จากประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ว่าสาย LAN เกรด Audiophile ราคาแพง สามารถให้เสียงที่แตกต่างจากสาย LAN เกรดทั่วไป เมื่อวงการเครื่องเสียงเชื่อว่าคุณภาพสายที่แตกต่างกัน ก็ต้องส่งผลกระทบกับคุณภาพเสียง มาปะทะกับวงการไอทีที่เห็นแย้งว่าสาย LAN เป็นสายในระบบ Digital ต้องส่งข้อมูลได้ไม่แตกต่างกัน
นี่คือสาย Fuse Audio Reveal สาย LAN CAT 6 เกรด Audiophile ที่ตั้งราคาขายความยาว 1 เมตรไว้ 9,900 บาท ก็ขอบคุณร้านมั่นคง Gadget และทาง Fuse Audio ที่ส่งสายมาให้เราทดสอบนะครับ และนี่คือ LINK สาย LAN CAT6A พร้อมมีซีลด้านใน ซึ่งเป็นสายเกรดมาตรฐานยาว 1 เมตร ราคา 142 บาท เราสั่งออนไลน์มา
ถ้าเอาสาย 2 เส้นนี้มาเสียบเครื่องเสียง จะให้เสียงที่แตกต่างจนเราแยกออกไหม วันนี้เรามาแบไต๋ด้วยวิธีการ Blind Test กันครับ!
เราเซตระบบการ Blind Test ครั้งนี้ให้เรียบง่าย มีตัวแปรน้อยที่สุดนะครับ เราใช้เราเตอร์ Huawei 5G CPE นี้เป็นศูนย์กลางของวง Network วงใหม่ที่แยกออกมาเพื่อไม่ให้มีอุปกรณ์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาเชื่อมต่อ โดยเราจะต่อสาย LAN ที่ต้องการ Blind Test จากเราเตอร์เข้าลำโพง Devialet Phantom I 108 dB ราคา 129,990 บาทตัวนี้
ที่เลือกใช้ลำโพงรุ่นนี้ก็เพราะว่าเป็นลำโพงที่ครบจบในตัว สามารถเสียบแค่สายไฟและสาย LAN ก็ทำงานได้เลย ไม่ต้องเชื่อมไปลำโพงลูกอื่น ๆ ให้มีประเด็นเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างลำโพง และ Devialet Phantom เป็นลำโพงที่ไม่ว่าจะเปิดดังแค่ไหน ตัวลำโพงก็ไม่มีแรงสั่นสะเทือนไปที่พื้น มีแค่แก้มที่กระเพื่อมเท่านั้น ทำให้เราวางบนพื้นผิวไหน ก็ไม่ส่งผลกระทบกับเสียงที่ปล่อยออกมา ซึ่งลำโพงตัวนี้ตอบสนองคลื่นความถี่ 14 – 27,000 Hz และให้ความดังสูงสุดที่ 108 dB ครับ
เราจะเปิดเพลงผ่านโปรแกรม Audirvana Studio โปรแกรมเล่นเพลงที่คนเล่นเครื่องเสียงใช้กัน โดยใช้ไฟล์ Hi-Res ที่เก็บอยู่ใน Macbook Air เครื่องนี้ครับ ซึ่ง Audirvana ก็วิเคราะห์กราฟเสียงออกมาแล้วว่านี่คือเพลงแบบ Hi-Res แท้ ๆ มีคลื่นเสียงลากไปไกลเกินที่หูมนุษย์จะได้ยินอีก
ซึ่ง Audirvana จะส่งเพลงไปที่ลำโพง Devialet Phantom I ผ่านระบบ UPnP หรือ Universal Plug and Play ผมลองกด Debug ให้ดูกระบวนการทำงานส่งเพลงไปที่ลำโพงให้เข้าใจกันนะครับ คือตัว Audirvana จะถอดรหัสไฟล์ Hi-Res FLAC ออกมาเป็น wav และส่งข้อมูลไปบอกลำโพงที่ IP Address นี้ในวงแลนว่าให้มาดึงไฟล์ wav ที่ทำเสร็จเรียบร้อยจาก IP นี้นะ ซึ่ง Macbook Air เครื่องนี้ก็จะส่งข้อมูลเพลงเป็น Wav ผ่าน Wi-fi ไปเข้าที่เราเตอร์ และออกผ่านสาย LAN ไปที่ลำโพง Devialet เล่นเพลงให้เราฟังกันครับ
มาต่อที่พระเอกของเราในวันนี้คือสาย LAN ครับ เริ่มที่สายสีฟ้าอ่อน คือสาย LAN มาตรฐาน CAT6A จาก LINK ซึ่งมีสายภายในขนาด 26 AWG หรือหน้าตัด 0.405 mm ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานที่สายแลนทั่วไปใช้กันครับ โดยสายนี้เป็นแบบ S/FTP หรือ screened/foiled twisted pair คือตัวสายที่ตีเกลียวแต่ละคู่นั้นหุ้มฟอยล์ และสายทั้ง 4 คู่จะถูกหุ้มด้วยชิลด์ถักอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันคลื่นรบกวนภายนอก สาย LAN เส้นนี้ราคา 142 บาท
ส่วนฝากฝั่ง Fuse Audio Reveal เป็นสาย LAN CAT6 โดยสายภายในมีขนาด 23 AWG หรือหน้าตัด 0.573 mm หนากว่าสายแลนทั่วไป โดยมีฉนวนเทฟล่อน FEP ป้องกัน แล้วใช้หัวต่อพิเศษจาก Telegartner เยอรมัน สายเป็นแบบถักแข็งแรง และมีเม็ดอลูมิเนียมสี Rose Gold ตรงนี้ช่วยเรื่อง Quantum treatment เอาเป็นว่าอ่านรายละเอียดพวกนี้จากเว็บร้านมั่นคงได้ครับ ซึ่งสายนี้มีราคา 9,990 บาท
Blind Test
ซึ่งวันนี้ผมไม่ได้มาทำ Blind Test คนเดียวนะครับ ผมเชิญคุณพงศ์-ปฐมพงศ์ ภาสเวคิน จากช่อง Supertommo ใน Youtube ที่รีวิวผลิตภัณฑ์ด้านเสียงบ่อยมาช่วยกันฟังด้วย จะได้มี 2 ความเห็นในคลิปนี้ครับ ได้ข่าวคุณพงศ์รีวิวหูฟัง ลำโพงยุคใหม่แทบทุกรุ่นดัง ๆ
ก่อนที่จะมาหัดฟังเพลงก็เคยเป็นนักดนตรีมาก่อน แต่หลัง ๆ เราไม่ได้เล่นแล้วก็เลยเปลี่ยนมาฟังแทน เริ่มจากหูฟังจนถึงลำโพงเลย แต่แพนก็ใช่ย่อย ได้ข่าวคุณพ่อมีเครื่องเสียงชุดใหญ่อยู่ คงได้ฟังฝึกหูมาตั้งแต่เด็ก ๆ
โดยการ Blind Test ครั้งนี้เราจะทดสอบ 10 ครั้ง เปิดเพลงโดยที่ไม่รู้ว่าโปรดิวเซอร์เสียบสายอะไรให้เราฟัง แล้วแพนกับคุณพงศ์จะจดใส่มือถือว่าครั้งที่ 1 ถึง 10 ที่เราได้ยินนั้นเป็นสาย A หรือสาย B ครับ ซึ่งโปรดิวเซอร์จะไม่ได้สลับ A,B,A,B,A ไปเรื่อยๆ นะครับ อาจจะสลับสายมั่ว ๆ เช่น A, A, B, A, B เพื่อเทสต์การได้ยินจริง ๆ แต่สุดท้ายสาย LAN แต่ละเส้นจะถูกเทสต์ 5 ครั้งเท่ากัน
พอเทสต์เสร็จแพนกับคุณพงศ์จะสรุปอีกครั้งว่าคิดว่าสาย A หรือสาย B ของตัวเองเป็นสายเส้นไหน ซึ่งถ้าบอกถูกเกิน 8 ข้อ ถือว่าสาย 2 เส้นนี้ให้เสียงที่แตกต่างกันจริง ๆ ครับ ซึ่งที่ต้องบอกถูกเกิน 8 ข้อเพราะว่าเรามีสายมาเทสเพียง 2 เส้นครับ ถ้าให้ตอบถูกเกิน 5 ข้อคือครึ่งหนึ่ง มันก็มีโอเคสุ่มได้อยู่แล้วเพราะมีโอกาสแค่ 50/50 ครับ
แต่โปรดิวเซอร์เราก็ไม่ได้ใจร้ายขนาดจะไม่ให้ข้อมูลอะไรเลย เดี๋ยวผมกับคุณพงศ์จะนั่งฟังเพลงที่รู้ว่าเสียบสาย Fuse Audio ก่อน 1 รอบ ก่อนจะเริ่ม Blind Test 10 รอบ
คุณพงศ์: ค่อนข้างแยกออกยากมากเพราะมันจะมีดีเลย์นิดนึง พอจะแยกความต่างได้ แต่จะเริ่มลืมลักษณะของครั้งแรก ๆ ไป แต่พอฟังเสียงคนร้องเนี่ยแทบจะไม่ต่างกันเลย
โดยผลสรุปของคะแนนนะครับ เราสองคนได้ 4 คะแนนเท่ากันเลย เพราะแพนกับพี่พงศ์แยกความแตกต่างของสายทั้งคู่นี้ไม่ออก
สรุปผล
สรุปว่าแพนกับคุณพงศ์ ฟังแล้วแยกไม่ออกนะครับระหว่างสาย Fuse Audio เกรด Audiophile กับสาย LINK เกรดมาตรฐาน ซึ่งต้องอธิบายว่าถ้าเราเปลี่ยนสายแอนะล็อกพวกสาย 3.5 mm หรือสายต่อลำโพงแบบแอนะล็อก แล้วโทนเสียงของหูฟังหรือลำโพงเปลี่ยนไป อันนี้ปกติครับ เพราะสายแอนะล็อกที่มีตัวนำ แรงต้านทาน หรือสัญญาณรบกวนต่างกัน ก็กระทบกับเสียงผ่านสายได้ทั้งนั้น
แต่สาย LAN เป็นสายดิจิทัล ซึ่งข้อมูลดิจิตอลจะเสียหายยากกว่าข้อมูลอนาล็อกมากครับ เพราะส่งสัญญาณเป็น 0 กับ 1 ซึ่งถ้ามีสัญญาณรบกวน ระบบก็ยังสามารถอนุมานกลับได้ว่าเป็น 0 หรือ 1 จากแนวโน้มของสัญญาณ ซึ่งเรื่องนี้ให้นึกถึงทีวีครับ ทีวีสัญญาณแอนะล็อกที่เราดูเมื่อก่อน มันจะมีภาพเอียง ภาพโค้ง ภาพสะบัด ภาพวิ่ง เพราะคลื่นโดนรบกวน แต่ทีวีดิจิทัลจะไม่มีปัญหาภาพแบบนั้น ถ้าดูได้คือดูได้ ถ้าสัญญาณโดนกวนมากจนชดเชยไม่ไหว ภาพจะหยุด กระตุก และแตกเป็นบล็อกไปครับ ไม่มีลักษณะภาพเปลี่ยนไปแบบทีวีแอนะล็อก
นอกจากนี้การส่งสัญญาณของสาย LAN จะอยู่ในระบบ TCP/IP เราเห็นข้อมูล Debug จาก Audirvana ว่ามีการส่งข้อมูลอ้างอิงเลข IP Address ซึ่งมีการเช็กข้อมูลที่ส่งว่ามีความถูกต้องกับต้นทาง และเครื่องเสียงที่เชื่อมเครือข่ายก็มีการทำงานในแบบ Buffer ด้วย คือข้อมูลเสียงส่วนหนึ่งจะถูกส่งไปกองอยู่ที่เครื่องเล่นก่อนที่จะเล่นอยู่แล้ว เพื่อลดข้อผิดพลาดในการส่งสัญญาณ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการใช้สาย LAN ไม่ดีคือข้อมูลส่งช้า เสียงกระตุก ลากสายยาว ๆ ไม่ได้ แต่ไม่ทำให้ลักษณะโทนเสียงเปลี่ยนไปครับ
แต่ก็ใช่ว่าสายดิจิทัลราคาแพงๆ จะไม่ควรซื้อไปทั้งหมดนะครับ เพราะก็ต้องยอมรับว่าสายราคาแพงนั้นใช้วัสดุที่มีคุณภาพมากกว่า หน้าตาดูดีกว่า และมีความทนทานมากกว่า เสริมความน่าเชื่อถือให้ระบบ และสร้างความสบายใจให้ผู้ใช้ได้
ขอบคุณคุณพงศ์ที่มาร่วมทดสอบกับเราในวันนี้นะครับ ก็ติดตามคลิปรีวิวมากมายจากช่อง SUPERTOMMO ได้นะครับ แล้วอย่าลืมกดติดตาม #beartai ด้วยล่ะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส