*หมายเหตุ บทความนี้เป็นบทความขนาดยาว ถ้าหากผู้อ่านต้องการบทสรุปของหัวข้อบทความ ก็เลื่อนไปอ่านที่ผมสรุปไว้ด้านล่างได้เลยครับ
ถ้าพูดถึงเกมแนว MMORPG ผมเชื่อว่าเกมเมอร์ชาวไทยเกือบ 90% จะต้องนึกถึงเกมอย่าง Ragnarok Online , Seal Online หรือ MU Online กันเป็นอันดับแรกแน่นอน แต่ถ้าเกิดพูดถึงเกมเมอร์ต่างประเทศที่ได้มีโอกาสเล่นเกมออนไลน์ผ่าน Server International ตลอดเวลา อย่าง สหรัฐอเมริกา หรือ อังกฤษ เกือบ 100% จะนึกถึงเกมอย่าง World of Warcraft, EverQuest หรือสุดยอดเกมอย่าง Ultima Online กันเป็นแน่แท้
และนั้นจึงทำให้เราเห็นได้ชัดเลยครับว่าเกมออนไลน์จากฝั่งเกาหลี,จีน,ญี่ปุ่นนั้น มีอิทธิพลกับบ้านเราเป็นอย่างมาก ซึ่งจะแตกต่างกับต่าง อเมริกาหรือยุโรป ที่ทางนั้นเขาจะสร้างแนวเกมของตัวเองขึ้นมาหากพูดให้เข้าใจได้ง่ายๆ ก็เหมือนกับแนวเกมอย่าง RPG ยุโรป และ JRPG นั้นแล่ะครับ และในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ เกมเมอร์ชาวไทยหลายคนก็ได้มีโอกาสสัมผัสกับเกม MMORPG จากเกาหลี หรือจีน มาเยอะมากๆ บ้างก็บอกว่ามันทำออกมาแย่จนไม่สนุก บ้างก็บอกว่าไม่มีเวลาเล่นขนาดนั้น และอีกกระแสคำพูดนึงที่ผมได้ยินมาเยอะมากที่สุดก็คือการที่นำเอาเกมนั้นๆ ไปเปรียบเทียบกับเกมอย่าง Ragnarok Online และอื่นๆมากมายมาตลอดหลายปีที่ผ่านจนทำให้เกิดกระแสคำพูดว่า “MMORPG น่ะมันตายไปแล้ว”
ทีนี้เราขอกลับมาพูดถึงเกมออนไลน์ขวัญใจคนไทยอย่าง Ragnarok Online กันดีกว่าครับ เกมนี้ถูกพัฒนาโดย GRAVITY Co., Ltd จากประเทศเกาหลี เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2002 ในยุโรป และ อเมริกาปี 2003-2004 ตามลำดับ และเป็นเกมออนไลน์เกมแรกๆในโลกที่เปิดบริการให้กับหลายๆประเทศ โดยมีบริษัทแม่เป็นผู้พัฒนาตัวเกมประสานผู้ให้บริการเกมในแต่ละประเทศผู้ซึ่งคอยดูแล Server Community และมีหน้าที่แปลภาษาให้กับประเทศนั้นๆครับ
Ragnarok Online นั้นเปรียบเสมือนเป็นเกมออนไลน์ MMORPG แรกๆของเกมเมอร์หลายๆคน “รวมทั้งตัวผม” บรรยากาศและความรู้สึกที่เล่นมันยังคงอยู่ในใจตลอดเวลา และนั้นทำให้เกมเมอร์หลายๆคนเกิดความประทับใจที่ลืมไม่ลงให้กับเกมนี้ครับ แน่นอนว่าหลังจากนั้นก็มีเกมออนไลน์เกมอื่นๆมาเปิดให้บริการในบ้านเราเยอะมาก มีบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ใหม่ๆเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ใช่แค่ Ragnarok Online แต่ก็ยังมีเกม MMORPG เกมอื่นๆอีกมากมายที่ประสบความสำเร็จในบ้านเราเยอะมากทีเดียวครับ
“คนเราเมื่อตกหลุมรักอะไรบางอย่างไปแล้ว ก็ยากที่ตัดจะลืมมันไป และพร้อมเปิดใจให้กับสิ่งใหม่ในอนาคต”
ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเกมออนไลน์ในบ้านเรากำลังเติบโตเข้าสู่จุดพีค ร้านอินเตอร์เน็ตได้ถือกำเนิดขึ้นราวยังกับดอกเห็ด ผู้คนมากมายเกือบทั้งประเทศได้หันมาสนใจตลาดเกมออนไลน์ เกมเมอร์หลายๆคนเริ่มที่จะให้ความสนใจเกมคอมพิวเตอร์ มากกว่าเกมคอนโซล อีกด้านนึงในประเทศฝั่งอเมริกา ยุโรป นั้นก็เริ่มหันมาสนใจตลาดเกมออนไลน์กันมากขึ้นกว่าเดิมครับ
เดิมทีแล้วตลาดเกมฝั่งนู้นจะแตกต่างกับบ้านเราเป็นอย่างมาก ด้วยการที่มีหลายๆสิ่งหลายอย่าง เปิดกว้างมากกว่าบ้านเรา และแน่นอนนั้นรวมไปถึงระบบ Network เกมในรูปแบบ Retail หลายๆเกมในยุคนั้นมีระบบ Multiplayer Online เป็นโหมดการเล่นเสริมพ่วงมากับเกมอยู่แล้ว หนึ่งในนั้นก็คือเกมอย่าง Warcraft 3 สุดยอดเกม Real Time Strategy อันแสนโด่งดัง และอยู่คู่กับชาว PC มานานจนถึงปัจจุบัน ตัวเกมได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก จนทำให้เกิดคำถามกันครับว่า “แล้วเมื่อไรจะออกภาค 4 สักที”
มาถึงจุดนี้แล้ว ผมเชื่อว่าน่าจะมีเกมเมอร์หลายคนเลยล่ะที่ไม่รู้ว่า จริงๆแล้วภาคต่อของ Warcraft 3 พร้อมภาคเสริม The Frozen Throne เนี่ยมันมีมาตั้งนานแล้ว และมันก็วางขายไปมากกว่า 13 ปีแล้วด้วยซ้ำ ใช่แล้วครับ World of Warcraft เกมออนไลน์ MMORPG จากค่าย Blizzard นี่ล่ะคือภาคต่อของ Warcraft 3: The Frozen Throne ชนิดที่ว่าตัวเกมแทบจะเล่าเรื่องต่อจากเนื้อเรื่องหลักเลยก็ว่าได้ หากผู้เล่นได้เลือกเล่นเผ่า Human ตั้งแต่เริ่มเกม ผู้เล่นจะได้รับรู้ และผจญภัยต่อไปในโลกของ Warcraft ได้ทันทีครับ และด้วยเหตุผลนี้เอง World of Warcraft จึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งด้านคําวิจารณ์ และยอดขาย หลังจากเปิดให้บริการแค่ปีเดียว ในปี 2005 World of Warcraft มีผู้เล่น Subscription ทั่วโลกมากถึง 2.5 ล้านคน ต่อมาในปี 2010 นั้นไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อว่า World of Warcraft มีผู้เล่น Subscription 12 ล้านคน ตัวเกมเปิดให้บริการมาแล้วนับ 10 จนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็ยังมียอดผู้เล่นไม่ต่ำกว่า 7.5 ล้านคนทั่วโลกครับ
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ยอด Subscription สูงนั้นกลับไม่ได้มีผลอะไรกับเกมเมอร์ชาวไทยเลยแม้แต่น้อย
เพราะอะไรครับ เพราะว่าในยุคเดียวกัน ในบ้านเราเองก็มีเกม MMORPG ยอดนิยมอยู่แล้ว สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกมอย่าง World of Warcraft ไม่ดังในบ้านเรานั้นก็คือเรื่องภาษาครับ ด้วยการที่ตอนนั้นเองเกม Warcraft ทั้งสามภาคเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ทำให้เกมเมอร์ในยุคนั้นบางส่วนไม่ได้ซึมซับถึงเนื้อเรื่องภายในเกม นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไม World of Warcraft นั้นถึงไม่ได้รับความนิยมมากนักในบ้านเรา และนั้นจึงทำให้เกิดสาเหตุต่อมาครับ
ทีนี้ขอย้อนกลับมาที่ World of Warcraft กันก่อน เดิมทีแล้วเกมนี้เป็นเกมที่มีพื้นฐานจากมาจากซีรีส์ Warcraft และด้วยการที่ซีรี่ส์นี้มันมีขนาดใหญ่มากๆ จึงทำให้เกมนี้มีโลกที่กว้างใหญ่ และมีเรื่องราวที่มากมายที่พร้อมจะเปิดให้ผู้เล่นที่เข้ามาผจญภัยได้รับรู้ จึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Quest” ขึ้นมานั้นเองครับ จริงๆ แล้วระบบ Quest นั้นมันก็มีมานานแล้วล่ะ แต่สำหรับ World of Warcraft นั้น Quest ภายในเกมนี้มันสำคัญมาก และยังมีระบบหยิบย่อยอีกมากมายที่เรียกได่ว่าเป็นระบบหลักๆ ของเกมเลย
ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับเกมอย่าง Ragnarok Online เกมขวัญใจคนไทยแล้วนั้น รูปแบบการเล่นมันแตกต่างไปโดยสิ้นเชิงครับ ใน RO เราจะสามารถเก็บเลเวลตัวละครได้โดยการฆ่ามอสเตอร์ตามแผนที่ต่างๆ หรือจะตั้งปาร์ตี้กับเพื่อนๆเพื่อตะลุยดันเจี้ยนที่มีอยู่ภายในเกม โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆในการเข้าทั้งสิ้น (บางแห่ง) ผู้เล่นจะสามารถไปที่ไหนก็ได้ตามใจชอบตั้งแต่เริ่มเกม มีมีสิทธิ์เท่าเทียมกับผู้เล่นคนอื่นทั้งหมด และเมื่อเก็บเลเวลจนถึงระดับที่กำหนด ผู้เล่นจะสามารถทำเควสเพื่อเปลี่ยนอาซีพภายได้ โดยเควสของเกมนี้จุดเด่นมันอยู่ที่ความยาก และความมุ่งมั่นในการทำนี่ล่ะครับ จุดเด่นอื่นๆของเกมนี้ก็คือ การ PVP แบบ Guild Wars หรือการล่าบอสมอสเตอร์ระบบยากภายในดันเจี้ยน ได้มาซึ่ง Item แรร์ระดับเทพนั้นเอง
แตกสำหรับใน World of Warcraft นั้นจะแตกต่างกันออกไป เกมนี้ตัวเกมจะมีการเล่าเรื่องแบบจริงจัง ตัวเกมจะให้เราสวมบทบาทเป็นตัวละครของเราเอง และผจญภัยในโลก Azeroth โดยผ่านการเล่าเรื่องโดยการทำเควสเนื้อเรื่องภายในเกม หรือที่เรียกกันว่าเควสหลัก แน่นอนครับว่าตัวเกมจะมีทั้ง Dialogue และ Lore ให้อ่านกันเยอะมาก (ซึ่งไม่ค่อยเหมาะกับคนไทย ?) โดยตลอดเวลาการเล่นทั้งเกมตั้งแต่เลเวลต่ำๆ ไปถึงระดับสูง ผู้เล่นจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่ามีเป้าหมายอะไรบางอย่างให้ทำอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ตั้งปาร์ตี้ตีมอสเตอร์ไปวันๆเท่านั้น
นอกจากนั้นแล้วก็จะมีเควสรอง เควสหยิบย่อยอีกมากมายตามสถานที่ต่างๆ แน่นอนว่ารางวัลที่ได้ก็คือค่าประสบการณ์ที่ได้เยอะกว่าการตีมอสเตอร์ตามฉาก และ ไอเท็มต่างๆ อีกทั้งตัวเกมก็ยังมีระบบดันเจี้ยน ที่จะแบ่งออกเป็นส่วนๆ และจำกัดการเข้าแบบส่วนตัว หรือส่วนปาร์ตี้เท่านั้น (ทีมใครทีมมัน ไม่รวมกัน) โดยมอสเตอร์ที่อยู่ภายในดันเจี้ยนนั้นจะโหดมากกว่าปกติ แต่ละดันเจี้ยนก็มีบอสประจำดัน ที่จะดรอป Item สุดพิเศษ และค่าประสบการณ์ โดยหลังจากกำจัดบอสสุดท้ายได้แล้ว ผู้เล่นสามารถมาลงใหม่ได้ โดยระบบตัวเกมจะทำการ Reset ดันเจี้ยนใหม่ทั้งหมดสำหรับการลงรอบต่อไปนั้นเอง จุดเด่นของเกมนี้ก็คือ Raid Boss สุดโหดที่ต้องใช้ฝีมือของผู้เล่น และทีมเวริคระดับสูงในการผ่าน และเนื้อเรื่องภายในเกมที่น่าติดตาม ระบบ PVP ฝ่าย และอื่นๆอีกมากมายครับ
คนไทยนั้นชอบอะไรที่มันง่ายๆ เล่นง่ายๆ ไม่ต้องซับซ้อนอะไรมาก
มาถึงตรงจุดนี้ ผมคิดว่าถ้าผู้อ่านได้คิดตามมาตลอดก็น่าจะรู้แล้วล่ะว่าทำไม เกมเมอร์ชาวไทยถึงไม่ชอบเกม MMORPG ที่มี Quest เป็นหลัก สาเหตุง่ายๆเลยก็คือ ความยุ่งยากในการเล่นนั้นล่ะครับ ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าคนไทยนั้นชอบอะไรที่มันง่ายๆ เล่นง่ายๆ ไม่ต้องซับซ้อนอะไรมาก และความขี้เกียจทำเควส เนื่องจากว่าไม่ชอบอ่านเนื้อเรื่อง ไม่สนใจเนื้อเรื่อง ประมาณว่ากูอยากมีเลเวลตันเร็วๆ กลัวจะตามคนอื่นไม่ทันนั้นแล่ะคือสาเหตุหลักๆ
จริงๆแล้วเราต้องกลับมามองก่อนครับว่าแท้จริงแล้วเกมๆนี้มันต้องการจะสื่อถึงอะไร จากที่ผมพูดมาทั้งหมดนั้น ไม่ได้หมายความว่า Ragnarok มันเป็นเกมที่ไม่ดีนะ และในขณะเดียวกัน ผมไม่ก็ไม่พูดว่า World of Warcraft คือเกมที่ดีและยอดเยี่ยมที่สุด แต่ผมต้องการจะสื่อให้เห็นว่าตัวเกมทั้ง 2 เกมนี้นั้นมันมีการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไปครับ และแน่นอนว่าผมอยากให้เกมเมอร์ชาวไทยหลายๆคนเข้าใจถึงจุดๆนี้ด้วย หากจะให้เปรียบเทียบแล้ว มันก็จะคล้ายๆการนำเอาเกม Action Hack and Slash มาเปรียบเทียบกับ Hardcore RPG นั้นแล่ะครับ
“แล้วงี้ถ้าหากค่อยๆทำเควสไป เวลก็จะช้าตามคนอื่นไม่ทัน จะไม่แย่เอาหรอ?” นี่เป็นคำถามที่ผมโดนถามมาเยอะมากเลยครับ เวลาที่ผมแนะนำเกม MMORPG ให้เพื่อนๆ ผมจะเจอคำถามแนวๆนี้ตลอด ก่อนอื่นเลยคือต้องขอพูดอีกครั้งครับว่า แนวทางการเล่นและรูปแบบของเกม MMORPG แต่ละเกมมันจะไม่เหมือนกันเลยสักนิดเดียว แต่อย่างไรก็ตามมันก็จะใช่ว่าจะแตกต่างกันไปทั้งหมด ผมจะขอนำเอาเกมอย่าง Ragnarok Online ซึ่งเป็นเกมที่คนไทยทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้ว กับเกม Final Fantasy XIV เกม MMORG ที่ผมเสียเวลากับมันไปเกือบ 6000 ชั่วโมงมาเปรียบเทียบกันให้ดูครับ
สำหรับใน Ragnarok Online นั้นการเก็บเลเวลในเกมถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ นอกจากว่าได้จะสถานะตัวละครเพิ่มขึ้นแล้ว ก็จะสามารถบุกขึ้นไปจัดการกับมอสเตอร์ระดับสูงหรือล่าบอสเพื่อค้นหาล่าแรร์ไอเท็ม มาใช้หรือเอาไปขายภายในเกมเพื่อสร้างเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นครับ ยกตัวอย่างเช่นการ์ดหายาก อาวุธบอส อุปกรณ์อัพเกรดอาวุธ ซึ่งของพวกนี้จะมีประโยชน์มากขึ้นในการออกล่าครั้งต่อไป หรือการ PVP Guild Wars นั้นเองครับ อีกจุดหนึ่งก็คือเรื่องระบบคลาสภายในเกมที่ผมค่อนข้างชอบมากเลยก็คือยกตัวอย่างเช่น อาชีพพ่อค้าจะสามารถตั้งร้านชื้อขายของได้เพียงอาชีพเดียวเท่านั้น และยังมีสามารถชื้อของจาก NPC ในราคาที่ถูกกว่าคนอื่นๆ แล้วก็ยังขายของให้กับ NPC ได้แพงกว่าคนอื่นๆอีกด้วย อีกทั้งยังมีความสามารถในการสร้างอาวุธ หรืออัพเกรดอาวุธอีกด้วย ถือว่าเป็นอะไรที่ Unique สุดครับสำหรับเกมแนวๆนี้
สำหรับใน Final Fantasy XIV นั้น การเก็บเลเวลภายในเกม เปรียบเสมือน Tutorial โดยตลอดระหว่างการเล่น ผู้เล่นจะต้องทำเควสตามเนื้อเรื่องไปเรื่อยๆ ลงดันเจี้ยนตามเนื้อเรื่อง ฝึกใช้สกิลที่ปลดล็อคมาให้อัตโนมัติตามเลเวลให้คล่องตัว และเมื่อถึงเลเวล 50 (เลเวลตันของ Patch พื้นฐาน) เมื่อไร นั้นแล่ะครับคือ Gameplay ที่แท้จริงกำลังจะเริ่มต้นขึ้น หลังจากเลเวลผู้เล่นถึงจุดสูงสุดแล้ว สิ่งที่ผู้เล่นสามารถทำได้ก็คือ ปลดล็อค Raid Boss สุดโหด ที่ต้องใช้ผู้เล่นจำนวน 8 คนในการลง แบ่งเป็นตำแหน่งต่างๆ เช่น Tank DPS Healer โดยการสู้กับ Boss ภายในเกมประเภทนี้จะมีความยากสูงมาก โดยตัวเกมจะมีสิ่งที่เรียกว่า Mechanic มาสร้างความสนุกสนานให้ผู้เล่นมากกว่าแค่สแปมปุ่มสกิลเพียง 2-3 ปุ่มครับ การล่า Item ในเกมประเภทนี้ จะถูกแบ่งเอาไว้อย่างมีกฎเกณฑ์ เช่นใช้แต้มสะสมที่เก็บได้จากการลงดันเจี้ยนประจำวันต่างๆมาแลก หรือหาเอาจาก Raid Boss ขั้นสูง โดยตัวเกมจะมีระบบ Weekly Resistance เอาไว้เพื่อสร้างความสมดุลของผู้เล่นภายในเกมทั้งหมดครับ ยกตัวอย่างเช่นใน 1 สัปดาห์ ผู้เล่นสามารถ Loot Item จาก Raid Boss ได้แค่ชิ้นเดียว หรือสามารถเก็บแต้มได้สูงสุด 450 ต่อสัปดาห์เท่านั้น โดยทั้งหมดนี้มันคือสิ่งที่เรียกว่า End Game Content ครับ ตามชื่อเลยก็คือ เมื่อเล่นเนื้อเรื่องหลับจบแล้ว นี่คือ Content ของตัวเกมทั้งหมดหลังเล่นจบ จุดเด่นของเกมประเภทนี้ก็คือใครที่มีเวลาน้อย ก็สามารถเล่นตามผู้เล่นคนที่มีเวลาเยอะได้ทันครับ
และนั้นแล่ะครับ คือความแตกต่างกันของทั้ง 2 เกม แต่ด้วยการที่บ้านเรานั้นดันได้เล่นเกมในรูปแบบ RO มาเยอะกันมากตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเมื่อมาเจอกับเกมที่เน้นให้ทำเควสเป็นหลักในการเก็บเลเวล และไปจริงจังกับ End Game Content กันแทน จะแตกต่างกับเกมแนวๆ RO ที่จะเน้นการเก็บเลเวล ออกล่าตั้งปาร์ตี้หาของมาขาย สร้างผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ก็เลยทำให้รู้สึกไม่ชอบเกมแนวที่ให้เน้นทำเควสเป็นหลัก และมองว่าเป็นเกมที่แย่ในสายตาของเกมเมอร์แต่ละคนไปครับ
สรุป
ตั้งแต่ต้นจนจบที่ผมสาธยายมานั้น เหตุผลหลักๆ เลยก็คือ อยากจะให้เกมเมอร์ชาวไทยนั้นเข้าใจรูปแบบของเกม MMORPG มากขึ้นกว่านี้นิดนึงครับ ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมเห็นมีคนมาตั้งกระทู้ตามเว็บไซด์ต่างๆแนวๆว่า “MMORPG กำลังจะตาย” , “ทำไม MMORPG ถึงไม่ดังเหมือนแต่ก่อน” เมื่อผมได้คลิกเข้าไป ผมก็ได้เจอกับ Comment แนวๆว่าเกมมันไม่ได้น่าสนใจ โดยการนำเอาไปเปรียบเทียบกับ RO หรือเกมอื่นๆที่มีรูปแบบการเล่นคล้ายๆกันนี่ล่ะครับ ทำให้ผมรู้สึกอัดอั้นใจมานาน
และด้วยหัวข้อหลักของบทความนี้ที่ว่า “เพราะอะไรเกมแนว MMORPG ถึงไม่ได้รับความนิยม (ในไทย) มากนัก” นั้นก็เพราะว่าคนไทยยึดติดกับระบบเดิมๆ ของเกม MMORPG ที่คนไทยชอบกันมากอย่าง RO เป็นต้นนี่นั้นเองครับ และเมื่อมีเกม MMORPG อื่นๆเข้ามาเปิดให้บริการในไทย ที่ไม่ใช่รูปแบบ RO คนไทยก็ไม่ให้ความสนใจมันมากนัก ยกเว้นว่าจะเป็นเกมที่มี Graphic ที่สวยงาม หรือ Gameplay ที่น่าเล่นหน่อย ก็อาจจะเห่อกันในช่วง 1-2 เดือนแรก (Blade & Soul ที่เพิ่งเปิดก็เข้าข่าย) ที่นี้ก็จะเกิดคำโต้แย้งที่ตามมาก็คือ “ก็เกมมันไม่สนุกจริงๆ จะให้สนใจทำไม” ข้อนี้ผมเห็นด้วยเป็นอย่างมากเลยครับ ว่ามี MMORPG ที่มีระบบเควสเป็นหลัก หลายเกมที่เปิดให้บริการในไทยแต่มันไม่สนุก จนถึงตอนนี้ก็มีเพียงไม่กี่เกมเท่านั้นที่ยังอยู่รอดได้จนถึงทุกวันนี้ แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่า “ทุกเกม” มันจะแย่ไปหมด ถ้าหากขจัดความรู้สึกยึดติดกับสิ่งเดิมๆออกไปได้ และทำความเข้าใจกับเกมที่มีรูปแบบการเล่นแบบนี้ คุณจะสนุกกับเกมมากขึ้นกว่านี้เป็นร้อยเท่าเลยล่ะครับ
ทีนี้ผมจึงอยากให้เกมเมอร์ชาวไทยทุกๆคน ลองมองออกไปนอกประเทศดูครับ ว่าโลกนี้มี MMORPG ระดับ Masterprice อยู่เยอะมาก อาทิเช่น World of Warcraft , Star Wars The Old Republic , Guild Wars 2 , Final Fantasy XIV , Rift, EVE Online และอื่นๆอีกมากมาย ส่วนตัวผมแล้วคิดว่าตลาดเกมแนวๆนี้ยังไม่ตาย และเป็นตลาดที่ผมมั่นใจว่าประสบความสำเร็จสูงที่สุดในวงการเกมคอมพิวเตอร์แล้วล่ะ