วิกฤต Covid-19 ทำให้หลายคงต้องอยู่กับบ้าน เหล่าเด็ก ๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ จะออกไปเล่นนอกบ้านแทบไม่ได้เลย ผู้ปกครองจึงอนุญาตให้หนู ๆ เล่นเกมใน Smart Phone จนบางท่านอาจละเลยเรื่องความรุนแรงของเกมต่ออายุของเด็ก ๆ บางครั้งสิ่งเหล่านี้ผู้ปกครองต้องคอยควบคุม และป้องกันให้แก่เด็ก ๆ ด้วย
ความรุนแรง ตัวร้ายที่น่ากลัว
หากให้หลายคนนิยามคำว่า “การใช้ความรุนแรง” น้อยคนที่จะหาคำอธิบายในเชิงบวกได้ เพราะความรุนแรงคือการกระทำ การกระทำอะไรสักอย่างด้วยความหนักหน่วง ทำให้ถึงที่สุดถึงขั้นสาหัส จึงไม่มีใครอยากให้ความรุนแรง เกิดขึ้นกับตัวเองสักเท่าไหร เราจึงยกให้ความรุนแรงคือ ตัวร้ายที่น่ากลัวที่สุดในพฤติกรรมมนุษย์ แล้วเหตุการณ์เหล่านี้ทำไมถึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ? สิ่งเหล่านี้สามารถควบคุมได้หรือไม่? เชื่อว่าหลายคนหากได้เห็นพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก การใช้คำพูดที่รุนแรง การตบตี การข่มขู่ซึ่งกันและกัน คงไม่มีใครที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นแน่
ทำไมความรุนแรงถึงเกิดขึ้นได้
การใช้ความรุนแรงมีผลกระทบที่โหดร้าย และมีหลากหลายปัจจัย แต่หากจำแนกคงแบ่งออกได้ทั้งหมด 3 ปัจจัย ได้แก่
- ปัจจัยจากครอบครัว เช่น ผู้ที่ทางครอบครัวใช้ความรุนแรงจนเกิดการซึมซับ ทางครอบครัวไม่มีการแนะนำในเรื่องการใช้ความรุนแรงหรือครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ครอบครัวที่ตามใจลูกมากเกินไป จึงใช้ความรุนแรงในการตัดสินใจ ทำให้คิดว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนปฏิบัติกัน
- ปัจจัยภายในบุคคล เช่นผู้ที่เคยเป็นเหยื่อของความรุนแรง การที่ไม่สามารถเข้าร่วมสังคมได้ ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ส่งผลให้ผู้คนเหล่านี้มีความคิดที่ผิดแปลก ชอบใช้ความรุนแรงเพื่ออำนาจ ใช้ควบคุมผู้อื่นได้ตามต้องการ
- ปัจจัยจากสภาพแวดล้อม เช่น สภาพแวดล้อมที่มีความเคร่งเครียด ทำให้จิตใจของผู้คนเศร้าหมอง หดหู่ ผู้คนจึงระบายออกมาผ่านความรุนแรง รวมทั้ง สื่อ มือถือ ที่แสดงภาพพฤติกรรมความรุนแรง เหมือนเป็นเรื่องปกติ
แล้วเราจะหยุดพฤติกรรมความรุนแรงได้อย่างไร ?
อันดับแรก คือ ฝึกฝนตัวเราเอง การใช้สติในการตัดสินใจคิดถึงผลกระทบ ที่มีต่อคนรอบข้างในพฤติกรรมของเรา การหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดของตนเอง หลีกหนีจากผู้ที่ใช้กำลังในการตัดสินใจ
อันดับสอง คือ ครอบครัว ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นสังคมกลุ่มแรกที่ทุกคนได้เรียนรู้การเป็นพลเมืองที่ดี เป็นสังคมแรกที่เป็นตัวขัดเกลานิสัยของคนทุกคน ฉะนั้นทุกคนในครอบครัวต้องมีความรักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่ใช้ความรุนแรงในการสั่งสอนหรือแก้ปัญหากับเด็ก มีกติการะเบียบการเคารพซึ่งกันและกันเกิดขึ้น
อันดับสาม คือ รณรงค์ การร่วมมือของทุก ๆ ฝ่ายทางสังคม สื่อ ต่าง ๆ เพื่อป่าวประกาศการความรุนแรงเป็นสิ่งที่แย่ที่ เป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติทางสังคม เพราะปัจจุบันสื่อสารมารถเข้าได้ถึงทุกเพศทุกวัยอย่างง่ายดาย จึงเป็นตัวช่วยที่ดีอีกทางในการ หยุดความรุนแรงได้
เกมกับความรุนแรง
อย่างที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ สื่อ เทคโนโลยี พัฒนากันอย่างมาก ส่งผลให้ทุกเพศทุกวัยเข้าถึงกันได้มากขึ้น กิจกรรมที่คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ง่ายที่สุดคือ เกม ไม่ว่าจะเป็นเกมมือถือ หรือเกมใน PC หากจะบอกว่าความรุนแรงภายในเกมนั้นมีมานานมากแล้ว หลายคนจึงคิดว่าเป็นแบบนั้น ไม่อยากให้ลูกหลานยุ่งกับการเล่นเกมแล้ว อันที่จริงเกมนั้นไม่ใช่สื่อที่ส่งเสริมอบายมุข ความรุนแรงหรือสิ่งมอมเมาแต่อย่างใด ผู้พัฒนาสร้างเกมขึ้นมาก็เพื่อให้ผู้เล่นได้ผ่อนคลาย แต่เมื่อโลกเทคโนโลยีได้เปลี่ยนไปเหล่าเอนจินซอฟแวร์ต่าง ๆ ได้พัฒนา การตลาดเกมที่แข่งขันกันสูงขึ้น ทำให้มีการกำเนิดแนวเกมใหม่ ๆ รวมถึงความรุนแรงและความสมจริงภายในเกมที่ทวีคูณ
แน่นอนว่าเหล่าผู้ปกครองกังวลเกี่ยวกับ ความรุนแรงที่จะส่งผลกับเด็ก แต่ไม่ต้องห่วงค่ะเพราะเหล่าผู้พัฒนาได้จัดเรตเกม โดยการส่งตัวเกมให้กับองค์กรที่ชื่อว่า ESRB (Entertainment Software Rating Board) พิจารณาความเหมาะสม ตามอายุที่สามารถเล่นเกมแนวนี้ได้ หากเกมใดไม่จัดเรตเกมนั้น ๆ ถือว่าผิดกฎหมายทันที เหล่าองค์กรที่คอยจัดเรทเกมนั้นก็ไม่ได้มีแค่เพียงองค์กรเดียว แต่มีทั้ง PEGI (Pan-European Game Information) ของทางฝั่งยุโรป , CERO (Computer Entertainment RatingOrganization) ของทางฝั่งญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศที่มีการจัดเรตเป็นของตนเอง
เราจะเห็นว่าองค์กรที่ช่วยคัดกรองเรทเกมนั้น มีอยู่หลัก ๆ ทั้งหมดสามโซนคือ อเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น การคัดสรรบางครั้งแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป นอกจากตามเรทแล้วอายุแต่ละเรทก็ต่างออกไป โดยหลักแล้วจะแบ่งตามนี้ค่ะ
เรตความรุนแรงที่จัดกันทั่วไป
- Fear (ภายในเกมมีความน่ากลัว)
- Violence (ภายในเกมใช้ความรุนแรง)
- Gambling (ภายในเกมมีสิ่งพนัน)
- Bad Language (ภายในเกมมีการใช้คำหยาบคาย)
- Drugs (ภายในเกมมีการใช้สารเสพติด)
- Sex (ภายในเกมมีฉากอนาจาร เพศ)
- Discrimination (ภายในเกมมีการแบ่งแยก)
- Online (ภายในเกมต้องเล่นออนไลน์เท่านั้น)
สำหรับการดูแลจัดเรตความเหมาะสมอายุภายในเกมของประเทศไทย คือสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ(สวช.) จัดแบ่งคล้ายสื่อโทรทัศน์ในปัจจุบัน การจัดเรตเกมนั้นไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะเกม PC หรือคอนโซน ยังรวมถึงเกมที่อยู่ภายในโทรศัพท์มือถือทั้ง ios และ Android อีกด้วยค่ะ
ไม่อยากให้ลูกหลานเป็นทาสเกม?
เหตุที่เจาะจงเด็กมากที่สุด เพราะเด็กเป็นผ้าขาวของสังคม การที่เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาได้ อยู่ที่การเลี้ยงดูและประสบการณ์ที่เด็กได้พบ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาในชีวิตของเรามากขึ้น กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว ผู้ปกครองบางท่าน อาจไม่มีเวลาเลี้ยงดูด้วยตัวเอง อาจให้ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงลูก เพิ่มความเสี่ยงทำให้เด็ก ๆ เล่นโทรศัพท์ ,PC ,คอนโซลมากเกินไป จนบางครั้งไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมที่มากับ Social Media หรือ ไม่ได้ห้ามปรามเรื่องความเหมาะสม ในการเล่นเกมของเด็ก ๆ ทำให้ลูกหลาน ซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงนั้นโดยไม่รู้ตัว
หากจะห้ามเด็กน้อยสมัยนี้ไม่ให้เล่นเกมละก็ คงจะเป็นอะไรที่ยากยิ่งกว่าจับปูใส่กระด้งเสียอีก เพราะฉะนั้นผู้ปกครองอย่างเราก็ต้องหาวิธีเพื่อให้ลูก ๆ ไม่ตกเป็นทาสของเกม”
5 วิธีเบื้องต้นที่ผู้ปกครองทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ ก่อนที่จะสายเกินแก้
- พูดคุยอย่างเปิดอก พูดอย่างเปิดอกในที่นี้คือ การที่ผู้ปกครองต้องเตรียคำพูดที่ไม่กระทบต่อความรู้สึกของลูก บอกกล่าวถึงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ถึงผลของการเล่นเกมมากเกินความจำเป็น ไม่ควรใช้คำพูดที่รุนแรงไปกับเด็ก ๆ
- สร้างข้อตกลง การสร้างข้อตกลงต่อเด็กเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองทำได้อย่างง่ายมาก ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระเบียบวินัยได้ เช่น หากหนูล้างจานเสร็จแล้วหนูก็จะเล่นเกมได้นะ หรือ การจำกัดเวลาในการเล่นเกมของเด็กน้อยให้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง ต่อวัน
- สร้างวินัย การสร้างวินัยคือการที่ให้เด็ก ๆ ทำตามข้อตกลงอย่างชัดเจน ไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น ถือว่าเราได้ตกลงกันไปก่อนหน้านี้แล้ว หากมีการระเมิดกฏที่ตั้งไว้ ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำกับเด็ก ๆ สอบถามความคิดเห็นของเขา เหตุใดถึงไม่ทำตามที่ตกลงกันไว้ ผู้ปกครองควรใจแข็งให้มากที่สุด
- ผู้ปกครองควรตามเด็กให้ทัน อย่างที่กล่าวข้างต้นเกมในปัจจุบัน มีการจัดแบ่งตามความเหมาะสมของอายุ ผู้ปกครองต้องหมั่นสอดส่องเกม ที่บุตรหลานกำลังเล่น ว่ามีความเหมาะสมต่อตัวเด็กหรือไม่
- เล่นด้วยกันแทนควบคุม ผู้ปกครองควรเข้าไปเล่นเกมกับลูก ๆ เพื่อช่วยแนะนำแก่เหล่าเด็ก ๆ ถึงบางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมภายในเกม เมื่อผู้ปกครองสามารถเล่นเกมกับบุตรหลานได้ เราสามารถเลือกเกมให้กับเด็ก ๆ เล่นด้วยกันอย่างมีความสุขและเหมาะสมได้ เพราะเกมก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างเสียงหัวเราะ ภายในครอบครัวนั้นเองค่ะ
หากผู้ปกครองได้ลองทำทุกวิถีทาง ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการติดเกมของเด็ก ๆ แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ควรพาบุตรหลานไปหาจิตแพทย์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
การปล่อยปะละเลยบางครั้ง กลายเป็นปัจจัยทางสังคมเป็นฉนวนเล็ก ๆ ที่ส่งผลให้เด็ก ๆ เกิดพฤติกรรมเลียนแบบความรุนแรงได้ เนื่องจากเด็กบางช่วงอายุนั้น ไม่มีความสามารถพิจารณาสิ่งที่ถูกที่ควรได้ดี เพราะตอนนี้ Smart Phone เป็นของเล่นที่เด็ก Gen Alpha แทบทุกบ้านขาดไม่ได้ เราที่เป็นผู้ปกครองก็ต้องคอยป้องกัน ไม่ควรใช้ Smart Phone หรือปล่อยบุตรหลานเล่นเกมบางจำพวก ให้เป็นพี่เลี้ยงเด็ก เพราะปัญหาความรุนแรงภายในเกมไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส