สี่เท้ายังรู้พลาดนักปราชญ์ยังรู้พลั้ง คำ ๆ นี้ไม่ว่ายุคไหนสมัยใดก็ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ เพราะไม่ว่าจะเป็นวงการไหนเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ย่อมต้องมีความผิดพลาดหรือการพลาดพลั้งเกิดขึ้นเสมอ เว้นแต่ว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นมันจะเล็กใหญ่ หรือส่งผลกระทบวงกว้างขนาดไหน อย่างเช่นวงการเกมที่ความผิดพลาดหลายเรื่องที่เกิดขึ้น ก็มักสร้างคลื่นขนาดใหญ่ส่งผลกระทบกับแฟน ๆ เกม และนี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่อค่ายเกมทำบางเรื่องที่ผิดพลาดลงไป เรามาดูกันว่ามีเรื่องอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง
Konami ไล่ Hideo Kojima ส่งผลต่อ Metal Gear Solid
เริ่มต้นกับคลื่นลูกแรกที่ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ครั้งหนึ่งในวงการเกม ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2015 กับการประกาศลาออก (ถูกไล่ออก) ของบิดาผู้ให้กำเนิดเกมสายลับในตำนานอย่างซีรีส์ Metal Gear Solid อย่าง Hideo Kojima ที่ในช่วงนั้นมีกระแสออกมาอย่างมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดระบบอินเทอร์เน็ตของทีมพัฒนา การกดดันของ Konami ต่อทีมงานระหว่างพัฒนาเกม Metal Gear Solid 5 ที่เอาเกมซึ่งยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์มาขาย และตัดชื่อของ Kojima ออกจากการพัฒนาเกม แถมตอนเกมได้รางวัลก็ไม่ให้เจ้าตัวไปรับ สร้างความไม่พอใจให้กับแฟน ๆ จนมีกระแสสาปส่ง Konami ไปต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งสิ่งที่แฟน ๆ เป็นห่วงจริง ๆ ไม่ใช่ตัวของ Kojima อย่างเดียว เพราะคนมีความสามารถขนาดนี้ที่ไหนก็อ้าแขนรับ แต่ที่น่าเป็นห่วงจริง ๆ สำหรับแฟน ๆ คือซีรีส์ Metal Gear Solid ที่จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะเมื่อดูจาก Metal Gear ภาคล่าสุดอย่าง Metal Gear Survive และ Metal Gear ที่กลายร่างเป็นตู้ปาจิโกะก็คงจะเห็นแล้วว่า ซีรีส์นี้คงจะจบสิ้นอย่างแน่นอนนั่นคือสิ่งที่แฟน ๆ คิด
ความผิดพลาดของ Apple กับการเข้าสู่วงการเกม
เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่ทราบมาก่อน ว่าครั้งหนึ่งบริษัทมือถือยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Apple จะเคยก้าวขาลงมาในตลาดเกมคอนโซลกับเขาด้วย ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นแค่คลื่นลูกเล็ก ๆ ในวงการเกม แต่เราก็อยากเอามาบอกให้ได้ทราบกัน โดยทาง Apple ได้เข้ามาทำตลาดในวงการเกมช่วงปี 1996 ถึง 1997 ในชื่อ Apple Pippin ที่ภายในของเครื่องนั้นใช้แพลตฟอร์มของ Apple Macintosh รวมถึงสถาปัตยกรรม Mac OS แบบคลาสสิกของ Apple ในเครื่องเกม ตัวเกมใช้ระบบ CD-ROM แบบเดียวกับเครื่องเกมยอดฮิตอย่าง PlayStation ในช่วงนั้น แต่ด้วยราคาที่แพงถึง 599 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยตอนนี้ก็ราว ๆ 18,235.96 บาท
ขณะที่เครื่อง PlayStation ในปี 1996 ได้ออกโมเดลตัวใหม่อย่าง SCPH-5000 ก็มีราคาเพียงห้าพันกว่าบาทเท่านั้น บวกกับตัวเกมที่สนับสนุนตัวเครื่องก็มีเพียงไม่กี่เกม แม้จะได้รับการสนับสนุนจาก Bandai ที่พยายามพัฒนาเกมลงเครื่องตัวนี้ก็ไม่ได้ทำให้เครื่องเกมขายได้ จนสุดท้าย Apple Pippin ก็ตายไปจากตลาดอย่างรวดเร็ว จนหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยมีเครื่องเกมตัวนี้อยู่ ส่วนคนที่ซื้อมาก็คงจะถูกลอยแพกลายเป็นที่ทับกระดาษไปแบบน่าสงสารคนซื้อจริง ๆ
ความผิดพลาดของ Sony กับการเปิดตัว PlayStation 3 ที่แพงเกินไป
ย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2006 Sony Interactive Entertainment ได้เปิดวางจำหน่ายเครื่องเกมอย่าง PlayStation 3 ในเดือนพฤศจิกายนทั้งประเทศญี่ปุ่นและอเมริกาเหนือ ส่วนยุโรปในช่วงมีนาคม 2007 ซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาดจนกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ในวงการเกม ก็เพราะความมั่นใจจนเกินไปของ Sony ที่เคยเป็นเจ้าตลาดในวงการเกมมาแล้วถึงสองรุ่น พอมาในรุ่นที่ 3 ทาง Sony จึงมั่นอกมั่นใจในการขายเครื่องและการพัฒนาจนแทบไม่สนใจเลยว่าผู้เล่น และนักพัฒนาเกมจะรู้สึกอย่างไร
เริ่มจากตัวระบบที่ยากต่อการพัฒนาเกมลงบนเครื่อง ซึ่งมีแต่ค่ายเกมขนาดใหญ่ในตอนนั้นที่มีเทคโนโลยีในการพัฒนาเกมลง จึงทำให้มีเกมที่เปิดตัวออกมาน้อย และที่เป็นคลื่นลูกใหญ่ต่อแฟน ๆ ที่รอซื้อคือราคาเครื่องเกมที่เปิดตัวออกมาสูงถึง 499 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (รุ่น 40 GB) หรือราว ๆ 15,204 บาทและราคา 599 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (รุ่น 60 GB) หรือราว ๆ 18,251 บาท ซึ่งแพงมาก ๆ ในยุคนั้น (ยุคนี้ก็ยังแพง) ขณะที่เครื่อง Xbox 360 เปิดตัวที่ราคา 399 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือราว ๆ 12,157 บาท ในตอนนั้น ส่วน Wii เปิดตัวที่ 249.99 เหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือราวๆ 7,617 เท่านั้น เรียกว่าถูกกว่ามาก ๆ แถมเกมที่พัฒนาลงให้ก็ไม่ยุ่งยากเมื่อเทียบกับ PlayStation 3 ค่ายเกมต่าง ๆ รวมถึงผู้เล่นจึงหันไปซื้อ Wii ที่ราคาถูกกว่าและมีเกมเล่นหลากหลายแนว จนในตอนนั้น Sony ต้องเสียความเป็นเจ้าตลาดไปให้กับ Nintendo และเครื่อง Wii ไปในยุคนั้น
ไฟแดงเหลืองมรณะบน PlayStation 3 และ Xbox 360
ยังคงอยู่กับ PlayStation 3 ที่คราวนี้เราจะแถม Xbox 360 เพิ่มเข้ามาด้วย กับไฟแดงเหลืองมรณะที่ติดมากับทั้งสองเครื่อง ที่แฟน ๆ ซึ่งซื้อเครื่องเกมมาแล้วทุกคนต้องโดนกัน เริ่มจาก PlayStation 3 ที่จะมีอาการไฟเหลืองที่ต่างประเทศเรียกอาการนี้ว่า Yellow Light of Death ที่จะเกิดขึ้นกับเครื่องรุ่นดั่งเดิมและเครื่อง Slim รุ่นแรก โดยสาเหตุก็มาจากตัวเก็บประจุ NEC / Tokin บนเมนบอร์ดเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถจ่ายพลังงานให้กับ CPU หรือ GPU ได้อีกต่อไป จนทำให้เกิดอาการเครื่องร้อนจนไม่สามารถทำงานได้
ขณะที่บน Xbox 360 นั้นก็มีชื่ออย่างเป็นทางการจากแฟน ๆ ว่า Red Ring of Death ที่จากข้อมูลบอกว่าอาการนี้จะเกิดขึ้นจากไฟกระชาก หรือเกิดจากความร้อนในตัวเครื่องที่สูงเกินไป ซึ่งจนถึงตอนนี้ทาง Microsoft ก็ยังไม่บอกถึงสาเหตุที่แท้จริงของอาการ และบอกว่าเป็นเพียงความผิดพลาดของระบบภายในที่เรียกรวม ๆ ว่า ความล้มเหลวทั่วไปของฮาร์ดแวร์ ที่เป็นเพียงไม่กี่เครื่องไม่ใช่ทั้งหมด ทั้งที่ความจริงแล้วแทบจะทุกเครื่องนั้นเป็นอาการเดียวกันหมด ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้แฟน ๆ ที่ซื้อเครื่องมาเล่น เพราะแม้จะเอาไปซ่อมแล้ว ไม่นานมันก็จะกลับมาเป็นอีก ก่อนที่เครื่องในรุ่นต่อมาทั้งสองค่ายจะแก้ไขจนไม่มีอีก แต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้แฟน ๆ ที่ซื้อเครื่องไปไม่พอ
Final Fantasy The Spirits Within กับความมั่นใจที่มากเกินไป
อีกหนึ่งความผิดพลาดของ Square ที่ส่งผลกระทบต่อแฟน ๆ ที่คาดหวังความสนุกและน่าตื่นเต้นของภาพยนตร์ Final Fantasy The Spirits Within ในปี 2001 โดยมี Hironobu Sakaguchi บิดาผู้ให้กำเนิดเกมซีรีส์ Final Fantasy เป็นผู้กำกับ ได้สร้างระลอกคลื่นแห่งความคาดหวังที่เป็นแฟนเกมซีรีส์ Final Fantasy ที่จะได้เห็นโลกแห่งเวทมนต์และเครื่องจักร ที่เต็มไปด้วยจินตนาการ กับเรื่องราวที่น่าประทับใจแบบเดียวกับที่เราเห็นในเกม Final Fantasy ภาคต่าง ๆ ในเกม
จนเมื่อตัวภาพยนตร์เปิดตัวออกมา ก็สร้างความผิดหวังให้แฟนเกมที่รอดูเป็นอย่างมาก เพราะเรื่องราวในเกมนี้ที่แม้จะมีจิตวิญญาณแห่ง Final Fantasy อยู่อย่างครบถ้วน ทั้งตัวละคร Cid คริสตัลธาตุทั้ง 4 ที่เป็นหัวใจหลักของซีรีส์ ไปจนถึงมุมมองของชีวิตความรักการเสียสละ แต่สำหรับคนที่คาดหวังความเป็น Final Fantasy มากกว่านี้ต่างต้องผิดหวังกันทั่วโลก และมันก็ทำให้ Square ที่มั่นอกมั่นใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ขาดทุนย่อยยับ เพราะทาง Square ลงทุนไปถึง 137 ล้านเหรียญ แต่ได้กลับมาเพียง 87 ล้านเหรียญเท่านั้น และนั่นก็เป็นเหตุให้ Sakaguchi ลาออกจากบริษัทอีกด้วย
ก้าวที่พลาดพลั้งของ Nokia ในวงการเกมพกพา
Nokia คืออีกหนึ่งค่ายโทรศัพท์มือถือชื่อดังในตอนนั้น ที่มองเห็นเค้กชิ้นโตของตลาดเกมพกพาในช่วงปี 2003 ที่มีเพียง Nintendo เท่านั้นที่เป็นเจ้าตลาดครองส่วนแบ่งเกมพกพาอยู่เจ้าเดียว ทาง Nokia ที่เชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง จึงคิดไปแข่งแย่งเค้กนี้ด้วยเครื่องเกมผสมโทรศัพท์มือถือที่เล่นเกมแบบ 3D ได้อย่าง Nokia N-Gage ที่มาพร้อมกับหน้าจอ TFT ความละเอียด 176 x 208 pixels ทำงานบน Symbian 6.1 CPU ARM 104 MHz หน่วยความจำภายใน 4MB รองรับ Bluetooth สามารถเล่น MP3 แบตเตอรี่ความจุ 850 mAh
แถมยังมาพร้อมกับเกมชื่อดังหลายเกมอย่าง FIFA Football , The King of Fighters Extreme , Rayman 3, Tom Clancy’s Ghost Recon และ Tomb Raider กับอีกมากมายหลายเกม แต่ด้วยราคาที่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับราคามือถือในยุคนั้น บวกกับเกมพกพาในตอนนั้นก็มีเกมที่น่าสนใจกว่าที่จะเล่นบนมือถือ และหลายเกมที่ลงบน N-Gage ก็เป็นเกมเก่าที่อยู่บนเครื่องอื่นแล้ว จึงทำให้ Nokia N-Gage หายไปจากตลาดอย่างรวดเร็ว ที่แม้จะผลิตรุ่น 2 ออกมาในรุ่น Nokia N-GAGE QD แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดจน Nokia ต้องยอมออกมาจากตลาดเกมนับแต่นั้น
ความผิดพลาดของ Nintendo จนทำให้เกิด Sony PlayStation
อีกหนึ่งความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการเกมที่เชื่อว่าเกมเมอร์ทุกคน (โดยเฉพาะฝั่ง Sony) ต่างต้องขอบคุณ Nintendo ที่ถ้า Nintendo ไม่ลอยแพ Sony ในวันนั้น ก็คงไม่มีเครื่องเกมที่ยิ่งใหญ่อย่าง PlayStation ในวันนี้ โดยเรื่องของเรื่องต้องย้อนเวลากลับไปในปี 1988 ได้มีการตกลงกันระหว่างสองบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sony และ Nintendo ตกลงร่วมกันพัฒนาเครื่องเกม Super Famicom ที่สามารถเล่นเกมแบบแผ่น CD-ROM และตลับได้ในตัวเดียวกัน ในชื่อ Nintendo Play Station โดยก่อนหน้านี้ทาง Sony ไม่ได้สนใจธุรกิจวงการเกม แต่ Ken Kutaragi วิศวกรของ Sony พยายามโน้มน้าวผู้บริหารจนได้ร่วมทุนกับทาง Nintendo ในการพัฒนาเครื่อง Nintendo Play Station ให้ทาง Sony เพื่อผลิตโปรแกรมเสริม CD-ROM กับ Super Famicom
แต่ในระหว่างที่กำลังพัฒนาเครื่องอยู่นั้น ทั้งสองบริษัทต่างขัดแย้งกันในการควบคุมการออกใบอนุญาต ภายใต้ข้อตกลงของ Sony ที่จะพัฒนาและคงการควบคุมรูปแบบดิสก์ SNES-CD เพื่อให้ตนเองสามารถควบคุมการอนุญาตใช้สิทธิซอฟต์แวร์ได้ หรือพูดง่าย ๆ คือเกมที่ออกมาในรูปแบบ CD-ROM ทุกเกม ต้องเป็นสิทธิของ Sony ทั้งหมด ทาง Nintendo ที่เห็นว่าตัวเองจะไม่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ จึงได้ส่งประธาน Nintendo อเมริกาไปเจรจากับบริษัท Philips ที่เป็นคู่แข่งของ Sony เพื่อพัฒนาเครื่องเกมตัวใหม่ขึ้นมาแทน โดยที่ไม่บอกทาง Sony ล่วงหน้า จนเครื่องเกมต้นแบบทำเสร็จทำออกมา ทาง Sony จึงทำการเปิดตัวเครื่อง Play Station ในงาน Consumer Electronics Show ในเดือนมิถุนายน 1991 สร้างเสียงฮือฮาในวงการเกมในยุคนั้นเป็นอย่างมาก แต่หลังจากนั้นหนึ่งวันทาง Nintendo ก็ประกาศร่วมสร้างเครื่องเกมตัวใหม่กับ Philips หักหน้า Sony เหมือนโดนตบกลางสี่แยกไฟแดง สร้างความร้าวฉานให้ทั้งสองบริษัทมานับตั้งแต่นั้น ขณะที่ทาง Sony ก็ไม่ยอมแพ้หันมาผลิตเครื่องเกมของตนเอง และยังคงใช้ชื่อ Play Station ในการพัฒนา จนเป็นเครื่องเกมที่เราได้เล่น ต้องขอบคุณ Nintendo ในเรื่องนี้จริง ๆ
Nintendo 64 และ Wii U กับความผิดพลาดที่ล้มเหลว
ปิดท้ายด้วยเรื่องความผิดพลาดของ Nintendo อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นการลองผิดลองถูกของค่ายเกมเก่าแก่ ผู้ที่ไม่เคยยอมแพ้ที่แม้จะล้มมาซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็ยังคงคิดค้นพัฒนาเครื่องเกมใหม่ ๆ ออกมาป้อนสู่ตลาดให้เราผู้บริโภคได้เล่นเครื่องเกมดี ๆ สนุก ๆ เรื่อยมา แต่ความผิดพลาดแต่ละครั้งของ Nintendo ก็สร้างบาดแผลให้กับคนที่ซื้อเครื่องเกมนั้น ๆ ไปเช่นกัน เพราะเมื่อใดที่ Nintendo เห็นว่าเครื่องเกมตัวเองจะไปไม่รอด (หลังจากพยายามผลักดันแล้ว) ก็จะทิ้งเครื่องนั้นทันที แบบเดียวกับที่เครื่อง N64 และ Wii U โดนมา
เริ่มจาก N64 ที่ในตอนนั้นทาง Nintendo ได้ผลิตเครื่องเกมตัวใหม่ออกมา เพื่อจะต่อกรกับ PlayStation ด้วยเครื่องเกมที่ใช้งานแบบตลับที่ไม่ต้องเข้าหน้าโหลดให้เสียเวลา แบบ CD-ROM ที่ทาง Nintendo โฆษณาเอาไว้ แต่ด้วยการพัฒนาแบบตลับนั้นค่อนข้างจะยุ่งยากแถมความจุที่มีก็น้อยกว่าแผ่น CD-ROM ที่สามารถเพิ่มจำนวนแผ่นได้ถ้าความจุไม่พอ จึงทำให้ Nintendo พ่ายแพ้อย่างหมดรูป แม้จะมีเกมดี ๆ อยู่มากมายก็ตาม จนมาถึงเครื่อง Wii U ทาง Nintendo ที่คิดจะสานต่อความสำเร็จของ Wii ด้วยการตั้งชื่อที่คล้ายกัน กับการพัฒนาตัวระบบเครื่องที่ดีกว่าเครื่อง Wii แถมยังสามารถเอาอุปกรณ์ของ Wii มาเล่นควบคู่กับจอยเกมที่เป็นจอได้ด้วย เพื่อดึงเหล่าเกมเมอร์ที่เคยซื้อ Wii มาสานต่อบนเครื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นตามที่คาดด้วยหลาย ๆ เหตุผล ทั้งตัวเกมที่ไม่น่าดึงดูด หลายเกมที่ลงบน Wii U ก็มีบนเครื่องอื่น แถมคนที่เคยเคยซื้อเครื่อง Wii ที่เป็นพวกเล่นเกมไม่จริงจังก็ไม่ได้หันมาสนใจอย่างที่ Nintendo คิด นี่ยังไม่นับ GameCube ที่ทาง Nintendo ใช้แผ่น GD-ROM ที่ยากต่อการพัฒนารวมถึงความจุของแผ่น เมื่อเทียบกับแผ่น DVD หรือ Blu-Ray ที่มีมากกว่า จนส่งผลให้เกมเมอร์ทั่วโลกที่ซื้อเครื่องไปและถูกลอยแพอย่างที่กล่าวมา
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราเอามานำเสนอ โดยทุกเรื่องนั้นต่างส่งผลกระทบให้กับวงการเกมหลายระดับ โดยเราพยายามคัดเลือกเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่และคนรู้จักในวงกว้างมานำเสนอ ทั้งเรื่องเก่าและใหม่ที่น่าสนใจมานำเสนอ หรือบางเรื่องที่หลายคนอาจจะทราบแล้ว เราก็เอาข้อมูลตรงนั้นมาขยายความเพื่อให้คนที่ทราบไปแล้วได้รู้ข้อมูลเพิ่ม และถ้าขาดตกเรื่องใดไปก็ขออภัยมาด้วย ส่วนครั้งหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส