สำหรับแฟนเกมในยุคนี้เชื่อว่าสิ่งที่เป็นปัญหากันมาอย่างยาวนานคือ “ราคาเกม” ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกวันนี้ราคาขายเกมระดับ AAA มีราคาสูงถึง 70 เหรียญสหรัฐฯ จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 60 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าสำหรับแฟน ๆ ทั่วโลกแล้วมันค่อนข้างสูง ยิ่งสำหรับแฟนเกมชาวไทยมันยิ่งสูงมากตามค่าเงินที่แตกต่าง
แน่นอนว่าประเด็นดราม่าการขึ้นราคาเกมมาจากการเปิดข่าวที่นักวิเคราะห์ระบุว่า เกม GTA 6 ควรจะขายในราคา 100 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3,400 บาท และมันอาจจะเป็นมาตรฐานของเกมระดับ AAA ที่จะวางขายในอนาคต แน่นอนว่าหลังจากข่าวนี้กระจายออกไป แฟนเกมก็แสดงความไม่พอใจอย่างมาก เพราะเป็นราคาขายที่สูงกว่าเดิมมาก
เพราะแฟนเกมส่วนใหญ่คิดว่าทุกวันนี้ราคาขายของเกมก็สูงมาก ๆ อยู่แล้ว หากต้องควักเงินมากมายถึง 100 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อเกมมันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก อย่างไรก็ตามมันก็ต้องขึ้นราคาไปจนถึงสักวันตามค่าเงิน ทำให้วันนี้ทีมงาน BT ได้รวมรวมเหตุผลที่ทำไมในอนาคตเราอาจจะต้องเสียเงินเพิ่ม และมันจะคุ้มค่าหรือไม่
ราคา 100 เหรียญสหรัฐฯ ในมุมมองนักพัฒนาเกม
แน่นอนว่าราคาของวิดีโอเกมหากเอามาตรฐานราคาที่ขายในอเมริกามาเป็นพื้นฐาน ตลอดเวลากว่า 30-40 ปี มันไม่ได้ปรับเพิ่มมากนัก โดยในยุค 80s-90s มีราคาประมาณ 50 เหรียญสหรัฐฯ มาตลอด มาช่วงหลังเริ่มมาการเพิ่มเป็น 60 ไปจนถึง 70 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหากนำมาเทียบกับเงินเฟ้อแล้ว ราคาเกมปรับเพิ่มขึ้นน้อยมาก ๆ เพราะลองเทียบกับสื่อบันเทิงอื่น ๆ ที่มันปรับเพิ่มไปมากกว่านี้หลายเท่า
อีกทั้งเวลาผ่านมาหลายสิบปี ราคาต้นทุนในการสร้างวิดีโอเกมเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า จนเคยมีผู้สร้างเกมบอกว่าการผลิตวิดีโอเกมยุคก่อนใช้เงินไม่มากแค่ประมาณ 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ ต่อเกม เพราะรูปแบบการเล่นก็ไม่ซับซ้อนและหากขายได้หลักแสนก็สามารถทำกำไรได้แล้ว ต่างจากเกมในยุคนี้ที่ใช้เงินสร้างหลักร้อยล้านเป็นเรื่องปรกติมาก ทำให้ต่อให้ขายได้เกิน 1 ล้านชุดก็ยังคงขาดทุนอยู่
และด้วยทุนสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้สร้างเกมพยายามจะขึ้นราคามาตลอดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้แต่ค่ายที่เป็นมิตรกับทุกเพศทุกวัยอย่าง Nintendo ก็เริ่มขึ้นราคาเกมเป็น 70 เหรียญสหรัฐฯ แล้ว โดยเริ่มกับ The Legend of Zelda: Tears of the Kingdom และคาดว่าจะใช้ราคานี้กับหลายเกมบน Nintendo Switch 2 ด้วย
และยิ่งเกมฟอร์มยักษ์ระดับ AAA มีทุนสร้างสูงเกิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็มี ยิ่งทำให้ราคาขายของวิดีโอเกมในยุคนี้ดูไม่สมเหตุสมผลเมื่อดูในมุมมองของผู้สร้างเกมแล้ว และด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีเกมที่ขาดทุนมากมาย บางเกมทำให้ผู้สร้างขาดทุนหลายร้อยล้าน อย่างเช่นเกม Concord ที่ต้องปิดตัวลง ทำให้เชื่อว่าในมุมมองของนักพัฒนาและค่ายเกมย่อมมีแนวคิดที่จะขึ้นราคาเกม
วิธีหารายได้แบบไม่ต้องขายแผ่นก็มี แต่มันไม่ง่าย
แน่นอนว่าอีกรูปแบบในการหารายได้จากเกมไม่ได้มีแค่การขายแผ่น เพราะมีหลายเกมที่เปิดให้เล่นฟรี ๆ หรือขายตัวเกมในราคาที่ต่ำมาก ๆ แล้วหาเงินจากส่วนอื่น อย่างการขายไอเทมแทน หรือที่เรียกว่าเกมแนว live service เช่น Fortnite ที่ทำเงินให้ผู้สร้างมากมาย แต่ก็ต้องแลกมากับการต้องเปิดเซิร์ฟเวอร์ให้เล่นเพราะต้องออนไลน์เล่นตลอด และต้องคิดสิ่งใหม่ ๆ มาเพื่อให้ผู้เล่นยังคงเข้ามาใช้บริการอยู่ ทำให้เกมแนวนี้ใช้ทุนสร้างสูง ทำให้การสร้างเกมแนวนี้ไม่ง่าย เพราะหากไม่มีผู้เล่น รวมทั้งไม่สามารถสร้างอะไรใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดผู้เล่นได้ มันก็มีโอกาสล้มเหลวสูงมาก
อีกส่วนที่ผู้พัฒนาเกมใส่เข้ามาดูดเงิน คือขาย DLC ที่มีทั้งแบบคุ้มค่า เพราะเป็นการสร้างเรื่องราวใหม่ที่ยาว ๆ มาให้เล่น หรือแบบที่ดูแย่ คือการหลอกขายแบบง่าย ๆ ด้วยการที่ขายไอเทมที่มีอยู่ในตัวเกมหลักอยู่แล้ว แต่ต้องเสียเงินเพื่อปลดล็อก หรือใส่ระบบกล่องสุ่มกาชาเพื่อให้ได้ไอเทมใหม่ ซึ่งเป็นรูปแบบเกมบนมือถือ ซึ่งส่วนนี้ทำให้ผู้เล่นไม่พอใจจนเกิดเป็นดราม่าแล้วในอดีต ทำให้ช่วงหลัง DLC แบบนี้อาจจะไม่สามารถหลอกล่อผู้เล่นให้เสียเงินได้จนเป็นส่วนหนึ่งในที่มาของการขึ้นราคาขายตัวเกมเต็ม ๆ เลย
การขึ้นราคาขายในมุมมองแฟนเกม
แน่นอนว่าผู้เล่นคงจะไม่ชอบการขึ้นราคาขายเกมแน่นอน แต่ก็ต้องยอมรับเพราะทุกอย่างต้องแพงขึ้นตามกาลเวลาอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม วิดีโอเกมไม่ใช่ปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อชีวิต หากขึ้นราคามากจนเกินไปก็อาจจะไม่ต้องซื้อหรือรอให้มันลดราคาก็ได้ อีกทั้งในยุคนี้ยังมีเกมทางเลือกมากมาย ไม่จำเป็นต้องเล่นบน PC หรือคอนโซลเท่านั้น เกมบนมือถือก็มีคุณภาพสูงจนแทบจะเท่าคอนโซล แถมส่วนใหญ่เล่นฟรีแม้จะมีการขายไอเทมในเกมก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีระบบการเล่นเกมด้วยการเปิดให้เล่นในระบบ Game Pass ที่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือน หรือรายปีแบบเดียวกับ Netflix แล้วเราจะสามารถเข้าถึงเกมที่ผู้สร้างมีไว้ให้เล่นได้ เช่น บริการของ Microsoft ที่มีเกมจำนวนมาก แถมยังมาพร้อมกับเกมใหม่ ๆ ด้วยเรียกว่าเป็นบริการที่คุ้มค่ามาก แต่ข้อเสียคือมันจะไม่ได้มีทุกเกมแน่นอน เพราะเป็นของ Microsoft ทำให้ไม่มีเกมของ Sony และ Nintendo แน่นอน
หากเกมมีคุณภาพ แฟน ๆ ก็ยอมจ่าย
อย่างไรก็ตาม สำหรับเกมฟอร์มยักษ์ที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ อย่างเช่น GTA 6 ที่จะออกในปี 2025 เชื่อว่าแฟน ๆ ก็ต้องยอมควักเงินซื้ออยู่แล้ว 100% เพราะด้วยชื่อเสียงของตัวเกมที่การันตีความคุ้มค่า ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณไปยังผู้สร้างว่าให้หันไปพัฒนาตัวเกมให้ยอดเยี่ยมดีสมกับราคา 100 เหรียญสหรัฐฯ ผู้เล่นก็จะยอมเสียเงินเพิ่ม เพื่อที่จะได้เล่นเกมสนุก ๆ คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป
ส่วนผู้ที่ยังไม่อยากเสียเงินเพิ่มก็ไม่น่าต้องกังวลอะไรมากมาย เพราะคาดว่าราคา 100 เหรียญสหรัฐฯ คงจะไม่ได้เห็นเร็ว ๆ นี้ หรือไม่ก็ไม่ได้เห็นราคานี้กับเกม AAA ทุกเกมแน่นอน เพราะมันเสี่ยงที่จะมีประเด็นดราม่า และผู้สร้างมีทางเลือกที่จะหาเงินในรูปแบบอื่นอีกมากมาย ทำให้เราน่าจะยังได้ซื้อเกมใหม่ ๆ มาเล่นในราคาเท่าเดิมอยู่อีกพักใหญ่ แต่ก็อย่าเพิ่งวางใจเพราะแม้แผ่นเกมอาจจะราคาไม่แพง แต่เราอาจจะได้เห็นรูปแบบการหารายได้ใหม่ ๆ จากผู้สร้างที่พยายามคิดค้นมาดูดเงินจากกระเป๋าแฟนเกมเพิ่มอีกแน่นอน
และสุดท้ายถ้าแฟนเกมไม่เห็นด้วยกับการขึ้นราคาเกม ก็สามารถตอบโต้ได้ด้วยการไม่ซื้อเกมในช่วงที่ขายราคาเต็ม รอจนลดแล้วค่อยซื้อ ซึ่งเอาจริง ๆ วิธีซื้อเกมทีหลังก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อย ทั้งได้เกมที่ถูกกว่า สมบูรณ์กว่า เพราะผ่านการแก้บั๊กมาเรียบร้อย และหลายเกมที่ขาย DLC เสริม การซื้อทีหลังแบบหลังมาก ๆ ระดับเกมขายไปเป็นปีแล้วค่อยซื้อ ก็จะได้ซื้อชุดที่มาพร้อม DLC ในราคาประหยัดด้วย ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ได้เล่นเกมตามกระแสก็เป็นทางเลือกที่ดีครับ