ถ้าจำกันได้เมื่อประมาณ 5 เดือนก่อนมีข่าว “ร่างกฎหมาย “ควบคุมเกม” อาจใช้จริง! จำกัดสตรีมวันละ 2 ชั่วโมง” ทำให้เกิดการวิจารณ์อย่างมาก และเรารับปากว่าจะมานำเสนอความคืบหน้าของเรื่องนี้ วันนี้เรารวบรวมความคืบหน้าของการคุยกัน การเสวนาแต่ละครั้ง ประเด็นต่างๆ ที่ได้ถกกัน และความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมเกมมาให้อ่านกันครับ

“ก่อนที่จะริเริ่มจุดนี้ ไม่ได้มีการนำประเด็นนี้ไปยังกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกันกับทุกฝ่ายแต่แรก เพราะเข้าใจว่าทุกฝ่ายต้องการให้เรื่องนี้เป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ว่าแต่ละฝ่ายก็ยังขาด ๆ แต่ดันไม่มาปรึกษากันก่อน เรื่องนี้ควรส่งสารข้อมูลไปยังเด็ก ๆ ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายโดยตรง โดยผ่านทาง แคสเตอร์ รีวิวเวอร์ ครีเอเตอร์ต่าง ๆ เพราะมันเข้าถึงเด็กได้ง่ายที่สุด และทำให้เด็ก ๆ สนใจและมีโอกาสมาพูดคุยเสนอแนะกันด้วย คนที่คลุกคลีอยู่แล้วเขาจะเข้าใจเรื่องพวกนี้มาก เราไม่ได้คัดค้านและไม่ได้เห็นด้วยทุกข้อ ต้องมาคุยกันด้วยเหตุผล”พี่แว่น FPSThailand ได้เข้าไปพูดที่รัฐสภา

และได้ใจความว่ายัง “ไม่ได้ห้ามจัดแข่งขันหรือแบนเกม FPS” “ไม่ได้จำกัดการสตรีมเกิน 2 ชั่วโมง” แต่ยังมีการเดินหน้าควบคุมแน่นอน โดยฝั่งทางรัฐบาลก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเช่นกัน จึงยังไม่สามารถระบุได้ แต่ร่างกฎหมายยังมีอยู่ แม้ว่ายังเป็นแค่ข้อเสนอ

แต่ถ้าย้อนข่าวก่อนหน้านี้จะพบข่าว “ภาคีเครือข่าย ชื่นชมกระทรวงศึกษาธิการ ‘เสมา 1’ เอาจริง! ลุยประสาน ‘โอเปอเรเตอร์มือถือ’ คุมเข้ม ‘อีสปอร์ต’” เมื่อ 29 มิถุนายน 2563

หลังจากนั้นได้ไม่นาน 25 สิงหาคม 2563 ก็มีเวทีเสวนา “ร่างกฎหมายกำกับดูแลเกม และการประกอบกิจการเกม เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชน เส้นทางสู่ความรับผิดชอบร่วมของใคร” จัดโดยคณะที่ร่างกฎหมายฉบับนี้เลย (คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส)


โดย ร่างดังกล่าวก็มีการพูดถึงในเสวนาดังกล่าวด้วย โดยมีใจความว่า

  1. ให้คำนิยามเกมกับอีสปอร์ตคือสิ่งเดียวกัน
  2. เกมที่จะเผยแพร่ในประเทศ รวมถึงโฆษณาและจัดแข่งขัน จะต้องได้รับการตรวจสอบและอนุญาตก่อน
  3. สตรีมเมอร์ต้องขึ้นทะเบียน
  4. เกมออนไลน์ต้องมีการเตือนเมื่อเล่นเกินเวลา
  5. ห้ามจัดแข่งขันและโฆษณาเกมในสถานศึกษาก่อนระดับมหาวิทยาลัย

โดยสามารถคลิกอ่านร่างดังกล่าวฉบับเต็มได้ที่นี่

หลังจากเสวนาดังกล่าว พี่กู้ Coolerist ก็จัดรายการมาเล่าและพูดคุยกับ ส.ส. จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ จากพรรคก้าวไกล ที่ได้เชิญพี่แว่นไปพูดคุยที่สภาก่อนหน้านี้ โดยได้นำร่างกฎหมายดังกล่าวมาวิเคราะห์ โดยทางงานเสวนามีการระบุว่ารับฟังเวทีสาธารณะ 2 ครั้ง และมีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างมาอีก 3 ครั้ง เท่ากับศึกษากับประชาชนมาแล้วประมาณ 5 ครั้ง แต่ก็โดนคนเข้าเสวนาคอมเมนท์ว่า “ไปเอากลุ่มตัวอย่างจากที่ไหน?” ทำไมไม่ไปสอบถามนักกีฬา E-Sports จริง ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่สัมภาษณ์แต่เด็ก ๆ เล่นเกมทั่วไป” และคนที่ร่างกฎหมาย “ไม่มีความเข้าใจในเรื่องเกมมากพอ”

ในเสวนาช่วงแรกมีการนำแพทย์มาพูดกรณียิ่งเยาวชนเห็นว่ามีการแข่งขัน E-Sports เด็กก็เล่นเกมหนักขึ้น (แล้วผู้ปกครองอะไม่สอนลูก?) รวมถึงการให้เด็กมาจ้องหน้าจอนาน ๆ จะมีผลเสียอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้ทั้งทางเรา (ผู้เขียน) และทุกคนที่ได้ฟังเสวนาเห็นด้วยกับเรื่องนี้นะครับ แต่ก็พบว่าแพทย์ท่านดังกล่าวไม่ได้เอา Case Study และสถิติมาถกคุยกัน ซึ่งคนยุคใหม่ไม่ค่อยเชื่ออะไรที่ไม่มีข้อมูลสนับสนุนหรือหลักฐานที่ชัดเจน อีกทั้งไม่ได้พูดถึงมุมเกมที่เล่นแล้วฝึกสมองได้ ในขณะที่พี่กู้สามารถหา Case Study เรื่องเกมฝึกสมองได้ น่าจะเอาข้อมูลมาถกกันทั้งสองมุม หลังจากนั้นผู้ที่ได้ร่วมเสวนาก็ตั้งคำถาม อย่าง “คุณเบล ขอบสนาม” ได้พูดว่า “ทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี่ ต้องลบความคิดว่า เกมคือยาเสพติด ออกไปก่อน ไม่งั้นจะคุยกันไม่รู้เรื่องหรอก” “ไม่อยากให้เด็กเห็นอาวุธในเกม แต่และได้พูดแทนเกมเมอร์ในหลาย ๆ มุม ร่วมกันอีกหลายท่าน

ทั้งเรื่อง “ร่างนี้ใช้งานจริงไม่ได้ มีตกหล่น มีช่องโหว่เยอะ คุณศตวรรษ อินทรายุทธ กล่าวว่า “เกมบางเกมก็สามารถใช้ออกกำลังกายได้จริงถ้าเล่นนาน ๆ จะถือว่าติดเกมหรือไม่” และถ้าจะควบคุมการจัดจำหน่ายเกม สมัยนี้ไม่ได้มีเกมแค่ขายเป็นแผ่นในประเทศแล้ว สามารถซื้อออนไลน์หรือสตรีมเกมจาก Cloud มาเล่นได้ อีกทางที่อ้างมาว่าวิจัยโดยศึกษาจากต่างประเทศ ดันไม่ได้ไปดูของ “อเมริกา” และ “ญี่ปุ่น” ที่เป็นประเทศที่อุตสาหกรรมเกมโตสูงมาก และแทบเรียกได้ว่าคือจุดกำเนิดของเกมเลย และบางประเทศที่ยกมาศึกษา “การพนันเป็นสิ่งถูกกฎหมาย”

แม้กระทั่ง “ผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม” กองควบคุมเนื้อหาวิดิทัศน์และภาพยนต์ เป็นหน่วยงานรัฐ ซึ่งก็ทำกับเกมด้วยมาเป็น 10 ปีแล้ว มี พรบ. เดิมที่ทำอยู่แล้วแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ยังกล่าวว่า “ที่คุณอ้างว่ามีเวทีสาธารณะ มีสุ่มกลุ่มตัวอย่าง ทำไมไม่ชวนเขาเลย และตกใจกับร่างกฎหมายใหม่ ทำไมต้องควบคุมแบบนั้นด้วย เราศึกษาและกำลังคุยเรื่องการจัดเรตติ้งเกมของเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังจะไปร่วมกับ ESRB ของอเมริกาอยู่นะ ทำไมไม่มาร่วมกับเรา” ถ้าเราไปตกลงกับเขาได้ แพลตฟอร์มต่างประเทศก็จะยอมรับ แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่ร่างกฎหมายใหม่นี้กลายเป็นว่าไปทำทับหน่วยงานที่ดูแลอยู่แล้วโดยไม่ปรึกษาเขา และเสนอแนะว่าหากบางกรณีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบการไม่ได้ก็ทำเป็นการขอความร่วมมือแทน พร้อมทั้งเสนอให้แก้ร่างหรือเขียนร่างใหม่ทั้งหมด

และทั้งนี้ สส. ศรัณย์ ทิมสุวรรณ จากพรรคเพื่อไทย ได้ให้ข้อมูลว่า “ที่มาของร่างนี้ไม่ได้มีการฟังคนในวงการเกมครบทุกด้านจริง ๆ และร่างกฎหมายนี้ไม่ใช่ความต้องการของรัฐบาลโดยตรง แต่มาจากหน่วยงานที่ได้รับงบวิจัย เลยต้องทำอะไรออกมาเพื่อเป็นผลงาน ซึ่งต่อยอดถึงงบวิจัยรอบปีต่อไปได้ ซึ่งผลงานก็คือกฎหมายตัวนี้” อีกทั้งในเสวนาดังกล่าวมีการกล่าวว่า “นักพัฒนาเกม ปรึกษานักจิตวิทยา เพื่อช่วยเหลือทางความคิดว่าทำยังไงให้เล่นเกมแล้วติด” โดยไม่มีหลักฐาน

แต่เรื่องที่มีระบุอยู่ในร่างกฎหมายที่น่าจัดการให้เป็นชิ้นเป็นอันจริง ๆ ก็คือเป็นเรื่อง “การพนันออนไลน์” แต่ไม่ใช่เหมารวมทุกเกมเป็นการพนันทั้งหมด

และร่างนี้ควรจะไปควบคุมสิ่งที่จำเป็นกว่า เช่น “การโกงในการเล่นเกม” “การแข่งขัน E-Sports ที่เบี้ยวเงินรางวัล” “ระบบกาชา” “การที่พ่อแม่เอามือถือให้ลูกเล่นโดยไม่สอนเรื่องเกมที่มีการกดชำระเงินจริง”

การจัดเรตติ้งของไทย เห็นด้วยว่าควรมีแต่ต้องดำเนินการโดยผู้ที่อยู่ในวงการจริง ๆ และยึดอายุจริง ๆ เช่นเกมที่มีความรุนแรงมาก อายุบรรลุนิติภาวระแล้วก็ควรจะเล่นได้ ไม่ใช่แบนทั้งหมด

สรุปคือทั้งสองฝ่ายต้อง “อย่าหัวร้อน” แล้วมาถกร่างว่าอันไหนควรแก้ไข และต้องไม่ใช่คุยแค่ความรู้สึก (แม้จะมีการอ้างอิงงานวิจัยอยู่แต่ว่าก็ยังน้อยไป แต่ก็ยอมรับว่างานวิจัยที่ให้มานั่นเป็นเรื่องจริง แต่ผู้ร่างกลับนำเสนองานวิจัยอยู่ฝ่ายเดียว) แต่ร่างกฎหมายนี้อยู่ใน ครม. อยู่แล้ว อาจจะมีการหยิบยกมาตอนไหนก็ได้และมีโอกาสผ่านการอนุมัติสูง และใช้งบวิจัยมาถึง 2 ปี และอยู่ใน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และฝ่ายค้านก็มีคนเห็นด้วยกับร่างนี้เยอะเช่นกัน ไม่ใช่แค่ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น จึงจำเป็นต้องหาทางแก้ไขให้เป็นในสิ่งที่ควรเป็นก่อนบังคับใช้จริง

หากใช้จริงโดยไม่แก้ให้เป็นในทิศทางที่สมควรจะกระทบถึง หน่วยงานที่ทำทีม E-Sports ระดับแฟรนไชนส์อย่าง “Faze Clan” จากต่างประเทศที่มาตั้ง ลงทุน และดูแลทีม E-Sports ในไทยจะเบนไปประเทศเพื่อนบ้านแทน ทำให้ไทยเสียโอกาสมาก และการทำทีม E-Sports นั้นมีการคุมเข้มเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว ไม่ใช่เอาแต่เล่นเอาแต่ซ้อม เรื่องสุขภาพ หากเราทำงานมากไปมันก็มีส่วนเช่นกัน แต่ทำไมถึงไม่มีกฎหมายควบคุมเวลาทำงานจริงจังด้วย

อีกทั้งมุมผู้ปกครองก็ตั้งข้อสงสัยว่า เพราะจริง ๆ ผู้ปกครองบางคนนี่แหละละเลยการดูแลลูก ลูกจึงเล่นเกมเยอะเกินไป และมีโซลูชันอะไรที่จะมาแก้ที่ต้นเหตุบ้าง เด็กหลายคนเล่นเกมตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ได้มีผลต่อพัฒนาการและพฤติกรรม (ผู้เขียนก็เป็นแบบนี้) และหากโลกนี้ไม่มีเกม สื่ออื่น ๆ ที่เสพมากเกินไปก็เข้าข่ายเช่นกัน

อาการติดเกมประเภทไม่เล่นแล้วเหมือนจะลงแดง มีจริง แต่ % ทั่วโลกของคนเล่นเกมทั้งหมดมีเท่าไหร่ และต้นเหตุที่แท้จริงมันเพราะเหตุผลอื่นหรือเปล่า เด็กถึงไปเล่นเกมนาน ๆ เพื่อหลุดจากโลกความเป็นจริง ไม่ควรออกฎเพื่อระงับสิทธิคนที่ไม่มีปัญหาส่วนใหญ่ และการติดอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่สารเสพติด ติดได้ทุกอย่างหากผู้ปกครองละเลย

ทำให้คิดถึงที่ กสทช. เคยเสนอจะ “กำกับดูแลบริการ OTT” ซึ่งสุดท้ายต้องพับแผนไป

แบไต๋ไลฟ์ กสทช. จะลากแอดมินเพจเฟซบุ๊กขึ้นทะเบียน คุณคิดว่าปัญหาและปัญญามันบรรจบกันไหม?

กสทช. ยันไม่มีแนวทางจัดเก็บรายได้ OTT จากบริการอย่าง facebook, Youtube ยังใช้งานได้อย่างปกติ

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) “พรบ. ควบคุมเกม” ได้ถูกนำมาพูดถึงเข้าสภาผ่าน ส.ว. หรือวุฒิสภาเรียบร้อย ทำให้ต้องกลับมาจับตาอีกครั้ง เพราะหมายความว่าโอกาสผ่านร่างเป็นไปได้สูง และเนื้อหาร่างยังไม่ได้ปรับปรุงจากการที่มีผู้คนเสนอแนะสักเท่าไหร่ ในที่ประชุมสภามีการขยายถึงการใช้ Social Media และ Cyber bullying และพนันออนไลน์ (หัวข้อบางหัวข้อก็ฟังดูน่าสนับสนุนนะ แต่ต้องดูเนื้อในก่อน) และตอกย้ำความเป็นอยู่ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” และไม่ได้มีการนำข้อมูลความเห็นที่รับฝังจากประชาชนจากการเสวนาครั้งก่อนมาปรับใช้ และยังไม่มีการรับฟังจากเวทีเสวนาสาธารณะเพิ่มเติมหลังจากครั้งที่แล้วเคยบอกไว้ด้วย

และไม่มีใครในสภาคัดค้านหรือโต้แย้งอย่างชัดเจน และไม่ยอมรับว่า “E-Sports” เป็นกีฬา ทั้งที่ กกท. ยอมรับแล้ว อีกทั้งภาครัฐก็มีการสนับสนุนเงินทุนด้วย จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าจะให้รัฐโยกงบมาลงที่การพัฒนาสื่อสร้างสรรค์มากขึ้น โดยแสดงให้เกมดูมีพิษภัยมากจนไม่ควรสนับสนุน

และกล่าวถึงกรณี “พฤติกรรมจากการเล่น PUBG ซึ่งเป็นเกมที่สำรวจออนไลน์ พบว่าเป็นเกมที่เด็กไทยเล่นมากที่สุด ปลูกฝังความรุนแรง และทำให้เกิดการแตกแยก จึงทำให้เยาชนมาแบ่งฝ่าย ทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม แล้วออกมาประท้วงต่าง ๆ” (หะ เกี่ยวด้วยหรือ โยงการเมืองเฉย) อีกทั้งหลายประเทศกำลังสั่งยกเลิกการเล่นเกมนี้ (อันนี้ไม่เคยมีข่าวนะครับ มีแค่ที่อินเดียในกรณี PUBG Mobile, PUBG Lite ที่ให้บริการโดยบริษัทจีน Tencent และประเทศอินเดียมีการแบนแอปจากจีนเนื่องจากปัญหาทางการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับเกมมีความรุนแรง เพราะเกมประเภทเดียวกันอื่น ๆ ยังให้บริการได้) อ้างอิง

ที่ประชุมมีการรายงานว่าพบว่าเกม “ROV” เขาข่ายการพนัน และมีการเล่นพนันในเกมมี ร้อยละ 15 (แต่ไม่ได้บอกว่าส่วนไหน ตรงนี้ Garena น่าจะมาชี้แจงให้เคลียร์ไปด้วย)

โดยพี่กู้ ได้ตั้งคำถามว่า “การพนันในเกม คำนี้ครอบคลุมแค่ไหน นั่งทายผลการสตรีมเกม ทายผล E-Sports เหมือนพนันฟุตบอลหรือเปล่า ถ้าเอาข้ออ้างนี้มาแบนเกม ก็ต้องแบนถ่ายทอดกีฬาไปด้วย มันอยู่ที่สภาพสังคมหรือเปล่า?

กาชาเข้าข่ายไหม แต่ผมก็เห็นด้วยว่า การซื้อของในเกมด้วยระบบสุ่มของ ไอเท็มที่ได้ฟรีแบบสุ่มที่ไม่สามารถเอาไปขายต่อได้หรือเปลี่ยนเป็นเงินจริงได้ ระบบกาชา มันทำให้เติมเกมเกินเหตุจริง ๆ นะ แต่มีวิธีที่ดีกว่าไหมในการออกกฎหมายเหล่านี้ ทำได้โดยไม่ต้องแบนตัวเกมทั้งหมด การควบคุมไม่ใช่การแบน” ในยุโรปหลาย ๆ ประเทศ มีการควบคุมเกมระบบกาชาจริง ๆ และน่าจะต้องแยกแยะระบบกาชาที่ไม่ได้ใช้เงินจริงออกด้วย

ในที่ประชุมมีการบอกอีกว่า “และไม่ใช่แค่เด็กที่ติดเกมหรือติดสื่อออนไลน์ ผู้ใหญ่ก็ติดเช่นกัน ทั้งแม่ติดเกมแล้วไม่ทำกับข้าว พ่อมาก็ไม่มีกับข้าวให้กิน” (หะ?)

ซึ่งในการประชุมก็ยังมีการเห็นว่า ร่างนี้ยังไม่เคลียร์ และได้แสดงให้เห็นว่าระบบ AI บน Social Media จะเลือกคอนเทนท์มาแสดงตามสิ่งที่คนนั้นชอบ ดังนั้นแต่ละคนก็จะได้รับข้อมูลที่ไม่เหมือนกันได้ และถ้ารัฐจะทำสื่อน้ำดีสำหรับเด็กและเยาวชน ไม่ควรทำเองต้องให้คนรุ่นใหม่มาทำ เพราะถ้ารัฐทำเองรูปแบบก็ไม่น่าสนใจ

ในร่าง มีการระบุว่า จะจัดแข่งขันเกมต้องขออนุญาต ประเด็นคือขออนุญาตเรื่องอะไร และเราจะโดนควบคุมอะไรบ้าง และถ้าการจัดแข่งขันเกมต้องมีการให้สัมปทาน ก็อาจจะกลายเป็นว่าเป็นการผูกขาด รายเล็กหรือ SME ไม่สามารถจัดได้ และการจัดแบบไหนต้องขอ จัดเล็ก ๆ ในพื้นที่ชุมชนต้องขอด้วยไหม?

และที่มีการตีความว่าคนที่เล่นเกมแล้วไปเป็นนักกีฬา E-Sports มีอยู่ไม่กี่ % (แต่ลืมไปว่าคนที่เล่นเพื่อเป็นความบันเทิง แบบเดียวกับ ดูหนัง ดูละคร ดูสื่ออื่น ๆ ก็มี)

คลิปนี้ผมได้จัดมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว จะได้สะดวกในการรับชม

คลิกอ่าน “รายงานการพิจารณาศึกษา”

จุดที่น่าสนใจในร่างกฎหมายมีปรากฎว่า

“ผลักดันให้มีการนำกฎหมาย COPPA (คลิกอ่านเพิ่มเติม) มาใช้กับเกมเพื่อไม่ให้เด็กไม่ตกเป็นเหยื่อของเกม

ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ออกมาใช้บังคับใช้และกฎหมายฉบับนี้เป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรปที่ Facebook, Instagram, YouTube จะต้องปฏิบัติ ตามมาตรฐาน สาเหตุที่เด็กและเยาวชนไทยไม่ได้รับการคุ้มครองเพราะว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายฉบับนี๋ ตัวอย่างเช่น ในต่างประเทศเมื่อมีการดาวน์โหลดแอปจะปรากฏเงื่อนไขการใช้งานเป็นตัวอักษร ขนาดเล็กและมีเนื้อหาที่ยาว ซ็่งผู้ประกอบการได้นำไปใช้ตามกฎหมาย COPPA”

และมีการพูดถึงว่า “บางเกมดูไม่รุนแรง แต่บางประเทศก็แบนเช่น จีน รัสเซีย และแคนาดา เนื่องจากเรื่องความมั่นคง เช่นเกม Pokemon Go นอกจากนี้พบว่าในจีนมีการจำกัดว่าซิมที่ลงทะเบียนโดยเยาวชน จะจำกัดค่าใช้จ่ายให้ไม่เกินตามที่กฎหมายกำหนด

“ข้อเสนอเพิ่มเติมกรณีการผลักดันให้มีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยัง ไม่มี และเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกับสื่อด้วยว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพราะว่าสื่อออนไลน์ เข่น Facebook, YouTube, Twitter เป็นต้น ไม่ได้ขอใบอนุญาตจาก กสทซ. และไม่มีการคัดกรองโดย บรรณาธิการ ซึ่งจะน่ามาใช้บังคับอย่างไรให้เหมาะสม เข่น ในอดีตที่ผ่านมาพิธีกรและผู้ประกาศข่าวจะต้องมีใบประกาศรับรองจาก กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ปัจจุบันมีการเรียกร้องเสรีภาพจึงถูกยกเลิกไป อย่างไรก็ตาม กสทซ. ได้จัด อบรมหลักสูตรระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง เพื่อที่จะมาสอบบัตรผู้ประกาศ ซึ่งเป็นเรื่อง ความร่วมมือ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่ผ่านการอบรมนี้จะมีคุณภาพดี”

และก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำอะไรอย่างไร หรือจริง ๆ อาจมีกฎหมายตัวจริงเขียนรอไว้แล้ว และเหมือนว่าจะมีการฟังความข้างเดียว หรือจะมีหน่วยงานตั้งไว้เพื่อให้โทรไปร้องเรียนปิดสื่อออนไลน์หรือแบนเกม

และอนาคตอาจกลายร่างเป็น พรบ.ควบคุมสื่อออนไลน์ทุกประเภท เหมือนกับแนวคิดที่เคยจะควบคุม OTT และหากควบคุมจริง สตรีมเมอร์หน้าใหม่จะทำอย่างไร หากต้องบังคับไปขึ้นทะเบียน สตรีมเมอร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกมเช่นถ่ายทอดสดเสวนา สัมมนา อีเวนท์ จะถูกเหมารวมไปด้วยไหม?

มาดูเนื้อหาสาระสำคัญข้อเสนอแนะ 15 ข้อ

  1. ส่งเสริมให้มีการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
  2. ผลักดันให้รัฐบาล กำหนดให้มีการเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อของเด็กและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ และผลักดันให้มีคณะกรรมการระดับชาติที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน
  3. จัดให้มีศูนย์ข้อมูลด้านการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และการรู้เท่าทันสื่อระดับชาติ
  4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัย
  5. สนับสนุนให้มีการจัดทำหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อ
  6. สนับสนุนให้กลไกในทุกระดับทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค มีการสร้างความตระหนักสาธารณะ โดยจัดสรรงบประมาณเพื่อเวทีสาธารณะ และจัดกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพแก่เด็ก และบุคคลแวดล้อมรอบตัวเด็กเพื่อให้รู้เท่าทันสื่อ พร้อมผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ได้จริงอย่างทั่วถึง ทุกภูมิภาค
  7. ผลักดันให้ภาครัฐ จัดสรรพื้นที่ที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์สำหรับเด็ก และเยาวชนอย่างหลากหลาย จริงจัง และเป็นรูปธรรม ทั้งออนไลนํ ออนแอร์ และออนกราวนด์ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณโดยตรงจากภาครัฐ
  8. ผลักดันให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐ และกองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดสรรให้มีโครงการสนับสบุบพื้นที่สร้างสรรค์ที่เด็กและเยาวชนจะได้มีส่วนร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมทำในกิจกรรมหรีอโครงการที่เหมาะสมกับช่วงวัยและความสนใจ ให้เด็กสามารถพัฒนาสมรรถนะตนเอง เกิดจินตนาการ แรงบันดาลใจ จิตสำนึก และคุณธรรม ได้อย่างยั่งยืน
  9. ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายภาคพลเมือง ในการเฝ้าระวังภัยจากสื่ออย่างเข้มแข็ง และกว้างขวาง
  10. สนับสนุนและผลักดันให้มีการร่างกฎหมายกำกับดูแลการใช้ลื่อออนไลน์ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกับไม่ให้เกิดภัยจากการใช้สื่อออนไลน์ ทั้งภัยด้าน อาชญากรรม ความรุนแรง ลามกอนาจาร การแสวงผลประโยชน์ทางเพศ การพนันออนไลน์ การหลอกลวง และมีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชน เป็นต้น
  11. ผลักดันให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับเกม และผู้ประกอบการโทรคมนาคม ให้คำนึงถึงการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนตามกติกาสากลเป็นสำคัญ โดยกำหนดอายุเด็ก ที่เหมาะสมในการเช้าร่วมกิจกรรม และการคัดสรรเกมที่มีเนื้อหาไม่สร้างความรุนแรงให้แก่เด็กจนเกิด ความเคยชิน และอาจนำไปส่การเกิดป้ญหาในครอบครัว และสังคม
  12. สนับสนุนและร่วมผลักดันให้มี “กฎหมายการกำกับดูแลเกม และการประกอบกิจการ เกมเพื่อคุ้มครองเดกและเยาวขน” อย่างมีส่วนร่วม และทันต่อสถานการณ์ ซึ่งขณะนี้ มีร่างกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2562 โดยเนื้อหา ครอบคลุมถึงการกำหนดอายุเด็กที่เหมาะสมในการเข้าเล่นหรือเข้าแช่งขันเกม การจัดระดับความ เหมาะสมของเนื้อหาเกม หรือการจัดเรตติ้ง การกำหนดเวลาที่เหมาะสมในการเล่นเกม การจัดการ การสื่อสาร โดยเฉพาะการโฆษณา และการจัดกิจกรรมของผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง กับเกม และผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่
  13. ผลักดันให้ทุกภาคส่วน ร่วมปฏิบัติตาม “แผนปฏิบัติการการแสดงความรับผิดชอบ เกี่ยวกับ E-Sports ต่อเด็กและเยาวชน’’ เพื่อให้มีการเร่งดำเนินการคู่ขนานกันไป ซึ่งขณะนี้ มีร่างแผนปฏิบัติการพร้อมแล้ว อยู่ในความรับผิดชอบของกรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกัน ไม่ให้เด็กใช้เวลาและเงินไปกับเกมอย่างไม่เหมาะสม และก่อให้เกิดป้ญหาต่อร่างกาย จิตใจ สังคม และสติป้ญญา *แต่เรายังไม่เห็นร่างส่วนนี้เลย
  14. ผลักดันให้เป็นภารกิจสำคัญของสื่อทุกแขนง รวมถึงสื่อบุคคล และองค์กรวิขาชีพสื่อ ที่ต้องมีการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหาในการใช้สื่อ และร่วมกันเสนอแนะ ข้อมูล ความรู้ ที่ถูกต้อง ในการรับมือกับภัยที่มากับสื่อ นอกเหนือจากการทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ เท่านั้น เพื่อให้ครอบครัวหรือสังคมที่เผชิญปัญหาดังกล่าว ได้นำไปปฏิบัติเบื้องต้น พร้อมทั้งไม่สื่อสาร ที่เป็นการตอกยํ้า ซํ้าเติม หรือยุยง ซักจูง โน้มน้าว ที่อาจเป็นการก่อให้เกิดปัญหาจากสื่อที่รุนแรง มากยิ่งขึ้น
  15. ผลักดันให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้การปกปัองคุ้มครองเด็ก และเยาวชนจากการใช้สื่อที่ไม่เหมาะสม และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ เป็นวาระสำคัญของรัฐสภาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภัยจากการใช้สื่อที่กัดกร่อนและบ่อนทำลายทรัพยากรบุคคล ครอบครัว และสังคม ไปมากกว่านี้

ล่าสุด พี่กู้ Coolerist เดินทางมารัฐสภาเพื่อมาประชุมนัดแรกของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาอุตสาหกรรมอีสปอร์ต (หลังจากวันที่ถ่ายทอดสดประชุมสภาวันดังกล่าวไม่กี่วัน)

อย่างไรก็ตามทางเราก็อยากได้ความเห็นเพิ่มเติมทั้งจากมุมของนักพัฒนาเกมในไทย และบุคลากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางด้านนี้มาพูดคุยและผลักดันให้มีการแก้ไขช่องโหว่เหล่านี้ โดยสามารถ Inbox มาคุยกับเราหรือ พี่แว่น fpsthailand และ พี่กู้ Coolerist ก็พร้อมที่จะต้องการให้ทุก ๆ คน ร่วมแสดงข้อเสนอแนะเช่นกัน

อ้างอิงข้อมูลจาก: Facebook Page: Coolerist และ พี่แว่น, Gamerguy

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส