Bandai Namco ได้จัดอีเวนต์ Bandai Namco Entertainment Asia Product Conference 2019 ที่ประเทศไทยของเรานี่แหล่ะ โดยตัวงานก็ว่าด้วยการเผยผลิตภัณฑ์หลากหลาย IP พร้อมทั้งให้สื่อได้ทดลองเล่น ซึ่ง Doraemon: Story of Seasons ก็เป็นหนึ่งในเกมที่ใครหลายคนตั้งตารอคอย แบไต๋เราเลยขอใช้โอกาสจากการเป็นหนึ่งในสื่อที่ได้ทดลองเล่น มาบอกเล่าความประทับใจให้ฟังว่ามีอะไรกันบ้าง? ถ้าพร้อมแล้วก็ลุยกันเลย!

“การผสมกันอย่างลงตัวของ Doraemon และ Harvest Moon”

ขอเสียเวลาอธิบายสักครู่ สำหรับใครที่อยากรู้เหตุผลว่าทำไม Bandai Namco ถึงทำ Doraemon: Story of Seasons ออกมาเป็นเกมแนวปลูกผัก พวกเขาก็มีคำตอบให้ง่าย ๆ กลับมาครับว่า “มันคือการรวมสองสิ่งที่เป็นยอดนิยมมารวมกันนั่นคือ “Doraemon การ์ตูนในตำนานและเกมแนว Farm Simulator ที่เรียกติดปากกันว่าเกมปลูกผัก และอีกทอด ใครที่กำลังคิดว่าทำไมถึงเหมือนเกมซีรีส์ Harvest Moon หรือ Story of Seasons ? ก็เพราะว่าหนึ่งในทีมพัฒนายังเป็น Marvelous นั่นแหล่ะ

Doraemon: Story of Seasons เลยมีวิธีการและรูปแบบการเล่นทุกส่วนเหมือนกับเกมดังกล่าว หากแต่ใส่จริตของความเป็น Doraemon เข้าไป เรื่องราวในเกมอันนี้เป็นยังไงผู้เขียนยังไม่ทราบ เพราะในตัวเดโมนี้เราจะได้สวมบทบาทเป็นโนบิตะที่สแตนด์บายยืนรออยู่ในบ้านพักที่เมื่อออกมาข้างนอกแล้ว เราก็จะได้เห็นพื้นที่ปลูกผักซึ่งเราสามารถเข้าไปขุดดิน, หว่านเมล็ด, รดน้ำ, เลี้ยงสัตว์ (อันนี้ในเดโมยังไม่มีให้เราได้ทำเพราะยังไม่เห็นสัตว์สักตัวเลย) 

และในนอกพื้นที่บ้านพักอาศัย เราก็สามารถที่จะทุบหินและตัดไม้ป่า, เก็บของป่าประจำฤดู หน่อไม้, ดอกไม้, หญ้า เพื่อเอามาขายด้วยการนำมาใส่ในกล่องเก็บผลผลิต แถมคนที่จะเอาของไปขายให้เราก็ไม่ใช่ใครที่ไหนโดเรมอนเพื่อนซี้เรานั่นเอง หรือแม้แต่การเข้าเหมืองขุดแร่ก็ยังมี! เอาง่าย ๆ เลยคือพื้นฐานการเล่นของเกมนี้ใช้ลูกสูตร Harvest Moon หรือ Story of Seasons แบบเป๊ะ ๆ (จะมีก็แค่ Mapping หรือปุ่มบังคับที่แตกต่างออกไป)

ดูระบบพื้นฐานการเล่นไปแล้ว มาว่ากันด้วยเรื่อง“ตัวละคร” กันบ้าง ในเกมนี้บรรดาเพื่อนพ้องของโนบิตะทั้งหลาย (โดเรมอน, ชิซูกะ, ไจแอนท์ และซูเนโอะ) พวกเขาจะไม่ได้อาศัยชายคาที่พักเดียวกับเราหรือเป็นหนึ่งในตัวละครที่มีให้เลือกบังคับ หากแต่จะเป็นเสมือน NPC ประจำตัวหนึ่งที่กระจายออกไปตามแมปต่าง ๆ ซึ่งก็จะมีหน้าที่หรือบทบาทที่ต่างกันออกไป อาทิ โดเรมอน ที่แน่นอนเขาเป็นเพื่อนรักของโนบิตะ หน้าที่เลยจะเป็นเหมือนผู้ช่วยทำนั่นนี่ในฟาร์ม นำของที่เราใส่ไว้ในกล่องเก็บผลผลิตไปขายให้ มาเตือนเรื่องเทศกาลต่าง ๆ, ไจแอนท์ ที่ในเกมนี้จะประจำอยู่แมปของบ้านช่างไม้ ซึ่งเขา (น่าจะ) มีบทบาทในการช่วยต่อเติมฟาร์มของเรา เป็นต้น

แต่สิ่งที่โดดเด่นของ Doraemon: Story of Seasons ก็ดูจะเป็นบรรดาเครื่องมือหรือระบบอำนวยความสะดวกผู้เล่นที่มาในรูป “ของวิเศษโดเรมอน” ซึ่งในฉบับเดโมนี้ ผู้เขียนก็ได้เจอโดยประมาณ 3 ชิ้น ได้แก่

  • ประตูวิเศษ ที่ว่ากันตรง ๆ มันก็คือระบบ Fast Travel ที่ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทานไปยังแมปต่าง ๆ ซึ่งก็ประหยัดเวลาไปเยอะมาก เพราะแมปของเกมนี้ต้องบอกเลยว่าไม่ใช่เล็ก ๆ มีตั้งแต่โซนภูเขา, ตัวเมืองหลัก, บริเวณโบราณสถาน, ลุ่มน้ำ และตัวเมืองหลัก

  • ผงโตโดยวัย ไอเทมที่ช่วยให้ผลผลิตโตเร็วขึ้นมาก โรยลงทีเดียวใหญ่ขึ้นมาเป็นลูกเลย แต่ผู้เขียนยังไม่ทราบว่าเราจะผลิตมันขึ้นมาเองยังไง หรือหาซื้อจากที่ไหน เพราะในเดโมมีให้ใช้จำกัดชิ้น

  • แผ่นแปะแล้วกระปี้กระเปร่าเหมือนกบ (อย่าใส่ใจคำแปลมาก ผู้เขียนคิดเอง ฮ่าๆ) อันนี้จะเป็นไอเทมที่เติมค่า Stamina คืนมา ซึ่งเราสามารถเช็คค่าสถานะดังกล่าวได้จากกิริยาของโนบิตะเองที่จะแสดงเมื่อค่าความเหนื่อยถึงระดับนั้น ๆ และการเปิดดูผ่านเมนูการเล่น

งานภาพแนวอบอุ่น อ่อนโยน “ที่ฉลาดเลือก”

กราฟิกของเกมนี้ ผู้เขียนค่อนข้างชอบนะ คือมันให้ความรู้สึกละมุนละไมสายตา ชวนให้เราคิดไปว่าเหมือนเล่นเกมอยู่ในฝัน (ซึ่งมันก็เหมือนฝันจริงนั่นแหล่ะ ใครจะไปคิดว่าโดเรมอนจะมีเกมปลูกผักได้!) ด้วยการใช้เอฟเฟกต์ของภาพให้เหมือนกับระบายด้วยสีน้ำ แต่พอมองไปมองมา ผู้เขียนก็ได้เห็นว่าเกมนี้นอกจากจะสวยแล้ว “ยังฉลาดอีกด้วย” เพราะหลายวัตถุในเกมใช้การประมวลผลออกมาแบบ Pre-Render หรือว่าง่าย ๆ คือการนำฟุตเทจมาใช้แทนที่การประมวลผลกราฟิกแบบเรียลไทม์ (นึกภาพไม่ออกให้คิดถึง Resident Evil 1 –  3 ภาคต้นฉบับหรือ Harvest Moon Back to Nature ก็ได้) แต่ถามว่าติดอะไรในส่วนนี้ไหม? ก็บอกตรง ๆ ว่าไม่ติดอะไร เพราะมันก็ดูส่งเสริมทิศทางของงานภาพดี อีกอย่างตัวเกมก็ไม่ได้เน้นเอฟเฟกต์พาตติเคิลมากนัก เพราะหัวใจหลักจริง ๆ ของเกมแนวนี้มันคือการเล่นอยู่แล้ว 

เอาเป็นว่าสำหรับใครที่สนใจ Doraemon: Story of Seasons เวอร์ชันอังกฤษนี้ ก็อดใจรอกันอีกแป๊บเดียว เพราะจะมาในวันที่ 11 ตุลาคม 2019 ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 1,690 บาท 

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส