Game Streaming นั้นเป็นเรื่องที่หลายค่ายพัฒนากันมานานนะครับ คอนเซปต์ของมันคือให้เซิร์ฟเวอร์เป็นคนรันเกม และส่งภาพกลับมาให้เราเล่นบนอุปกรณ์ที่ไม่ต้องแรงระดับเครื่องเกมคอนโซล ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง Sony PlayStation หรือ Nintendo Switch ก็มีเกมที่เล่นแบบสตรีมกันอยู่ (ของ PlayStation ใช้ชื่อ PlayStation Now) แต่ก็ไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่เพราะปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ต แต่ครั้งนี้ดูเหมือนจะใกล้ความจริงมากขึ้นเมื่อ Google ลงมาทำ Stadia แพลตฟอร์มสตรีมเกมที่สร้างบนเทคโนโลยีสุดเทพของกูเกิ้ล
เมื่อปี 2018 กูเกิ้ลเคยโชว์ Project Stream ที่เปิดให้เกมเมอร์เล่นเกม Assassin’s Creed Odyssey แบบ 60 fps ที่ความละเอียด 1080p ได้ผ่าน Chrome แบบลื่นๆ มาแล้ว มาปีนี้กูเกิ้ลจึงพัฒนาออกมาเป็นแพลตฟอร์ม Stadia เต็มตัวเพื่อให้นักพัฒนาสามารถทำเกมให้บริการบน Stadia ได้เลย
จุดเด่นของ Stadia คือการเชื่อมต่อที่รวดเร็ว การรองรับผู้เล่นจำนวนมาก และสามารถแชร์การเล่นขึ้นโซเซียลได้เลย ซึ่งสิ่งที่กูเกิ้ลโชว์บนเวทีคือ หลังจากผู้เล่นดูวิดีโอของ Assassin’s Creed จบบน Youtube ก็สามารถกดเล่นได้เลย และใช้เวลาเพียง 5 วินาทีเกมก็พร้อมเล่นแล้ว
เกมของ Stadia จะเล่นบนอุปกรณ์ไหนก็ได้ เช่นแท็บเล็ต หรือทีวีที่เสียบ Chromecast ก็เล่นเกมได้
พร้อมกันนี้กูเกิ้ลยังได้เปิดตัว Stadia Controller จอยที่เชื่อมตรงกับ Wifi เพื่อการเล่นเกมสตรีมโดยเฉพาะ มีปุ่ม Capture สำหรับจับภาพ มีปุ่ม Google assistant ด้วย
ว่าด้วยเรื่องความเทพของเซิร์ฟเวอร์ Stadia
Google สร้าง Stadia บนแพลตฟอร์มเซิร์ฟเวอร์ของตัวเอง ซึ่งกระจายอยู่ในที่ต่างๆ อยู่แล้ว ทำให้การเชื่อมต่อตัดตรงหาคนเล่นกว่าเซิร์ฟเวอร์ปกติที่ต้องผ่านกันหลาย Node
ซึ่ง Stadia แต่ละเครื่อง (หมายถึงแต่ละเครื่องจำลองที่เปิดเล่นบนเซิร์ฟเวอร์) จะมีประสิทธิภาพในการประมวลผลภาพ 10.7 teraflops ซึ่งสูงกว่า Playstation 4 Pro และ Xbox One X เสียอีก ทำให้สามารถเรนเดอร์ภาพ 4K และเสียงรอบทิศทางส่งตรงมาถึงบ้านได้ ซึ่งในอนาคตจะทำได้ถึง 8K 120 fps เลย ซึ่งหน่วยประมวลผลนี้ Google ร่วมมือกับ AMD ในการทำชิปสำหรับเซิร์ฟเวอร์ใหม่
ซึ่งพอเล่นไปบน Cloud แล้ว ก็ทำให้สามารถเล่นไปพร้อมกับสตรีมวิดีโอลง Youtube ได้เลยแบบ 4K แถมยังเล่นเกมพร้อมๆ กันแบบ Cross Platform ได้อีก เกมอย่าง Doom Eternal ก็สามารถเล่นได้ 4K HDR แบบ 60fps
Stadia อนาคตของวงการเกม?
เพื่อพิสูจน์ว่างานนี้กูเกิ้ลเอาจริง ก็เลยตั้งสตูดิโอ Stadia Games and Entertainment เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการพัฒนาเกมลง Stadia (First party games studio) โดยสตูดิโอนี้มี Jade Raymond หนึ่งในผู้ให้กำเนิดซีรี่ส์ Assassin’s Creed เป็นหัวหน้า ซึ่งก็น่าจะทำเกม Exclusive ให้ Stadia แหละ
นอกจากนี้ก็ยังเปิดให้นักพัฒนาภายนอกสามารถทำเกมลง Stadia ได้โดยมีข้อมูลให้ศึกษาที่ stadia.dev และยังมีชุดนักพัฒนาให้เอาไปสร้างเกมกันได้อีกด้วย
ส่วนสำหรับบุคคลทั่วไปให้ดูข้อมูลกันได้ที่ stadia.com แต่ยังเข้าจากในไทยไม่ได้ และจะเปิดให้บริการในปี 2019 นี้ แต่ยังเล่นในไทยไม่ได้เช่นกันจ้า เริ่มต้นจะเล่นได้ในอเมริกา, แคนาดา, อังกฤษ และประเทศในยุโรปก่อน
แต่การที่ Stadia จะประสบความสำเร็จได้ ก็มีปัจจัยอีกหลายอย่าง ที่สำคัญคือเกมแม่เหล็กต่างๆ ต้องมีให้เล่นกันอย่างเพียงพอ และขยายตลาดไปให้บริการทั่วโลกได้เร็วพอสมควร ซึ่งตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าค่าบริการของ Stadia มันจะเท่าไหร่ แล้วเราจะมีโอกาสได้เล่นในไทยไหมครับ