ทำไมเกมแนว Party Game ถึงเป็นที่นิยม
สองสามปีหลัง ๆ มานี้ เกมแนว Party Game เป็นเกมที่ได้รับความนิยมและได้พื้นที่บนสื่อมากมาย ทั้งทางโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังมักได้รับการไลฟ์สตรีมจากสตรีเมอร์ดัง ๆ อยู่เสมอ ถ้าให้ยกตัวอย่างก็อย่างเช่น Among Us, Overcooked, Pummel Party และอื่น ๆ เป็นเกมที่ไม่ว่าจะเล่นเอง หรือรับชม ล้วนชวนให้สนุก ดูเพลิน ทำให้ติดงอมแงมได้ทั้งนั้น วันนี้เราจึงมาอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมผู้คนถึงชื่นชอบเกมแนวนี้ และแนะนำประเภทต่าง ๆ ของเกมอย่างคร่าว ๆ เพื่อเป็นไอเดียให้กับผู้เล่นที่อยากจับกลุ่มเล่นเกมกับเพื่อน ๆ เพื่อประสบการณ์ใหม่ ๆ
Party Game คืออะไร
คือเกม CO-OP/Multiplayer ที่ต้องอาศัยผู้เล่นหลายคนในการดำเนินเกม ส่วนมากจะเป็นเกมที่มีกติกาหรือวิธีเล่นไม่ซับซ้อน จบไว เหมาะกับผู้เล่นหลากหลายกลุ่ม อาจเป็นได้ทั้งเกมที่ต้องร่วมมือกัน หรือแข่งขันกันเอง มีเนื้อหาที่ไม่หนักมาก ไม่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเท่าไร สามารถเริ่มเกมแล้วเล่นได้เลย
เล่นกับเพื่อน คือความบันเทิงอย่างหนึ่ง
เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้เกมประเภท CO-OP เป็นที่นิยมคือ ‘เพื่อน’ ของเราเอง การเล่นเกมร่วมกับเพื่อนที่คุ้นเคยหรือสนิทกันเป็นเหมือนแต้มต่อที่ทำให้เกมสนุก การได้มีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยหยอกล้อ สร้างโมเมนต์ฮา ๆ ขบขัน ยิ่งช่วยให้เกมเดิม ๆ ไม่น่าเบื่อ พอมาเป็นเกมประเภท Party Game ที่การเล่นไม่ซับซ้อน ยิ่งทำให้หาเพื่อนเล่นด้วยง่ายยิ่งขึ้น
เพราะ Party Game นั้นเข้าถึงง่าย
เอกลักษณ์ของ Party Game ที่โดดเด่นจากเกมแนว CO-OP อื่น ๆ คือ เนื้อหาที่ย่อยง่าย ทำความเข้าใจได้ง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนทั้งวิธีการเล่น และกติกา บ้างเป็นเกมแคชวลหรือเกมแพลตฟอร์มที่ปุ่มบังคับมีไม่เยอะ เกมแนวนี้จึงเข้าถึงผู้เล่นได้หลากหลายกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นเกมเมอร์จ๋า ๆ ทำให้ง่ายต่อการชักชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกัน แถมใช้เวลาไม่นานมากต่อหนึ่งแมตช์ (หรือหนึ่งด่าน) จึงสะดวกสบายต่อการเข้าร่วมมากกว่าเกมประเภทอื่น
สร้างประสบการณ์ร่วมกัน
จริงอยู่ว่าเกมแนวนี้มักเป็นเกมแคชวลที่ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรมากมาย จำนวนด่านและรูปแบบการเล่นก็มักซ้ำ ๆ วนไปวนมา แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเล่นกี่ครั้ง ก็ได้คอนเทนท์แตกต่างกันไปแทบทุกครั้ง เพราะหากเป็นเกมเล่นคนเดียว ปัจจัยที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์ในการเล่นจะมีแค่ตัวเรากับเกม แต่พอมีเพื่อน ๆ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดประสบการณ์จึงมีมากขึ้นตามจำนวนเพื่อนที่ร่วมเล่น ทำให้เรามีโอกาสที่จะได้สัมผัสโมเมนต์ที่ไม่ซ้ำ เพื่อนคนนั้นพลาด เพื่อนคนนี้โป๊ะ และเรามีโอกาสจะถูกรบกวนจากเพื่อน ๆ ทำให้ความรู้สึกและอารมณ์ขณะเล่นมีหลากหลายมากกว่า
ประเภทต่าง ๆ ของ Party Game (แบบคร่าว ๆ)
ปัจจุบันมีเกมแนวนี้ค่อนข้างหลากหลายประเภท หลากหลายกฎกติกา และรูปแบบการเล่น จึงจะขอสรุปคร่าว ๆ และนำเสนอประเภทใหญ่ ๆ ที่เป็นที่นิยม อาจมีบางประเภทที่ตกหล่นไปบ้าง แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพคร่าว ๆ ของเกมแนวนี้มากขึ้น
ประเภทบอร์ดเกม
บอร์ดเกมเล่นหลายคนแทบทุกเกมจัดเป็น Party Game ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะล้วนต้องใช้ผู้เล่นมากกว่า 1 คนดำเนินเกม เช่น เกมไพ่ต่าง ๆ UNO เกมเศรษฐี ครอสเวิร์ด หรือแม้กระทั่งเกมดัง ๆ อย่าง Pummel Party ส่วนใหญ่ต้องหาผู้ชนะหนึ่งคนจากผู้เล่นทั้งหมด
ประเภทร่วมมือ
เป็นเกมที่ผู้เล่นต้องร่วมด้วยช่วยกันทำภารกิจ ผ่านด่าน หรืออะไรก็ตาม ยิ่งคนมากยิ่งป่วนมาก วุ่นวาย และท้าทายสุด ๆ เช่น Overcooked Pico Park หรือแม้กระทั่ง Human: Fall Flat ที่ต้องอาศัยความร่วมมือและช่วยกันแก้ Puzzle ในการผ่านแต่ละด่าน
ประเภทตีกันเอง
จัดเป็นอีกหนึ่งประเภทที่คนนิยมเล่นหากรักการแข่งขันและเอาชนะ เพราะเปิดโอกาสให้เราได้ทำทุกทางเพื่อกำจัดเพื่อน ๆ แล้วขึ้นมาเป็นผู้เหลือรอดหรือผู้ชนะ เช่น เกมตระกูล Worms Party Animals Gang Beasts หรือเกมแนวกีฬา อย่าง ตีกอล์ฟ ฟุตบอล (ง่าย ๆ) ที่แบ่งทีมแข่งกัน อาจจะรวม Fall Guys: Ultimate Knockout เข้าไปด้วยก็ได้ เพราะมีความเป็น Battle Royale เช่นกัน เพียงแต่จำนวนผู้เล่นอาจจะเยอะเสียหน่อย
ประเภทจับผู้ร้าย
เกมประเภทนี้เริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ช่วงที่บอร์ดเกมที่ชื่อว่า Werewolf กำลังดัง ทำให้คนสนใจมาตั้งตี้เล่นเกมช่วยกันหาตัวคนร้ายที่แฝงอยู่ในกลุ่มมากขึ้น นับเป็นเกมหา Imposter ที่ค่อนข้างท้าทายสกิลการสอบสวนของฝั่งคนดี รวมไปถึงสกิลการแถ ปิดบัง ให้เนียนที่สุดหากได้เป็นคนร้าย โดยเกมที่มีลักษณะนี้ที่ตามมาภายหลังและเป็นที่นิยมพอสมควร ได้แก่ Deceit Among Us และ Goose Goose Duck
นอกจากนี้ก็ยังมีเกมแนว CO-OP อีกมากมาย ที่บางคนมองว่าไม่ใช่ Party Game แต่บางคนก็มองว่าใช่ ซึ่งความจริงแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือประสบการณ์และความรู้สึกของผู้เล่นที่ได้รับจากเกมนั้น ๆ มากกว่า ถึงอย่างไร การได้เล่นกับเพื่อน ๆ ล้วนนับเป็นเสน่ห์และจุดแข็งของเกมแนว CO-OP ทั้งสิ้น
รูปภาพ : Steam
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส