คุณวรวุฒิ วรวิทยานนท์ หรือ “บก.วุฒิ แห่งสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ” คือหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกให้เยาวชนไทยในอดีต (ที่ก็โตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้วในวันนี้) ได้รู้จักกับการ์ตูนญี่ปุ่นมากหน้าหลายตา และ MEGAXGAME นิตยสารเกมที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2532 ที่แม้จะปิดตัวลงไปในปี 2559 ที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ได้ก่อร่างสร้างสังคมเกมเมอร์ที่ดีมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการที่นิตยสารฉบับนี้เมื่อครั้งก่อน เป็นดั่งพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเป็นสังคมที่อบอุ่นเปี่ยมด้วยมิตรภาพ
Thailand Games Show ปี 2018 นี้ จึงขอมอบรางวัล Lifetime Achievement Awards ณ เวทีใหญ่กลางงานให้แก่ บก. วุฒิ แห่งสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ หนึ่งในผู้ที่สร้างสังคมที่ดีให้แก่เยาวชนด้วยการเป็นเจ้าแรกๆ ในประเทศไทยที่ซื้อลิขสิทธิ์การ์ตูนมังงะแท้เข้ามาในบ้านเรา รวมทั้งยังเป็นผู้ที่ทำให้นิตยสาร MEGAXGAME ยังคงยืนหยัดต่อสู้กับคำสบประมาทจากสายตาผู้ใหญ่ในยุคแรกเริ่ม จนตั้งต้นในยุคสมัยที่บ้านเราเริ่มเปิดกว้างด้านเกม ก่อนที่ในท้ายที่สุดจะปิดฉากตำนานนิตยสารฉบับนี้ลงด้วยเหตุผลของความนิยมการเสพสื่อที่เปลี่ยนไปในระดับสากลโลก
ชีวิตการทำงานของ บก. วุฒิ หรือ วรวุฒิ วรวิทยานนท์ กับสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจนั้น เริ่มต้นราวปี 2525 ตั้งแต่ช่วงที่วรวุฒิเป็นนักศึกษาปีหนึ่งด้านการพิมพ์ของคณะการถ่ายภาพและการพิมพ์ วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพในปัจจุบัน ในยุคนั้นถือเป็นยุคเฟื่องฟูของการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่ วรวุฒิในวัยหนุ่มได้เริ่มฝึกงานในกองบรรณาธิการจัดทำหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น โดยใช้เวลาหลังจากเลิกเรียนทำงานอยู่ที่นี่อย่างต่อเนื่อง
เรียกว่าเส้นทางชีวิตของบก. วุฒิไม่เคยห่างไกลจากสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ หลังจากจบการศึกษาที่วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพก็เข้าทำงานต่อเนื่องที่วิบูลย์กิจ และได้มีส่วนเข้าร่วมดูแลหนังสือหลายเล่ม ทั้งที่เป็นนิตยสารและพอกเก็ตบุ๊ค หนึ่งในนั้นคือนิตยสารการ์ตูนชื่อว่า “GIFT MAGAZINE” เป็นการ์ตูนรายเดือนแนวสำหรับผู้หญิง
ในยุคบุกเบิกของหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในประเทศไทย เวลานั้นกองบรรณาธิการมีอยู่เพียงไม่กี่คน แต่ละคนจึงมีหน้าที่รับผิดชอบที่หลากหลายอย่างมาก แต่ก็ทำให้ทีมงานได้คลุกคลีกับวัฒนธรรมความบันเทิงของญี่ปุ่น นั่นคือ บรรดาของเล่น โมเดล หนังการ์ตูนทีวี เกมกด จนกระทั่งมาถึงเครื่องเล่นเกมที่ต่อพ่วงกับทีวีหรือเกมคอนโซล ซึ่งบก. วุฒิ ได้มีโอกาสคลุกคลีกับเครื่องเล่นเหล่านี้ตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็น เกมที่เล่นบนเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี เครื่องเล่นเกมเลเซอร์ เครื่องเล่นเกมอาตาริ กระทั่งเครื่องเล่นเกมของนินเทนโด อย่าง “ฟามิค่อม” ของล้ำยุคในยุคนั้นผ่านมือบก. วุฒิมาหมดแล้ว และด้วยความที่เป็นคนทำหนังสือ ทำนิตยสาร จึงเกิดไอเดียทำนิตยสารเกี่ยวกับเกม สำหรับเป็นคู่มือแนะนำการเล่น ให้ข่าวสาร และเป็นศูนย์สื่อกลางสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมในช่วงเวลานั้น
และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ MEGA นิตยสารเกมรายสัปดาห์ที่คอเกมรู้จักกันดี โดยเปิดตัวด้วยเนื้อหาหลักคือการแนะนำวิธีเล่นเกมของฟามิค่อมอันโด่งดังในช่วงเวลานั้นคือ Gradius ของค่าย Konami และจำหน่ายในราคาฉบับละ 10 บาท
หนึ่งในความลับของนิตยสารที่น้อยคนนักจะรู้คือที่มาของชื่อ MEGA แท้จริงแล้วมาจากคำว่า GAME ที่สลับตัวอักษรใหม่ โดย MEGA สื่อถึงความเป็นศูนย์รวมพอสลับกลับเป็น GAME ก็สื่อความหมายว่าศูนย์รวมของข้อมูลมากมายเกี่ยวกับเกมนั้นเอง.. ง่ายๆ อย่างนี้
หลังจาก MEGA GAME รายสัปดาห์ออกสู่ตลาด ก็มีกระแสตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี จนสามารถจัดทำออกจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนาน และแตกแขนงออกเป็นฉบับรายเดือนชื่อ MEGA MONTH ที่เจาะลึกเนื้อหาการเล่นเกม จนเป็นตำนานของบทสรุปเกมคุณภาพดี ราคาประหยัดที่เกมเมอร์หลายคนมีสะสมกันเป็นตั้ง!
ต่อมาเมื่อสถานการณ์ตลาดนิตยสารสื่อสิ่งพิมพ์เปลี่ยนแปลงไป จนท้ายที่สุด MEGA ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเป็นชื่อ MEGAXGAME ในช่วงปีหลัง ก็จำเป็นต้องปิดตัวลงไปในเดือนธันวาคมปี 2559 เป็นฉบับสุดท้าย
นอกเหนือจากนิตยสารเกมแล้ว บก. วุฒิก็ยังมีโอกาสสร้างสรรค์นิตยสารการ์ตูนเพื่อสนับสนุนผลงานคนไทยอีกฉบับหนึ่ง ชื่อว่า ThaiComic ซึ่งเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันราวปี 2535 จุดประสงค์เพื่อต้องการสร้างเวทีสำหรับนักวาดการ์ตูนไทยร่วมสมัย ที่ได้ซึมซับวัฒนธรรมการ์ตูนญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เป็นสื่อฉบับหนึ่งที่ได้มีโอกาสเป็นแหล่งกำเนิดนักวาดการ์ตูนไทยหลายต่อหลายคน และแม้ว่า ThaiComic จะได้ปิดตัวเองลงไปแล้วในปี 2556 แต่การได้ทำนิตยสารการ์ตูนไทยเล่มนี้ ได้ทำให้เกิดโอกาสต่างๆ และการได้พบปะผู้คนที่สนใจเกี่ยวกับการพัฒนาการ์ตูนไทยในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งเพื่อการสร้างอาชีพ และเพื่อการศึกษาในวิธีต่างๆ
ปัจจุบันในยุครุ่งอรุณแห่งดิจิตอล บก.วุฒิกำลังดูแลและพัฒนา การเปลี่ยนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไปสู่กระบวนการนำเสนอรูปแบบดิจิตอล เพื่อให้สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และผู้อ่านซึ่งเป็นคนอีกรุ่นหนึ่ง ที่เกิดมาพร้อมกับอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยี เช่นการจัดทำคลังหนังสือการ์ตูนในรูปแบบดิจิตอลต่อไป