POPCOIN คืออะไร? ใช้ทำอะไรได้บ้าง? ยั่งยืนจริงหรือเป็นแค่แชร์ลูกโซ่? วันนี้แบไต๋ชวนคุณทำความรู้จัก POPCOIN โทเคนดิจิทัลเพื่อธุรกิจ Entertainmerce จากอาร์เอส กรุ๊ป
สินทรัพย์ดิจิทัลกำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนไทยทั้งมือใหม่และมือเก๋า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทโทเคน (หรือเหรียญดิจิทัล) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วผลิตออกมาเพื่อมุ่งเน้นการเก็งกำไรช่วงสั้น ๆ มากกว่าการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชน เราจึงเห็นภาวะ “ฟองสบู่แตก” ของเหรียญดิจิทัลจำนวนมากที่ไม่มี “Tokenomics” ที่แข็งแรง
“Tokenomics” หรือเศรษฐศาสตร์ของเหรียญดิจิทัล คือโจทย์ใหญ่ของผู้ออกเหรียญที่ต้องสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) และรักษาสมดุลของอุปสงค์และอุปทาน (Demand and Supply) พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือการทำให้เหรียญดิจิทัลมีมูลค่าจากการนำไปใช้งานนั่นเอง
เหรียญดิจิทัลที่น่าเชื่อถือในประเทศไทยยังมีตัวเลือกไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการของนักลงทุน และอีกหลายคนที่กำลังซุ่มศึกษาข้อมูลอยู่ “ช่องว่าง” ที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ออกเหรียญที่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับสินทรัพย์ดิจิทัลครับ
“โฟร์ท แอปเปิ้ล” บริษัทลูกของ “อาร์เอส กรุ๊ป” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจ Digital Marketing แบบครบวงจร ได้จับมือกับ “ฟิวเจอร์ คอมเพเทเร่” ที่ปรึกษาด้านการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล สร้าง “POPCOIN Application” Smart Marketing Platform ที่จะเชื่อมต่อการทำการตลาดในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาของธุรกิจสื่อผ่านการใช้งานเหรียญดิจิทัล “POPCOIN” ครับ
“Tokenomics” ของเหรียญดิจิทัล “POPCOIN” ค่อนข้างน่าสนใจครับ เนื่องจากมีตัวละครค่อนข้างครบในแง่ของการนำเหรียญดิจิทัลไปใช้งานจริง โดยสามารถแบ่งผู้ถือเหรียญ (หรือ Stakeholder) ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- ผู้ซื้อสื่อโฆษณา (Sponsor) หมายถึง แบรนด์ต่าง ๆ ในฐานะสปอนเซอร์
- ผู้ผลิตเนื้อหา (Content Creator) เช่น ศิลปิน, ยูทูบเบอร์, คอนเทนต์ครีเอเตอร์
- ผู้บริโภค (Consumer) หรือในที่นี้เรียกว่า “Popster” คือผู้ที่นำเหรียญไปแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการ
เรามาลงในรายละเอียดกันบ้างว่า “POPCOIN” จะช่วยแก้ไขปัญหาของธุรกิจสื่อได้อย่างไร
ยกตัวอย่างนะครับ สำหรับผู้ซื้อสื่อโฆษณาหรือแบรนด์ต่าง ๆ ที่ต้องการทำแคมเปญการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ของสินค้าใหม่ (Awareness) จึงเลือกลงโฆษณาในช่วงก่อนเริ่มต้นของคลิปวิดีโอ แต่ยังไม่ทันที่จะสื่อสารข้อความจนครบ ผู้บริโภคก็กดข้าม (Skip) ไปซะแล้ว งานนี้ 5 วินาทีแรก การรับรู้ยังไม่ทันเกิดเลยครับ เรื่องการเข้าถึง (Drive Traffic) กับยอดขายนี่อย่าไปหวัง
ถ้าแบรนด์ลองปรับใหม่ โดยใช้เหรียญดิจิทัลเป็นแรงจูงใจ ยกตัวอย่างว่า เมื่อดูโฆษณาจนจบจะได้รับ “POPCOIN” แบรนด์ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ผู้บริโภคดูโฆษณาจนจบ ส่วนผู้บริโภคที่สนใจจริง ๆ หรืออยากได้ “POPCOIN” ก็จะดูโฆษณาจนจบเอง แล้วการรับรู้ของสินค้าใหม่ก็จะเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย เพราะผู้บริโภคเห็น Key Message ในโฆษณาทั้งหมดนั่นเอง
นอกจากนี้ แบรนด์ยังสามารถใช้ “POPCOIN” เป็น “Utility Token” หรือเหรียญดิจิทัลที่เอาไว้ใช้เพื่อแลกกับสินค้า บริการ หรือการเข้าสู่ระบบนั้น ๆ ในการทำแคมเปญการตลาดที่ต้องการวัด “Engagement” หรือปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเวลาที่แบรนด์ทำแคมเปญหรือลงโฆษณาไปแล้วไม่ได้ยอด “Engagement” ที่แท้จริง เพราะเกิดการซื้อยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดวิว หรือที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า “บูสต์โพสต์” ครับ
สำหรับ Content Creator ผู้สร้างเนื้อหาในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะ, สื่อออนไลน์, รายการทีวี หรือแม้แต่อีเวนต์ (ทั้งออฟไลน์และออนไลน์) สามารถใช้ “POPCOIN” เพื่อนำเสนอผลงานของตัวเองไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้ ช่วยเพิ่มฐานผู้ติดตาม รวมถึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติม
ยกตัวอย่าง ผมนำสินค้าแบรนด์แบไต๋มาวางบน “POPCOIN Application” นอกเหนือจากฐานผู้ติดตามเดิมที่มี “POPCOIN” จะเข้ามาซื้อสินค้าแล้ว ผมอาจจะได้ผู้ติดตามหน้าใหม่ ๆ ที่เขามี “POPCOIN” และเกิดสนใจในสินค้าของผมครับ
ในส่วนของผู้บริโภค (Consumer) จะมีปฏิสัมพันธ์และได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ จากแบรนด์และ Content Creator เพิ่มมากขึ้น ทั้งการร่วมแคมเปญเพื่อรับ “POPCOIN” รวมถึงการนำ “POPCOIN” ไปใช้เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการที่ตัวเองต้องการ
แล้วถ้าถามว่า ทำไมผู้บริโภคต้องมาซื้อของใน “POPCOIN Application” คำตอบก็คือ “POPCOIN” คือเหรียญที่ใคร ๆ ก็สามารถรับได้ฟรี หากเข้าร่วมแคมเปญกับแบรนด์หรือ Content Creator ดังนั้น สินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคซื้อมาด้วย “POPCOIN” อาจเรียกได้ว่าได้มาฟรีนั่นเอง
หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้ว แบรนด์และ Content Creator จะได้อะไร หากใช้ “POPCOIN” ในการทำแคมเปญทางการตลอด ซึ่งเรื่องนี้ทาง “ฟิวเจอร์ คอมเพเทเร่” ที่ปรึกษาด้านการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล ได้เสริมระบบนิเวศของ “POPCOIN” ด้วยการลิสต์ (List) เหรียญในตลาดรองบนกระดานเทรดของ “BITKUB”
เมื่อเหรียญสามารถเทรดได้ หมายความว่าเราสามารถนำ “POPCOIN” ไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้ ดังนั้น เมื่อผู้บริโภคนำ “POPCOIN” กลับมาซื้อสินค้าหรือบริการ ทางแบรนด์และ Content Creator ก็สามารถนำ “POPCOIN” ไปเทรดเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้นั่นเอง
เมื่อมีการเทรดเกิดขึ้น หลายคนย่อมกังวลถึงการเก็งกำไรและความเสี่ยงของภาวะ “ฟองสบู่แตก” ทาง “โฟร์ท แอปเปิ้ล” จึงได้จำกัดจำนวนของ “POPCOIN” ไว้ที่ 10,000 ล้านเหรียญ เพื่อไม่ให้เกิดการเฟ้อ หรือการผลิตเหรียญออกมาใช้มากเกินไปจนทำให้มูลค่าของเหรียญตกลง
“POPCOIN” จำนวน 10,000 ล้านเหรียญนั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาในคราวเดียว แต่จะทยอยสร้างขึ้นใน 4 ปี โดยมีโควตาปีละ 2,500 ล้านเหรียญตามการใช้งาน ซึ่งเหรียญ “POPCOIN” ที่ถูกสร้าง จะถูกขุด (Mint) ขึ้นมาก็ต่อเมื่อมีสปอนเซอร์ซื้อเหรียญ และถูกผลิตใช้เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรม เพื่อสร้างชุมชน (หรือ Community) โดยนำไปใช้ผ่านกิจกรรมเท่านั้น ไม่สามารถขุดขึ้นมาเพื่อนำไปขายในตลาดรองได้
อธิบายง่าย ๆ ว่า ใช้เหรียญเท่าไร ขุดได้เท่านั้น ไม่สามารถเร่งขุด ๆๆๆ เพื่อเอาไปเก็งกำไรได้ งานนี้ผู้ที่ถือเหรียญ “POPCOIN” ไว้ จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการเทขายเพื่อทุ่มตลาดหรือมีอุปทาน (Supply) เกินการใช้งานแน่นอน
เราเริ่มเห็นแล้วว่า “Tokenomics” หรือเศรษฐศาสตร์เหรียญดิจิทัลของ “POPCOIN Application” คือการทำให้เหรียญ “POPCOIN” มีมูลค่าจากการนำไปใช้งาน เป็นเหรียญดิจิทัลประเภท “Utility Token” ที่เอาไว้ใช้เพื่อแลกกับสินค้าและบริการ มูลค่าของเหรียญจึงไม่ได้แปรผันไปตามความนิยมของเหรียญ แต่แปรฝันไปตามความต้องการในสินค้าและบริการที่แบรนด์และ Content Creator สร้างสรรค์ออก และในอนาคตเราอาจได้เห็นสินค้าพิเศษทั้งรูปแบบ Physical Product และ Digital Product ที่ใช้ “POPCOIN” ในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น เราจึงอาจได้เห็นมูลค่าของเหรียญเพิ่มขึ้น หากมีความต้องการในสินค้าเหล่านี้มาก
ดังนั้น เพื่อเสริมระบบนิเวศด้านการลงทุนและความมั่นคง ทาง “ฟิวเจอร์ คอมเพเทเร่” ที่ปรึกษาด้านการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล จึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนนำเหรียญมาใส่ไว้ใน “Staking Pool” ได้
“Staking Pool” คือการเปิดโอกาสให้นักลงทุนนำ “POPCOIN” ที่มีอยู่มารวมกันเอาไว้ เมื่อผู้บริโภคหรือใครก็ตามที่นำเหรียญมาใช้จะเกิด “Usage Fee” หรือค่าธรรมเนียมการใช้งาน นักลงทุนที่ได้นำ “POPCOIN” มาใส่ไว้ใน “Staking Pool” นี้ ก็จะได้รับค่าธรรมเนียมการใช้งานเป็นผลตอบแทน ตามสัดส่วนที่ Stake ไว้ และยิ่งมีคนใช้งานมาก ผู้ที่ Stake เหรียญไว้ก็จะยิ่งได้ส่วนแบ่งมากนั่นเอง
ด้วยระบบ “Tokenomics” ที่น่าสนใจ ทำให้ตอนนี้หลายคนเริ่มอยากมีเหรียญ “POPCOIN” ไว้ครอบครอง ซึ่งผมต้องบอกว่าในตอนนี้เหรียญยังไม่เปิดให้มีการเทรดหรือแจกจ่ายจากแบรนด์ต่าง ๆ แต่อย่างใด โดยวิธีการเดียวที่เราจะได้รับเหรียญ “POPCOIN” ในตอนนี้คือแคมเปญ “Popster Airdrop” ที่เราต้องเปิดบัญชีผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ www.popcoin.co เมื่อทำการสมัครเรียบร้อยก็จะได้รับ “POPCOIN” ฟรี 100 เหรียญ และหากแนะนำเพื่อนมาสมัครต่อจะได้รับ “POPCOIN” เพิ่มอีก 25 เหรียญต่อ 1 บัญชีใหม่ครับ
สำหรับเหรียญ “POPCOIN” จะถูกโอนเข้า Wallet ภายในต้นปี 2022 และเริ่มต้นระบบนิเวศอย่างสมบูรณ์คือ แจกจ่าย-แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการ-เทรด ได้ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2022 เป็นต้นไป
ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก Whitepaper บนเว็บไซต์ www.popcoin.co และ facebook : popcoin.co ครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส