หลังจากที่องค์กรอนามัยโลกอย่าง WHO (The World Health Organization) ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าติดเกมนับเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่ง ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีที่ผู้ปกครองของน้อง ๆ ทั้งหลายสามารถเฝ้าระวังและแยกแยะอาการลูกหลานของตนว่าสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวหรือไม่ แต่ในขณะเดียวก็ข้อเสียที่ตามมาคือกลุ่มคนที่รักในการเล่นโดยไม่ได้มีอาการหรือสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นโรคชนิดนี้ ซึ่งแบไต๋ของเราก็ยอมไม่ได้ที่จะเห็นเกมเมอร์ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกตีตราว่าเป็นคนติดเกม! ทางเราเลยจัดทำบทความนี้ขึ้นมาอันว่าด้วย 9 สัญญาณชี้วัดคุณเป็นโรคติดเกมหรือไม่? ตามไปดูกันเลยดีกว่าครับว่าจะมีข้อใดที่คล้ายกับตัวคุณหรือไม่ใช่โดยสิ้นเชิง!
1. หมกมุ่นและนึกถึงเกมบ่อยครั้ง – ตลอดเวลา
ผู้ที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวนั้น มักจะคิดถึงช่วงเวลาเล่นเกมก่อนหน้านี้ จนส่งผลให้การเล่นเกมเข้ามาเป็นหนึ่งในและถูกสอดแทรกเข้ามาในชีวิตประจำวัน
2. มีอาการหงุดหงิด กระวนกระวายใจ เบื่อหน่าย หรือเศร้าโศกเมื่อขาดการเล่นเกม
เมื่อผู้ที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวถูกระงับการเล่นโดยฉับพลันหรือจากการห้ามปรามด้วยตัวเอง พวกเขาก็จะมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวายใจ เบื่อหน่าย เศร้าโศก หรืออาการใดอาการหนึ่งเมื่อขาดการเล่นเกม
3. มีความต้องการจะเล่นเกมนานขึ้นเรื่อย ๆ
ผู้ที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว จะมีความต้องการที่จะใช้เวลาเพิ่มขึ้นในการเล่นเกม โดยมีต้นตอมาจากความต้องการที่บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายของที่ตัวเกมตั้งไว้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีสิ่งใดที่ค้างคาใจ
4. ไม่สามารถควบคุมและเป็นส่วนหนึ่งกับผู้เล่นคนอื่นในเกมได้ (เกมออนไลน์)
ผู้ที่มีโอกาสสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวมีความต้องการจะปลีกวิเวกไม่ต้องการเข้าร่วมหรือมีปฎิสัมพันธ์หรือมีส่วนร่วมกับผู้เล่นอื่นในเกม
5. สูญเสียกิจกรรมยามว่างรูปแบบอื่นที่เคยมีก่อนหน้านี้
เกมจะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ผู้ที่มีอาการสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวมีความปราถนาและครุ่นคิด
6. สามารถเล่นเกมได้ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะทางอารมณ์รูปแบบไหน
ผู้ที่มีอาการสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวจะสามารถเล่นเกมอยู่ได้แม้ในตอนนั้นจะประสบพบเจอสภาวะอารมณ์แบบไหนก็ตามไม่ว่าจะเป็นด้านลบหรือบวก
7. ไม่ยอมรับตนเองพร้อมบอกคนรอบข้างว่าตนไม่ได้มีอาการ
ผู้ที่มีอาการสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวนั้น ลึก ๆ แล้วจะไม่ยอมรับตัวเอง หรืออาจจะไม่ทราบแน่ชัดว่าตัวเองเป็น แต่ที่แน่ ๆ จะชัดเจนด้วยการบ่ายเบี่ยงว่าพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของตนนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากเกม
8. ใช้โลกของเกมเป็นประตูหลีกหนีหรือรับรู้ความรู้สึกด้านลบ
ผู้ที่มีอาการสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวจะใช้เกมเป็นดั่งประตูไปสู่อีกโลกหนึ่งที่สามารถหลบหนีความรู้สึกด้านลบต่าง ๆ อาทิ ความรู้สึกผิด, ความวิตกจริตกังวล, ภาวะสิ้นหวัง เป็นต้น
9. ไม่อยากมีปฎิสัมพันธ์กับบุคคลโดยรอบ
ผู้ที่มีอาการสุ่มเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวจะมีความต้องการปลีกวิเวกออกจากบุคคลโดยรอบทั้งจากสถานที่ทำงาน, สถานที่ศึกษา หรือสถานที่ที่มีโอกาสได้พบปะผู้คน
เอาเป็นว่าถ้าใครไม่ได้มีอาการใด ๆ เลยก็ขอแสดงความยินดีคุณคือเกมเมอร์ธรรมดาคนหนึ่ง แต่หากใครที่มีอาการตามนี้อย่างน้อย 5 ข้อขึ้นไปเป็นระยะเวลาร่วม 12 เดือน ยังไงก็แนะนำให้ลองปรึกษาจิตแพทย์หรือลดการเล่นเกมลงสักหน่อยละกันนะครับ ด้วยความปรารถนาดีจากแบไต๋จ้า
ภาพ: Cnet
ข้อมูล: Gamequitters