กำแพงเรื่องภาษา​ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น​คือตัวการร้ายที่ทำให้เกมเมอร์หลายคนอดดื่มด่ำการเสพย์เนื้อเรื่องดีๆ​ ในเกมโปรด​ ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นเพราะทักษะภาษาเมืองนอกของคุณไม่ได้แตกฉาน​ ตัวละครในเกมพูดเร็วชนิดน้ำไหลไฟดับ​ หรือพูดมาแต่ละคำดันใช้ศัพท์แสงสุดหรูแบบเกิดมาเพิ่งเคยได้ยิน​ (พวกเกมที่มีพื้นหลังเป็นโลกแฟนตาซีหรือไซไฟทั้งหลายนี่แหละตัวดี)​ ต่างก็ไม่ใช่เหตุผลที่ฟังขึ้นที่จะทำให้พวกเราต้องพลาดเส้นเรื่องสนุกๆ​ ซึ่งช่วยให้เราเล่นเกมได้อินกว่าเดิม​ 

ถึงแม้ตอนนี้จะเริ่มมีเกมที่ทางทีมพัฒนาเขาใจดีแปลซับไทยมาให้บ้างแล้ว แต่ก็ยังถือว่ามีจำนวนค่อนข้างน้อย โชคดีที่เรายังมี​ม็อดเกมแนว​ “แฟนซับ” จากคนไทยด้วยกันเป็นที่พึ่ง​ และต่อไปนี้คือ​ 5 อันดับรายชื่อเกม​บล็อกบัสเตอร์ของดี​ ที่คุณสามารถหาซับไตเติลภาษาไทยมาลงเองในเครื่องพีซีของคุณได้​ เชื่อเถอะว่ามันจะทำให้เกมมีอรรถรสดีขึ้น​สำหรับเกมเมอร์ที่อ่านซับอังกฤษไม่ทัน รวมทั้งทำให้คนที่เก่งภาษาอยู่แล้วได้อรรถรสที่ต่างออกไป​ ถ้าไม่เชื่อคงต้องลองเองแล้ว! 

อันดับ​ 5: เรซิเดนท์​ อีวิล 2 และ​ 3 (Resident​ Evil​ Remake 2 & 3)​

ดาวน์โหลดซับไทยกันได้ที่นี่: 

Resident Evil Remake ภาค​ 2 และภาค​ 3 ถือเป็นเกมเก่าเล่าใหม่ชั้นดีที่ทำออกมาได้เกินความคาดหมาย​ของแฟนๆ​ ซีรีส์เกมสยอง​คลาสสิก (ถึงภาค​ 3 จะสั้นชิบเป๋งก็เหอะ)​ จุดเด่นหนึ่งของเกมก็คือภาพกราฟิกที่สวยงามสมจริงและการเดินเรื่องรวดเร็วฉับไว​ ทำให้เราเผลอนึกไปว่ากำลังนั่งดูหนังซอมบี้สนุก ๆ​ ​อยู่รึเปล่า และสำหรับเกมเมอร์ชาวไทยอย่างพวกเรา​ อะไรจะดีไปกว่าการมีซับไตเติลไทยคอยแปลว่า Leon, Claire และ​ Jill กำลังพูดเรื่องห่านอะไรกัน​ แล้วพวกไดอารี่ภาษาปะกิดยาวยืดที่วางอยู่ตามทางมันเขียนถึงอะไรของมัน​ ซึ่งต้องขอชม​เชยคุณ “Noob-Translator” ที่เขาลุกขึ้นมาแปลเกมนี้ให้เราฟรี ๆ​ ทำให้เกมเมอร์อย่างเราเล่นแล้วรู้สึกเหมือนกำลังนั่งดูหนังในโรงเมเจอร์หรือเอสเอฟแถวบ้านจริงๆ! 

สำหรับเรื่องคุณภาพคำแปล​ ถึงจะมีสะกดผิดอยู่บ้าง บางทีก็แปลตรงตัวจนประโยคดูแปลก ๆ​ ไปหน่อย​ ​​แต่โดยรวมแล้วแปลไม่ได้แย่เลย​ แถมยังแปลแบบใส่อารมณ์ดี​จัง (มีชื่อน้องนุชโผล่ออกมาแลบลิ้นบ่อย ๆ​ เวลาหนู​ Claire ด่าคนอื่น)​ จุดที่ต้องยกนิ้วให้จริง ๆ​ คือเขาไม่ได้แปลให้แค่ภาคเดียว​ แต่แปลให้เสร็จหมดแล้วทั้งภาค​ 2 และภาค​ 3​ ซึ่งส่วนตัวมองว่าภาค 3 แปลดีกว่าภาค 2 อีกนะ ทำให้แฟนซีรีส์ RE ชาวไทยได้ย้อนความหลังที่เมืองแร็กคูนกันแบบยาว ๆ​ ไปเลย​ นอกจากนี้ยังไม่ได้แปลแค่ซับไตเติลแต่ยังแปลหน้าเมนู​ รวมถึงคำอธิบายไอเท็ม​ และข้อความไดอารี่ในเกมให้เราอ่านกันด้วย​ ใครที่ชอบยิงซอมบี้ในเกม​ RE​ อยู่แล้วอย่ารอช้า​ รีบไปลองเกมผีชีวะเวอร์ชันไทยกันเลย

อันดับ​ 4: ฟอลเอาท์ 4 (Fallout 4) 

ดาวน์โหลดซับไทยกันได้ที่นี่: 

https://www.facebook.com/DarkSideTranslationThailand/

เกมแนว​สวมบทบาท​ (RPG)​ น่าจะเป็นแนวเกมที่สยามเกมเมอร์ซึ่งภาษาอังกฤษไม่ค่อยจะแข็ง​อยากได้วุ้นแปลภาษาที่สุดแล้ว​ เพราะเล่นไปไม่ทันไรก็จะโดนถล่มด้วยคลื่นตัวอักษรแบบตั้งตัวไม่ทัน​ เกม Fallout​ 4 ก็เป็นเช่นนั้น​ เพราะเกมมีครบหมดทั้งชื่อหัวข้อเมนูประหลาดๆ​ คำอธิบายสกิลนู่นนี่นั่น​อะไรไม่รู้​ และบทสนทนาจากตัวละครเป็น​ 100 ตัว ในโลกหลังหายนะที่พูดเป็นต่อยหอย ที่สำคัญเกมนี้เลือกบทสนทนาผิดชีวิตอาจเปลี่ยนได้ (เปลี่ยนจากคุยกันด้วยรอยยิ้มเป็นสาดกระสุนมั่วซั่วไปหมด)​ หากภาษาอังกฤษทำให้ชีวิตอันยากลำบากในแดนนิวเคลียร์ของคุณยิ่งรันทด เราขอแนะนำให้คุณดาวน์โหลดม็อดซับไทยของทีม​ “Dark side translation Thailand” มาใช้โดยพลัน​ แล้วภูมิคุ้นกันรังสีความงงของคุณจะแข็งแรงขึ้นอีกหลายเลเวล

ข้อดีของผลงานแปลของทีมนี้ก็คือพวกเขาไล่แปลหมดตั้งแต่บทสนทนา​ ปูมบันทึกในคอมพิวเตอร์​ หน้าเมนู​ คำบรรยายสกิล​ VATS ชื่อ UI ย่อย ๆ​ ​ในเมนูเกมสารพัด​ ฯลฯ​ ​ซึ่งช่วยให้คนเล่นเข้าใจตัวเลือกการตั้งค่าในเกมได้ง่ายขึ้น​ ถึงในหลาย ๆ​ จุดจะแปลทื่อไปบ้าง​ อ่านแล้วรู้สึกว่าประโยคงง ๆ​ นิดหน่อย​ แต่ก็ต้องขอซูฮกในความพยายามของทีมแปล ที่พยายามเข็นงานแปลเกมสเกลใหญ่ระดับนี้ให้ออกมาเป็นภาษาไทยทั้งเกมจนได้​​ ​และถึงแม้ในเกมจะยังมีจุดที่ไม่ได้แปลไทยเหลืออยู่ (เช่น​ ชื่อไอเท็มและสัตว์ประหลาดในเกม)​ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการเล่นด้อยลงแต่อย่างใด​ แฟนเกม​ Fallout​ คนไหนกำลังมองหาเหตุผลที่จะกลับไปเล่นภาค​ 4 อีกรอบ​ ม็อดภาษาไทยตัวนี้ก็เป็นคำตอบที่ดีนะ

อันดับ​ 3: เดวิล​เมย์​คราย​ 5 (Devil May Cry 5) 

ดาวน์โหลดซับไทยกันได้ที่นี่:

https://www.noob-translator.com/devil-may-cry-5

อีกหนึ่งผลงานแปลแฟนซับของทีม​ “Noob​ Translator” ที่ครั้งนี้แปลได้เจ๋งและเฟี้ยวฟ้าวซะจนน่าตกกะใจ​ (น่าจะเป็นเพราะพวกเขาเริ่มแปลมาหลายเกมจนเริ่มคล่องมือ)​ อันที่จริงเกม​ DMC​ ภาค​ 5 ก็ไม่ใช่เกมที่มีศัพท์แสงยากมากมายอะไร​ แต่ถึงคุณจะเล่นเวอร์ชันภาษาอังกฤษเข้าใจอยู่แล้ว​ เราก็ยังขอแนะนำให้ดาวน์โหลดม็อดซับไทยตัวนี้ไปลองกันอยู่ดี​ เพราะมันจะทำให้การเล่นเกมนี้ได้อารมณ์มันส์ ๆ​ ฮา ๆ​ กว่าเดิม​ เหมือนนั่งดูการ์ตูนญี่ปุ่นบ้าพลังที่ได้เสียงพากย์จากทีมน้าต๋อย เซมเบ้นั่นแหละ​ 

ครั้งนี้ทีม​ Noob​ Translator​ เขาเปลี่ยนฟอนต์ให้เป็นตัวอักษรไทยเท่ ๆ​ ตั้งแต่โลโก้ชื่อภาคในหน้าแรกกันเลยทีเดียว​ แต่ที่ขอยกนิ้วให้จริง ๆ เพราะเขาแปลภาษาอังกฤษให้ออกมาเป็นภาษาไทยสายเกรียนได้ดีมาก​ ตัวละครแต่ละตัวจิก​กัดกันเป็นภาษาไทยได้ใจยิ่งนัก​ คำแสลงอย่าง​ โคตร​ เฟี้ยว​ ตื้บ​ แต๊ะอั๋ง​ ขี้โม้​ ฯลฯ​ ยกมากันครบ​ ได้อารมณ์กวนทีนตามสไตล์เดวิลเมย์ครายสุด ๆ​ เล่นแล้วรู้สึกเหมือนดูอนิเมะแอ็กชันญี่ปุ่นที่ใช้แฟนซับเกรด​ A+​ นอกจากนี้เขายังใจดีแปลคำอธิบายท่าโจมตีต่าง ๆ​ รวมถึงทริกการเล่นที่มีให้อ่านช่วงรอโหลดเกมกันด้วย​ ซึ่งช่วยให้มือใหม่เล่นได้ง่ายขึ้นอีกเยอะ​ ส่วนอาวุธหรือพลังชื่อประหลาด ๆ​ ทางทีมเขาก็แปลทับศัพท์ไปเลย​ (จุดนี้เห็นด้วย​ เพราะไม่อย่างนั้นชื่อบางไอเท็มจะฟังดูลิเกมาก​) สรุปสั้น ๆ​ ได้ว่าม็อดซับไทยของ​ DMC​ 5 เป็นงานแปลระดับอัปเกรดจาก​ RE​2 &​ 3 รีเมค ที่ทั้งอ่านลื่นไหลกว่า​ ได้อารมณ์กว่า​ และสมควรแก่การดาวน์โหลดมาลองเล่นด้วยประการทั้งปวง

ปล.​ ส่วนใครที่อยากแค่นั่งดูเนื้อเรื่องเพลิน ๆ​ เหมือนดูการ์ตูนญี่ปุ่นพากย์ไทย​ ยังมีผลงานจากทีมพากย์​ Tanudan​ ที่เขาเอานักพากย์การ์ตูนมือเก๋าของไทยมาช่วยกันพากย์ให้เกมนี้ตั้งแต่ต้นจนจบด้วยนะ!​ ไปดูกันได้ที่นี่:

อันดับ​ 2: ศิวิไลเซชัน​ 6 (Civilization VI) 

ดาวน์โหลดซับไทยกันได้ที่นี่:

www.siamese.cf

เกมแนววางแผนสร้างบ้านสร้างเมืองเป็นแนวเกมที่เราไม่ค่อยเห็นแฟน ๆ​ ออกมาทำซับไทยสักเท่าไหร่​ อาจจะเป็นเพราะเกมแนวนี้ไม่ค่อยมีเนื้อเรื่องให้อ่าน​ แต่ถ้าทีม​ “Siamese.cf​“ เขาไม่ออกมาแปลเกม​ CIV​ ภาค​ 6 ให้ลอง​ เราก็คงไม่มีวันรู้ว่าการเล่นเกม​ CIV​ เวอร์ชันไทยมันทำให้ชีวิตสบายขึ้นเยอะ​ เพราะงานของพวกเขาดีมากถึงขนาดทำให้เกม​ที่อุดมไปด้วยรายละเอียดมากมายเหลือคณานับอย่าง​ Civilization​ ดูเป็นมิตรกับผู้เล่นหน้าใหม่ขึ้นมาเลย

ม็อดนี้เขาแปลทั้ง​หน้า​เมนู​ หัวข้อ UI และคำอธิบายรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ​​ ในเกมออกมาดีมาก​ ดีจนเผลอนึกไปว่านี่ใช่เวอร์ชันภาษาไทยอย่างเป็นทางการที่ทีมพัฒนาเกมเขาปล่อยมาให้รึเปล่า​ คำแปลทั้งหมดอ่านเข้าใจง่าย​ แปลดี​ แปลตรง​ ชื่อเฉพาะอะไรไม่ควรแปลก็รู้จักทับศัพท์เป็นภาษาไทย​ ฟอนต์ตัวอักษรที่ใช้ก็กลืนกับอาร์ตเวิร์กในเกม แทบจะหาคำแปลที่อ่านแล้วรู้สึกขัด ๆ​ ไม่เจอ

ที่สำคัญคือ​ทีม​ Siamese.cf เขา​รู้จักใช้ทั้งคำแปลแบบธรรมดา​ (เช่น​ นักรบ​ ใจกลางเมือง​ คนงานก่อสร้าง เป็นต้น)​ สลับกับศัพท์หรู​ (​อนุสรณ์สถาน​ ยุ้งฉาง​ วิทยาเขต​ ฯลฯ)​ ​อย่างถูกวัตถุประสงค์​ ทั้งหมดก็เพื่อให้เกมเล่นเข้าใจง่ายและได้อารมณ์เดิมของเวอร์ชันต้นฉบับที่สุด​ จุดที่พอจะติได้บ้างมีแค่เรื่องคำตกบรรทัดบ้างแต่ก็เป็นข้อเสียเล็กน้อยมาก ๆ​​ ใครที่อยากลองเล่น​ CIV​ 6 แต่ไม่เคยเล่นภาคอื่นมาก่อน​ แนะนำให้เริ่มด้วยม็อดนี้เลย​ แล้วแผนก่อร่างสร้างอารยธรรมของคุณจะราบรื่นขึ้นอีกมากโข

อันดับ​ 1: เดอะ​ วิทเชอร์​ 3: ไวลด์​ ฮันท์ (The Witcher 3: Wild Hunt) 

ดาวน์โหลดซับไทยกันได้ที่นี่:

http://bit.ly/31SWP2s

สุดยอดเกม​ Open-World​ RPG​ ตลอดกาลที่เต็มไปด้วยเนื้อเรื่องอันเข้มข้นกินใจ​ เต็มไปด้วยจุดหักมุมที่เดายังไงก็ไม่ถูก และกองตัวหนังสือให้อ่านยาวเป็นหางว่าว​ (รวมทั้งหมดเกือบ​ 450,000 คำ!!?)​ ซึ่งแค่เยอะไม่พอ​ดันอ่านแล้วเข้าใจยากอีก​ เนื่องจากทีมพัฒนาเขาใช้ศัพท์โบราณแบบที่นิยายย้อนยุคเขาชอบใช้กัน​ หวังให้เกมเมอร์ฝรั่งอินกับเรื่องราวกันได้สุดๆ​ แต่เกมเมอร์ชาติอื่นอย่างไทยอย่างเราก็นั่งงงเป็นไก่ตาแตกไปสิครับ​ โชคดีที่คอมมูนิตี้​ “The​ Witcher​ 3 Thailand” ในบ้านเราเขาออกมาจับมือกัน​จัดโปรเจกต์งานช้างให้เกมเมอร์ไทย ด้วยการลุยงานแปลเนื้อเรื่องระดับมหากาพย์ของ​ The​ Witcher​ 3 ในม็อดภาษาไทยที่เก็บครบหมดทุก DLC! ​

จุดที่น่าชมเชยคือภาษาแปลของแฟน ๆ​ ชาวไทยใน​ The​ ​Witcher​ 3 ออกมาดีกว่างานแปลอย่างเป็นทางการของเกมบางเกมในช่วงสองสามปีนี้เสียอีก คำแปลในหน้าเมนูก็อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย​ จุดไหนในเกมที่ไม่ควรแปลก็รู้จักใช้คำทับศัพท์​​ ความหมายของบทสนทนาต่าง ๆ​ ก็ไม่ได้หลุดออกนอกลู่นอกทาง​ สาเหตุหลักของคุณภาพงานแปลระดับนี้น่าจะเป็นเพราะทุกคนที่มาช่วยกันแปลต่างเคยเล่นเกมมาแล้ว​ จนทำให้รู้บริบทของเนื้อเรื่องทั้งหมด​ และการที่ตัวเองเป็นแฟนเกมด้วยจึงทำให้ตั้งมาตรฐานงานแปลของตัวเองสูงไปด้วย 

ที่น่าทึ่งกว่านั้นคือคอมมูนิตี้บ้านเราเขาค่อยๆ​ ช่วยกันแปลอย่างไม่หยุดหย่อนมาหลายปีดีดัก จนตอนนี้เส้นเรื่องหลักของเกมภาค​ Wild​ ​Hunt ยัน​ภาค​ Heart​ of Stone และ​ Blood and Wine ต่างมีภาษาไทยให้อ่านกันตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว​ จริงอยู่ที่ว่ามีบางจุดที่ยังแปลไม่เสร็จกัน​บ้าง​ อย่างคำบรรยายของเควสต์ยิบย่อย​​ นอกจากนี้​ บางช่วงที่ตัวละครพูดกันเป็นกลอนก็อาจแปลออกมาไม่ได้คล้องจองนัก​ (ไม่งั้นคงต้องเอากวีไทยมาช่วยงานแล้วล่ะ)​ แต่แค่นี้ก็น่าประทับใจจนเราต้องขอซูฮกจากใจ​ พวกคุณทำได้ยอดมากครับแฟนเกม​ Witcher​ 3 ชาวไทย เอาไปเลยสิบกระโหลก Drowner!

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส