‘ท็อฟฟี่ จักรพงศ์ พุ่มไพจิตร’ หรือที่ใครหลายคนรู้จักมากกว่าในชื่อ ‘ท็อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม’ อินฟลูเอนเซอร์สาย IT และเกม ที่เป็นมิตรกับทุกคนด้วยการนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับไอทีที่เข้าใจง่าย และสนุกไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้อีกบทบาทหนึ่งของเขา คือ การเป็นเกมเมอร์ที่ไม่ได้เพิ่งเริ่มต้น หากแต่ความรักในการเล่นเกมนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งยังเยาว์วัย เรามารับชมบทสัมภาษณ์นี้ไปพร้อม ๆ กันว่าท็อฟฟี่เป็นเกมเมอร์ขั้นไหน!?
• ตอนนี้หลัก ๆ แล้วเป็นอินฟลูเอนเซอร์สายไอทีค่ะ หรือที่รู้จักกันในชื่อเพจ ‘ท็อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม’ แล้วตอนนี้ก็มีแชนแนลยูทูบที่ชื่อว่า ‘Toodzomcom’ ด้วยค่ะ
• จริง ๆ ตอนแรกที่เราอยากจะตั้งเพจ เราตั้งใจว่าเราจะตั้งชื่อว่าเป็นตุ๊ดซ่อมคอมนี่แหละ แต่เรารู้สึกว่า เราไม่อยากให้ใครมาเรียกเราว่าตุ๊ดซ่อมคอม มันจะมีฟีลอารมณ์ประมาณว่า ‘อีตุ๊ด’ หรืออะไรทำนองนั้น เราก็เลยคิดว่า งั้นใส่ชื่อตัวเองลงไปดีกว่า เป็น ‘ท็อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม’ คนจะได้รู้ว่า ชื่อท็อฟฟี่ ที่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม อะไรแบบนี้ จะได้ดูซอฟต์ลง
• ก่อนหน้านี้เราทำงานประจำเป็นตำแหน่ง IT Support มีหน้าที่ซ่อมคอม คอยแก้ไขปัญหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในองค์กร หรือภายในบริษัท เราก็เลยจะเอาปัญหาที่เราเจอในการทำงานมาทำคอนเทนต์ เพราะมันเป็นปัญหาที่เราเจอในทุกที่ที่เราทำงาน บางทีเราเบื่อปัญหาเดิม ๆ พอย้ายมาที่ใหม่ เอ้า เจอปัญหาเหมือนเดิมอีกแล้ว
• มันคงเป็นปัญหาที่เป็นกันทุกที่นั่นแหละ ก็เลยเก็บเอามาเป็นประสบการณ์ แล้วก็เอามาย่อยเป็นความรู้ว่า จริง ๆ ปัญหาบางอย่างไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยไอทีอยู่ตลอด เราสามารถที่จะแก้ไขเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ เราก็เลยอยากเอาปัญหาเหล่านั้นมาทำเป็นมีม เพื่อให้คำแนะนำบ้าง หรือเอามาบ่นบ้าง เป็นเสียงพูดแทนฝ่ายไอทีที่เขาไม่สามารถจะบ่นได้
• เคสที่เคยเกิดขึ้นจริงก็คือ พอเปิดออฟฟิศตอนเช้า จะได้ยินเสียง User โวยวายว่า “ไอที! คอมพัง มาดูหน่อย ทำอะไรอยู่เนี่ย!…รู้ไหมเนี่ยว่าทำงานไม่ได้” ก็โวยวาย ๆ คอมพังที่เขาหมายถึงก็คือ เขาไม่ได้เปิดสวิตซ์ไฟ เราก็ได้คอนเทนต์แล้ว ก่อนจะเรียกฝ่ายไอที เราลองเช็กดูเบื้องต้นไหม หรือบางที ทักษะพวกนี้ มันสามารถเอาไปใช้ต่อยอดในสายอาชีพของตัวเองได้
• เคยทำงานอยู่ในออฟฟิศที่เป็นตึก 20 ชั้น แล้วเครื่องที่มีปัญหาอยู่ที่ชั้น 20 แล้วทีนี้ลิฟต์มันดันพัง เราก็บอกเขาว่า “เช็กปลั๊กไฟหรือยังคะ” เขาก็เหวี่ยงใส่เราว่า “พี่ไม่ได้โง่ขนาดที่จะลืมเสียบปลั๊กไฟนะ” อารมณ์แบบ User หงุดหงิด เราก็เลยต้องเดินบันไดขึ้นไป พอเราเดินไปถึง เขาก็บอกว่า เร็ว ๆ หน่อยนะ พี่มีประชุม
• เราก็เลยเดินไปเช็กโน่นนี่ เปิดไม่ติด ก็เลยลองเดินไล่สายดู ปรากฏว่าปลั๊กไฟยังไม่ได้เสียบ เราก็เลยถือปลั๊กไฟแล้วก็เสียบให้เขาดู แล้วก็เอื้อมมือไปกดเปิด แล้วก็เดินไปที่ประตูทำหน้านิ่ง ๆ แล้วก็บอกว่า ไปแล้วค่ะ (หัวเราะ)
• “เป็นตุ๊ดจริง ๆ ใช่ไหม” (หัวเราะ) จริง ๆ เป็นคำถามที่เราเข้าใจได้นะ เพราะว่าเป็นคำถามที่ทุกคนถามไง ทุกคนจะสงสัยว่า เราเป็นจริง ๆ หรือเปล่า เพราะเห็นว่าเราไว้หนวด
• จริง ๆ แล้วเหตุผลที่เราไว้หนวด ไม่ได้ซ้บซ้อนอะไรเลย คือเราไม่ชอบหน้าตาตัวเองตอนไม่มีหนวดแค่นั้นเอง หน้าตาตัวเราเองตอนไม่มีหนวดมันติ๋มมาก เราก็เลยรู้สึกว่า พอมีหนวดแล้ว ทำให้เรารู้สึกมั่นใจขึ้น หน้าดูคมมากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ดูตลก อะไรแบบนี้ แค่นั้นเอง
• สิ่งที่เราอยากบอกก็คือ มันเป็นความที่เราไม่ได้มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนของเราเองนี่แหละ บางทีเราไปพูดอธิบายให้เขาฟัง เขาก็อาจจะ เอ๊ะ กวนตีนหรือเปล่า หรือว่าพูดเล่นหรือเปล่า เข้าใจฟีลใช่มั้ย เราก็เลยรู้สึกว่า อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ชัดเจนโดยตัวของเราเอง แต่เราก็พยายามทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น ทำให้เขารู้ว่า เราเป็นจริง ๆ จากการที่เขาเห็นผลงานของเรา เห็นไลฟ์สไตล์ หรือดูตอนที่เรา Live เกม
• เกมแรกที่เราเล่นในชีวิตก็คือ ‘Rockman’ เราเล่นร็อกแมนก่อน ‘Mario’ ซะอีก เพราะว่าตอนเด็ก ๆ ที่บ้านซื้อเครื่องเกม Famicom ให้ ตอนนั้นจำได้ว่าเล่นเกม ‘Rockman 3’ เป็นเกมแรกที่เล่นแล้วรู้สึกว่าสนุกดี เราก็เลยรู้สึกว่าใช้เวลาเรียนรู้กับมันนานหน่อย
• พอมาถึงยุค PlayStation ก็มี Rockman ด้วย เป็น Rockman ซีรีส์ใหม่ ที่เป็นซีรีส์ X ภาค X3 ก็เลยมาเล่นต่อยอดจากที่เราเคยเล่น Rockman และได้รู้จักเกมแนวอื่น ๆ เพิ่มอย่างเช่นเกม Final Fantasy แต่ตอนนั้นเราก็อ่านไม่ออกหรอก เวลาเล่นก็ต้องไปซื้อหนังสือสรุปตามร้านหนังสือ มานั่งอ่านแล้วก็เล่นตาม
• ถ้าเล่นในร้านเกมก็จะเล่นเกมอีกแบบ เช่น ‘Counter Strike’ หรือ ‘Red Alert’ เมื่อก่อนใช้เอ้ว (AWP) ด้วยนะ เทพมาก เมื่อก่อนมือยังนิ่งไง มือยังไม่แข็ง สะบัดเข้าหัวตลอด คนในร้านนึ่เกลียดมาก โดนตบกบาลหัวแบะตลอด ตอนที่เรายังหัวเกรียน ๆ เป็นตุ๊ดหัวโปกอยู่ อารมณ์ประมาณ์ว่า อีท็อฟเอาอีกแล้วนะมึง
• ปกติแล้ว Gamertag (ข้อมูลประจำตัวของผู้เล่นในเกม) อันนี้ก็แล้วแต่เกม เพราะว่าแต่ละเกมก็มีเรื่องราวในแต่ละเกม ถ้าเกิดเล่น Ragnarok เราก็จะใช้ชื่อที่เราใช้เล่นตั้งแต่เด็กเช่น ‘SweetNothing’, ‘ใจทศกัณฐ์’, ‘ร้อยเล่ห์’ เพราะตอนนั้นเรียนวิชาภาษาไทยมาแล้วรู้สึกว่าชื่อในวรรณคดีทำไมมันเท่จังวะ
• หรือไม่ก็ละครหลังข่าวแบบ ร้อยเล่ห์สเน่หา แล้วรู้สึกชอบคำว่าร้อยเล่ห์ ก็เลยเอามาเป็นชื่อในเกม ซึ่งแฟนคลับเราก็จะรู้ว่าเราใช้ชื่ออะไรในเกมไหน เช่นใน ‘Dead by Daylight’ ก็จะใช้ชื่อว่า ‘น้องท็อฟฟี่น่ารัก’ บอกไปเลยว่าเป็นท็อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอม
• ตอนช่วงโควิด กลายเป็นว่าสัดส่วนในการเป็นสตรีมเมอร์เยอะกว่าการรีวิว เยอะประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เลย เพราะว่าเราไม่ได้ออกไปไหน เราก็เลยรู้สึกว่า งานบางอย่างมันทำที่บ้านได้ ก็เลยทำให้เรามีเวลาเล่นเกมมากขึ้น
• อย่างตัวเราเอง ไม่ได้ดังมาจากเกมใดเกมหนึ่ง คือเล่นเกมไปเรื่อย มันก็เป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองสามารถไปลองเกมอื่น ๆ ได้ เช่น ‘Just Dance’, ‘Ring Fit’ หรือเกมคอนโซลต่าง ๆ คนก็จะดูเราไปเรื่อย ๆ แต่ว่าไม่ได้ดูที่ตัวเกมนะ ดูเราว่าเราจะเล่นเด๋ออะไรบ้าง เหมือนเรามาขายตัวเองว่าเราไม่ได้เล่นเก่ง เราเล่นเด๋อ แต่ก็ไม่ได้ตั้งใจเด๋อนะ มันเป็นแบบนั้นเอง
• เราทำเพจมาประมาณ 7-8 ปีแล้ว ก็ยังดีใจที่เขายังไม่หนีหายจากเราไปไหน หรือบางคนก็เพิ่งติดตาม แฟนคลับบางคนก็จะมาบอกว่า พี่ท็อฟฟี่ครับ วันนี้ดีใจมากเลย วันนี้ติดตามพี่มาครบ 1 ปีแล้ว เราก็รู้สึกว่าดีใจจัง
• ถ้าคนดูน้อยลง เราก็จะเริ่มพิจารณาว่า เรามีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเปล่าวะ หรือเป็นเพราะอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มที่ปิดการมองเห็น หรือเป็นเพราะว่าคอนเทนต์ของเรา เราก็จะเอามาคิดแล้วก็ปรับปรุง ส่วนมากเราจะอ่านคอมเมนต์ทุกคอมเมนต์ แต่จะไม่ได้อ่านคอมเมนต์เฉย ๆ แต่เราจะอ่านชื่อเขาด้วย เพื่อให้เขารู้สึกว่ามีตัวตนบนพื้นที่ของเรา
• การเป็น LGBTQ+ มีผลอะไรกับการเป็นสตรีมเมอร์ไหม ส่วนตัวมองว่าไม่ เราไม่ค่อยเจอเหตุการณ์ที่ไม่น่ารักเกี่ยวกับเพศสภาพของเราในการทำงานสายนี้เลย ต้องบอกว่า จริง ๆ แล้ว LGBTQ+ เวลาเล่นเกม เราคำนวณเก่งนะจ๊ะ เวลาเติมกาชา หรือเติมชุดแฟชัน ก็คือกระเป๋าหนักนะ ถ้าใครทำการตลาดเกม ต้องเน้น LGBTQ+ นะ รับรองว่าขายดีแน่นอน เช่นพวกเติมสกิน อย่างเช่น ‘League of Legend’s’ เนี่ย เพื่อนเราต้องมีทุกสกิน สกินไหนที่ดูกะเทย ๆ ต้องซื้อหมด
• เวลาเราตอบโต้กับคอมเมนต์ในเชิงลบ เราจะค่อนข้างตอบโต้แบบเบา ๆ ไม่ค่อยรุนแรง เพราะว่าเวลาเราไลฟ์สตรีม เราจะสังเกตว่า ถ้าคนที่เป็นแฟนคลับ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหน้าเดิม ๆ แต่ถ้าอยู่ดี ๆ มีคนโพล่งมาว่า “อีตุ๊ด” อะไรแบบนี้ เราก็จะเห็นก่อนแล้วว่าเป็นประเภทขาจร มาเมนต์ด่าแล้วก็ไป ต่อให้ตอบโต้เขาแรง ๆ เขาก็ไม่เห็นหรอก แล้วก็จะทำให้บรรยากาศใน Live มันเสีย เราก็เลยเลือกที่จะอ่านแต่ไม่พูดออกมา แล้วก็รีบซ่อนคอมเมนต์ไป เพื่อให้บรรยากาศคอมเมนต์ดูไม่ดี
• แต่ถ้ามีกรณีที่มาตอแยไม่จบ เราก็จะพูดดี ๆ กับเขา จนเขาเกรงใจเราเอง เหมือบเช่นบางคนมาด่าเรา เพื่อให้เราด่ากลับ อยากโดนเราด่ากลับ แต่เราดันไม่ได้ไปด่ากลับ เพราะเราดันคิดอีกแบบหนึ่ง เราก็บอกว่า โอ๊ย พี่ขอโทษ พี่เล่นกากจริง ๆ เขาก็เลยเมนต์บอกว่า พี่ไม่รับมุกผมเลย แล้วก็ไป (หัวเราะ)
• ด้วยความที่เราเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เราก็เลยจะมีวิธีการตอบคำถามไม่ให้มากระทบกับเราในอนาคต พยายามหลีกเลี่ยงการดราม่าที่สุดเท่าที่จะหลีกเลี่ยงได้ หรือไม่ก็ลดแรงปะทะระหว่างเรากับคนที่คอมเมนต์ด่าในเชิงลบ เพราะว่าบางที่เราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บทุกคำด่าไปคิด
• แม้ว่าจะเก็บไปคิด แต่ก็แค่ไม่ต้องไปทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เขาจะด่าก็ให้ด่าไป เราบรรลุถึงขั้นที่จะปล่อยวางในบางเรื่องได้ ถ้าโดนอะไรกดดัน เราค่อนข้างจะมีสติแล้วก็ใจเย็นได้ เพราะงานประจำนี่แหละที่ทำให้เราใจเย็น เพราะเจอแต่ User ใจร้อน (หัวเราะ) ก็เลยแบบว่า งั้นฉันคงต้องใจเย็นแล้วแหละ
• LGBTQ+ กับวงการเกมจะเดิบโตขึ้นแน่นอน แต่ก็จะมีปัญหาเช่น ในการแข่งขันหลาย ๆ แมชต์มักจะเป็นทีมชาย หรือทีมหญิง แต่ไม่มีแมตช์สำหรับ LGBTQ+ เลย เวลา LGBTQ+ ไปลงทีมชาย จะมีดราม่าน้อยกว่าทีมหญิง ซึ่งเคยมีกรณีดราม่าเรื่องนี้อยู่ว่า ในการแข่งมันมีแต่การแบ่งแยกเฉพาะหญิงกับชาย แต่ทำไมไม่มี LGBTQ+ เลย
• ถ้าเราอายุสัก 40-50 ก็คงจะยังเป็นท็อฟฟี่เป็นตุ๊ดซ่อมคอมในแบบนี้ไหม ก็คิดนะ เคยคิดเหมือนกัน แต่เราก็คิดว่า อาจจะไม่ได้เป็นคาแรกเตอร์นี้ อาจจะอัปเกรด โตไปตามเรา อาจจะเปลี่ยนเป็นชุดอื่นที่อัปเกรดขึ้น ถึงตอนนั้นเราอาจจะใส่ชุดเกราะเซนต์เซยาก็ได้ (หัวเราะ)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส