ในปัจจุบันนั้นเกมแนว Souls-Like (หรือชื่อที่ดุกว่านี้คือ Souls Clone) ค่อนข้างมีออกมาในจำนวนที่มาก โดยที่ส่วนใหญ่จะก็มีความแตกต่างกันไปทั้งในรายละเอียดยิบย่อยไปจนถึงแก่นการเล่น ซึ่ง Code Vein ผลงานจากทาง Bandai Namco ก็เป็นหนึ่งในเกมแนวดังกล่าวที่ก็มีอัตลักษณ์ไปอีกแบบ แต่มันจะมีอะไรบ้าง เรามาลองหาคำตอบในบทความ First Impression นี้ที่ผู้เขียนได้เดินทางไกลไปถึงออฟฟิศ Bandai Namco สิงคโปร์กันดีกว่าครับ
Code Vein คือเกมอะไร?
Code Vein เป็นเกมแนว Action – RPG ที่ได้แรงบันดาลใจในด้านระดับความยากของการเล่นมาจากเกมตระกูล Dark Souls แต่ทั้งนี้ในภาคจองเนื้อเรื่องและโลกพื้นหลังของเกมจะแตกต่างออกไปเพราะจะว่าด้วยยุคสมัยของโลกหลังการล่มสลายและมนุษย์ทุกคนได้กลายสภาพเป็นแวมไพร์ที่ต่างก็มี Gift คำเรียกของพลังพิเศษที่จะแตกต่างหรือคล้ายคลึงกันออกไปตามแต่เลือดของแต่ละปัจเจกบุคคล ที่ซ้ำยังได้ถูกนำเสนอภาพออกมาในสไตล์อนิเมะ/มังงะกลิ่นอายญี่ปุ่น
เป็นตัวคุณในรูปโฉมและโลกพื้นหลังสไตล์อนิเมะ
ในขณะที่ Souls-Like เจ้าอื่น เลือกที่จะให้ผู้เล่นสรรค์สร้างตัวละครขึ้นมาในรูปแบบที่สมจริงและเกินจริงในรูปพรรณของมนุษย์ แต่สำหรับ Code Vein จะอิงพื้นฐานรูปโฉมของตัวละครสไตล์อนิเมะและมังงะ ที่ก็ถือว่าสามารถตกแต่งได้หลากหลายและยิบย่อยดี ไม่ว่าจะเป็น ทรงผมที่แบ่งเฉดสีบนหัวได้, ดวงตาที่มีตามปกติของมนุษย์ไปจนถึงดวงตาปีศาจตามแบบฟอร์มของอนิเมะ, เครื่องแต่งกายในสไตล์ที่เป็นการรวมตัวกันของความหล่อเหลาและสวยงามในรูปแบบของโกธิค (เข็มขลัด, ลายลูกไม้, เครื่องเงิน ฯลฯ)
“ความยาก” ที่แตกต่างจาก Dark Souls
บอกตรง ๆ ว่าผู้เขียนไม่ได้เป็นแฟนซีรีส์ Souls แต่เคยผ่านมือมาบ้างเล็กน้อย ซึ่งมันไม่ใช่ความสนุกที่ผู้เขียนถวิลหาเลยสักนิด (ฮ่า ๆ) แต่สำหรับ Code Vein ผู้เขียนค่อนข้างเอ็นจอยกับเกมในระดับหนึ่ง จริงอยู่ที่ตัวเกมมีความยากเป็นแกนกลางของการเล่น แต่ระบบเสริมทั้งหลายที่ตัวเกมพยายามสร้างความแตกต่างเนี้ยสิ มันดันชักจูงผู้เขียนให้เล่นได้เพลินประมาณหนึ่งเลย
สิ่งแรกเลยที่ผู้เขียนชอบก็คือระบบ “Parry” ที่เมื่อใช้ก็ติดตัวเราก็จะหลบหลีกการโจมตีครั้งนั้นของศัตรูและสวนกลับไปด้วยความเสียหายที่มากใช้ได้ ซึ่งตัวท่าค่อนข้างเป็นมิตรกับผู้ที่ไม่เคยผ่านมือเกมตระกูล Souls มาก่อน ทั้งช่วงเวลาการตั้งท่าที่ใช้เวลาโดยประมาณ 1 วินาทีกว่า ๆ และระยะการใช้ท่าที่ก็ไม่มากเกินแต่ไม่น้อยไป แถมตอนที่ท่าติดก็ยังจะอนิเมชั่นเท่ ๆ ให้ดูอีกด้วย (เซอร์วิสอนิเมะเลิฟเวอร์แบบสุด ๆ)
ถัดมาคือจังหวะ (Pace) ของเกม การเคลื่อนที่, โจมตีปกติ ฯลฯ ที่ก็ต้องบอกตรง ๆ ว่าค่อนข้างช้ากว่าเกมแนว Souls-Like ทั้งหลาย (แต่ขนาดช้าผู้เขียนก็ตายหลายรอบเหมือนกันตอนลอง…) ซึ่งมันก็มีข้อดีสำหรับมือใหม่ในเกมแนวนี้ให้ลองฝึกการจับจังหวะการเล่นได้ แต่ถ้าข้อเสียเลยคือสำหรับมือฉมังทั้งหลายคงจะมองว่าเกมมันง่ายไป
ต่อกรความยากด้วย “สกิลและคลาสตัวละคร”
สืบเนื่องจากหัวข้อล่าสุด จริงอยู่ที่เกมนี้ง่ายกว่าแนวเดียวกันเกมอื่น ๆ แต่เอาเข้าจริง ๆ มันก็ยังยากอยู่ดีนั่นแหล่ะครับ อีกอย่างถ้าจะเอาความยากมาเป็นจุดแข็งของเกมเพียงอย่างเดียวก็คงต้องสารภาพตรง ๆ ว่าน่าจะแพ้เขา ซึ่ง Code Vein ก็คงจะรู้จุดนี้ดี พวกเขาเลยใส่อีกหนึ่งกิมมิคของเกมแนว Action – RPG ร่วมสมัยลงไป นั่นคือระบบสกิลและคลาสที่สร้างความแตกต่างและความสนุกให้เมื่อตอนเล่นใช้ได้ระดับหนึ่งเลยทีเดียว
ในเวอร์ชั่น Demo ที่ผู้เขียนได้ลองเล่นนั้น ทางทีมงานจะมีอาชีพให้เลือกลองประมาณ 7 คลาส (แต่เกมนี้จะใช้คำว่า Gift ในการเรียกแทนคลาส) ที่จะแบ่งออกเป็นฝั่งละครึ่ง ซึ่ง 3 คลาสแรกจะเป็นคลาสพื้นฐานที่เปลี่ยนได้เลยเมื่อเริ่มทดลองเล่นเลย กับ 4 คลาสหลังที่จะได้ทดลองก็ต่อเมื่อผ่านบอสตัวแรกของเกมแล้ว
แน่นอนว่าความแตกต่างของแต่ละคลาสจะชัดเจนระดับหนึ่งด้วยชุดสกิลที่มีให้เลือกใช้ ค่าสถานะ และอาวุธที่ใช้ได้ อาทิ Fighter จะเป็นคลาสที่ใช้อาวุธสองมือหรืออาวุธระยะประชิดเป็นหลักและจะมีค่าสถานะที่เน้นความสมดุลของความแข็งแกร่ง และคล่องตัว ที่จะมีสกิลสอดคล้องกับความเป็นนักสู้ ตัวอย่างเช่น บัฟความเพิ่มพลังโจมตีชั่วขณะ ทาโจมตีอย่างรุนแรง เป็นต้น, Ranger คลาสที่ผู้เขียนตอบโจทย์รูปแบบการเล่นมากที่สุด เพราะจะเน้นไปที่อาวุธเบามือเดียวและอาวุธระยะไกล (ปืนหัวดาบ) โดยค่าสถานะจะถูกโอนไปทางฝั่งความคล่องตัว (Stamina) เป็นหลัก และในท้ายสุดอย่างสกิลก็จะเป็นการย้ำเรื่องความคล่องตัวด้วยท่าเข้าหา/ถอยออกจากศัตรูด้วยความเร็ว, Caster คลาสนักเวทย์ที่มีค่าพลังการใช้สกิลเยอะที่สุดและมีพลังชีวิตเปราะบางที่สุดเช่นกัน ซึ่งอาวุธที่ใช้ได้ก็จะเป็นประเภทมือเดียวและมีชุดสกิลโจมตีจากระยะไกลในการสร้างความเสียหายแทนการเอาตัวเข้าไปแลก
ส่วน 4 คลาสที่ได้เล่นในภายหลังนั้น จะเป็นเหมือนการผสมผสานความเด่นชัดกันของ 3 คลาสพื้นฐานครับ เช่น Berserker ที่ต่อยอดมาจาก Fighter ด้วยการเป็นคลาสที่เอกอุอาวุธหนัก มีพลังโจมตีและพลังชีวิตที่สูง แต่กระนั้นก็จะมีความอ่อนค่าด้านการใช้สกิล, Thoth ที่จะเป็นการผสมผสานกันของ Fighter กับ Caster ที่จะมีพลังชีวิตประมาณหนึ่ง มีความสามารถในการสร้างความเสียหายระยะใกล้ได้ และในขณะเดียวก็ยังคงมีความแพรวพราวจากชุดสกิลโจมตีระยะไกลอยู่ เป็นต้น
แถมความเจ๋งของระบบคลาสและสกิลคือเราสามารถปรับเปลี่ยนมันได้ตลอดเวลาเมื่อเห็นว่าสมควรกับการสถานการณ์ไหน ตอนที่ผู้เขียนเล่นเวอร์ชั่นทดลอง ผู้เขียนจะเล่นเป็นคลาส Fighter เพื่อเคลียร์ศัตรูตามทางเพราะคลาสนี้มีพลังโจมตีสูงตีไม่กี่ทีก็ตาย จากนั้นจึงดิ่งยาวไปยังชุดเช็คพ้อยต์ (ถ้า Dark Souls ก็คือ Bonfire นั่นแหล่ะ) ใกล้เคียงฉากที่สู้กับบอส แล้วจึงค่อยเปลี่ยนคลาส Ranger เพื่อเอาความคล่องแคล่วไปใช้สู้กับบอส เอาง่าย ๆ ว่าพลิกแพลกการเล่นได้ตลอด จังหวะไหน ศัตรูตัวไหน หรือบอสประเภทไหน ควรเหมาะสมกับคลาสใดก็เปลี่ยนไปรับมือได้เลย
AI เพื่อนที่พึ่งพาได้
นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนว้าวกับเกมนี้มากที่สุดเลยล่ะ เพราะเราคงจะปวดหัวกับ AI เพื่อนมาหลายเกมมากก่อนหน้านี้ที่เบ๊อะบ๊ะ ไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มากสุดก็แค่เป็นเพื่อนร่วมทางคลายเหงา แต่ใน Code Vein เวอร์ชั่นทดลองที่ผู้เขียนได้เล่นนั้น AI เพื่อนของเรานี่มีประโยชน์แบบสุด ๆ ไม่ว่าจะเวลาที่เราเลือกเป้าหมายใด เพื่อนของเราก็จะเข้ามาช่วยต่อสู้ด้วยที่ไม่ได้มาแค่ยืนตีงั่ง ๆ แต่เขาใช้ท่าเต็มสตรีม ปล่อยพลัง, บัฟเพิ่มความสามารถ หรืออะไรก็ตาม เพื่อนเราจัดให้หมด!
แถมยิ่งตอนสู้กับบอส เราก็จะยิ่งได้เห็นเลยว่าเขามีประโยชน์ในการช่วยเหลือเราขนาดไหน คือตอนที่เล่นอยู่ผู้เขียนตายบ่อยมากเพราะยังจำจังหวะการตีของบอสไม่ได้และปล่อยจอยยอมแพ้ แต่ AI เพื่อนเนี้ยสิ อยู่ดี ๆ ก็ใช้ท่าแบ่งพลังเลือดมามาชุบชีวิตให้เฉย และมีช็อตหนึ่งที่ผู้เขียนจะฆ่าบอสหล่อ ๆ เพื่อเอาภาพมาลงบทความนี้ซะหน่อย แต่ไอเพื่อนมันดันปล่อยสกิลที่มีพลังโจมตีเท่ากับเลือดที่บอสเหลือด้วย!
Code Vein เป็นเกมที่มีความน่าสนใจและสนุกในสไตล์ Dark Souls แต่ก็มีความแตกต่างออกไปอยู่พอสมควรด้วยระบบคลาสและสกิล แถมยิ่งเรื่องของ AI เพื่อนยิ่งเป็นอะไรที่เจ๋งเอามาก ๆ มันมีความฉลาดเอามาก ๆ ก็คงต้องมาดูกันละครับว่าเมื่อตัวเกมเป็นรูปเป็นร่างพร้อมวางจำหน่ายเมื่อไหร่จะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่ผู้เขียนได้ทดลองในเวอร์ชั่น Demo ไหม “แต่เอาเป็นว่าอย่าประมาทเกมนี้ละกันครับ”