เมื่อพูดถึงความทรงจำในวัยเด็ก เชื่อว่าชาวเกมเมอร์หลายๆคนคงจะมีความประทับในใจหลายๆสิ่ง กับเกมที่ตัวเองได้เล่นในตอนนั้น ซึ่งส่วนมากจะมีความทรงจำที่ในช่วงยุคปลาย 1990 จนถึงช่วงต้นปี 2000 ที่เป็นยุคที่เครื่อง PS1 วางตลาด แต่ถ้าเราย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ในยุค 1980 ที่เกมยังเป็นตลับบนเครื่อง Famicom เรามาดูกันว่าเกมเมอร์ในยุคนั้น มีอะไรที่น่าจดจำเกี่ยวกับวงการเกมกันบ้าง ถ้าพร้อมแล้วเรามานั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปดูกันเลย กับย้อนอดีตสิ่งที่น่าจดจำสำหรับเกมเมอร์ยุค 80 ถึงต้น 90

เป่าตลับเกม

เริ่มต้นสิ่งแรกที่เหล่าเกมเมอร์ยุค 80 ถึง 90 จะรู้กันเป็นอย่างดี เมื่อต้องเล่นเกมแบบตลับ ทั้งบนเครื่อง Famicom, Super Famicom หรือแม้แต่ตลับ Gameboy เมื่อเสียบตลับไปแล้วมันไม่ติด เกมเมอร์ยุคนั้นจะเอาตลับเกมมาเป่าแรงๆ เพื่อไล่ฝุ่นที่ติดในแผงวงจรออกไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เพียงแค่เราเอาตลับออกแล้วเสียบใหม่ก็ได้แล้ว แต่เชื่อรึเปล่าว่าบางครั้งการเอาออกแล้วใส่ซ้ำๆหลายครั้ง เกมก็ไม่ติดตามที่เราต้องการ แต่พอเป่าเท่านั้นละทีเดียวเปิดติด ไม่เชื่อลองถามเกมเมอร์รุ่นนั้นดูว่ามีใครไม่เคยทำแบบนี้บ้าง และไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้น แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นหรือต่างประเทศก็ทำเหมือนเรา โดยไม่ได้นัดหมายกันเลยทีเดียว

แต่ก็มีข่าวออกมาตอนหลังว่าการเป่าตลับไม่ได้ช่วยอะไรนะ แต่ทำให้ตลับพังเร็วขึ้น เพราะน้ำลายของเราด้วย 555

นิตยสารเกมรายสัปดาห์

ในยุคที่โทรศัพท์มือถือยังเป็นสิ่งหายาก คอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ตยังเป็นของไกลตัว เพจเจอร์เป็นสิ่งที่ฮิตในกลุ่มวันรุ่น สิ่งเดียวที่ชาวเกมเมอร์ในยุค 80 ถึง 90 จะติดตามข่าวสารวงการเกมในยุคนั้นได้ ก็คือนิตยสารเกม ที่ในยุคนั้นเริ่มจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างเครื่อง Famicom ไปเครื่อง Super Famicom และมีเกมยอดฮิตมากมายเกิดขึ้น ทั้งเกมซีรี่ส์ Dragon Quest, Final Fantasy รวมถึงเกมใหม่อย่าง RockMan X และอีกหลายเกมแต่สิ่งที่เหล่าเกมเมอร์ยุคนั้นสนใจ ไม่ใช่เพียงแค่ข่าวสารเกมใหม่ที่จะวางตลาด แต่สิ่งที่เกมเมอร์ยุคนั้นสนใจคือสูตรเกมต่างๆ รวมถึงบทสรุปบอกเส้นทางเฉลยเกมต่างๆ โดยเกมในยุคนั้นส่วนมากจะเป็นเกมภาษาญี่ปุ่น ที่เป็นกำแพงภาษาที่ยิ่งใหญ่ ที่ชาวเกมเมอร์ยุคนั้นจะเข้าใจ นิตยสารเกมจึงมีบทบาทที่สำคัญ ที่ทำให้เหล่าเกมเมอร์ยุคนั้นติดตามซื้อกัน

ไปมุงดูเด็กบ้านรวยเล่นเกม

อีกหนึ่งความทรงจำในวัยเด็กของชาวเกมเมอร์หลายๆคน ต้องเคยผ่านประสบการณ์ไปนั่นดูเด็กบ้านที่มีฐานะเล่นเกม ไม่ว่าจะเป็นเกม Famicom ไม่ก็เครื่อง Super Famicom ที่ใช้หัวโปรในการเล่นเถื่อน และเราที่บ้านไม่มีเครื่องเกม ก็ทำได้แค่ไปนั่งดูเด็กๆ บ้านรวยนั้นๆเล่น ซึ่งถ้าโชคดีเด็กบ้านมีฐานะก็จะให้เราได้เล่นตาสองตา แค่นั้นก็มีความสุขฟินไปทั้งวัน และเชื่อว่าเกมเมอร์หลายๆ คนในยุคนั้น ก็คงอ่านนิตยสารเกมทั้งที่บ้านตัวเกมไม่มีเครื่องเกม แต่การได้บอกสูตรแสดงสิ่งที่รู้ให้เพื่อนๆ เห็น ก็ทำให้เราดูเจ๋งในสายตาเพื่อนๆ เป็นอย่างดี และอย่าพูดถึงร้านเช่าเกม เพราะในยุคนั้นร้านเช่าเกมยังมีน้อยถึงน้อยมากๆ ต้องยุคของ PS1 แล้วจึงจะมีร้านเช่าเกมเกิดขึ้นมาเยอะ ซึ่งหลังจากมีร้านเช่าเกมและคอมพิวเตอร์ เราก็เปลี่ยนมาเห็นเด็กๆ ยืนกดดันข้างหลัง เพื่อบอกสูตรเราแทน ซึ่งเป็นยุคถัดมานั่นเอง

ตลับเกมแท้เป็นอย่างไร..?

อย่างที่ทราบกันดี ว่าในยุคนั้นการสื่อสารหรือความรู้ในเรื่องต่างๆ มันยังไม่แพร่หลายเท่ากับในยุคนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กในยุคนั้น จะไม่ทราบถึงเกมแท้กับเกมเถื่อนตลับก๊อปปี้เป็นอย่างไร  เพราะส่วนมากที่เราๆ เหล่าเกมเมอร์ในยุคนั้น เวลาไปซื้อเกม ก็จะได้เกมเป็นตลับแบบนี้มาเลย  ขณะที่ตลับแท้จะมีกล่องและหนังสือคู่มือ ที่เหมาะกับการสะสม รวมถึงตลับ 10 in 1 เราก็คิดว่ามันคือตลับแท้ ทั้งที่ความจริงแล้วมันคือของก๊อปทั้งสิ้น และเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะทราบว่าตัวเกมตลับแท้หน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ซิเราไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามันคือของก๊อป และแน่นอนว่าตลับแท้มันราคาแพงถึงแพงมากๆ อาจจะหลักพันเลยทีเดียว ขณะที่ของก๊อปตลับ 300-500 ก็จัดว่าแพงมากๆในยุคนั้น ที่ก๊วยเตี๋ยวชามละ 10 บาทพิเศษ 15 บาทเท่านั้น

หนังสือสูตรเกม

อีกหนึ่งสิ่งที่ในยุคนั้นจัดว่ามันคือแรร์ไอเทม ที่ค่อนข้างหายากราคาแพง ที่เกมเมอร์ยุคนั้นหลายคนอยากได้มาสะสมหรือใช้งาน นั่นคือหนังสือสูตรเกม ที่ในยุค 80 ถึง 90 นั้นหนังสือสูตรเกมจะเป็นการเฉลยทุกสิ่งที่อย่าง ที่เกี่ยวกับเกมนั้นๆ แบบละเอียด ที่ต่างกับนิตยสารเกมที่จะเฉลยแค่บางส่วนหรือบางสูตร ขณะที่หนังสือสูตรเกมนั้นจะผลิตออกมาน้อยถึงน้อยมากๆ แถมยังหาซื้อยาก ใครมีถือว่าเป็นซูเนโอะประจำกลุ่มไม่แพ้คนที่มีเครื่องเกมเลย ก่อนที่ในยุคของ PS1 หนังสือสูตรเกมก็บูมถึงขีดสุด ก่อนที่จะหายไปตามกาลเวลาเมื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามา โดยเกมที่ออกมาก็มักจะเป็นเกมภาษาชื่อดัง ที่แปลมาจากหนังสือต่างประเทศ ที่ราคาในยุคนั้น เล่มละ 65 บาทก็ถือว่าแพงมากๆ เพราะนิตยสารเกมราคาเพียง 10 บาทเท่านั้น

เทิร์นเกมคนขายดูค่าเม็กความจุ

อ่านหัวข้อแล้วเกมเมอร์ยุคใหม่อาจจะงง ว่ามันหมายถึงอะไร กับการดูค่าเม็กความจุของเกมในการเทิร์น ต้องอธิบายอย่างนี้ว่า ค่าเงินในช่วง 80-90 นั้นของที่ราคา 50 บาทจัดว่าคือของแพงมากๆ เมื่อเทียบกับยุคนี้ และเกมที่ราคาตลับ 300 บาทจึงเป็นอะไรที่เกินเอื้อมหรือที่พ่อแม่จะซื้อให้ลูกๆ การเทิร์นตลับเกมกับร้านขายจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมา โดยอัตราการแลกเปลี่ยนตลับเกมในยุคนั้น ไม่ได้ดูที่ตัวเกมว่าดังคนเล่นเยอะเล่นน้อย แต่จะดูที่ค่าความจุของเกม ที่ค่าความจุเยอะก็จะราคาแลกเปลี่ยนแพง อย่างเกม Dragon Quest lV ที่มีค่าความจุสูง คนที่อยากแลกที่มีตลับเกม RockMan 1 มาแลก จะต้องเพิ่มราวๆ 100 ถึง 200 บาทเป็นค่าแลก ที่แต่ละร้านก็จะมีค่าการคำนวณต่างกันอีกด้วย

เล่น Game Boy ต้องหันหลังให้แสง

ในช่วงยุค 80-90 นั้นนอกจากเครื่องเกม Famicom กับ Super Famicom แล้ว ยังมีเครื่อง GameBoy อีกหนึ่งเครื่องเกม ที่ชาวเกมเมอร์ในยุคนั้นชื่นชอบและมีเล่นกัน ซึ่งอย่างที่เราคงทราบกันดี ว่าเครื่องเกมมือถือในยุคนั้นไม่มีแสงหน้าจอ แบบเกมมือถือยุคนี้ ซึ่งกว่าที่เครื่อง GameBoy จะมีไฟหน้าจอ ก็ปาเข้าไปรุ่น Game Boy Advance SP ในปี 2003 เข้าไปแล้ว และเมื่อมันไม่มีสีและไม่มีแสง การเล่นในที่มืดจึงทำไม่ได้ และทุกครั้งที่เล่น เราต้องเล่นในที่ๆ มีแสงเพียงพอด้วย เอาง่ายๆ ในห้างที่เราเดินๆ ตอนนี้ แสงไม่พอเล่นเครื่อง GameBoy รุ่นเก่า ถ้าใครอยากเล่นในที่มืดก็ต้องใช้อุปกรณ์เสริม ที่มีขนาดใหญ่ใส่ถ่านต่างหาก แถมน้ำหนักก็ใช่ย่อยเลยทีเดียว เรียกว่าจะเล่นเกมพกพาเป็นอะไรที่ลำบากมากๆ แต่ก็ไม่เกิดความพยายามของเกมเมอร์ยุคนั้น

การ์ตูนที่ถูกทำเป็นเกมคือของล้ำค่า

คงจะทราบกันดีว่าในช่วงปลายยุค 80 ถึงต้น 90 นั้น การติดตามการ์ตูนที่ตัวเองชื่นชอบนั้น จะทำได้จากการซื้อหนังสือรายสัปดาห์ ที่ในยุคนั้นก็มีหลายเจ้าที่พิมพ์ออกมาวางขาย หรือไม่ก็รอดูทางช่องฟรีทีวีที่เอามาฉาย ทั้งนินจาเหมียว ดราก้อนบอล เจ้าหนูสามตา ดังนั้นเกมที่ออกมาจากการ์ตูนเรื่องดังเหล่านั้น จึงเหมือนเป็นสิ่งมีค่าของเด็กยุคนั้นชื่นชอบ และอยากเล่น   แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะหามาเล่นได้ ยิ่งในต่างจังหวัดที่ไม่มีร้านเกมแลกเปลี่ยนซื้อขายเกม บ้านใครที่มีเกมจากการ์ตูน จะถือเป็นซูเนโอะประจำกลุ่มเลยทีเดียว ต่างกับในยุคนี้ที่เกมจากการ์ตูนไม่ค่อยจะฮือฮาเท่าในยุคอดีต ด้วยความหายากและทรงคุณค่า ที่ตรงกับเนื้อหาในการ์ตูนที่ดูในตอนนั้น การ์ตูนที่มาเป็นเกมจึงเป็นของมีค่าที่เหล่าเกมเมอร์ยุคนั้นชื่นชอบ

สะพานเหล็กคือสวรรค์ของชาวเกมเมอร์

ถ้ามีการจัดอันดับสถานที่ในกรุงเทพ ที่เด็กในยุค 80-90 อยากไปเที่ยว คงจะมีชื่อสะพานเหล็กติดอันดับอยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะสะพานเหล็กในยุคนั้น ยังไม่ใช่สะพานเหล็กที่ขายของเล่นรถบังคับอย่างที่เรารู้จักก่อนโดนทุบ แต่สะพานเหล็กในยุคก่อนนั้น จะเน้นไปที่การขายเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ปะปนกับร้านขายเกม ก่อนที่เกมจะได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายสะพานเหล็กก็มีแต่ร้านขายเกม และเป็นสถานที่เริ่มต้น ของการแลกเปลี่ยนเทิร์นเกมก็เริ่มจากที่นี่เป็นที่แรก นับเป็นสถานที่ในตำนานที่เหล่าเกมเมอร์ในยุคนั้นอยากไปเที่ยว พอๆ กับแดนเนรมิตและสวนสยามเลยทีเดียว (แต่ก็ขึ้นชื่อเรื่องโดนย้อมแมวเช่นกันนะ)

ตลับเกม 10000 in 1

ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่เหล่าเกมเมอร์ในยุคนั้นต่างต้องเคยผ่านมือกันมาแล้ว กับเกม 99999999 in 1 หรือเกม Famicom ที่มีเกมใส่อยู่หลักพันเกม เรียกว่าสุดคุ้มค่าในสายตาของพ่อแม่ที่ไม่รู้เรื่องเกม ที่มักจะบอกลูกๆ ว่าซื้อทำไมเกมเดียว ดูตลับนี้ซิมีตั้ง 999999 เกมคุ้มกว่า แต่พอซื้อมาเล่นมันก็มีเกม 9999999 เกมจริงๆ แต่เป็นเกมเดียวกันแค่เปลี่ยนชื่อเท่านั้น จะมีเกมที่ไม่ซ้ำไม่ถึง 10 เกม จะดีหน่อยก็พวก 7 in 1 หรือ 66 in 1 ที่มีเกมไม่ซ้ำให้เราได้เล่น แต่ก็เป็นเกมที่มีความจุต่ำ ไม่ใช่เกมที่หลายคนอยากเล่นกัน และแน่นอนว่าในยุคนั้น โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด ไม่รู้ว่าตลับเกมพวกนี้คือของก๊อป คือรู้ว่าตลับ 9999999 in 1 คือก๊อป แต่คิดว่าพวก 66 in 1 คือของแท้ ยิ่งบ้านใครมีเครื่อง Family FR 202 กับคลับ 66 in 1 บ้านนั้นคือมีของแท้ ทั้งที่ความจริงมันก็คือของก๊อป 100% และที่ตลกเข้าไปอีก คือราคาตลับเกม 66 in 1 นั้นราคาแพงมากๆในตลาด จนราคาเคยพุ่งไปหลัก 1000 บาทเลยทีเดียวในยุคนั้น

เป็นอย่างไรกันบ้างกับการย้อนเวลาไปยุค 80-90 ที่ชาวเกมเมอร์ในยุคนี้หลายคนอาจจะเกิดไม่ทัน หรือได้รับรู้ความรู้สึกแบบนี้ เราจึงเก็บบรรยากาศมาเล่าให้ได้อ่านกัน และยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เกี่ยวกับวีดีโอเกมในยุคนั้น ที่ยังไม่ได้เอามาเล่า เอาไว้มีโอกาสจะรวบรวมสิ่งต่างๆในยุคนั้นมาเล่าสู่กันฟัง(อ่าน) อีก และถ้าใครมีช่วงเวลาที่น่าสนใจเรื่องอื่นๆอีก ก็เอามาเล่าสู่กันฟังได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกัน เพราะเรื่องราวในอดีตเอามาพูดถึงกี่ครั้งก็ยังสนุกและน่าจดจำ