกต่อไป นอกจาก Disney+ และ Netflix แล้ว VIU ยังต้องแข่งกันกับ iQiyi และ WeTV จากจีนด้วย ซึ่งก็น่าติดตามกันต่อไปว่า VIU จะสู้ศึกครั้งนี้โดยปรับปรุงเนื้อหาและบริการอย่างไรต่อไปอีกครับ