Metaverse เป็นคำที่หลายคนได้ยินกันบ่อยในช่วงนี้ แต่มีใครรู้ไหมว่ามันคืออะไร Metaverse คือพื้นที่โลกเสมือนแบบ 3 มิติ ที่สามารถเข้าไปใช้งานร่วมกับคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเข้าไปทำงาน เล่นเกม ชอปปิง สร้างบ้าน เป็นเจ้าของทรัพย์สินดิจิทัล ผ่านเทคโนโลยี AR หรือ VR แต่หากจะพูดให้ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อย
ประเทศไทยเรามีโลกเสมือนเป็นรายแรกแล้วชื่อว่า Translucia Metaverse ซึ่งเป็นของโครงการ ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้แก่คนทั่วไป ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทางบริษัทเพิ่งจัดงานรวมผู้เชี่ยวชาญด้าน Metaverse ทั้งนักวิจัย นักการตลาด ผู้นำเชิงกลยุทธ์ สถาปนิก นักออกแบบและกราฟิกดีไซเนอร์ระดับโลกนับ 10 ชีวิต มาแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับโลกเสมือน รวมถึงนำเสนอทิศทางและโอกาสใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มออน์ไลน์
วันนี้แบไต๋จะมาสรุปให้ฟังว่า ภายในงาน “Metaverse Unlimited” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 – 16 ธันวาคมที่ผ่านมา มีความเป็นไปได้อะไรที่น่าสนใจบน Metaverse และเก็บไปคิดต่อได้บ้าง
งานฟอรัมวันแรกเปิดตัวด้วย Ms. Cathy Hackl (เคธี แฮ็กเคิล) เจ้าของฉายา “Godmother of the Metaverse” ผู้เชี่ยวชาญด้าน Metaverse และที่ปรึกษาแบรนด์ธุรกิจและแบรนด์แฟชั่นระดับโลก เธอพูดถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในวงการบันเทิง โดยเปรียบเทียบกับยุคก่อนที่วงการภาพยนตร์ถือกำเนิดขึ้น คนยังไม่เข้าใจว่าภาพยนตร์คืออะไร เช่นเดียวกับคนยุคนี้ที่ยังไม่เข้าใจว่า Metaverse คืออะไร อย่างหนังเรื่องแรกที่มีการฉายเป็นฉากรถไฟพุ่งเข้ามาที่ผู้ชมก็ทำคนตื่นตาตื่นใจอย่างมาก
เราจึงได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อย่างคอนเสิร์ตของ Lil Nas X หรือ Airana Grande Fornite Rift Tour รวมถึงโลกของเกมที่ทำให้ Metaverse เติบโตไวมาก อย่างเกม Roblox มีสถิติบันทึกว่า ในหนึ่งวินาทีมีผู้คนสนทนาภายในเกมมากกว่า Whatapp เสียอีก
หรือวงการแฟชันเองก็เริ่มตระหนักขึ้นการมีอยู่ของ Metaverse แล้ว เช่น Nike ที่ออกรองเท้าผ้าใบเวอร์ชวลที่มีราคาสูงกว่า 5000 เหรียญ เธอยังมองไปถึงขั้นต่อไปของวงการแฟชั่น ที่การซื้อของในโลกเวอชวล จะถูกส่งมาสู่โลกความเป็นจริงด้วย คงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมิใช่น้อย
ต่อด้วย Mr. D. Fox Harrell (ดี.ฟ็อก แฮร์เรล ) Professor of Digital Media and Artificial Intelligence จากมหาวิทยาลัย MIT เจ้าของงานวิจัยเกี่ยวกับเกมในอเมริกา เขาพูดถึงโลกเสมือนว่ามีผลกระทบทางสังคมและวัฒนธรรมอะไรบ้าง ปัจจุบันหนีไม่พ้นเรื่อง ‘อคติ’ มักแฝงอยู่ในการออกแบบเกมหลาย ๆ ประเภท สถิติในเกมบอกว่าตัวละครผู้ชายในเกมทั้งหมดคิดเป็น 86% ส่วนผู้หญิงมีเพียง 14% รวมถึงค่าพลัง รูปลักษณ์ของตัวละครในเกมหลาย ๆ เกม ล้วนแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำทั้งสิ้น
ดังนั้นการสร้าง The Avatar Dream ใน Metaverse ทำให้เราลดข้อจำกัดเรื่องอคตินี้ลงไปได้ เราสามารถเป็นอะไรหรือเป็นใครก็ได้ โดยอาศัยเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วย เป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและอคติด้วยเทคโนโลยี โดยการสัมผัสประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง
หนึ่งในผู้บรรยายมีนักวิจัยชาวไทยอย่าง พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร ของ MIT Media Lab หนึ่งในห้องแล็บที่ทันสมัยที่สุดในโลกของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ พีพี กำลังศึกษาร่วมกับ NASA เกี่ยวกับเรื่องแวเรเบิลดีไวซ์ในชื่อ METAME โดยการเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ และ Cyborg ซึ่งเป็นตัวแทนของสุดยอดชีวภาพและชีววิทยา เขาอาศัยแนวคิดนี้มาใช้กับมนุษย์ เราจะใช้เทคโนโลยีกับมนุษย์ และก้าวข้ามขีดจำกัดของมนุษย์ได้อย่างไร
METAME พูดถึงอุปกรณ์ที่ช่วยควบคุมการผลิตสารต่าง ๆ หรือระบบการเผาผลาญในร่างกาย ทำให้ไม่ต้องทานหรือฉีดยาจากภายนอก เพื่อให้ร่างกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น เหมือนยอดมนุษย์ รวมถึงอุปกรณ์ไบโอมาร์กเกอร์ที่เก็บข้อมูลสุขภาพได้ตลอดเวลา (ก่อนหน้ามีโรคระบาด มีแต่คนถามว่าทำไมเราต้องเก็บข้อมูลสุขภาพบ่อย ๆ) นำไปสู่การสร้างยาที่เหมาะสมกับตัวเอง รวมถึงสร้างยาจากภายในร่างกายด้วยแบคทีเรียตลอด 24 ชั่วโมง
แขกรับเชิญคนต่อไปคือ ผู้อยู่เบื้องหลังกำเนิดโปรแกรม Maya 3D โปรแกรมที่ใช้สร้างฉากในหนัง Avatar ของเจมส์ คาเมรอน เขาคือ Mr. Alain Chesnais (อัลเลน เชสไน) ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Analytics & Computer Graphics ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมซอฟต์แวร์ให้ Amazon เขามาพูดถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีตั้งแต่ยุคแรก ๆ ก่อนที่จะมาถึง Metaverse โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นในปี 1968: The Sword of Damocles ที่มีการออกแบบเครื่องสวมคล้ายแว่นตา เพื่อจำลองโลกเสมือนขึ้นมา เป็นครั้งแรกที่เราเห็นโลกไม่ใช่โลกจริง ก่อนที่จะพัฒนา Data Glove รวมถึง Data Siut และนำมาพัฒนา avatar ในที่สุด
ปิดท้ายวันแรกที่ Ms. Jeanne Lim (จีน ลิม) Co-Founder & CEO, Being AI เธอมาพูดถึงเทคโนโลยี AI ที่มาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้มนุษย์อย่างไร Being AI สร้างบทบาทให้ AI แต่ละตัว เพื่อให้หรือรับคำแนะนำกับมนุษย์ โดยเธอกล่าวว่าการจะเลี้ยง AI สักตัวต้องใช้คนทั้งโลกเข้ามาช่วย AI สามารถเข้ามาช่วยในชีวิตประจำวันของมนุษย์ ทั้งการแปลงข้อมูล การคำนวนสภาพอากาศ และความสะดวกสบายต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงปัญหาต่าง ๆ เช่น AI จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์
แต่เธอมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ AI อย่างเดียว เพราะมันเรียนรู้จากพวกเรา ดังนั้นอย่าโทษ AI แต่ต้นเหตุจริง ๆ มาจากมนุษย์ จึงต้องเริ่มจากมนุษย์ก่อนที่จะวางรากฐานให้กับ AI และนำไปสู่ Metaverse Metaverse ไม่ใช่สิ่งที่เราเดินเข้าไปหา แต่เป็นสิ่งที่เราจะสร้างให้มนุษยชาติต่างหาก
สำหรับวันที่ 2 ของฟอรัมก็ยังมีประเด็นเกี่ยวกับ Metaverse ให้พูดถึงอีกมาก ทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยนักวิจัยระดับโลกอย่าง Mr. Jeremy Bailenson (เจเรมี ไบเลนซัน) จาก Stanford University เขามาพูดเรื่อง VR หรือประสบการณ์เสมือนจริงเปลี่ยนการศึกษา การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเอาใจใส่และสุขภาพอย่างไร โดยนำการศึกษาที่ Stanford มาเล่าให้ฟัง การศึกษาในชั้นเรียนใหม่มีนักเรียนกว่า 263 คน ที่เข้ามาใช้งานกล้อง Oculus ซึ่งทำให้ระบบ VR เข้าถึงสัมผัสเชิงลึกได้มากกว่าการเรียนการสอนผ่าน Zoom โดยเฉพาะวิชาที่ให้นักเรียนเข้ามาเจอกันในโลก VR เป็นกลุ่มเล็ก ๆ 5-7 คน ประสบผลสำเร็จมาก
นอกจากนี้เทคโนโลยี VR ยังช่วยยกระดับการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมและได้ปฏิบัติผ่านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถทำในชีวิตจริงได้ เช่น เรียนรู้การทำกระดาษตั้งแต่การตัดต้นไม้ หรือการสำรวจใต้ทะเลลึก
ต่อด้วย Mr. David Bray (เดวิด เบร) ผู้บริหารที่เชี่ยวชาญด้านกลยุทธิ์ซึ่งได้รับการยกย่องจาก Business Insider ว่าเป็นหนึ่งในอเมริกันชนทีอายุน้อยกว่า 40 ปี ที่มีความเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงโลก เขาอธิบายให้เห็นภาพใหญ่เชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับโอกาสทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างโลก Metaverse เขามองว่าอินเทอร์เน็ตอาจจะวิวัฒน์เช่นเดียวกับศิลปะและวัฒนธรรมในอดีต เราจึงต้องคิดว่าจะทำยังไงถึงจะเชื่อมโยงคน 7000 ล้านคนทั่วโลกเข้าด้วยกันได้ ซึ่ง Metaverse ทำได้ โดยเฉพาะการสร้างพื้นฐานของคนให้ดีกว่าโลกความเป็นจริง โดยอาศัยข้อมูลต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามเขามองว่า Metaverse อาจเร็วเกินไปในเวลานี้ เราควรมีทางเลือกมากกว่านี้ให้แก่มนุษย์ที่จะรวมทุกคนไว้ในที่เดียวกันเช่นนี้
นักพูดคนถัดไปคือ Ms.Ashley Casovan (แอสลีย์ คาโซแวน) ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ทำงานให้กับ World Economic Forum แน่นอนว่า Metaverse เป็นโลกที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตามพื้นที่ทุกพื้นที่ควรมีกฎเกณฑ์หรือกติการ่วมกัน ไม่เว้นแม้แต่ในโลกเสมือน เธอยกตัวอย่างให้เห็นการใช้ AI ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปรากฏทั้งในแง่ประโยชน์และโทษในเวลาเดียวกัน อย่างในวงการแพทย์ หรือเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า ไปจนถึงระบบตอบรับโดย AI ที่มักจะสร้างปัญหาให้เห็นบ่อย ๆ
การประเมินผลกระทบจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ว่าสิ่งใด ๆ ก็ตามให้คุณหรือโทษอะไรบ้าง ก่อนที่จะออกนโยบายอะไรออกมา เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ AI ในปัจจุบัน
นักพูดชาวไทยอีกคนบนเวทีระดับโลกคือ น็อต-เศณวี ชาตะเมธีวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทดีไซน์ ซินธีซิส จำกัด สถาปนิกเกี่ยวกับการจำลองสถาปัตยกรรมใหม่ Metaverse และการออกแบบทางคอมพิวเตอร์
การออกแบบของดีไซน์ ซินธีซิส คือการใส่สิ่งที่ต้องการลงไป และปล่อยให้เทคโนโลยีจัดการให้ตามคำสั่ง แต่ใน Metaverse ต่างออกไป เช่น เงื่อนไขของเวลาที่ไม่จำกัด เมื่อเราสร้างอะไรสามารถเร่งเวลาไปข้างหน้าได้ไม่จำกัด ทำให้เราเห็นเงื่อนไขต่าง ๆ ในการออกแบบมากขึ้น หรือเห็นตัวอย่างงานออกแบบจริง ๆ แม้จะยังไม่ได้สร้างขึ้นก็ตาม
เทคโนโลยี AR จะเข้ามาช่วยได้ทั้งในระหว่างก่อสร้าง เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน ช่วยให้เกิดความแม่นยำในการก่อสร้างได้ เขายกตัวอย่างงานออกแบบไม้ทรงโค้งที่หลายคนช่วยกันทำขึ้นมา หรือการจัดวางกำแพงด้วยอิฐบล็อกที่ออกมาเป็นลวดลายผ้าไทย
เทคโนโลยีช่วยทลายข้อจำกัดระหว่างสกิลของมนุษย์และเครื่องจักร สุดท้ายทำให้คนและเครื่องจักรในโลกความเป็นจริงและโลกเวอร์ชวลสามารถอยู่ร่วมกันได้ในที่สุด
ปิดท้ายด้วยการนำ Metaverse มาใช้ในวิชาชีพสถาปนิกกับ Mr. Shajay Bhooshan (ชาเจย์ บูซาน) สถาปนิกจากบริษัทสถาปนิกระดับโลก Zaha Hadid Architects และ Co-Founder, ZHACODE ที่เน้นการออกแบบ เทคโนโลยีและประสบการณ์ผู้ใช้ในการติดตั้งระบบดิจิทัลที่ไม่เหมือนใคร เขาพูดถึงประสบการณ์ของผู้ใช้งานเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น Metaverse หรือสถาปัตยกรรมในโลกแห่งความเป็นจริงก็ตาม “การออกแบบตึกต้องสร้างมาเพื่อคน และเมืองต้องไม่ใช่ของเครื่องจักร แต่เป็นบ้านของมนุษย์” ซึ่งสามารถนำแนวคิดการออกแบบเกมมาประยุกต์กับการออกแบบสถาปัตยกรรม เพื่อให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น รวมถึงง่ายต่อการออกแบบด้วย
นอกจากนี้เขายังพูดถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการออกแบบ ซึ่งการเข้ามาของเทคโนโลยีช่วยให้สามารถนำองค์ความรู้โบราณ มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีการออกแบบในปัจจุบันได้ นอกจากจะช่วยลดวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ อย่างเช่นเทคนิคการก่ออิฐสมัยก่อน ยังอาศัยเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยคำนวณได้ด้วย
ทั้งหมดนี้คือความเป็นไปได้ในสาขาวิชาต่าง ๆ บนโลก Metaverse ที่ผสานเอาเทคโนโลยี AI, VR และมันสมองของมนุษย์ช่วยสร้างและให้กำเนิดโลกใหม่ ๆ และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่ไม่มีขีดจำกัด สามารถติดตามความเคลื่อนไหวในโลก Metaverse ได้ที่ Translucia Metaverse
ส่วนผมขอไปทบทวนก่อนว่า เราจะสามารถนำแนวคิดเหล่านี้มาประยุกต์ใช้กับบริษัทและองค์กรของเราอย่างไรได้บ้าง คงน่าสนใจมิใช่น้อยเลยว่าไหมล่ะครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส