เชื่อว่าคนรักเกมทั้งหลายที่ได้เห็นเทรลเลอร์แรกของ Sonic the Hedgehog ฉบับภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉายนี้ ต่างต้องเกิดคำถามขึ้นมาในหัวที่กลายเป็นความวิตกกังวลในภายหลัง “อีกแล้วหรอหนังจากเกม มันจะรอดไหม?” เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาภาพยนตร์ประเภทดังกล่าว มีเพียงไม่กี่เรื่องที่รอดพ้นและเฉียดฉิวกับคำว่าแย่
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนเลยอยากที่จะชวนผู้อ่านที่น่ารักมาลองวิเคราะห์กันดู ถึงเหตุผลที่พอจะเป็นตัวแปรให้หนังจากเกมหนึ่งเรื่องในด้านของคุณภาพ ด้วยห้วข้อที่ว่า “เหตุใดหนังจากเกมมักออกมาแย่?”
ความยาวของหนังไม่สามารถบอกเล่ารายละเอียดของเกมได้มากพอ
ไม่เพียงแค่เกม หากแต่นวนิยาย, ของเล่น ไปจนถึงหนังสือการ์ตูน ปัญหาดังกล่าวก็เป็นอีกหนึ่งข้อกวนใจที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ของหนังเรื่องนั้น ๆ ออกมาไม่ดี จำกันได้ไหมว่าโหมดเนื้อเรื่องในเกม Warcraft คุณใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะเล่นจบ? และเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเกมมันลึกขนาดไหน?
เกม เป็นสื่อน้องใหม่ที่มีการให้ความสำคัญกับบอกเล่าเรื่องราวหรือเนื้อเรื่องไม่ต่างจากสื่อประเภทอื่น เพราะเมื่อผู้เล่นกระโดดเข้าสู่โลกของเกม เราจะได้ซึมซึบเรื่องราวทั้งโดยตรงและอ้อมที่ตัวเกมนำเสนอ ประวัติของตัวละครนั้น ๆ, ความเป็นมาและตำนานของโลกพื้นหลัง (Background Story & Lore), ภารกิจหลักของเกมที่ร้อยเรียงเรื่องราวไปยังเหตุการณ์ถัดไป และในบางเกม ผู้เล่นจะได้รับรู้เรื่องราวเสริมที่ชวนให้ติดตามและบ้างก็เกี่ยวพันกับเนื้อเรื่องหลักผ่านภารกิจย่อย
แน่นอนว่าที่กล่าวมาทั้งหมด หากตีค่าออกมาเป็นปริมาณในรูปแบบของเวลาแล้วล่ะก็ หนึ่งหรือสองชั่วโมงของความยาวหนังนั้นไม่เพียงพอที่จะบอกเล่าความสำคัญต่าง ๆ เป็นแน่
เงินทุนที่มากพอสร้างผลงานที่มากด้วยคุณภาพ
ปฎิเสธไม่ได้หรอกนะครับว่า “เงิน” ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของภาพยนตร์ ลองนึกภาพตามนะ จะเป็นอย่างไรหากภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากเกมวางกลยุทธ์ในตำนานอย่าง StarCraft ไม่สามารถรังสรรค์สงครามระหว่างเผ่าพันธุ์เพราะงบประมาณในการสร้าง CGI จำกัดจำเขี่ย? หรือจะกับภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นมาแล้วอย่าง Street Fighter: The Legend of Chun Li ที่ปรับเปลี่ยนบทบาทเดิมของตัวละครโลกจดจำมากหน้า (M. Bison, Vega ฯลฯ) ด้วยนักแสดงที่มีชื่อในวงการไม่มากนักหรือถดถอยลงตามการเวลา?
ศาสตร์ของภาพยนตร์คือการกล่อมให้คนดูเชื่อ (Convict) ว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นบนจอเงินสมจริงหรือน่าเชื่อถือ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากหนึ่งในปัจจัยที่เกิดขึ้น ณ กระบวนการก่อนการผลิต (Pre-Product) อย่าง “เงินทุน” ดับฝันสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ มันก็เป็นเรื่องที่พูดยากเหมือนกัน เพราะค่ายหนังเองก็คงไม่กล้าเสี่ยงโยนเงินทิ้งขว้างบ่อยครั้ง (ยิ่งเฉพาะกับหนังจากเกมที่มักจะล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ)
ผู้สร้างไม่เข้าใจตัวตนของเกมโดยถ่องแท้
ย้อนกลับไปในปี 2005 “DOOM” ภาพยนตร์ที่สร้างจากเกมชื่อเดียวกัน ได้ถูกสร้างขึ้นโดยมีการตีความภาพรวมของหนังออกมามีกลิ่นอายความสยองขวัญเป็นหลักและให้แอกชั่นเป็นส่วนรองลงมาซึ่งมันก็ใกล้เคียงกับตัวเกมภาค 3 ที่ถ่ายทอดความน่ากลัวออกมาผ่านบรรยากาศการเล่น แต่กระนั้นผลลัพธ์และเสียงความคิดเห็นก็เป็นในทิศทางที่ไม่สู้ดีสักเท่าไหร่ เพราะตัวตนแท้จริงของเกมซีรีส์ DOOM มันควรจะต้องเป็นความดีเดือดเลือดคลั่งสาดกระสุนใส่เหล่าอสูรกาย (และถึงแม้ตัวหนังจะมีซีนมุมกล้องบุคคลที่หนึ่งลองเทคร่วม 5 นาทีมาให้ในช่วงท้าย แต่มันก็ไม่ได้ภาพรวมของหนังออกมาถูกใจแฟนหรือแม้แต่คนดูหนังปกติได้)
ว่ากันง่าย ๆ คือ DOOM และหนังจากเกมที่ผ่านมาหลายเรื่อง ผู้สร้างไม่ได้มีความแตกฉานและเข้าใจแก่นของเกมต้นฉบับสักเท่าไหร่ งานที่ออกมาเลยเป็นเพียงการหยิบจับชื่อของเกมมาใช้อย่าง “ฉาบฉวย” ไม่ได้สร้างความอินความรู้สึกร่วมให้กับแฟน ๆ ได้ หรืออย่าว่าแต่แฟน ๆ เลย กับคนดูธรรมดาเองก็ยังรับรู้ได้ว่าตัวหนังมีการดำเนินเรื่องที่ไม่แข็งแรง เพราะขนาดแกนกลางยังไม่คงที่ แล้วส่วนอื่น ๆ มันจะเสถียรได้ยังไง?
เคารพเกมมากเกินไปจนลืมตรระกะในโลกภาพยนตร์
หลายคนมักตวาดและไล่ตะเพิดให้หนังจากเกมไป “ทำตามต้นฉบับแบบหัวจรดเท้าซะ” จะคิดใหม่ทำใหม่ทำไม? ผู้เขียนคิดว่าในบางเกมที่มีเนื้อเรื่องแข็งแรงอยู่แล้วมันก็ทำได้แหล่ะ แต่อย่าลืมว่าบางเกมมันก็ถูกสร้างมาเพียงเพื่อความสนุกระหว่างเล่นเพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น การทำออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ที่เติมแต่งเรื่องราวขึ้นมาใหม่เพื่อให้มีช่องว่างในการใส่แก่นของเกมต้นฉบับ มันเลยดูจะเป็นความพยายามไปสักหน่อย
ลองนึกภาพตามกันง่าย ๆ ว่า PUBG (PlayerUnknown’s BattleGround) ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ทั้ง ๆ ที่เนื้อเรื่องของเกมตั้งต้นมันไม่ได้มีตั้งแต่แรกแต่ต้องใส่จุดเด่นของเกมเข้าไปในหนังคือการต่อสู้ด้วยยุทธปกรณ์ที่แจกจ่ายมากมายบนเกาะร้างที่มีกระแสไฟฟ้า (แต่เห็นคนเล่นจะเรียกติดปากกันว่าวงบีบ กับหมอกบีบ) บีบให้ผู้รอดชีวิตต่อสู้กันในพื้นจำกัดเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย หรือถ้าเป็น Counter-Strike ที่พื้นเพของตัวเกมตั้งต้นเป็นเพียงการแบ่งฝั่งของกลุ่มก่อการร้ายที่ต้องคอยวางระเบิดและหน่วยต่อต้านผู้ก่อการร้ายที่ต้องคอยแก้ระเบิด ที่หากทำออกมาเป็นหนังจริง ๆ ทางทีมสร้างก็คงต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะทำแก่นการเล่นของให้ออกมาลื่นไหลเป็นเรื่องในภาพยนตร์ได้อย่างไร
ลึก ๆ แล้วเราต่อต้านเพราะอยากจดจำเกมที่เรารักแค่ในรูปแบบของ “เกม”
เคยรู้สึกกันไหมครับว่าความทรงจำบางอย่างที่เราได้รับ มันควรจะถูกกักเก็บไว้เช่นนั้นจนกว่าจะมีความทรงจำใหม่ที่ดีกว่าหรือเทียบเคียงมาแทนที่ ซึ่งก็หลายครั้งที่ “เกม” สื่อน้องใหม่บนโลกใบนี้ ได้ฝากความประทับเอาใจไว้มากมายให้กับผู้เล่นและเราก็ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่านั้น
แต่เมื่อการมาของแนวคิด “นำเกมมาสร้างเป็นหนัง” ได้เกิดขึ้นเพื่อหวังจะดึงเงินของเกมเมอร์มาสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์บ้าง และออกมาเป็นรูปธรรมครั้งแรกผ่านภาพยนตร์ที่ใช้ชื่อเดียวกันกับอย่าง Super Mario Bros. นั้น มันได้สร้างความร้าวรานไปยังหัวใจของแฟนเกม ด้วยความห่วยบรมของตัวหนังที่เข้าขั้นใครดูแล้วก็อยากจะขุดหลุมฝัง ที่ความโชคร้ายของเรา ๆ เหล่าเกมเมอร์ยังไม่จบลงเพราะนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาพาเหรดหนังจากเกมก็ทยอยออกมาเรื่อย ๆ โดยไม่ได้ยี่หระถึงคุณภาพจนทำให้พวกเรามีอาการปิดใจที่บ้างก็เกิดขึ้นอย่างตั้งใจและไม่ทันได้รู้ตัว
ซึ่งเมื่อหนังจากเกมไม่สามารถทำให้เราพึงพอใจ แทนที่หรือเติมเต็มความรู้สึกต้นตำรับที่เรามีต่อเกมเหล่านั้นได้ ลึก ๆข้างในเราเลยสร้างเกราะป้องชั้นไว้ชั้นหนึ่งเพื่อปกป้องภาพจำของเราที่มีคุณค่าต่อจิตใจจนกว่าจะเจอสิ่งใดมาทดแทนได้
แต่เอาเขาจริง ๆ ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาเป็นเพียงความรู้สึกของผู้เขียนเท่านั้น เพราะอย่างไรก็ตามภาพยนตร์มันคืองานศิลปะประเภทหนึ่ง และความรู้สึกที่ได้จากงานศิลปะนั้นมีเพียง หัว/ก้อย, ชอบ/ไม่ชอบ, ใช่/ไม่ใช่ เป็นเพียงเรื่องของวิจารณญาณส่วนบุคคลไม่มีความคิดเห็นของใครผิดและถูกครับ