เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กสทช. ร่วมกับ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย จัดงาน ‘Giga Thailand : Broadband Forum’ ภายใต้แนวคิด “โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย” ซึ่งเป็นความพยายามร่วมกันในการผลักดันและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายไฟเบอร์ให้เป็นมาตรฐานใหม่ เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และช่วยประเทศไทยให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคอาเซียน
ภายในงานยังมีการเปิดตัวสมุดปกขาว Giga Thailand ซึ่งรวบรวมคำแนะนำเกี่ยวกับการเร่งขยายเครือข่ายบรอดแบนด์ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนโยบายสำหรับรองรับโครงข่ายไฟเบอร์ในประเทศไทย
โดย กสทช. และหัวเว่ย จะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันเครือข่ายไฟเบอร์บรอดแบนด์ใน 3 ด้าน
- ด้านแรกคือการร่วมมือในการผลักดันเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโครงข่ายไฟเบอร์ให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของไทยในอนาคต รวมถึงสนับสนุนให้ขยายความครอบคลุมของโครงข่ายไฟเบอร์ เพื่อเพิ่มค่าดัชนีความเชื่อมต่อของประเทศไทย
- ด้านที่สองคือความร่วมมือเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในประเทศไทย
- ด้านที่สามคือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของไทยเพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ขึ้นเวทีปาฐกถาพิเศษในครั้งนี้อีกด้วย
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์แบบไฟเบอร์มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนดิจิทัล เศรษฐกิจ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ การต่อยอดนวัตกรรมแอปพลิเคชันและการสร้าง S-Curve ในทุกอุตสาหกรรมในประเทศ ให้ความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์และจะต้องได้รับการเร่งอัปเกรดเป็นมาตรฐานความเร็วกิกะบิต
ยิ่งไปกว่านั้น จากสถานการณ์การณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาแสดงให้เราเห็นว่าอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวันของเรา และจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการเป็นหุ้นส่วนในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยผลักดันประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในประเทศ
ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวเสริมว่าการจับมือกันของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้จะเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมคมนาคม การเงิน พลังงาน และยังจะช่วยสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคมอีกด้วย ทั้งนี้ เครือข่ายไฟเบอร์บรอดแบนด์ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจนไม่ต่างไปจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างน้ำหรือไฟฟ้า และเป็นตัวผลักดันใหม่สำหรับการพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย
”จากการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน และทุกภาคส่วน เรามั่นใจว่าประเทศไทยจะขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น ไปสู่เป้าหมายด้วยมุมมองที่ดี เพราะฉะนั้นขอให้ทำงานด้วยกัน และก้าวไปสู่ยุคใหม่ไปด้วยกัน พร้อมนำดิจิทัลเทคโนโลยีไปสู่ทุกบ้าน ทุกคน ทุกองค์กร และจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการเชื่อมต่อเต็มรูปแบบ และก้าวไปสู่ประเทศอัจฉริยะ”
โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญอันดับแรกของ กสทช. และหัวเว่ย คือการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตบรอด์แบนด์ประจำที่ ให้สามารถเข้าถึงได้ทุกหมู่บ้านทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ในความเร็วที่มากกว่า 100 เมกะบิตต่อวินาที ภายในปี 2565
ซึ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนานัปการ ทั้งการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มและบริการออนไลน์ใหม่ ๆ อันส่งผลต่อการจ้างงาน และการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่คิดเป็นสัดส่วนที่สูงขึ้นมาเป็นลำดับ และคาดว่าจะคิดเป็นร้อยละ 25 ในปี 2570
การยกระดับเครือข่ายไฟเบอร์ให้เป็นมาตรฐานใหม่ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไร้ซึ่งความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐ และเอกชน เพราะทุกภาคส่วน คือกุญแจสำคัญในการทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส