ในยุคนี้ที่การสร้างวิดีโอเกมต้องคำนึงถึงความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศ, สีผิว, เชื้อชาติ หรือรูปร่างหน้าตา ทำให้เราได้พบเห็นสิ่งที่ไม่เคยได้พบเจอมาก่อนมากมาย เช่นการใส่เรื่องราวของเพศที่ 3 เข้าไป แต่ที่เห็นได้ชัดคืองานออกแบบรูปร่างหน้าตาของตัวละครที่เปลี่ยนไปหลังการสร้างต้องทำให้ตรงกับค่า DEI

DEI ตัวกำหนดตัวละครเกม

หากคุณไม่รู้จักคำว่า DEI ก็ขออธิบายให้เข้าใจสั้น ๆ “DEI” (Diversity Equity Inclusion) มันคือ คะแนนที่ชี้วัดว่าองค์กรรั้นมีความใส่ใจในสังคมรวมทั้งสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน แน่นอนว่าความหลากหลายของเชื้อชาติและสีผิวก็เป็นหนึ่งที่ทำให้ค่าคะแนน DEI สูงขึ้นด้วย

ซึ่งทำให้หลายค่ายเกมยอมที่จะทำตามเพื่อให้ได้ค่า DEI ที่สูงขึ้นซึ่งมันจะมีผลประโยชน์ทั้งเพราะหากได้ค่า DEI สูงก็จะมีโอกาสรับเงินลงทุนจากบริษัท Vanguard และ Blackrock ที่มีเงินทุนให้ใช้จำนวนมาก ทำให้ไม่แปลกที่หลายค่ายพยายามทำทุกอย่างเพื่อได้ค่า DEI สูง ๆ และหนึ่งในนั้นคือการออกแบบตัวละครในเกม

ออกแบบตัวละครจำเป็นต้องหล่อสวยหรือไม่

ในอดีตการออกแบบตัวละครในเกมก็เหมือนกับการสร้างภาพยนตร์หรือซีรีส์ ที่ต้องออกแบบตัวละครให้โดดเด่นเตะตาใครเห็นก็ต้องหลงรัก แน่นอนว่าสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการสร้างตัวละครให้หล่อสวยดูดี ยิ่งเป็นตัวละครในเกมยิ่งทำได้ง่ายมากเพราะเป็นตัวละครสมมติที่สร้างขึ้นจะสร้างให้สวยหล่อแค่ไหนก็ทำได้ ทำให้ในอดีตเราจะได้เห็นสิ่งที่สวยงามดูดีในวงการเกมมาตลอด

อย่างไรก็ตามการที่ตัวละครต้องดูดีนั้นไม่ได้หมายถึงตัวละครต้องหล่อหน้าใส หรือต้องสวยหุ่นนางแบบ เพราะในเกมแอ็กชันก็มีการออกแบบตัวละครให้กล้ามโตราวกับหลุดมาจากภาพยนตร์แอ็กชันฟอร์มยักษ์ หรือเกมฆ่าเทพอย่าง God of War ที่ตัวเอกเป็นชายวัยกลางคนหัวล้าน แต่มันก็เข้ากับโลกของเกมและรูปแบบการเล่นที่ดุดันเลือดสาด ทำให้มันเป็นสิ่งที่เข้ากันแบบไม่มีอะไรให้ติ

อย่างไรก็ตามในยุคที่การเมืองเริ่มมามีอิทธิพลกับการสร้างสื่อบันเทิงทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป เพราะเริ่มมีหลายเกมที่ทำอะไรให้ดูแปลกแตกต่างแต่ไม่ใช่ในแง่ดี เพราะตัวละครออกแบบดูตลกและไม่เข้ากับเกมเพลย์ หรือมีใบหน้าเหมือนกับคนทั่วไปที่ไม่ได้โดดเด่น แถมยังมาพร้อมรูปร่างที่อ้วนหน้าตาก็บ้าน ๆ เช่น ตัวละครในเกม Concord หรือดราม่าล่าสุดคือตัวเอกใน Intergalactic ที่แม้จะเป็นผลงานของค่ายดังอย่าง Naughty Dog ก็ไม่เว้นโดนแฟนวิจารณ์ เพราะตัวละครหลักที่เป็นสาวเอเชียหน้าตาธรรมดา แถมยังโกนหัวโชว์อีก และไม่มีจุดเด่นให้น่าสนใจ

ทำให้มีคนตั้งข้อสังเกตว่า Naughty Dog จะการใส่ความหลากหลายเข้าไป จนลืมความสำคัญของการออกแบบตัวละครหลักในวิดีโอเกมไปแล้ว เพราะต้องออกแบบให้โดดเด่นมีเสน่ห์ ยิ่งเป็นการสร้างตัวละครหลักในเกมต้องยิ่งคำนึงถึงสิ่งนี้เป็นพิเศษ เพราะเราจะได้สวมบทบาทเป็นตัวละครนี้ไปหลายสิบไปจนถึงหลายร้อยชั่วโมง การที่ผู้สร้างเลือกแนวทางที่เน้นความ Woke ทำให้ไม่แปลกที่จะโดนต่อต้านอย่างหนัก ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าในเกมจริง จะมีการเล่าเรื่อง (โดยเฉพาะปูมหลังว่าทำไมตัวเอกต้องโกนหัว) หรือจุดดึงดูดใจผู้เล่นอย่างไรเพื่อให้ผู้คนอยากเล่นเกมนี้

หรือบางเกมหนักข้อถึงขั้นปรับเปลี่ยนใบหน้าของตัวละครหลักให้น่าเกลียดกว่าต้นแบบ ยกตัวอย่างเช่นเกม Starwars Outlaws ที่โมเดลใบหน้าของตัวละครสวยกว่าในเกมมาก โดยผู้สร้างบอกว่าต้องการใส่ความหลากหลายของเชื้อชาติ ทำให้ต้องมีการปรับแต่งหน้าตาของตัวละครใหม่ ผลออกมาเลยดูแปลกประหลาดมากกว่าจะดูดี

ตัวละครที่โดดเด่นไม่จำเป็นต้องสวยหล่อ

การที่ผู้สร้างพยายามทำให้ตัวละครในเกมฉีกออกจากสิ่งเดิม ๆ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะมันมีมานานแล้วที่ตัวเอกในเกมไม่จำเป็นต้องหล่อหรือดูน่ารัก เพราะหากมองย้อนไปยุค 90S ปู่นินก็ใจกล้าเอาตัวร้ายในเกมอย่าง Wario ที่หน้าตาน่าเกลียด เปลี่ยนให้มาเป็นตัวละครหลักในเกม ซึ่งหลายคนคนจะส่งสัยว่าทำไมไม่มีเสียงต่อต้านเหมือนกับเกม Intergalactic

ก็เป็นเพราะ Wario มีความเข้ากับรูปแบบการเล่นที่เป็นเกมแอ็กชันในโลกแฟนตาซีที่ทุกอย่างออกแบบมาให้เข้ากับแนวเกมที่เหมือนดูการ์ตูน ที่ตัวละครมีความเพี้ยน ๆ และเน้นความตลก และมองให้ลึกไปงานออกแบบ Wario นั้นโดดเด่นที่เหมือนเป็นตัวละครแนวตลกร้ายที่เราพบเห็นได้ในการ์ตูนทั่วไป ทำให้มันไม่ได้ดูขัดหูขัดตาอะไร

ซ้าย ตัวละครหลักใน Intergalactic ขวา NPC ในเกม Cyberpunk2077

แต่กับตัวเอกในเกม Intergalactic ที่ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรเป็นผู้หญิงเอเชียหน้าตาธรรมดาที่เห็นได้ทั่วไป ทำให้มันเหมือนกับเป็นตัวละคร NPC ที่เดินอยู่ในเมืองที่มากกว่าจะเป็นหลักที่เราต้องเล่น เรียกว่า NPC ในเกม Cyberpunk 2077 ยังดูดีกว่าด้วยซ้ำ บอกไว้ก่อนว่ามันไม่ได้อยู่ที่ความสวยหล่อ แต่อยู่ที่ความโดดเด่นที่เห็นได้ก็รู้ในทันทีว่ามันคือตัวเอกในเกมไม่ใช่เดินในเมืองแล้วกลืนไปกับตัวละคร NPC ในจุดนี้ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดอย่างมากของนักพัฒนาเกมยุคนี้ที่พยายาม “ยัดเยียด” ความหลากหลายเข้ามาแบบไม่สนใจว่ามันเหมาะสมกับตัวเกมหรือไม่ และก็คิดง่าย ๆ ด้วยการอย่าทำให้ตัวละครดูดี หรือปรับเปลี่ยนสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดูด้อยลงเช่นใน Dragon Age Veilguard ที่เปลี่ยนงานออกแบบตัวละครใหม่เพื่อให้เข้ากับเรื่องราวใน Woke แบบจัดเต็มจนเกมพัง

สุดท้ายอยากจะบอกไปถึงทีมงานสร้างว่า วิดีโอเกมคือโลกแฟนตาซีที่เราจะได้ทิ้งความวุ่นวายในโลกแห่งความจริงไปสนุกในโลกแห่งจินตนาการ การที่พยายามยัดเยียดการเมืองหรือประเด็นสังคมเข้ามาจนมากเกินไป เชื่อว่าผู้เล่นเกมส่วนใหญ่คงจะไม่ชอบ เพราะว่าแทนที่จะได้มาเล่นเกมด้วยความสนุกผ่อนคลาย กลับต้องมาพบเจอสิ่งที่ทำให้เราปวดหัวในเกมแทน แบบนี้สู้ไม่เล่นเลยน่าจะดีกว่า ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่เกมที่ใส่ความหลากหลายเข้าไปจะล้มเหลว