หลังจาก นินเท็นโดได้ครองโลกไปกับ แฟมิคอม ที่ทำยอดขายถล่มทลาย แม้คู่แข่งจะออกเครื่องเกมที่มีกราฟิกดีกว่าออกมาแข่งก็ตาม และเพื่อสานต่อความสำเร็จ ในปี 1990 จึงได้ออกเครื่องเกม ซูเปอร์แฟมิคอม เพื่อรับทศวรรษ ใหม่ พอดี โดยเป็นเรื่องยุค 16 บิทและยังใช้ตลับเป็นสื่อ โดยแม้เครื่องจะไม่ได้มาคนเดียวอีกต่อไปเพราะในตลาดเกมตอนนั้นเต็มไปด้วยคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง Mega Drive ที่ออกตัวไปก่อนถึง 2 ปี ทำให้การมาครั้งนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแน่
ข้อมูลเครื่อง Super Famicom
- CPU 16-bit 3.58 MHz
- RAM 128 kB
- แสดงสีได้ 32768 สี
- คอนโทรลเลอร์ เสียบได้ 2 จอย แบบถอดเปลี่ยนได้
- วันวางจำหน่าย: ในญี่ปุ่น 21 พฤศจิกายน 1990 , ในอเมริกา วันที่ 23 สิงหาคม 1991
โดยเครื่อง ซูเปอร์แฟมิคอม นับเป็นเครื่องรุ่นที่ 2 ในยุค 16 บิท ที่แม้จะวางจำหน่ายหลังเครื่อง Mega Drive ถึง 2 ปี แต่นินเท็นโด กลับเลือกใช้ CPU ที่มีความเร็วต่ำกว่า แต่กลับแสดงผลด้านภาพได้ดีกว่าทุกเครื่องเกมในยุคนั้น ด้วยชิปประมวลผลกราฟิกที่ดีกว่า สามารถแสดงสีที่มากกว่า และยังมีชิป กราฟิกแบบพิเศษที่ใส่มากับตลับเกมบางตลับที่สามารถแสดงผล 3 มิติได้เช่น ชิป FX ของ StarFox และที่โดดเด่นที่สุดคือ ชิปประมวลผลเสียงของ Sony ที่ทำให้เครื่องเกมที่ใช้ตลับเป็นสื่ออย่าง ซูเปอร์แฟมิคอม มีคุณภาพเสียงดีไม่แพ้ CD และดีกว่าเครื่องในยุคนั้นมาก ทำให้ข้อด้อยที่มี CPU ที่มีความเร็วน้อยกว่า ถูกกลบไป เพราะเกมสามารถแสดงภาพและเสียงได้ดีกว่าเครื่องอื่นอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนหน้าตาของเครื่อง ซูเปอร์แฟมิคอมก็ถือว่าล้ำสมัยมาก โดยเป็นทรงสี่เหลี่ยม สีเทา ที่มีเส้นสายโค้งมนตามยุคสมัย โดยมีปุ่มเปิดเครื่อง ปุ่ม รีเซ็ท อยู่ในตำแหน่งเดียวกับแฟมิคอม มีช่องเสียบตลับด้านบน และสามารถ ถอดเปลี่ยนจอยได้แล้ว ซึ่งการเปิดตัวของซูเปอร์แฟมิคอม ก็มาพร้อมกับ เกมดังอย่าง Super Mario World และนับเป็นครั้งแรกที่ มาริโอ เปิดตัวพร้อมกับเครื่องคอนโซลของนินเท็นโด ไม่รู้เพราะต้องการตัดหน้า SEGA ที่แซงหน้าไปก่อนหรือเปล่าจึงต้องใช้ไม้ตายเอาเกมโดนๆมาพร้อมเครื่อง
ส่วนในไทยก็ไม่ต้องรอนานเหมือนเมื่อก่อนแล้วเพราะในยุคนั้นถือว่าเป็นยุคทองของวีดีโอเกมในไทย เรียกว่ารอไม่กี่อาทิตย์ เครื่องซูเปอร์แฟมิคอม ก็เดินทางมาให้แฟนชาวไทยยลโฉม เพียงแต่ว่าราคานั้นอาจไม่ถูก แม้ค่าเงินบาทตอนนั้นจะแข็งค่ากว่าตอนนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เครื่องเกมใหม่จากนินเท็นโดราคาถูก เพราะค่าความหายากเพราะขาดตลาด บวกกับเป็นเครื่องหิ้วทำให้ผู้ขายสามารถตั้งราคาได้ตามใจ ส่งผลให้ราคาเปิดตัวของซูเปอร์แฟมิคอมในไทยสูงเกิน 10,000 บาท ซึ่งเงินหลักหมื่นในต้นยุค 90 ถือว่าสูงมากๆ ถ้าไม่ใช่ลูกเศรษฐีแทบจะไม่มีทางได้สัมผัส เป็นการเปิดตัวที่ทรมานแฟนเกมไม่น้อย เพราะถึงจะมีร้านเกมให้เช่าก็ราคาแพงกว่าเครื่องอื่นมาก ผู้เขียนเองก็ได้แต่มองคนอื่นเล่นกว่าจะมีเป็นของตัวเองได้ก็รอเกือบปี
บุกถล่มตะวันตก
โดยขึ้นฝั่งอเมริกาในชื่อยาวๆว่า Super Nintendo Entertainment System หรือที่เรียกย่อๆว่า Super NES (อ่านออกเสียงว่า ซูเปอร์ เอ็นอี เอส) หรือจะเรียกว่า Super Nintendo ก็ได้ โดยวางขายในปี 1991 และแน่นอนว่ามีการปรับเปลี่ยนหน้าตาให้เข้ากับรสนิยมของผู้เล่นฝั่งตะวันตก โดยจากเครื่องมนๆ มาเป็นเหลี่ยม ดูมีความแข็งแรงกว่าเครื่อง แฟมิคอม มาก ที่เปลี่ยนไปคือ จากเกม NES จะเสียบตลับเข้าไปด้านหน้าตัวเครื่อง เปลี่ยนมาเป็น เสียบด้านบนเหมือนฝั่งญี่ปุ่นแล้ว และจอยก็เป็นแบบถอดเปลี่ยนได้เหมือนเดิม แต่ปุ่มกดจะมีสีเดียว ส่วนในไทยนั้นก็มีการเอาเครื่อง Super NES เข้ามาขายเหมือนกัน เพราะมันสามารถเล่นกับตลับของฝั่งญี่ปุ่นได้ แถมยังเล่นเกมจากฝั่งอเมริกาที่เป็นภาษาอังกฤษได้ด้วย (แต่ต้องดัดแปลงเครื่องเล็กน้อย)
คอนโทรลเลอร์ ต้นกำเนิด ปุ่มแบบเฉียง
ถ้าจอยของ แฟมิคอม คือจุดเริ่มต้นของการจับจอยในแนวนอนเพื่อเล่นเกมแล้ว จอยของซูเปอร์แฟมิคอม ก็คือต้นกำเนิดของ การวางปุ่มแบบเฉียง ที่จากเดิมมีแค่ปุ่ม A,B ได้เพิ่มปุ่ม X,Y เข้ามา และมีการวางในมุมเฉียงทำให้กดง่าย ซึ่งการเรียงปุ่มแบบนี้นับเป็นมาตรฐานของวงการเกม ที่แม้แต่ในทุกวันนี้ ปุ่มบน คอนโทรลเลอร์ของเกมก็ยังมีการเรียงปุ่มแบบนี้ นอกจากนี้จอยของ ซูเปอร์แฟมิคอม ยังมีปุ่ม L,R ที่ด้านบน อันเป็นจุดเริ่มต้นของปุ่ม ทริกเกอร์ ที่ไว้ยิงปืน ที่ขาดไม่ได้ไปแล้วสำหรับเครื่องเกมในทุกวันนี้ นอกนั้นก็เหมือนจอยแฟมิคอมที่มีขนาดใหญ่พอดีมือ โดยในโซนญี่ปุ่น ปุ่มจะมี 4 สีไม่ซ้ำ ส่วนในโซนอเมริกา จะมีสีน้ำเงินสีเดียว
เกมที่โดดเด่น
Super Mario World
กลับมาอีกครั้งสำหรับ ลุงหนวด ที่คราวนี้ไม่ธรรมดา เพราะหลังจากออกบนเครื่อง แฟมิคอมไป 3 ภาค และโด่งดังจนมีซีรีย์การ์ตูนเป็นของตัวเอง เรียกว่าถ้าไปถามเด็กๆทั่วโลกในเวลานั้นแทบทุกคนต้องรู้จัก และสำหรับภาค Super Mario World นับเป็นภาคที่ 4 ยังคงเป็นเกมแอ็คชั่นตะลุยด่านแบบภาคก่อน แต่ก็อัพเกรดกราฟิก มีการเล่นมิติระหว่างฉากหน้ากับฉากหลัง มีแอ็คชั่นใหม่ๆของมาริโอ ทั้งการหมุนตัวเพื่อทำลายบล็อก โดยด่านยังเป็นเป็น world ที่สามารถเข้าด่านเดิมซ้ำได้ เพราะในด่านมีทางแยกทางย่อยเยอะ ซึ่งส่งผลให้เกมหลากหลายกว่าเดิมมาก ด่านก็ออกแบบมาได้เยี่ยมยอด แถมภาคนี้ยังมีโยชิ เจ้าไดโนเสาร์ที่กินได้แทบทุกอย่างมาให้เราขี่ ทำให้แม้จะมีคู่แข่งที่สูสี แต่มาริโอภาคนี้ก็ทำยอดขายไปได้กว่า 20 ล้านตลับ หรือเกือบครึ่งของผู้ที่มีซูเปอร์แฟมิคอม ต้องมีเกม มาริโอ
ส่วนในตลาดโลก นินเท็นโด พบคู่แข่งน่ากลัวอย่าง SEGA และ Mega Drive ที่สามารถตีตลาดในตะวันตกได้ โดยเฉพาะในอเมริกา ที่หลายเกมขายดี และเปิดตัวก่อน ซูเปอร์แฟมิคอมถึง 2 ปีทำให้นินเท็นโดต้องทำการบ้านมากกว่า โดยไม้ตายหนึ่งที่ทำให้ปู่นินกลับมาชนะได้คือ การที่ซูเปอร์แฟมิคอม มีเกม เอ็คซ์คลูซิฟ ที่ออกก่อนเครื่องอื่นหลายเกม แต่ที่เป็นแม่เหล็กที่สุดคงหนีไม่พ้นเกม Street Fighter 2 เกมตู้ยอดฮิตในยุคนั้น ที่ออกให้ ซูเปอร์แฟมิคอม ก่อนใคร (แต่ไปออกเครื่องอื่นภายหลัง) และเกมนักสู้ข้างถนน ยังถือเป็นเกมที่สร้างยอดขายได้สูงสุดของค่าย Capcom โดยขายไปได้มากกว่า 5 ล้านตลับ แต่สถิตินี้ถูกทำลายโดยเกม Resident Evil 5
ยุคที่เกม RPG จากแดนปลาดิบครองโลก
นอกจากนี้ บนเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม ยังถือว่าเป็นยุคทองของเกม RPG (Role-playing game) เกมแนวสวมบทบาทที่คนไทยนิยมเรียกว่าเกมภาษา โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น หรือที่นิยมเรียกว่า JRPG ที่ในยุคนี้ค่ายเกมอย่าง Square กับ enix ยังไม่รวมค่ายกัน ซึ่งตอนนั้นเกมเรือธงของค่ายก็คงหนีไม่พ้น Final Fantasy (FF) และ Dragon Quest(DQ) ที่มาให้เล่นแทบทุกปี โดยฝั่ง FF ออกถึง 3 ภาคได้แก่ 4,5,6 ส่วน DQ ออก 2 ภาคคือ 5 และ 6
นอกจากนี้ ยังมีเกม RPG เทพๆแห่งยุคนั้น Seiken Densetsu ภาค 1-3 โดยเฉพาะภาค 3 ถือว่าเป็นหนึ่งในเกมแอ็คชั่นRPGที่ดีที่สุดตลอดกาล และ เกมที่เปิดอิสระในการดำเนินเนื้อเรื่องอย่าง Romancing SaGa หรือแม้แต่เกมที่ใช้นักเขียนการ์ตูนมากถึง 7 คนใน LiveAlive และสุดยอดเกม RPG ตลอดกาล Chrono Trigger ที่งามทั้งภาพเสียง ที่เป็นเกมจากผู้สร้างจาก Final Fantasy มาร่วมมือกับ ผู้สร้าง Dragon Quest ครั้งแรกและครั้งเดียว และ ความดังของเกม RPG จนมาริโอต้องร่วม Square มือกับ เพื่อสร้าง Super Mario RPG ขึ้นมา
ตลับเกมที่แพงขึ้นเรื่อยๆ
แต่ในความดังก็มีจุดเสีย เพราะ ราคาตลับเกมนั้นมีต้นทุนที่แพงมากขึ้นเรื่อยๆตามความจุ แถมตลับของซูเปอร์แฟมิคอม ยังมีชิปพิเศษทำให้ราคาตลับเกมในยุคนั้นสูงที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเกมเลยก็ว่าได้ โดยเฉลี่ยตลับเกมซูเปอร์แฟมิคอมจะมีราคาประมาณ 9,000-12,000 เยน หรือเทียบค่าเงินตอนนั้นจะประมาณ 2,500 บาทขึ้นไป หรือบางเกมในยุคนั้นเปิดตัวในไทยสูงเกิน 3,000 – 3,500 บาทกันเลย เทียบกับเกมยุคนี้ที่ราคามาตรฐานแผ่นแท้อยู่ที่ 1,800-2,000 บาทแล้วและนับตามค่าเงินถือว่าแพงมากๆ แถมผู้สร้างเกมต้องจ่ายค่าตลับที่แพงมากล่วงหน้าก่อน ซึ่งนินเทนโด ก็มองเห็นถึงปัญหานี้ และในญี่ปุ่นเองก็มีตลับเปล่าไว้อัดเกมลงไปได้เหมือนแผ่นดิสก์ขาย แต่ก็ไม่ช่วยอะไรมากนัก
รวมร่าง CD ที่ไม่ได้เกิด
และตามสมัยนิยมที่หลายเครื่องในยุคนั้น มีตัวพ่วงต่อ CD เพื่อแก้ปัญหาราคาตลับที่แพง นินเท็นโด ก็เคยมีโครงการที่จะทำตัวต่อ CD เหมือน SEGA ที่มี MegaCD โดยในตอนแรก นินเท็นโดร่วมมือกับ คู่แข่งในปัจจุบันอย่าง Sony สร้างตัวต่อ CD เพิ่ม แต่ก็ไม่ได้เกิด และไม่รู้ด้วยเหตุที่เคยร่วมมือกันทำให้ Sony เรียนรู้การทำผลิตเครื่องคอนโซลจากปู่นินหรือเปล่าทำให้ กำเนิดเป็นเครื่องเกม playstation และหลังจากนั้น นินเท็นโด ได้ร่วมมือกับ บริษัท เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง Philips แต่ก็ ตัวต่อ CD ก็ยังไม่ได้เกิด แต่การร่วมมือนี้ทำให้เกิดเครื่องเกม CDi ที่มีเกมมาริโอ และเซลด้า ที่ไม่ได้ถูกสร้างโดย นินเท็นโด ไปออกให้หลายเกม แต่เครื่อง CDi ก็ไม่ประสบความสำเร็จในด้านยอดขาย และไม่รู้เพราะเหตุผลนี้หรือเปล่าทำให้ เครื่องรุ่นต่อไปของ ปู่นิน อย่าง Nintendo64 ยังคงใช้ตลับเกมอยู่
สรุปแล้วแม้จะมีคู่แข่งที่ดูสูสีมาก อย่าง Mega Drive แต่เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมก็สามารถทำยอดขายได้ทั่วโลกเกือบ 50 ล้านเครื่อง แม้ในยุคท้ายๆของเครื่องจะประสบปัญหาราคาตลับแพง และการใช้ CD เป็นสื่อไม่ได้เกิด แต่เครื่องซูเปอร์แฟมิคอมก็สร้างตำนานสานต่อความสำเร็จจากเครื่องแฟมิคอมได้ และด้วยคุณภาพกราฟิกในยุค 16 บิทที่มีคุณภาพ ทำให้หลายเกมบนเครื่องซูเปอร์แฟมิคอม แม้จะนำมาเล่นใหม่ในยุค HD ก็ยังไม่รู้สึกว่าเชย ในปัจจุบัน คุณสามารถหาเล่นเกมบนซูเปอร์แฟมิคอมอย่างถูกกฎหมายผ่านระบบดาวน์โหลด เวอร์ชัวร์คอนโซล บนเครื่อง Wii WiiU และ New3DS