‘นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์’ หรือชื่อที่คุ้นชินกันมากกว่าอย่าง “น้าต๋อย เซมเบ้” บุคคลสำคัญแห่งวงการนักพากย์และการ์ตูนในบ้านเราที่ Thailand Game Show รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่าคำตอบของน้าต๋อยในหลากหลายคำถามนั้น สามารถสร้างความรู้สึกหรือจุดไฟในหัวใจของผู้ฟังได้อย่างแน่นอนแต่เราคุยกันเรื่องอะไรบ้าง และน้าต๋อยฝากอะไรไว้ให้หนู ๆ ไหม?
• นามแฝง ‘น้าต๋อย เซมเบ้’ มาจากการ์ตูนเรื่อง ‘ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่’ นานมากแล้ว ประมาณปี พ.ศ. 2526 เผอิญว่ามีโอกาสได้พากย์เรื่องนี้แล้วสนุก หลังจากที่เคยพากย์โดราเอมอน แล้วตอนนั้นผมยังเต็มหัวอยู่ แล้วผมจะหยิก ๆ ด้วย ตอนนั้นทางผู้อำนวยการ (ช่อง 9 อ.ส.ม.ท.) เขาบอกว่า มีจดหมายส่งมาเยอะมาก จนฝ่ายประชาสัมพันธ์ไม่สามารถที่จะตอบได้ทั้งหมด เพราะว่าส่งกันมาเป็นหมื่นฉบับ
• ก็เลยใช้วิธีสุ่มตอบทางทีวีก่อน เวลาฉายการ์ตูนเสร็จก็จะให้ผมตอบจดหมายออกทีวี พอเด็ก ๆ ได้เห็นเขาก็ถามว่าชื่ออะไร ก็เลยบอกไปว่านิรันตร์ แต่เขาก็บอกว่ามันยาว ก็เลยบอกชื่อเล่นว่าชื่อต๋อย เขาก็เลยเรียกกันว่าน้าต๋อย แล้วเขาก็เลยเติมให้เป็น ‘น้าต๋อย เซมเบ้’ ได้มั้ย คำว่าเซมเบ้มาจากตัวละคร ‘โนริมากิ เซมเบ้’ หรือชื่อจริงของ ‘ดร.สลัมป์’ และอีกอย่างก็คือ ตอนนั้นผมแต่งตัวคล้าย ๆ กับดร.สลัมป์เหมือนกัน ก็เลยกลายเป็นน้าต๋อย เซมเบ้ ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
• ตั้งแต่แรกเลยผมยังไม่ได้พากย์หนังการ์ตูนนะ ตอนแรก ๆ ผมจะพากย์หนังฝรั่งเป็นส่วนใหญ่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 โน่นแน่ะ เรื่องแรกที่พากย์ก็คือทีวีซีรีส์ ‘Little House on the Prairie’ ตอนที่เริ่มพากย์ตอนนั้นก็น่าจะอายุสัก 18 ปีมั้ง ประมาณนี้ แล้วก็พากย์หนังจีนเรื่องแรกที่เข้ามาในเมืองไทยก็คือ ‘ขบวนการเปาเปียว’ เรื่องที่ 2 ก็คือ ‘เปาบุ้นจิ้น’ ที่ฉายทางช่อง 3 ตอนนั้นคนก็เลยจะเริ่มจำเสียงได้จากเสียงพากย์หนังฝรั่งกับหนังจีน
• ส่วนหนังการ์ตูนเรื่องแรก ได้มีโอกาสพากย์ตอน พ.ศ. 2523 เรื่องแรกที่พากย์คือการ์ตูนเรื่อง ‘ไดมอสยอดขุนพล’ เรื่องแรกที่พากย์คือ เด็กไม่ติดเลย แล้วตอนที่ผมพากย์ไป ผมก็จะแอบไปถามเด็กแถว ๆ บ้านว่ามันสนุกไหม เขาบอกว่า หนังสนุก แต่เสียงพากย์ เขาบอกว่ามันไม่มัน สู้ช่อง 7 ขาวดำ หรือ ททบ.5 สมัยนี้ไม่ได้
• ตอนนั้น ช่อง 7 ขาวดำ เขาฉายเรื่องไอ้มดแดง ไอ้มดเขียว V3 ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน คนที่พากย์เป็นรุ่นพี่ผมชื่อทิดเขียว แกพากย์ดี พากย์เก่งมาก แต่เราเองพากย์ไม่ได้ เพราะเรายังติดสำเนียงหนังฝรั่งกับหนังจีน จนกระทั่งมาเรื่องที่ 2 ที่ช่อง 9 นำเข้ามาฉายก็คือเรื่อง ‘หน้ากากเสือ’ ตอนที่พากย์ 2-3 ตอนแรกยังไม่ค่อยมัน ก็ยังเหมือนแบบเดิม ๆ
• และด้วยตอนนั้น การจะหาคนแปลภาษาญี่ปุ่นในเมืองไทยเป็นเรื่องยากมาก แล้วตอนนั้นเราฉายด้วยฟิล์ม ยังไม่ได้ฉายเทป ก็เลยต้องใช้วิธีฉายสดออกอากาศ และเราก็ต้องพากย์สดไปด้วย สคริปต์ที่ส่งมาให้ก็เลยจะเป็นสคริปต์ถ่ายทำซะมากกว่า แล้วก็จะมีการขีดฆ่า ตัดออก บทหายไปเลยเป็นหน้า ๆ ก็มี พอมาพากย์เราถึงเห็นว่า บทมันหายไปเป็นหน้า พอหายไป ก็มองหน้ากันกับคนพากย์ที่มีอยู่แค่ 4 คน ผู้ชาย 2 ผู้หญิง 2 ว่าจะเอายังไงดี
• ตอนนั้นเขาก็พูดเลยว่า งั้นใช้วิชามั่วเอาเลยแล้วกันนะ คือตัวไหนออกมา ใช้วิธีพากย์มั่วแหลกไปหมด นึกไม่ออกก็พูดภาษาไทยขึ้นมาเลย หรือชื่อภาษาญี่ปุ่นที่พูดยาก ๆ เช่น “อิเคะบุคุโระ” พูดไม่ได้ ก็มั่วบอกว่าไปหนองแขม ไปบางแคโน่นเลย มันก็เลยกลายเป็นมุกไป แล้วเด็ก ๆ ก็ชอบ เพราะมันตลก จากการที่เราพากย์แบบบ้า ๆ จับต้นชนปลายมั่วไปหมดเลยในตอนนั้น
• แล้วพอได้มาพากย์ถึงเรื่องที่ 4 มั้ง ก็คือ ‘โดราเอมอน’ ประมาณปี พ.ศ. 2525 ตอนนั้นกระแสฮือฮามาก ผมก็ได้พากย์เป็น ‘ไจแอนท์’ สมัยนั้นก็เลยถือกำเนิด ‘ช่อง 9 การ์ตูน’ ขึ้นมา แล้วก็ได้พากย์ ‘ดร.สลัมป์กับหนูน้อยอาราเล่’ เด็กก็เลยเริ่มชอบขึ้นมา
• ถ้าย้อนไป ผมเองเป็นคนที่ดูการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กเลยนะ ตอนที่เรียนหนังสือประมาณ ป.3 – ป.4 การ์ตูนที่ดูเรื่องแรกที่ดูคือ ‘ฟุจิมารุ’ เป็นการ์ตูนขาวดำ แต่ลายเส้นมันดีมากเลยนะ เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับนินจา สู้กันมันมากเลยนะ ติดใจมาก ๆ เลย ก็เลยนั่งดู แล้วก็ดูเรื่อง ‘ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน’ รุ่นแรกเลยนะ
• ส่วนช่อง 9 สมัยนั้นยังเป็นช่อง 4 บางขุนพรหม ก็จะฉายการ์ตูนประวัติศาสตร์เรื่อง ‘สิงห์น้อยเจ้าป่า’ ที่ฝรั่งเอามาสร้างใหม่กลายเป็น ‘The Lion King’ นั่นแหละ เป็นลูกสิงโตสีขาวที่พ่อมันโดนรุมฆ่า แล้วก็วนเวียนอยู่ในป่าจนกระทั่งชิงบัลลังก์ได้
• อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมก็คือเรื่อง ‘หน้ากากเสือ’ ตอนนั้นที่ดูคือสมัย มัธยมต้น ประมาณ พ.ศ. 2513 แล้วเราก็ทึ่งว่าทำไมเขาพากย์กันได้ถึงขนาดนี้ ก็เลยมีความรู้สึกว่าโตขึ้นอยากจะเป็นนักพากย์ อยากพากย์การ์ตูนแบบนี้จังเลย แล้วก็ไม่น่าเชื่อว่า อีก 10 ปีต่อมา ช่อง 9 เอากลับมาฉาย และตอนนั้นผมก็ได้ทำงานที่ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. แล้ว ก็ได้มีโอกาสพากย์หน้ากากเสือ ขนลุกเลย ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นแบบนี้
• ผมมีความสุขนะ ในการทำให้คนมีความสุขขึ้นจากการ์ตูน แล้วก็ไม่เชื่อด้วยว่าในเวลานั้นเราจะทำได้ เป็นที่ชื่นอกชื่นใจของเด็ก ๆ ทำให้เรามีความสุขในการพากย์ ช่วงนั้นทางผู้ใหญที่ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ก็ให้ไฟเขียว บอกว่าคุณจะพากย์ยังไงก็ได้ให้เด็กติด เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมสำหรับเด็ก เพื่อให้ดูสนุก ใส่มุกตลกลงไป โดยที่ไม่ได้ไปบิดเนื้อเรื่องมากมาย
• ช่วงที่ฉายโดราเอมอน ก็จะมีหนังการ์ตูนเรื่องอื่น ๆ ขึ้นมา เป็นการ์ตูนแนวต่อสู้ แนวรุนแรง ตอนที่ผมพากย์ไจแอนท์ ผมก็เลยทำเสียงใหญ่ ๆ บ้าง แต่พอทำไปทำมาก็เหมือนว่าจะไม่ค่อยเข้า ก็เลยเปลี่ยนเสียงให้กวน ๆ นิดหนึ่ง ให้ดูตลก ๆ ไม่ก้าวร้าวจนเกินไป สมัยนั้นจะมีคนบอกว่า การ์ตูนมอมเมาเด็ก เพราะว่าตอนนั้นไม่มีสื่ออย่างอื่นนอกจากทีวี ก็เลยพยายามลบคำที่บอกว่าการ์ตูนเป็นสิ่งมอมเมา เลยต้องทำให้ดีที่สุด
• สิ่งที่สำคัญที่นักพากย์ต้องมีคือ ต้องมีเสียงที่ดี เสียงต้องชัด แล้วก็มีอารมณ์ร่วมไปกับมัน ไม่จำเป็นต้องมีเสียงหล่อ แต่เสียงที่เปล่งออกไปต้องเข้ากับบุคลิกของตัวการ์ตูนตัวนั้นให้ได้ อย่างเสียงไจแอนท์ก็ไม่ได้หล่อนะ ใช่ไหม หรือตัวดอกเตอร์สลัมป์ บุคลิกออกไปทางหื่น ๆ ด้วยซ้ำ ก็ต้องทำเสียงให้เข้ากับหน้า เวลาที่เจอกับครูมิโดริ
• หรือตัวฟรีซเซอร์ในดรากอนบอล เสียงในฟิล์มจะมีความเข้ม ดุดัน แต่ผมก็พยายามเปลี่ยนเสียงให้เป็นแต๋ว เพราะสังเกตว่าเล็บเป็นสีดำ แล้วมันดุ อะไรที่ดูรุนแรง จะฉายในช่อง 9 ไม่ได้เลย ก็เลยเปลี่ยนเสียงเป็นอีกแบบ เป็นการใส่เสียงตามแอ็กติงของตัวละครให้เป๊ะ เพราะฉะนั้น คนพากย์ที่ดี คนฟังจะต้องลืมบุคลิกเดิมของน้ำเสียงให้หมด จะต้องนึกถึงตัวแสดง
• สิ่งที่อยากฝากสำหรับคนที่ดูการ์ตูนตั้งแต่สมัยโน้น จนถึงสมัยนี้ ถ้าตอนนั้นอายุ 5 ขวบ ดู เรื่อง ‘ไดมอสยอดขุนพล’ ปี 2523 ตอนนี้หนูก็น่าจะ 50 แล้วนะ (หัวเราะ) ซึ่งตอนนี้หลายคนก็น่าจะเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าของบริษัท เป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว
• เวลาที่พากย์การ์ตูน ตอนท้ายผมมักจะพูดปิดท้ายการ์ตูนเสมอ ๆ ว่า อย่าลืมทำการบ้านนะ ก่อนนอนต้องแปรงฟันด้วยนะ แล้วก็สวดมนต์ก่อนนอนด้วยนะ ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไรก็แล้วแต่ เป็นเด็กดีของคุณพ่อคุณแม่ แป๊บเดียว 40 ปี เด็กพวกนั้นก็โตเป็นเจ้าของบริษัท ทำธุรกิจ เป็นหมอ โดยเฉพาะหมอเนี่ย ตอนที่ผมเจ็บหนัก ๆ ต้องผ่ากระดูกสันหลัง หมอที่โรงพยาบาลที่ผ่าตัดผมบอกว่า น้าต๋อย ผมดูการ์ตูนผมทุกเรื่อง ตั้งแต่สมัยหน้ากากเสือ ส่วนหมอดมยาบอกว่า หนูดูเซเลอร์มูนค่ะ แล้วพอตื่นขึ้นมาในห้อง ICU ทุกคนบอกว่าดูเรื่องโน้นเรื่องนี้กันหมดเลย รันม่า ไอ้หนุ่มกังฟู
• สิ่งนี้มันบอกว่า ที่บอกว่าการ์ตูนมอมเมา แต่เห็นไหมว่า 40 ปีต่อมา เขาโตขึ้นมา เขาไม่ได้แย่ ไม่ได้เป็นคนที่ไม่ดีสักหน่อย ทุกคนล้วนเจริญเติบโตในหน้าที่การงานทุกคน ทุกคนเติบโตมาเป็นคนดีหมด ผมเองก็ภูมิใจนะที่มีความรู้สึกได้สัมผัสกับเด็กในยุคนั้น แล้วพอโตมา เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีงาม ทุกคนที่เจอผมก็ยังทัก ยังเรียกว่าน้าต๋อย เซมเบ้ เหมือนเดิม บอกว่าหนูดูการ์ตูนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เดินมาคุยกันได้เลย สนุกสนานเฮฮา
• ก็อยากให้เด็กตอนนั้นที่โตเป็นผู้ใหญ่ในตอนนี้ บางคนอาจจะมีลูกแล้ว สอนลูกสอนหลานเหมือนอย่างที่น้าต๋อยสอน ไม่ต้องสอนอะไรมาก สอนให้เขาทำหน้าที่ให้ดี สนุกสนานกับเกม การ์ตูน แล้วก็อย่าลืมทำการบ้าน รักษาความสะอาดของตัวเอง แปรงฟันก่อนเข้านอน แค่นี้ ไม่ต้องเตือนอะไรมาก โตขึ้นเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในแบบที่คุณเองก็เคยเป็นเหมือนเมื่อ 40 ปีที่แล้วนะครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส