หากจะพูดถึงค่าย Nintendo เชื่อว่าแฟนเกมจะคิดถึงไอเดียแปลกใหม่ในการสร้างเกม มากกว่าจะเน้นกราฟิกที่สวยงาม เพราะตั้งแต่ปู่นินเข้าสู่ตลาดเกมตั้งแต่ยุค 80S ก็สร้างความแปลกใหม่ที่เป็นมาตรฐานให้กับวงการเกมที่ค่ายอื่นเอาไปเลียนแบบมาตลอด

แต่หากคุณตามข่าวมาตลอดจะรู้ว่ามีไอเดียของ Nintendo ที่ไม่ได้ไปต่อมากมาย เพราะความแปลกเกินไปจนขายไม่ออก หรือความมั่นใจเกินไปของปู่นินจนทำให้เป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ แต่ก็มีบางไอเดียที่ดีแต่มาผิดที่ผิดเวลาไปจนมันไม่ได้ถูกสานต่อ หรือบางรูปแบบถูกปู่นินเองทอดทิ้งเองเลยด้วยซ้ำ ไปดูกันว่ามีไอเดียอะไรบ้าง

แว่น VR แบบแยกเดี่ยว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแว่น VR หรือการสร้างโลกเสมือนจริง metaverse เป็นกระแสมาพักหนึ่ง และในวงการเกมก็มีการสร้างเกมด้วยระบบ VR ออกมามากมายไม่ว่าจะเป็น Sony PlayStation VR ที่มีการสร้างมา 2 รุ่นแล้ว และยังมี Oculus Quest ที่ไว้เล่นบน PC แต่ในอดีตปู่นินเคยสร้างแว่น VR มาแล้วและทำมาตั้งแต่ยุค 80S กับแว่น Famicom 3D System ที่เป็นแว่นไว้เล่นกับเครื่องคอนโซล 8 Bit ทำให้มันไม่สามารถแสดงผลภาพ 3 มิติแบบแท้ ๆ ได้แต่ก็เป็นความพยายามครั้งแรกในการเข้าสู่โลก VR ของ Nintendo

แต่ที่เป็นกระแสฮือฮาคือในกลางยุค 90S ปู่นินเปิดตัว Virtual Boy เครื่องเกมพกพาที่มาพร้อมแว่น VR ในตัวไม่ต้องเชื่อมต่อกับเครื่องเกมอื่น และใช้สื่อเป็นตลับเกม แต่ความล้มเหลวคือการแสดงผลของเกมจะมีแค่สีแดงกับดำทำให้เล่นไปนาน ๆ จะปวดตา แถมยังมีเกมออกมารองรับน้อยมากมีเพียง 22 เกมเท่านั้น และวางขายไม่ถึงปีก็เลิกทำตลาดเหมือนปู่นินทำมาลองตลาดมากกว่าทำให้ไม่มีการสานต่อ

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาปู่นินมีการเปิดตัวแว่น VR ในของเล่นกระดาษ Nintendo Labo บน Switch ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มกระแสความนิยมนัก อย่างไรก็ตามมันก็ไม่น่าเสียดายนักเพราะตลาดเกม VR ไม่ได้ใหญ่มากพอแม้แต่ Sony ก็ขาย PSVR ได้ไม่เข้าเป้า แม้แต่ Microsoft ก็เคยออกมาบอกว่าเกม VR มีตลาดที่ไม่ใหญ่พอให้ลงทุนทำเกม VR บน Xbox

เพิ่มแรมเครื่องคอนโซลได้เอง

การที่ผู้เล่นสามารถอัปเกรดเครื่องเกมได้เองถือเป็นเรื่องธรรมดาในยุคนี้ เพราะผู้เล่นสามารถเปลี่ยนความจุ SSD บนคอนโซล PS5 หรือ XBox รวมทั้ง Nintendo Switch ก็รองรับการเพิ่มความจุผ่าน MicroSD แต่ในยุค 90S การเพิ่มสเปกคอนโซลได้เองแบบง่าย ๆ ถือเป็นของใหม่มาก และบน Nintendo 64 (N64) คอนโซลลำดับที่ 3 ของปู่นินที่มีระบบที่หลายคนไม่คาดคิดคือการเพิ่มแรมของเครื่องได้เอง

โดยด้านหน้าของตัวเครื่อง N64 จะมีช่องใส่แรม ซึ่งหากแกะออกมาดูจะพบกับช่องใส่ที่เหมือนกับตลับเล็ก ๆ ที่เรียกว่า Jumper Pak เมื่อดึงออกมาแล้วให้ใส่ Expansion Pak ที่เป็นแรมเสริมเสียบเข้าไปแทน แค่นี้ N64 ของคุณก็จะมีแรมเพิ่มอีก 4MB แม้ว่าจะน้อยมากเมื่อเทียบกับยุคนี้ แต่สมัยนั้นถือว่าสูงมากและทำให้คอนโซลของปู่นินมีแรมรวมแล้วมากถึง 8MB ที่มากกว่าคอนโซลคู่แข่งพอสมควร

ซึ่งการเพิ่มแรมจะทำให้การเล่นเกมลื่นไหลขึ้น (เล็กน้อย) และก็มีบางเกมต้องเพิ่มแรมก่อนถึงจะเล่นได้ซึ่งมีแค่ 3 เกมคือ Donkey Kong 64, The Legend of Zelda: Majora’s Mask และ Perfect Dark แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องใช้ Expansion Pak และการที่มันยุ่งยากเกินไปทำให้ไอเดียนี้ไม่ได้เอามาสานต่ออีก โดยทุกวันนี้ค่ายเกมหากจะเพิ่มสเปกมักจะออกคอนโซลรุ่นอัปเกรดไปเลยดีกว่าเพราะสามารถทำรายได้มากกว่าแค่ขายอุปกรณ์เสริม

จอ 3D แบบไม่ต้องใส่แว่น

ในปี 2011 กระแสหนัง 3 มิติมาแรงเพราะการมาของภาพยนตร์ดังอย่าง Avatar ทำให้ปู่นินนำไอเดียนี้มาต่อยอดด้วยการสร้างเครื่องเกมพกพาหน้าจอ 3D โดยไม่ต้องใช้แว่นวางขายในชื่อ 3DS ที่หลัก ๆ แล้วมันคือ NDS เวอร์ชันอัปเกรดสเปกและใส่หน้าจอ 3D แบบ Autostereoscopy เข้าไปที่เป็นการแสดงผลภาพซ้อนส่งเข้าไปสู่ดวงตาผู้เล่น ทำให้เรามองเห็นภาพมีมิติลอยอยู่ในจอของ 3DS

ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีแต่ก็มีข้อเสียเพราะแม้ว่ามันจะปรับระยะความลึกของมิติได้ แต่หากเล่นไปนาน ๆ จะมีอาการปวดตาได้ซึ่งผู้เล่นสามารถปิดระบบ 3D ได้ อีกทั้งเกมที่จำเป็นต้องใช้ระบบ 3 มิติเล่นก็แทบไม่มี ทำให้พอเวลาผ่านไปปู่นินเลือกที่ตัดลูกเล่นที่เป็นจุดขายหลักของ 3DS ทิ้งด้วยการออกวางขาย 2DS ซึ่งคือรุ่นที่ตัดเอาหน้าจอ 3D ออกไปแล้วขายแต่ลูกเล่นการเล่นเกม 2 หน้าจอแบบปรกติแทนและไอเดียนี้ก็ไม่เคยเอากลับมาใช้อีกเลย

เล่นเกมคอนโซล 2 หน้าจอเพร้อมกัน

หลังจากความสำเร็จของ Wii คอนโซลไอเดียแปลกที่ใช้จอยเกมแบบพิเศษที่มีระบบจับการเคลื่อนไหว ปู่นินเลือกที่จะสานต่อกับ Wii U คอนโซลไอเดียแปลกที่มีจอยเกมที่มาพร้อมกับหน้าจอขนาด 6.2 นิ้ว และนอกจากจะสามารถสตรีมภาพในเกมมาเล่นบนจอเล็ก ๆ ได้แล้ว ยังสามารถเล่นไปพร้อมกันกับภาพบนทีวีได้ด้วย ตอนเปิดตัวถือว่าเป็นไอเดียที่ดีเพราะจะสามารถดูเมนูหรือแผนที่ไปพร้อมกับการเล่นเกมได้โดยไม่ต้องกดปุ่มที่ต้องหยุดเกมชั่วคราว

แต่พอได้เล่นจริง ๆ แล้วการเล่นเกมคอนโซล 2 หน้าจอเพร้อมกันทำให้การเล่นยุ่งยากกว่าเดิม เพราะผู้เล่นต้องละสายตาจากหน้าจอทีวีมาดูภาพเมนูหรือแผนที่บนจอย Wii U ทำให้การเล่นสะดุดและอาจส่งผลให้เราพลาดโดนโจมตีได้ ทำให้เมื่อวางขายมาระยะหนึ่งผู้สร้างไม่ได้ใช้ระบบนี้ในการสร้างเกมแล้ว เพราะนอกจากจะทำให้การเล่นยุ่งยากแล้ว ผู้สร้างยังเสียเวลาทำระบบแยกหน้าจอด้วย และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ Switch ไม่มีระบบเล่น 2 หน้าจอพร้อมกันด้วย

ปุ่มกดของ Gamecube

ปรกติแล้วการออกแบบจอยเกมของปู่นินเป็นต้นแบบให้คอนโซลอื่นมาตลอด เช่นปุ่ม D-Pad รูปกากบาท หรือการเรียงปุ่มแบบเฉียงของ Super Famicom ที่ทุกวันนี้เป็นมาตรฐานของจอยเกมทุกรุ่น แต่การเปลี่ยนแปลงปุ่มครั้งใหญ่ของ Nintendo คือบน Game Cube ที่ปรับเปลี่ยนให้ปุ่มหลักคือปุ่ม A มาอยู่ตรงกลางแล้วล้อมรอบด้วยปุ่ม X, Y, B และปุ่ม B มีขนาดเล็กกว่าชาวบ้านด้วย

โดยการเปลี่ยนขนาดปุ่มกดให้ไม่เหมือนกันเพราะว่าปรกติแล้วผู้เล่นจะใช้ปุ่มเดียวเป็นหลักซึ่งมักจะเป็นปุ่ม A ทำให้ปู่นินขยายขนาดให้ใหญ่และกดง่าย ส่วนปุ่มอื่นที่อยู่ล้อมรอบมีรูปร่างที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้เล่นไม่ต้องก้มมามอง อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดายที่หลังจากนั้นจอยเกมรุ่นใหม่ของ Nintendo ไม่ได้สานต่อไอเดียนี้

แต่มันก็ไม่ได้ถูกทอดทิ้งแบบ 100% เพราะว่าบน Wii ก็มีช่องเสียบจอย Gamecube รวมทั้ง Wii U ก็มีการออกตัวเชื่อมต่อไว้ใช้งาน และบน Nintendo Switch เองก็มีจอยหน้าตาเหมือน Gamecube ที่สร้างจากค่ายอื่นวางขายด้วย ทำให้แม้การเรียงปุ่มอาจจะไม่ได้มาอยู่บนจอยรุ่นใหม่ของปู่นินแล้ว แต่จอย Gamecube ยังคงถูกใช้งานและผลิตขายอยู่จนทุกวันนี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส