วันนี้ผมอยู่กับ Infinix INBOOK X2 โน้ตบุ๊ก สเปกคุ้มราคา ดีไซน์บางเบา แถมมีสีให้เลือกเยอะ! ใช้จริงจะเป็นยังไง วันนี้ผมมา #beartai ให้ดูครับ

ผมว่าช่วงนี้ Infinix เป็นแบรนด์มือถือ และโน้ตบุ๊กน้องใหม่ที่น่าสนใจนะ จุดเด่นจุดขายของค่ายนี้คือ “สเปกคุ้มราคา” มีมาตั้งแต่มือถือรุ่นแรก ๆ ที่เปิดตัว ซี่ง #beartai เองก็เคยจับมารีวิวไปแล้วหลายรุ่นราคาไม่เกินหมื่นสักเครื่อง คราวนี้ถึงตาของโน้ตบุ๊ก อย่าง Infinix INBOOK X2 บ้างครับ ถ้าอยากจะรู้ว่า สเปกคุ้มกับราคาอย่างไร เราก็ต้องเอาสเปกมากางดูกันก่อนครับ

สเปก

โดยในรุ่นนี้จะมีสเปกย่อย 3 รุ่น คือ i3 i5 และ i7 ซึ่งรุ่นเริ่มต้นก็คือ Intel Core i3-1005G1 กับแรม 4GB และความจุ 256GB ราคาเริ่มต้นคือราคา 12,990 บาท

ถัดมาคือรุ่นกลาง Intel Core i5-1035G1 และตัวท็อป Core i7-1065G7 ครับทั้งสองจะมีแรมและความจุเท่ากันคือ 8GB กับ 512GB ครับ โดยราคาจะอยู่ที่ 18,990 บาท และ 21,900 บาทครับ

โดยทุกรุ่นจะมี Windows 11 และ Microsoft Office Home & Student 2019 ติดมาให้ด้วยครับ ทดลองใช้ 30 วัน

แม้ว่าซีพียู จะเป็นเจนเนอเรชันที่ 10 ซึ่งเป็นตัวเก่า และไม่ได้แรงเท่ากับ Intel เจน 12 ที่เพิ่งเปิดตัวมา แต่เรื่องราคาทำออกมาได้ดีเลยครับ ถ้าเป็นสเปกใกล้เคียงกัน Infinix INBOOK X2 จะถูกกว่าราว ๆ 1-2 พันครับ

สำหรับ Infinix INBOOK X2 ก็มาในสโลแกน “จุดประกายโลกแห่งสีสัน” ด้วยตัวเครื่อง 4 สี คือ สีแดง | สีเขียว | สีน้ำเงิน และ สีเงิน ที่ผมกำลังถืออยู่ครับ ใครชอบสีไหนก็เลือกตามสไตล์ได้เลย

ดีไซน์

เรื่องการดีไซน์ฝาหลัง อันนี้ก็เป็นแบบทูโทนครับ คือจะมีการกัดลาย เพื่อให้เกิดลวดลายของโลหะ ซึ่งวัสดุที่เห็นอยู่นี้คือ อะลูมิเนียมอัลลอย ที่ดูพรีเมียม เบา และแข็งแรงครับ

ถามว่าเบาแค่ไหน เดี๋ยวผมชั่งให้ดู น้ำหนักที่ได้อยู่ที่ 1.23 กก. พอรวมอะแดปเตอร์ชาร์จไฟด้วย น้ำหนักก็จะอยู่ที่ 1.39 กก. ตัวเครื่องเพียว ๆ ถือว่าเบาอยู่นะ สำหรับไซซ์หน้าจอ 14 นิ้ว ที่ปกติจะหนักราว ๆ 1.4 ถึง 1.6 กก. ครับ

ส่วนขนาดถ้าเทียบกับ A4 ก็จะกว้างกว่านิดหน่อย ความหนาวัดแล้วก็อยู่ที่ 1.5 ซม. ถือว่าค่อนข้างบางอยู่นะครับ ใช้นิ้วปิดขอบมิดเลย

ดูต่อกันที่เรื่องพอร์ตกันบ้าง ฝั่งนี้จะมีช่องอ่านการ์ด Micro-SD, ช่อง USB-C 3.1, ช่องเสียบหูฟัง, ช่อง USB-A 3.0 และช่องใส่สายล็อกเครื่อง

ถัดมาอีกฝั่งก็จะมีช่องต่อจอ HDMI, ช่อง USB-A 3.0 อีกหนึ่งช่อง และสุดท้ายช่อง USB-C 3.2 ที่เสียบชาร์จไฟได้ และต่อหน้าจอแยกได้ (ส่วนอีกพอร์ตทำได้แค่รับข้อมูลอย่างเดียวนะ) ถือว่าให้มาครบจบในตัวอยู่นะครับ เวลาใช้จริงไม่ต้องต่อดองเกิ้ลเพิ่มเลย

หน้าจอ

มาพูดถึงเรื่องหน้าจอกันบ้าง นี่คือจอ IPS ขนาด 14 นิ้ว ที่มีความละเอียด Full HD พร้อมขอบเขตการแสดงสี 100% sRGB ซึ่งก็พอที่จะเอาไปดูหนังได้เพลิน ๆ หรือใช้ทำภาพกราฟิกลงเว็บก็ได้ ส่วนค่าความสว่างก็อยู่ที่ 300Nits ซึ่งสามารถสู้แสงไฟเวลาใช้งานในออฟฟิศได้

สำหรับขอบจอซ้ายและขวา ก็มีความบางอยู่ที่ 7 มม. ส่วนด้านบนอยู่ที่ 1 ซม. และที่อยู่ตรงกลางนี้คือกล้องเว็บ 720p ที่มี Dual-Star light หรือแฟลชหน้า 2 ตัวติดมาด้วย เพื่อช่วยเพิ่มความสว่างให้หน้าเราชัดขึ้น เวลาที่ต้องประชุม หรือเรียนออนไลน์ ในที่แสงน้อย

ส่วนเรื่องลำโพง (เปิดเพลงฟัง) ก็ต้องบอกว่าไม่ได้ดีมากนัก คุณภาพเสียงตามราคา ความดังอยู่ระดับกลาง ๆ ครับ
ส่วนคีย์บอร์ดก็ต้องบอกว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดีเลย ระยะห่างกำลังดี กดแล้วเด้งนิ้ว ส่วนทัชแพดก็กว้าง 5.5 นิ้ว แต่รู้สึกว่าไม่แน่นเท่าไร เวลาแตะแล้วมีเสียงแกร็ก ๆ เกรชเชอร์ก็ใช้ได้ปกติครับ

ทดสอบประสิทธิภาพ

ดูภาพรวมตัวเครื่องไปหมดแล้ว ทีนี้มาดูเรื่องการทดสอบกันบ้างครับ โดย Infinix INBOOK X2 ที่ผมได้มารีวิวนี้จะเป็นสเปกตัวท็อป ซีพียู Intel Core i7-1065G7 แรม 8GB และหน่วยความจำ 512GB อีกสองรุ่นเราไม่ได้มาทดสอบครับ

เริ่มแรก กองบรรณาธิการแบไต๋ ก็ทดสอบซีพียูด้วย Geekbench 5 ผลที่ออกมา คะแนน Single Core อยู่ที่ 1,263 คะแนน ส่วน Multi-Core อยู่ที่ 4,400 คะแนนครับ ด้านกราฟิกของ Intel Iris Plus จากโปรแกรมทดสอบ 3Dmark Time Spy ก็ทำได้อยู่ที่ 805 คะแนน ถือว่าเป็นคะแนนระดับกลาง ๆ สำหรับโน้ตบุ๊กในปัจจุบันครับ

ถามว่าคะแนนทั้งสองนี้ บอกอะไรได้บ้าง ก็บอกได้ว่าสเปกนี้เพียงพอกับการใช้ทำงานเอกสารในออฟฟิศ ใช้เรียนออนไลน์ หรือใช้ทำภาพกราฟิกทั่วไป ที่ไม่ได้มีเอฟเฟคแบบเวอร์วังอลังการ ส่วนถ้าใครคิดจะเอาไปตัดต่อ ก็ต้องบอกว่าพอไหวแบบฝืน ๆ ตัดได้ เอ็กพอร์ตได้ แต่อาจจะใช้เวลาค่อนข้างเยอะครับ

สำหรับแรม 8GB ที่ให้มา ก็ถือว่าเท่ากับมาตรฐานโน้ตบุ๊กยุคนี้แล้วครับ จะเปิดเว็บ 10-20 แท็บ บวกสองสามโปรแกรมก็ยังไหว แต่ถ้าเปิดแบบบ้าระห่ำ 40-45 แท็บ อันนี้ก็เกินไปครับ

สุดท้ายกองบรรณาธิการแบไต๋ได้ทดสอบความเร็วในการอ่านเขียนข้อมูลผ่าน CrystalDiskmark ผลที่ออกมา ความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 2324 MB/s ส่วนการเขียนอยู่ที่ 1706 MB/s ก็ถือเป็นเร็วตามมาตรฐานโน้ตบุ๊กยุคนี้ครับ
ทีนี้มาพูดถึงเรื่องแบตเตอรี่กันบ้างครับ จากที่กองบรรณาธิการแบไต๋ ได้ทดลองใช้ราว ๆ 1 อาทิตย์ก็พบว่า แบตขนาด 50Wh ที่อยู่ในตัวเครื่อง สามารถใช้ได้ประมาณ 8-9 ชั่วโมงครับ ถือว่าเพียงพอกับชั่วโมงทำงานนะ

ส่วนการชาร์จก็มีอะแดปเตอร์ไซซ์จิ๋ว 45W มาให้ด้วย ซึ่งนอกจากจะชาร์จคอมได้แล้ว ยังเอาไปชาร์จมือถือได้ด้วยนะครับ เพราะเป็น USB-C

ข้อสังเกต

ฟังข้อดีกันไปเยอะแล้ว เรามาฟังข้อสังเกตกันบ้าง กองบรรณาธิการแบไต๋ ขอให้ข้อสังเกตไว้ 2 เรื่องครับ

หนึ่งคือไม่มีช่องอัปเกรดแรม ทำให้จะมาเติมทีหลังไม่ได้ เวลาซื้อต้องเลือกดี ๆ ว่าจะใช้งานหนักขนาดไหน

ส่วนอีกเรื่องคือหน้าจอค่อนข้างตอบสนองช้า เวลาเราลากหน้าต่างเร็ว ๆ จะเห็นชัดเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับประสิทธิภาพการใช้งานครับ

รีวิวที่ดีก็ต้องมีราคา

แน่นอนว่าผมได้ประกาศราคาไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็จะมาย้ำอีกที Infinix INBOOK X2 ในสเปก Intel Core i3 มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,990 บาท ส่วนรุ่นกลาง Core i5 ราคาอยู่ที่ 18,990 บาท และสุดท้ายรุ่นที่เราได้มารีวิว Core i7 ราคาอยู่ที่ 21,900 บาทครับ

สำหรับใครที่สนใจดูรายละเอียดได้ที่

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส