Nintendo ชื่อของบริษัทเกมที่มีอายุกว่า 135 ปี ที่ซ้ำยังเป็นหนึ่งในบริษัทที่ทรงอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมและป๊อปคัลเจอร์ของโลก ที่กว่าจะมาถึงวันนี้ เส้นทางที่ ‘ปู่นิน’ ต้องเผชิญก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์และจุดพลิกผันที่น่าสนใจ มาดูกันว่าเพราะอะไร จากบริษัทไพ่ถึงได้กลายเป็นอาณาจักรเกมได้อย่างถึงทุกวันนี้
เริ่มต้นเป็นบริษัทผลิตไพ่ที่ประสบความสำเร็จ
Nintendo หรือชื่อแรกของบริษัทอย่าง ‘Nintendo Koppai’ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) ในเมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดย ฟูซาจิโร ยามาอุจิ ซึ่คำว่า ‘Nintendo’ เป็นการรวมตัวกันของคันจิ 3 ตัว (任天堂) ที่แปลได้ว่า “มอบหมายความสำเร็จให้กับฟ้า” ส่วน Koppai (骨牌) ก็แปลว่าไพ่… โดยเริ่มต้นนั้น Nintendo Koppai เป็นบริษัทผลิตไพ่แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า ‘ฮานาฟูดะ’ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นทางเลือกสำหรับความบันเทิงที่ไม่ขัดต่อกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับการพนันในยุคนั้น โดยในปี 1929 ฟูซาจิโรได้ลงจากตำแหน่งประธาน เนื่องด้วยปัญหาโรคหลอดเลือดสมองจนสภาพร่างกายทรุดลงอย่างหนัก และส่งต่อบริษัทให้กับลูกเขยของเขา เซกิโระ คาเนดะ ที่ต่อยอดผลิตภัณฑ์ไพ่ฮานาฟูดะ และทำให้ Nintendo กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตไพ่รายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นช่วงทศวรรษ 1920
ในปี 1949 เซกิโระได้ประสบกับปัญหาส่วนตัว เขาจึงส่งไม้ต่อให้ ฮิโรชิ ยามาอุจิ หลานชายที่ในขณะนั้นมีอายุเพียง 21 ปี ให้มาเป็นประธานคนต่อไปของบริษัท ซึ่งเขาผู้นี้คือคนผู้ที่จะมาเปลี่ยน Nintendo ไปตลอดกาล ที่เริ่มต้นจากผลงานชิ้นแรกในปี 1959 ที่ได้ร่วมมือกับ Disney เพื่อผลิตไพ่ลายตัวละครพิเศษที่ยิ่งทำให้บริษัทได้รับความนิยมจากกลุ่มเด็กและครอบครัวมากขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มตลาดหลัก
จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการเกม
ฮิโรชิ ยามาอุจิ เริ่มมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อขยายกิจการผ่านการทดลองทำธุรกิจหลากหลายรูปแบบ เช่น ธุรกิจแท็กซี่, โรงแรม, บริษัทผลิตข้าวสำเร็จรูป, ของเล่นเด็ก หรือแม้แต่เครื่องดูดฝุ่น ที่ต่างก็ล้วนแล้วไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวังสักเท่าไหร่ บริษัทเลยเริ่มมุ่งเน้นไปที่การผลิตของเล่นและเกมที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้บริโภค โดยในระหว่างนั้นใน 1963 บริษัทก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Nintendo Co., Ltd. เพื่อประกาศตัวอย่างมีนัยสำคัญว่าบริษัทไม่ได้ผลิตไพ่เพียงอย่างเดียว
จุดเปลี่ยนแรกเกิดขึ้นในปี 1966 เมื่อ กุนเป โยโคอิ หนึ่งในพนักงานของบริษัทได้ประดิษฐ์ของเล่นในชื่อ Ultra Hand แขนกลที่สามารถยืดหดได้ ซึ่ง ฮิโรชิ มองเห็นถึงศักยภาพในของเล่นชิ้นนี้เลยสั่งให้ กุนเป พัฒนามันขึ้นมาเพื่อให้เป็นสินค้าที่วางขายได้จริง โดยหลังจากการจำหน่าย Ultra Hand ได้รับความนิยมอย่างมาก สามารถขายได้มากกว่าหนึ่งล้านชิ้น นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของ Nintendo ในการพัฒนาของเล่นเพื่อความบันเทิง ส่งให้กุนเป โยโคอิ กลายเป็นบุคคลสำคัญในแผนกพัฒนาของบริษัทไปโดยปริยาย โดย Nintendo เริ่มทดลองสร้างของเล่นอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Ultra Machine และ Love Tester ของเล่นที่ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่นช่วงเวลานั้น และทำให้บริษัทเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น
Nintendo เริ่มเบนเข็มไปหาวงการเกมในปี 1970 ด้วยการเปิดตัว Beam Gun ปืนลำแสงของเล่นที่ใช้เทคโนโลยี Opto-Electronics ทำให้สามารถตรวจจับแสงได้เมื่อยิงเป้าหมายอย่างแม่นยำ ซึ่ง Nintendo ถูกนับเป็นเจ้าแรกที่นำเทคโนโลยีมาใช้งานในญี่ปุ่น โดย Beam Gun นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากนั้นถัดมาในปี 1973 Nintendo ได้ทดลองเข้าหาธุรกิจศูนย์รวมความบันเทิงสำหรับครอบครัว (Family Entertainment Center) ด้วยการสร้าง Laser Clay Shooting System โดยทำการตระเวนซื้อโรงโบว์ลิ่งร้างมาปรับปรุงเป็นสถานที่สำหรับตั้งเครื่องเล่นดังกล่าว ซึ่งผลตอบรับในช่วงแรกของการเปิดทำการเป็นที่น่าพึงพอใจด้วยตัวเลขของผู้เข้าบริการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป Nintendo ก็จำใจต้องปิดตัว Laser Clay Shooting System เนื่องมาจากต้นทุนที่สูงเกินไปและไม่สามารถทำเงินได้ตามที่ควรจนขาดทุนเป็นจำนวนมหาศาล
ในปี 1975 Nintendo ยังคงลงทุนกับตลาดเกมแต่ แต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเครื่องคอนโซลเป็นของตนเองคือ “Color TV-Game” ที่เกิดจากการร่วมมือกับ Mitsubishi Electric โดยมี ชิเงรุ มิยาโมโตะ หนึ่งในบุคคลสำคัญของ Nintendo ณ ปัจจุบัน ที่ในตอนนั้นเขารับหน้าที่ออกแบบตัวเครื่อง Color TV Game ที่แม้ในบทสรุปคอนโซลเครื่องดังกล่าวจะไม่ได้มีบทบาทในตลาดโลกมากนัก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของ Nintendo ได้เรียนรู้วิธีการพัฒนาเครื่องเล่นเกม
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าความพยายามจะเป็นผล เพราะในปี 1980 Nintendo ได้เปิดตัว Game & Watch เครื่องเล่นเกมพกพาเครื่องแรกของบริษัทที่มีหน้าจอแสดงผลเป็น LCD มาพร้อมกับฟังก์ชันบอกเวลาเหมือนนาฬิกาซึ่งถือว่าล้ำยุคมากในสมัยนั้นและนั่นก็ทำให้เครื่องเล่นเกมพกพาดังกล่าวขายได้กว่า 43 ล้านเครื่องทั่วโลก !
ถัดมาเพียง 1 ปี หรือ 1981 Nintendo ก็ได้พัฒนาเกมตู้ออกมาในชื่อ Donkey Kong สร้างโดยชิเงรุ มิยาโมโตะ ก็ได้ทำเงินจำนวนมหาศาลให้กับนินเท็นโดได้ การประสบความสำเร็จของ Donkey Kong และการพอร์ตเกมไปลงคอนโซลเจ้าอื่นๆ (เช่น Atari2600, Intellivision และ ColecoVision) ได้สร้างกำไรมหาศาลให้กับนินเท็นโดอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้นินเท็นโดเริ่มมีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม
ความสำเร็จระดับโลกกับ Famicom และ NES
แต่แล้วในปี 1983 Nintendo ได้ทำสิ่งที่สวนทางวงการเกม ณ ขณะนั้น ด้วยการเปิดตัว Famicom (Family Computer) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคอนโซลเกมที่ออกแบบมาให้มีราคาย่อมเยาแต่ทรงพลัง ที่มีเกม 1st Party ยอดนิยมอย่าง Donkey Kong และ Mario Bros. ในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมเกมกำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ในชื่อ “วิกฤตวิดีโอเกมปี 1983” ที่บรรดาเกมคอนโซลจากหลากหลายรุ่นและเกมคุณภาพต่ำเกลื่อนตลาด ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจนตลาดวิดีโอเกมในอเมริกาเหนือแทบล่มสลาย หนึ่งในนั้นคือ Atari ที่เปลี่ยนจากยักษ์ใหญ่แห่งวงการ กลายเป็นผู้แพ้ที่ไม่สามารถกลับมาผงาดได้อีกเลย
ทว่าด้วยคุณภาพคับแก้วของ Famicom วิกฤตในครั้งนี้ กลับทำให้ Nintendo สามารถที่จะพลิกสถานการณ์และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรม ! โดยหลังวิกฤตนี้ Nintendo ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญพร้อมตั้งปณิธานว่าจะไม่ทำผิดพลาดเหมือนบริษัทเกมอื่น ๆ ด้วยการกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดในผลิตภัณฑ์ของตน โดยใช้ตราสัญลักษณ์ “Nintendo Seal of Quality” เพื่อรับรองคุณภาพเกมทุกเกมที่พัฒนาให้กับ Famicom นโยบายนี้ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและช่วยสร้างความแตกต่างให้ Nintendo ในตลาดเกมที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว
เมื่อ Nintendo ตัดสินใจนำ Famicom ออกสู่ตลาดต่างประเทศในปี 1985 พร้อมปรับชื่อคอนโซลเป็น NES (Nintendo Entertainment System) เพื่อให้เหมาะสมกับผู้บริโภคในอเมริกาเหนือ พร้อมปรับกลยุทธ์เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ด้านลบของวิดีโอเกมในเวลานั้น โดยหนึ่งนโยบายเข้มงวดคือการกำหนดให้นักพัฒนา 3rd Party สามารถผลิตได้เพียง 5 เกมต่อปี เพื่อควบคุมคุณภาพและหลีกเลี่ยงปัญหาการท่วมตลาดเกมอีกครั้ง ส่งผลให้ Nintendo สามารถสร้างชื่อเสียงในฐานะบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพได้
พีกแล้ว พีกอยู่ พีกต่อ !
จะบอกว่า Nintendo เริ่มจับทางอุตสาหกรรมนี้ได้ถูกแล้วก็ว่าได้ เพราะในปี 1989 พวกเขาก็ได้เปิดตัว ‘Game Boy’ เครื่องเล่นเกมพกพาของหนึ่งในอัจฉริยะของทางปู่นินอย่าง กุนเป โยโกอิ ที่เคยสร้างความสำเร็จจาก Game & Watch โดย Game Boy นั้นถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องเล่นเกมพกพาที่ใช้งานง่าย ทนทาน และเข้าถึงผู้เล่นทุกกลุ่ม แม้จะมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี เช่น หน้าจอขาวดำและพลังประมวลผลที่ต่ำ แต่ด้วยจุดขายจากราคาเครื่องย่อมเยา, งานได้ยาวนาน 10 – 15 ชั่วโมง และมีเกมคู่บุญที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัยอย่าง Tetris ก็ทำให้มันได้กลายเป็นเครื่องเล่นเกมพกพาที่ได้รับความนิยมในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว
ความสำเร็จของ Game Boy ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในช่วงเปิดตัว Nintendo พัฒนารุ่นต่อยอดอย่าง Game Boy Pocket และ Game Boy Color เพื่อให้เหมาะกับผู้เล่นรุ่นใหม่ และยังมีเกมที่ช่วยเสริมความสำเร็จ เช่น Pokémon ซึ่งเปิดตัวในปี 1996 และกลายเป็นแฟรนไชส์ระดับโลกที่สร้างความนิยมให้กับ Game Boy อย่างมหาศาล ตลอดระยะเวลาของซีรีส์ Game Boy มียอดขายรวมกว่า 118 ล้านเครื่องทั่วโลก ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสนุกในยุค 80s และ 90s ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนรักเกมทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งยังได้จัดตั้งบริษัทใหม่ในนาม The Pokémon Company เมื่อปี 1998 โดยมีจุดประสงค์เพื่อบริหารจัดการแบรนด์ Pokémon อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพมากขึ้น หลังจากที่แฟรนไชส์ Pokémon ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลจากเกม Pokémon Red และ Green (1996) และการขยายตัวของสินค้าต่าง ๆ เช่น อนิเมะ การ์ดเกม และของเล่น
นอกจากนี้เครื่องเล่นเกมรุ่นถัด ๆ มาต่างก็ประสบความสำเร็จและวางหลักไมล์ให้วงการเกมไม่น้อยหน้าไปกว่ากันทั้ง Nintendo DS (2004) ที่นำเสนอเกมการเล่นเข้ากับหน้าจอสัมผัสที่ล้ำสมัย, Nintendo 3DS (2011) เพิ่มประสบการณ์กราฟิกสามมิติโดยไม่ต้องใช้แว่นตา ในขณะที่คอนโซลอย่าง Nintendo 64 ก็เป็นคอนโซลที่สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมเกมด้วยการกราฟิก 3 มิติ จอยอนาล็อกที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์, Nintendo Wii (2006) เน้นการเล่นเกมด้วยการควบคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่ครอบครัวและผู้เล่นที่ไม่ใช่เกมเมอร์
หรือแม้กระทั่งการเปิดตัวของ Nintendo Switch ในปี 2017 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญด้วยการรวมฟังก์ชันของคอนโซลและเครื่องเล่นพกพาในเครื่องเดียวกัน ที่แม้จะรอบนี้จะไม่ได้แข่งกับเจ้าอื่นด้วยกราฟิกล้ำยุค แต่ในด้านการออกแบบความสนุกของเกมการเล่นก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ เช่น The Legend of Zelda: Breath of the Wild เกมเนื้อเรื่องที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ออกผจญภัยและติดพันไปกับการสำรวจโลกกว้าง หรือ Animal Crossing: New Horizons เกมที่นำเสนอความผ่อนคลายและสังคมแห่งการแบ่งปัน
กว่าจะมาเป็นบริษัทเกมที่ยิ่งใหญ่ดั่งทุกวันนี้ Nintendo ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถมองเห็นกรณีศึกษาได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่าพวกเขายึดมั่นในสิ่งที่เรียกว่าความสนุกที่ต้องเข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย นวัตกรรมที่ต้องแตกต่างและโดดเด่นกว่าคู่แข่งในท้องตลาด ซึ่งก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงได้ผลเสมอมา และ (อาจจะ) ตลอดไป