ย้อนกลับไปในอดีตสมัยที่เครื่อง ‘Famicom’ กำลังวางจำหน่ายในบ้านเราให้เหล่าเด็กหนวดในยุคนั้นได้เล่น ทุกคนต่างก็สนุกสนานกับเกมต่าง ๆ ที่มีมาให้เลือกเล่นบนตลับรวม ‘10 in 1’ หรือแบบ ‘99999 in 1’ ที่เราคุ้นเคย ซึ่งด้วยความเป็นเด็กที่ไม่รู้ว่านั่นคือของผิดลิขสิทธิ์ เราจึงเล่นมันจบบ้างไม่จบบ้างโดยที่เราไม่รู้เลยว่าเกมเหล่านั้นหลายเกมก็มีเนื้อเรื่องด้วย ซึ่งบางเกมก็บอกเนื้อเรื่องเกมมาในรูปแบบของคู่มือที่แถมมาในเล่ม ที่ในสมัยก่อนตลับเกมของแท้จะแถมหนังสือคู่มือบอกวิธีการเล่นเล่มเล็ก ๆ มาด้วย หรือบางเกมก็มีเนื้อเรื่องในเกมเพื่อบอกคนเล่น แต่ด้วยความที่ตัวเกมในสมัยนั้นเป็นของผิดลิขสิทธิ์ที่ต้องยัดเกมลงไปเยอะ ๆ ในตลับเดียว ทางคนทำเกมเถื่อนเลยตัดฉากส่วนของเนื้อเรื่องออกไป ให้เหลือแค่ตัวเกมกับตอนจบเท่านั้น เลยทำให้คนเล่นเกมยุคนั้นไม่รู้ว่าตัวเกมที่เราเคยเล่นในอดีตก็มีเนื้อเรื่องด้วย วันนี้เราเลยไปหาเนื้อเรื่องของเกมเหล่านั้นมาบอกเล่ากัน และเพื่อเป็นการบอกให้เด็กยุคใหม่เกิดไม่ทันได้รู้จักเกมเก่าเหล่านี้ด้วย จะมีเกมอะไรเนื้อเรื่องแบบไหนบ้างนั้นมาดูไปพร้อมกันเลย

Contra ปี 1986

Contra

เริ่มต้นเกมแรกกับตำนานของสองนายทหารบุกดงเอเลี่ยนอย่าง ‘Contra’ ภาคแรกที่ปล่อยให้เล่นครั้งแรกบนเกมตู้ในช่วงปี 1986 ก่อนที่จะมาลงเครื่องเกมตามบ้านในช่วงปี 1987 และวางจำหน่ายในต่างประเทศปี 1988 ที่ในบ้านเราก็น่าจะได้ตัวเกมในฉบับภาษาอังกฤษในตลับรวม ที่เปิดเกมมาก็จะเจอการเลือกตัวละคร 1 กับ 2 แล้วก็เข้าเล่นเกมในฉาก 1 เลยโดยที่เราไม่รู้เลยว่าก่อนเข้าเกมนั้น ตัวเกมได้บอกเล่าเรื่องราวให้เราได้รู้ด้วย กับเรื่องราวของโลกอนาคตในปี 2633 ที่มีองค์กรที่ชั่วร้ายอย่าง ‘Red Falcon’ ได้ตั้งฐานทัพเพื่อยึดครองโลกที่หมู่เกาะ ‘Galuga’ ที่อยู่ใกล้ ๆ กับประเทศ ‘New Zealand’ ที่เมื่อทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาทราบเรื่องก็ส่งสองนายทหารสุดยอดหน่วยคอมมานโด บิล ไรเซอร์ (Bill Rizer) คนผมทอง กับ แลนซ์ บีน ( Lance Bean) คนผมฟ้าออกไปกอบกู้โลก โดยใช้การรบแบบกองโจร ที่ถ้าใครเคยดูหนังหรือรู้เรื่องราวทางการทหาร จะทราบดีว่าการรบแบบกองโจรคือการใช้ภูมิประเทศในการลอบฆ่าและทำลายเป้าหมายโดยที่ไม่ให้อีกฝ่ายตั้งตัว แต่นี่พี่เขาควงปืนไปยิงตรง ๆ มันรบกองโจรตรงไหน และเมื่อบิลกับแลนซ์บุกไปถึงฐานของพวก ‘Red Falcon’ ในตอนแรกก็เป็นแค่ฐานผู้ก่อการร้ายทั่วไป ก่อนที่ทั้งคู่จะรู้ว่าผู้ก่อการร้ายพวกนี้ได้แอบใช้เทคโนโลยีของเอเลี่ยนเพื่อจะยึดครองโลก จนสองนายทหารผู้ไม่สวมเสื้อก็สามารถปกป้องโลกเอาไว้ได้ ซึ่งที่เราไม่ได้เห็นฉากเปิดเนื้อเรื่องเพราะผู้พัฒนาตลับละเมิดลิขสิทธิ์ในสมัยนั้นได้ตัดส่วนนี้ออกไปเพื่อให้เกมมันมีที่เหลือในการใส่เกมอื่น และพอนักพัฒนาคนอื่นมาเอาไปทำต่อก็ลอกเลียนจากฉบับนี้ซ้ำกันมาเรื่อย ๆ จนเรา ๆ ที่ได้เล่นตลับเถื่อนเลยไม่รู้ว่าเกมจริง ๆ มีเนื้อเรื่องด้วยนั่นเอง

Contra

Battle City ปี 1985

Battle City

มาต่อกันที่อีกหนึ่งเกมที่นักเล่นเกมยุคเก่ารู้จักกันเป็นอย่างดี กับเกมรถถังปกป้องฐานที่หลายคนในยุคนั้นอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกมนี้มีชื่อว่า ‘Battle City’ แต่ทุกคนจะเรียกเกมนี้ว่าเกมรถถัง ที่ระบบการเล่นก็ง่าย ๆ เพียงแค่เราที่รับบทเป็นพลขับรถถังต้องทำลายฝ่ายศัตรูให้หมดและต้องปกป้องฐานที่มั่นของเราให้ได้ ตัวเกมเหมือนจะเล่นง่ายเข้าใจไม่ยากแต่ก็มีความสนุกกว่าที่คิด เพราะเราต้องบุกไปกำจัดศัตรูและต้องมาปกป้องฐานไปพร้อม ๆ กัน โดยที่ฝ่ายศัตรูจะออกมาเรื่อย ๆ แถมรถถังฝ่ายศัตรูก็มีหลายแบบ แต่เราก็สามารถพัฒนารถถังตัวเองได้จากดาวหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะได้จากศัตรูที่มีสีรุ้งได้เช่นกันตัวเกมจะเล่นคนเดียวหรือเล่นกับเพื่อน ๆ ตอนนี้ก็ยังสนุก พอโกรธกับเพื่อนก็ไปยิงฐานตัวเองแกล้งเสียเลย ซึ่งหลายคนที่ได้เล่นเกมนี้อาจจะไม่ทราบมาก่อนว่าเกมรถถังนี้ก็มีเนื้อเรื่องด้วย แต่ส่วนของเนื้อเรื่องนั้นจะอยู่ในคู่มือของตลับแท้ถูกลิขสิทธิ์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของเราที่เป็นพลขับรถถังที่เหลือรอดเป็นคนสุดท้าย (คันสุดท้ายของกองทัพ) ที่ต้องปกป้องฐานที่มั่นของเราจากกองทัพศัตรูให้ได้ โดยเราจะได้ปกป้องฐานในสนามรบแบบต่าง ๆ ที่เมื่อดูจากสัญลักษณ์ฐานที่เราต้องปกกันก็พอจะเดาได้ว่าที่มั่นนั้นต้องเป็นอเมริกาแน่นอน ใครที่อยากหาเกมเล่นกับเพื่อน ๆ ยามว่างเกมนี้เหมาะมาก ๆ

Battle City

Circus Charlie ปี 1984

Circus Charlie

อีกหนึ่งเกมชวนหัวร้อนของคนเล่นเกมยุค 90s กับความพยายามจะผ่านฉากโหนเชือกของเกม ‘Circus Charlie’ ซึ่งเป็นฉากที่ยากที่สุดของเกมนี้ ที่เมื่อเราผ่านฉากนั้นไปได้แทนที่เกมจะจบลงแบบเกมยุคนี้ แต่ตัวเกมกับพาเราไปเล่นฉากขี่สิงโตกระโดดลอดห่วงไฟใหม่ในความยากที่สูงขึ้น วนไปแบบนี้เรื่อย ๆ จนกว่าตัวที่เราที่สะสมมาจะหมดหรือเลือกเล่นไปก่อน โดยตัวเกมนี้ถูกปล่อยครั้งแรกบนเกมตู้ในปี 1984 ก่อนจะถูกเอามาลงบนเครื่องเกมตามบ้านในปี 1986 กับเรื่องราวที่ก็ตรงตามชื่อ ว่าเราจะได้รับบทเป็น ชาร์ลี (Charlie) เด็กชายผู้มีความฝันในการเปลี่ยนตัวเองจากตัวตลกประจำคณะละครสัตว์มาเป็นกายกรรม เขาเลยฝึกฝนการเล่นกายกรรมแบบต่าง ๆ จนสามารถออกมาแสดงโชว์ให้ทุกคนได้เห็น โดยเนื้อเรื่องที่บอกเล่านี้มันอยู่ในคู่มือฉบับถูกลิขสิทธิ์ที่คนในยุคนนั้นไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตลับปกเกมนี้หน้าตาเป็นอย่างไร เพราะหลายคนได้เล่นจากในตลับรวมนั่นเอง

Circus Charlie

Balloon Fighter ปี 1985

Balloon Fighter

ถ้าเราไปถามคนเล่นเกมยุค 90s ว่ารู้จักเกม ‘Balloon Fighter’ รึเปล่า คนยุคนั้นอาจจะงงแล้วถามเราคืนว่ามันคือเกมอะไร แต่ถ้าเราบอกว่ารู้จักเกมขี่ลูกโป่งตบยุงไหม คนยุคนั้นก็ต้องจำได้ทันที เพราะในยุคนั้นแม้แต่ชื่อเกมตอนเปิดเรายังไม่เคยได้เห็น เพราะเมื่อเปิดเกมมาก็จะเป็นด่านแรกของเกมเลย ที่ขนาดชื่อเกมเรายังไม่เคยรู้ส่วนเนื้อเรื่องก็ลืมไปได้เลย ซึ่งสำหรับเด็กยุคใหม่ที่ไม่รู้จักเกมนี้เราจะได้เล่นเป็นชายผู้ติดลูกโป่งไว้บนหลัง (คนสมัยก่อนเรียกขี่) เพื่อไปสู้กับอีกฝ่ายที่หน้าตาคล้ายยุง ที่ความสนุกอยู่ที่การควบคุมตัวละครที่เราต้องกะจังหวะกดดี ๆ บินให้ดี เพราะการควบคุมเกมนี้มันค่อนข้างยาก ให้อารมณ์แบบเดียวกับการเล่นฉากใต้น้ำของเกม ‘Super Mario’ ภาค 2 อะไรแบบนั้นเลย และถ้าเราเผลอบินไปเรียบแม่น้ำก็อาจจะถูกปลายักษ์จับไปกินได้ โดยเรื่องราวในเกมจะกล่าวถึงโลกอนาคตที่มีการแข่งขัน ‘Balloon Fighter’ ที่ผู้เข้าแข่งต้องต่อสู้กันเองจนเหลือคนสุดท้ายก็จะชนะการแข่ง ซึ่งนั่นก็หมายความว่าตัวละครหน้าตาคล้ายยุงที่เราเห็นในเกมก็คือผู้เข้าแข่งคนอื่น ๆ นั่นเอง ใครที่อยากรู้ว่าเกมนี้สนุกโหดขนาดไหนต้องไปลองเอาเอง บอกเลยมีหัวร้อนแน่นอน

Balloon Fighter

Gradius ปี 1985

Gradius

ถ้าพูดถึงซีรีส์เกมที่เคยโด่งดังรุ่งเรืองในอดีต แต่ตอนนี้เหลือเพียงชื่อให้นักเล่นเกมจดจำ หนึ่งในนั้นก็คือเกมยานยิงที่ชื่อว่า ‘Gradius’ ที่เราจะได้รับบทเป็นคนขับยานเพื่อปกป้องโลกจากเหล่าเอเลี่ยนนั่นคือสิ่งที่หลายคนรับรู้เมื่อดูจากตัวเกมแล้วคิดกันเอาเอง แต่ความจริงแล้วเกมนี้มีเนื้อหาและเนื้อเรื่องที่ลึกซึ้งกว่าที่เราคิด โดยเนื้อเรื่องของเกมนี้จะกล่าวถึงดวงดาวอันอุดมสมบูรณ์ที่เรียกว่า ‘Gradius’ แต่แล้วความสงบสุขก็จบลงเมื่อจู่ ๆ  ก็มีเอเลี่ยนอวกาศที่เรียกตัวเองว่า ‘Bacterian’ จะมากลืนกินดาว ‘Gradius’ แต่ก่อนที่ดวงดาวจะพ่ายแพ้ทางหน่วยทหารของดาวก็สร้างสุดยอดยานบินที่ชื่อ ‘Vic Viper’ ขึ้นมาเพื่อไปทำลายต้นตอของหายนะครั้งนี้ นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเกม ‘Gradius’ ในปี 1985 กับรูปแบบการเล่นที่เป็นแนวเกมยานยิงที่ฉากของเกมจะเลื่อนไปข้างหน้าเรื่อย ๆ เราต้องควบคุมยานให้หลบสิ่งกีดขวางและกำจัดศัตรู ที่ไม่ใช่แค่การเลื่อนฉากไปข้างหน้าอย่างเดียว ตัวเกมยังมีการเลื่อนฉากมาด้านบนลงล่างที่ต่างกับเกมยิงอื่น ๆ ในยุคนั้น แถมยังมีศัตรูระดับหัวหน้าประจำฉากไปจนถึงรูปแบบการเล่นในแต่ละด่านที่ซับซ้อนไม่เจอฉากซ้ำ ๆ แบบเกมอื่น ๆ นี่ยังไม่นับการเก็บพลังกระสุนรูปแบบต่าง ๆ ให้เราพัฒนายานระหว่างสู้ จนทำให้เกม ‘Gradius’ ขึ้นชื่อเป็นเกมยอดนิยมในยุคนั้น จนตัวเกมไม่สามารถเอาไปรวมกับชาวบ้านไหวจนต้องมีตลับเดี่ยว ๆ ของตัวเอง ซึ่งเราจะรู้เรื่องราวของเกมนี้จากในหนังสือเกมที่วางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นในยุคนั้นนั่นเอง

Gradius

Ice Climber ปี 1984

Ice Climber

อีกหนึ่งเกมทำลายมิตรภาพในยุค 90s ที่ถ้าไม่รักกันจริงอย่าเล่นเกมนี้ เพราะจากเกมแอ็กชันช่วยกันผ่านด่านจะกลายมาเป็นเกมต่อสู้ในชีวิตจริงได้ ที่เด็กยุค 90s จะรู้กันเป็นอย่างดีกับเกม ‘Ice Climber’ เกมที่เราจะได้รับบทเป็นสองนักปีนเขาในตำนานอย่าง โปโป (Popo) ชายชุดสีฟ้ากับ นานา (Nana) ชุดสีชมพู ที่ต้องเดินทางผ่านภูเขาน้ำแข็งเพื่อไปเอาสมบัติของตัวเองที่ถูกแร้งยักษ์ขโมยไปคืนมา โดยรูปแบบการเล่นเกมนี้ก็ง่าย ๆ แต่โคตรยากตรงที่เราต้องค่อย ๆ กระโดดเอาค้อนตีน้ำแข็งหรืออิฐด้านบนให้แตก เราจึงจะสามารถกระโดดขึ้นไปได้ ซึ่งความสนุกของเกมนี้คือตอนเล่นกับเพื่อนที่ดูผ่าน ๆ เหมือนเกมจะต้องช่วยกันผ่าน แต่ความจริงแล้วเรากับเพื่อนต้องแข่งกันว่าใครจะไปถึงด้านบนก่อน เพราะผู้ที่จะได้สมบัตินั้นมีคนเดียวการแย่งชิงจึงต้องเกิดขึ้น ซึ่งเราสามารถขัดขวางอีกฝ่ายได้ด้วยการใช้ค้อนทุบใส่อีกฝ่ายหรือจะร่วมมือกันเพื่อไปให้ถึงที่หมาย (มิตรภาพในการเล่นเกมไม่เคยมีจริง) และไม่ใช่แค่ผู้เล่นกันเองที่ต้องสู้กันแต่ยังมีสัตว์ต่าง ๆ มาขวางเราหรือจะเล่นคนเดียวก็จะง่ายขึ้นมาหน่อย ตรงที่ไม่ต้องมาต่อยกับเพื่อตอนดึกฉากกันนั่นเอง ใครอยากหาเกมทำลายมิตรภาพเราขอแนะนำเกมนี้เลย

Ice Climber

Twin Bee ปี 1985

Twin Bee

อีกหนึ่งเกมเคยดังในอดีตประหนึ่งดาราในยุค 90s ที่เด็กหนวดน้อยใหญ่ในยุคนั้นต้องรู้จักเกมยิงกระดิ่ง (ความจริงต้องเรียกระฆังมากกว่าแต่คนยุคนั้นเรียกกระดิ่ง) อย่าง ‘Twin Bee’ ที่เราจะได้รับบทเป็นยานบินมีแขนที่ต้องยิงกำจัดศัตรูบนท้องฟ้า ที่ถ้าเล่นสองคนก็จะร่วมมือกัน (รึเปล่า) ในการต่อสู้ และเมื่อยานสองลำมาจับมมือกันก็จะกลายเป็นที่ยิงแรงขึ้น และที่เราบอกว่าร่วมมือกันนั้นมันก็แค่เปลือกของเกม เพราะเมื่อใดที่กระดิ่ง (ขอเรียกแบบนี้เพื่อความเข้าใจของคนยุคเก่า) เจ้าปัญหาออกมามิตรภาพที่เคยสั่งสมมาก็จะหายไปทันที เพราะกระดิ่งจะเป็นตัวเพิ่มพลังความสามารถให้เรา แต่ต้องเป็นกระดิ่งเรืองแสงที่เกิดจากการยิงใส่มันอย่างต่อเนื่องและถูกจังหวะ ที่ถ้ายิงมากไปการเรืองแสงก็จะหายไปจนต้องยิงใหม่ ไหนต้องกำจัดศัตรูไหนต้องเลี้ยงกระดิ่งให้เรืองแสง ที่เมื่อกระดิ่งมีอันเดียวแต่มีผู้เล่นสองคนสงครามจึงบังเกิด  ต่างกับเนื้อเรื่องในเกมที่น่ารักสดใสกับเรื่องราวยุคอวกาศในปี 2801 กับการปกป้องโลกของยานบินพูดได้อย่าง ‘Twin Bee’ ตัวสีฟ้าที่ต้องร่วมมือกับเด็กชายแสงสว่าง ไลท์ (Light) ที่เป็นคนขับต่อสู้กับราชาปีศาจ ‘King Spice’ ที่จะยึดครองจักรวาล ซึ่งตามเนื้อเรื่องแล้วทั้งคู่ยังมีคู่หูเป็นยานสีชมพูที่ชื่อ ‘WinBee’ อีกหนึ่งลำพร้อมกับสาวน้อย พาสเทล (Pastel) ที่เป็นคนขับ ซึ่งเนื้อเรื่องทั้งหมดนั้นไปอยู่ในฉบับหนังสือการ์ตูนที่ถูกตีพิมพ์เมื่อตัวเกมโด่งดังเป็นพลุแตก ซึ่งเกมนี้ก็ไม่สามารถไปรวมกับตลับอื่น ๆ ได้เราจึงได้เห็นเกมเดี่ยว ๆ ของเกมนี้ในอดีตที่ใครอยากหามาสะสมแบบกล่องสวย ๆ อาจจะต้องตามหาหน่อยเพราะหายากมาก ๆ สำหรับเกมนี้

Twin Bee

Punch-Out!! ปี 1984

Punch-Out!!

ปิดท้ายกับเกมชกมวยที่หลายคนน่าจะเคยเล่นกัน กับการรับบทเป็น น้องแมค หรือ ลิตเติ้ลแมค (Little Mac) นักมวยหนุ่มอายุ 17 ปีจาก ‘Bronx New York’ ที่มีความฝันอันสูงสุดนั่นคือการไปยืนในตำแหน่งแชมป์โลกของมวยรุ่นเฮฟวี่เวท โดยการท้าชกนักมวยข้ามรุ่นที่ตัวของลิตเติ้ลแมคนั้นตัวเล็กกว่าคู่แข่งมาก ๆ แต่เขาก็ชดเชยด้วยเทคนิคต่าง ๆ ที่เรียนมาจาก ด็อกหลุยส์ (Doc Louis) อดีตแชมป์มวยรุ่นเฮฟวี่เวทที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ฝึกสอนลิตเติ้ลแมค เพื่อให้ไปยืนจุดสูงสุดโดยการล้ม ไมค์ ไทสัน (Mike Tyson) ที่มีฉายาในเกมว่า “Mr. Dream” ที่ความจริงแล้วตัวเกมต้นฉบับใช้ชื่อไมค์ ไทสันแต่เมื่อลิขสิทธิ์การใช้ชื่อหมดอายุจึงเปลี่ยนมาเป็นชื่อ ‘Mr. Dream’ เพื่อให้เข้ากับการชกในแมตช์สุดท้ายที่เรียกว่า ‘The Dream Fight’ ที่ในตัวเกมฉบับเต็มเราจะได้เห็นเนื้อเรื่องการฝึกซ้อมและชื่ออายุความสามารถของคู่ต่อสู้ ที่เชื่อว่าหลายคนในยุคนั้นต่างกดข้ามและไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพระเอกชื่ออะไร เพราะเราเล่นเกมเพื่อความสนุกและเป้าหมายให้สูงที่สุดเพื่อไปอวดเพื่อน มากกว่าจะสนใจเนื้อเรื่องต่างกับเกมสมัยนี้ที่เน้นเนื้อเรื่องควบคู่กับระบบการเล่น เมื่อเป็นแบบนั้นหลายคนจึงไม่รู้มาก่อนว่าเนื้อเรื่องในเกมนี้เป็นอย่างไรจนมาถึงตอนนี้นั่นเอง

Punch-Out!!

ก็จบกันไปแล้วกับการหยิบเกมเก่าสมัยก่อนที่หลายคนอาจจะไม่รู้หรือลืมไปแล้วว่าเกมเหล่านี้ก็มีเนื้อเรื่องมานำเสนอ เพราะอย่างที่เคยบอกไปในตอนต้นว่าบ้านเราในอดีตสมัยยุค 90s เราเล่นแต่ตลับผิดลิขสิทธิ์ ที่แม้แต่เครื่องเกมที่เล่นก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของ ‘Nintendo’ เราเลยไม่รู้หรือพลาดในส่วนของเนื้อเรื่องเกมเหล่านั้นไป จนมาถึงตอนนี้ทีมงานเลยไปค้นหาเกมเก่าเหล่านั้นมาดูว่าเกมพวกนี้มีเนื้อเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งหลาย ๆ เกมที่เราไปค้นหามานั้นก็ไม่มีเนื้อเรื่องหรือบางเกมที่น่าจะมีเนื้อเรื่องกลับไม่มีก็มีอยู่หลายเกม นี่ยังไม่นับเกมเก่าที่มีเนื้อเรื่องน่าสนใจอีกหลายเกม เอาไว้มีโอกาสเราจะหยิบเกมเก่าที่มีเนื้อเรื่องมานำเสนออีกยังไงก็ติดตามกันได้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรในวงการเกมก็ติดตามกันได้ที่แบไต๋ได้เลย หรือจะย้อนไปอ่านบทความเก่าก็สามารถทำได้ เพราะที่นี่มีทุกเรื่องราวน่าสนใจมาให้คุณได้อ่านกันแบบไม่มีเบื่อแน่นอน กดเข้ามาดูตอนนี้ได้เลยเพราะที่แบไต๋นั้นครบเครื่องเรื่องความบันเทิงของคนยุคใหม่ที่คุณไม่ควรพลาด

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส