ย้อนอดีตไปในช่วงปลายยุค 80s ถึงช่วงยุค 90s ที่อยู่ในยุคเปลี่ยนถ่ายเครื่องเกมจาก Famicom ในช่วงปี 1986 ลากยาวไปจนถึง PlayStation 2 ที่วางจำหน่ายในปี 2000 ในช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่าเป็นช่วงยุคบุกเบิกในวงการเกมบ้านเรา ที่มีหลายสิ่งเกิดขึ้นมากมายและหลายอย่างในยุคนั้นได้หายไปแล้วตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเรียกว่าเป็นเสน่ห์ที่น่าหลงใหลซึ่งเด็กยุคนี้ที่เกิดไม่ทันอาจจะไม่ทราบ วันนี้เราเลยรวบรวม 15 ความยากลำบากที่นักเล่นเกมยุคก่อนต้องเจอให้เด็กยุคนี้ได้อ่านกัน ทุกคนจะได้รู้ว่ากว่าที่เราจะได้เล่นเกมที่สมบูรณ์แบบขนาดนี้ ในอดีตได้มีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับคนยุคก่อน ถ้าพร้อมแล้วก็เตรียมตัวนั่งเครื่องย้อนเวลาไปกับเรากันได้เลย

การจด Password เพื่อ Save เกมที่เราเล่น

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

เริ่มต้นเรื่องแรกที่นักเล่นเกมในยุคนั้นต้องเจอ และเป็นปัญหาโลกแตกมาก ๆ ในยุคนั้น ที่คนเล่นเกมในยุคนี้จะไม่ต้องเจอแบบนั้นแล้ว กับระบบการ Save Game โดยการจด Password ซึ่งต้องอธิบายสำหรับคนที่ไม่ทราบ ว่าในยุคอดีตนั้นการบันทึกเกมที่เราเล่นไม่จบนั้นยังไม่สามารถทำได้แบบในยุคนี้ การที่เราจะเลิกเล่นกลางทางแล้ววิ่งไปที่จุด Save เพื่อบันทึกระบบเกมที่เล่นค้างนั้นเป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก ๆ ยิ่งเกมแนว RPG อย่าง Dragon Quest ที่เมื่อเราจะ Save เกมที จะต้องไปหาพระราชาเพื่อขอรหัสที่เป็นตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นยาว ๆ (ดูรูปประกอบ) หรือโชคดีหน่อยในบางเกมก็จะเป็นการใส่จุดในช่องหรือตัวเลขอย่างเกมในซีรีส์ Rock Man แต่นั่นก็เป็นข้อดีตรงที่ในหนังสือเกมจะมี Password Save เกมดี ๆ ให้เราได้ลองไปใส่เพื่อเพิ่มความสนุกให้เกม อย่างการเพิ่มจำนวนครั้งในการตาย ของพิเศษต่าง ๆ ที่ทางผู้พัฒนาปล่อยมาให้เราได้เอาไปเล่นเพื่อความสนุก

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

ติดตามข่าวสารจากนิตยสารเกมรายอาทิตย์

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

อีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่งจะหายไปจากตลาดตามยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน นั่นคือเหล่านิตยสารเกมทั้งแบบรายอาทิตย์ไปจนถึงรายเดือน ที่ในยุคสมัยก่อนนั้นการติดตามข่าวสารวงการเกมเราจะได้รับรู้จากนิตยสารเกมเหล่านี้ ที่บอกเราถึงข่าวสารเกมใหม่ ๆ ที่กำลังจะวางจำหน่าย ไปจนถึงสูตรเกมรีวิวเกมบทสรุปในการผ่านเกมต่าง ๆ ในเล่มเดียว กับราคาเพียง 10 ถึง 20 บาท ที่ในยุคนั้นถ้าพูดถึงนิตยสารเกมหลายคนต้องคิดถึงนิตยสาร Mega กับ GameMag ที่เป็นเหมือนข่าวสารวงการเกมที่เราจะได้รับรู้แบบรายอาทิตย์กับราย 10 วันที่ตอนนี้ได้ปิดตัวลงไปแล้ว แต่สิ่งที่คนเล่นเกมในยุคนั้นต้องการจริง ๆ ก็คือสูตรเกมต่าง ๆ ที่จะมีให้คนยุคนั้นได้ลองเอาไปใช้กัน และในยุคนั้นก็มีระบบการประกาศซื้อขายเกมผ่านนิตยสาร ให้คนที่สนใจส่งจดหมายไปสั่งซื้อขายของกันเองด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการโกงไม่ส่งของก็เริ่มมีมาตั้งแต่ในยุคนั้นแล้ว

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

กำแพงภาษาไม่ใช่ปัญหาในการเล่น

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

อีกหนึ่งที่นักเล่นเกมยุคนั้นต้องพบเจอนั่นคือกำแพงภาษา เพราะเกมส่วนมากที่คนยุคนั้นได้เล่นเกือบทั้งหมดจะมาจากประเทศญี่ปุ่น แถมเกมส่วนมากในประเทศญี่ปุ่นในตอนนั้นก็แทบจะไม่ถูกทำเป็นภาษาอังกฤษ หรือต่อให้ทำตัวเกมก็ไม่ค่อยจะมีวางขายในบ้านเรา และสิ่งที่นักเล่นเกมยุคนี้ทำคืออาศัยบทสรุปเพื่อดูว่าต้องไปทางไหนทำอย่างไรถึงจะผ่านไปได้ โดยที่คนเล่นในยุคนั้นแทบไม่รู้เลยว่าเนื้อเรื่องในเกมเป็นอย่างไรขอแค่ได้เล่นก็พอใจแล้ว และเกมที่ต้องอาศัยบทสรุปทั้งหมดก็เป็นเกมภาษาหรือแนว RPG ที่มีคนเล่นเกมแนวนี้ไม่มาก และเกมส่วนใหญ่ก็เป็นเกม Action ที่ไม่ต้องอาศัยการอ่านจึงไม่ใช่เรื่องที่หลายคนเป็นกังวล และถ้าตอนนี้คุณเห็นคนเล่นเกมที่เล่น Dragon Quest ฉบับภาษาญี่ปุ่นหรือเรียกเกม Resident Evil ว่า BioHazard ก็คิดไว้เลยว่าเขาเคยชินกับเกมภาษาญี่ปุ่นที่เคยเล่นในยุคนั้นนั่นเอง

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

การไม่รู้ว่าไหนแท้ไหนของ Copy

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

ด้วยความที่ข่าวสารในยุคนั้นที่ไม่ครอบคลุมรวดเร็ว หรือมีบริษัทเกมมาเปิดเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างถูกต้อง จึงทำให้คนยุคนั้นไม่รู้ว่าเกมที่ตัวเองเล่นนั้นมีของปลอม หรือที่เราเรียกว่าตลับ Copy ที่ทำออกมาแบบผิดลิขสิทธิ์อยู่ในตลาด ยกตัวอย่างตลับเกมบนเครื่อง Famicom ไปจนถึงเครื่อง Super Famicom ที่คนในยุคนั้นไม่ทราบเลยว่าไอ้ตลับ 10 in 1 หรือ 99999 in 1 นั้นคือของปลอม(คนในต่างจังหวัดไม่ทราบ) ไปจนถึงหัวโปรที่เอามาใส่บนเครื่อง Super Famicom เพื่อให้เล่นแผ่น Floppy Disk นั้นคือของผิดลิขสิทธิ์ และเชื่อหรือไม่ว่าจนถึงตอนนี้หลายคนยังคิดว่าเครื่อง Family FR202 คือของแท้  ทั้งที่ความจริงแล้วทั้งหมดนั้นคือของผิดลิขสิทธิ์ ซึ่งในยุคนั้นก็มีการโฆษณาขายสินค้าเหล่านั้นในนิตยสารเกมจนคนในยุคนั้นคิดว่ามันคือของแท้

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

บทสรุปเกม

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

อีกหนึ่งสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้ในยุคนนั้น ก็คือหนังสือบทสรุปเกมที่ถูกรวมเล่มขึ้นมาต่างหากจากนิตยสารเกม ที่เมื่อก่อนนั้นร้านหนังสือบางร้านจะมีแต่หนังสือบทสรุปขายอย่างเดียวเลยก็มี  โดยในในหนังสือนั้นจะบอกทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับเกมนั้นเกมเดียวแบบละเอียด ทั้งตารางการใช้ไอเทมหรือสิ่งต่าง ๆ ในเกม ที่บางครั้งเนื้อหาในหนังสือก็จะแปลมาจากหนังสือฉบับภาษาญี่ปุ่น หรือทางสำนักพิมพ์จัดทำขึ้นมาเองซึ่งมีอยู่เยอะมาก ๆ ในสมัยนั้น ที่ในยุคนี้มันกลายเป็นของล้าสมัย แต่ในยุคนั้นมันคือสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย เรียกว่าถ้าไม่มีบทสรุปหลายคนคงจะเล่นเกมไม่ผ่านเพราะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก โดยยุคของบทสรุปเกมนั้นจะมีถึงช่วงปลายยุค PlayStation 2 ก่อนจะค่าย ๆ หายไปอย่างน่าเสียดาย จนตอนนี้มันกลายเป็นของสะสมที่นักเล่นเกมยุคก่อนต้องการ

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

เล่นเกมกับเพื่อนผ่าน Controller Joy 2

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

เลิกเรียนมาเล่นเกมบ้านเราไหม ประโยคที่เด็กในช่วง 80s – 90s มักจะชวนกันไปนั่งเล่นเกมบ้านเพื่อน และเกมที่นิยมเล่นกันในยุคนั้นก็มักจะเป็นเกมที่สามารถเล่นพร้อมกันได้ 2 คนในจอเดียว อย่าง Contra หรือไม่ก็ Kunio ภาคต่าง ๆ ไปจนถึงเกมต่อสู้ที่อยู่บนเครื่อง Famicom ที่สร้างความสนุกและหัวร้อนให้กับเพื่อน ๆ ซึ่งการเล่นเกมพร้อมกัน 2 คนด้วย Controller Joy 2 นั้นในปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีอยู่แต่ก็น้อยลง เพราะคนส่วนมากจะเล่นในระบบ Online หมดแล้ว และเครื่องเกมที่มีช่องสำหรับใส่ Controller Joy 2 นั้นก็มีถึง PlayStation 2 เท่านั้น ส่วนของเกมพกพาอย่าง Game Boy นั้นก็สามารถเล่นพร้อมกัน 2 คนได้ผ่านสาย Cable Link โดยที่ทั้ง 2 เครื่องต้องมีตลับเกมเดียวกัน และนั่นก็เป็นยุคแรก ๆ ที่คนเล่นเกม Pokemon จะแลกเปลี่ยนตัวละครกันผ่านเจ้าสาย  Cable Link นี้อีกด้วย

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

เกม Online เป็นสิ่งที่เกินฝันโดยเฉพาะบนคอนโซล

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

อย่างที่เราได้บอกไปหลายครั้งในหัวข้อก่อน ๆ ว่าในยุคสมัยช่วง 80s – 90s นั้นการเล่นเกมเป็นอะไรที่ยากลำบากเมื่อเทียบกับยุคนี้ ยิ่งระบบ Online ที่เราสามารถเล่นกับเพื่อน ๆ ทั่วโลกยิ่งเป็นอะไรที่เกินฝันมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นบนเครื่อง PC ในยุคนั้น ที่กว่าจะต่อได้ทีแสนจะลำบากแถมยังหลุดง่าย ราคาก็แพงการติดตั้งก็ยุ่งยาก ในขณะที่บนเครื่องคอนโซลนั้นก็เลิกคิดไปได้เลย เพราะกว่าที่เกมจะมีระบบออนไลน์ให้เราได้เล่นก็เป็นช่วง PlayStation 2 ไปแล้ว แต่บ้านเราก็ไม่สามารถเล่นได้ ซึ่งเกม Online ที่นับเฉพาะคอนโซลในยุคนั้นที่เด่น ๆ ก็มีเกม Phantasy Star Online เกมออนไลน์เกมแรกในประวัติศาสตร์ของคอนโซลที่ลงบนเครื่อง Dreamcast ส่วนของ PlayStation 2 ก็ต้องเป็น Resident Evil Outbreak กับ Monster Hunter ที่ถ้าใครอยากเล่นก็ต้องมีอุปกรณ์เสริมเพื่อต่อเล่นซึ่งน้อยคนในยุคนั้นจะได้เล่น

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

สะพานเหล็กแหล่งขายเกมในตำนาน

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ
ข่าวเด่นประเด็นร้อน

อีกหนึ่งสิ่งที่เราจะไม่พูดถึงไม่ได้กับสถานที่ขายเกมในตำนาน ที่นักเล่นเกมในยุคเก่าและยุคใหม่หลายคนน่าจะรู้จักกัน และทันก่อนที่มันจะถูกทุบทิ้งนั่นคือสะพานเหล็ก สถานที่ในความทรงจำของนักเล่นเกม ที่ใครหลายคนที่ได้อ่านบทความนี้คงต้องเคยผ่านเรื่องราวทั้งดีและร้ายจากสถานที่แห่งนี้กันไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นหัวอ่านเหล็กบน PlayStation 1 หรือประโยคที่คุ้นเคยอย่างทางร้านรับมาไม่กี่ร้อยเองกำไรไม่กี่บาทเลย ตอนที่เราซื้อเครื่องหรืออุปกรณ์เกม ไปจนถึงเหตุการณ์แปลก ๆ อย่างการพร้อมใจกันปิดร้านอย่างไม่มีเหตุผลเมื่อไปถึง หรือเราที่เป็นลูกค้ายังถูกขังในร้านก็มี โดยเราสามารถย้อนอดีตไปได้ไกลสุด(นับเฉพาะที่มีเกมเริ่มขาย) ก็น่าจะเป็นยุคที่ Famicom เฟื่องฟูที่เริ่มจากร้านค้าไม่กี่ร้าน จนเวลาผ่านไปสะพานเหล็กก็เปลี่ยนจากสถานที่ขายของทั่วไป กลายเป็นแหล่งขายเกมกับของเล่นที่มาจนมาถึงยุค PlayStation 4 ก่อนที่จะถูกทุบทิ้งในปี 2558 เป็นการปิดตำนานสถานที่ในความทรงจำที่หลายคนยังคงคิดถึง

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ
flashfly

แผ่นแท้หายากกว่าของก็อป

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

ต่อเนื่องจากหัวข้อคนเล่นเกมไม่ทราบว่าเกมไหนคือของแท้ของ Copy ที่มาถึงยุค PlayStation นักเล่นเกมก็เริ่มจะทราบแล้วว่าเกมที่ตนเองได้เล่นอยู่นั้นคือของ Copy ที่ผิดลิขสิทธิ์ เพราะความแตกต่างของตัวแผ่นที่ PlayStation 1 นั้นตัวแผ่นจะมีสีดำสนิทที่ต่างกับแผ่น Copy ที่เป็นเหมือนแผ่น CD ทั่วไป จนมาถึง PlayStation 2 ที่แผ่นแท้กับแผ่น Copy แทบไม่ต่างกันเลยทั้งตัวกล่องและแผ่น จะต่างกันตรงที่ราคาที่ของแท้นั้นจะมีราคาหลักพันซึ่งเป็นราคาที่แพงมาก ๆ ในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารตามสั่งชามละ 15 บาท ขณะที่แผ่นเกม Copy ราคาจะไม่ถึงร้อยบาท จึงทำให้มีน้อยคนนักที่จะหาซื้อแผ่นเกมแท้มาเล่นกัน  และต่อให้เราอยากได้การเดินไปที่สะพานเหล็กแล้วหาซื้อแผ่นแท้ก็เป็นอะไรที่ยากอยู่ดี เพราะมีอยู่ไม่กี่ร้านเท่านั้นที่จะมีขาย จำเป็นต้องสั่งทางร้านเพื่อจะได้แผ่นเกมแท้มาสะสม ขณะที่ยุค Super Famicom กับ Famicom การหาแผ่นแท้มือ 1 นั้นแทบจะเป็นไปได้ยากถึงยากมาก ๆ ในยุคนั้น

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

ร้านเช่าเกม

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ
ของเล่นยุค90

อีกหนึ่งความยากลำบากที่นักเล่นเกมยุคเก่ามี นั่นคือราคาเครื่องเกมที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าเงินในยุคนั้น ที่ราคาเครื่องเกมจะตกอยู่ที่ 7,000-9,000 บาท การเข้าหาร้านเช่าเกมจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนทำกัน โดยการเช่าเกมนั้นจะเป็นแบบเช่าเป็นรายชั่วโมงที่มีตั้งแต่ชั่วโมงล่ะ 10 บาทไปจนถึงหลักร้อยบาทตามแต่ละสถานที่กับเครื่องเกมที่มีให้เล่น ซึ่งข้อดีของการเล่นร้านเช่าเกมก็คือเราสามารถเลือกเล่นเกมได้หลายเกม โดยที่ไม่ต้องซื้อแผ่นให้เปลืองเงิน แถมบางร้านก็มีเครื่องเกมที่ไม่รู้จักอย่างเครื่อง NeoGeo ที่ทั้งตลับและเครื่องเป็นอะไรที่แพงถึงแพงมาก ๆ ไปจนถึงเครื่อง Dreamcast ของ Sega ที่จะมีให้เล่นในร้านเช่า นั่นจึงนับเป็นข้อดีที่คนในยุคนั้นได้เจอ แต่ความยากลำบากก็คือการรอเวลาต่อคิวเล่น หรือเจอเด็กในร้านมาช่วยสอนแนะนำเรา  จนหลายคนอยากจะทำการฆาตกรรมเด็กที่มาตะโกนสอนเราเล่นข้าง ๆ มากกว่าเล่นเกม

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ
Facebook 2018

ระบบ Save เกมแบบใช้ถ่านกับ Memory Card

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

กลับมาที่ระบบ Save เกมอีกครั้ง ที่คราวนี้จะเป็นการเพิ่มเติมของระบบ Save เกมบนเครื่องเกมพกพาอย่าง Game Boy กับ PlayStation ที่มีระบบการเซฟที่คนยุคก่อนต้องปวดหัวกับมันไม่แพ้ระบบจด Password ที่ในยุคถัดมาอย่างเครื่อง Super Famicom กับ Game Boy ที่ใช้ตลับนั้น จะใช้ระบบการ Save ด้วยถ่านที่อยู่ในตลับ(ดูภาพประกอบ) ซึ่งการ Save เกมแบบนี้จะมีข้อเสียงอย่างใหญ่หลวงก็คือ ถ้าถ่านหมดสิ่งที่เราสั่งสมมาในเกมจะหายไปจนหมดทันที และจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นถ้าเราซื้อตลับ Copy ที่ระบบ Save เกมในตลับจะเป็นเพียงตะกั่วดำ ๆ ที่ไม่ใช่ถ่าน Save ที่ใช้ในการบันทึกเกมได้บ้างไม่ได้บ้าง(ส่วนมากไม่ได้) ที่เรียกว่านรกของคนเล่นเกมยุคนั้นเป็นอย่างมาก จนมาถึงยุค Memory Card บน PlayStation ที่เราสามารถพกพาไปไหนมาไหนก็ได้ ซึ่งบางคนลงทุนซื้อ Memory Card เป็นของตัวเอง(แต่ไม่มีเครื่อง) เพื่อเอาไปเล่นร้านเช่าก็มี

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

เกมตู้คือการโชว์ความเทพ

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

อีกหนึ่งสิ่งที่ในยุคนี้เราอาจจะเห็นได้น้อยลง นั่นคือการได้เห็นเกมตู้วางตามห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ลูกค้ามากหน้าหลายตาได้ลองมาฝึกฝีมือโชว์ความเก่งเทพกัน ซึ่งเกมที่ได้รับความนิยมในยุคนั้นก็คือเกม Tekken 2, X-man, The king of fighters ไปจนถึง Street Fighter ภาคต่าง ๆ ที่มีให้เลือกเล่นมากมาย ที่เราจะได้เห็นนักเล่นเกมเก่ง ๆ หลายคนมาโชว์ความเทพในการกดคอมโบท่าต่อเนื่องให้เราได้เห็น และหนึ่งในปัญหาที่คนเล่นเกมยุคนั้นได้เจอ ก็คือความไม่เคยชินกับ Controller Joy แบบคันโยกที่ต่างกับ Controller Joy แบบปุ่มที่เราเล่นประจำ ที่แม้เราจะเทพแค่ไหนบนเครื่องคอนโซล พอมาเจอปุ่มที่ไม่คุ้นเคยบนเกมตู้ก็จะเล่นได้ไม่กี่ตาก็แพ้ หรือโชคร้ายไปอีกคือเจอเจ้าถิ่นสุดเทพมาแข่งสู้ จนสุดท้ายก็ทำได้แค่กุมความเจ็บใจและดูเจ้าถิ่นโชว์คอมโบแทน ที่ในยุคนี้เราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นแล้ว

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

การ Turn เกม

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

ย้อนกลับไปที่สะพานเหล็กแหล่งขายเกมอันดับหนึ่งในประเทศไทยอีกครั้ง ที่ในยุคอดีตสมัยเครื่อง Famicom กำลังเป็นที่นิยมในตลาด การจะซื้อขายตลับเกมกับเด็ก ๆ ในยุคนั้นค่อนข้างยากลำบาก เพราะแม้ตลับเกมของ Copy จะราคาเพียงหลักร้อยบาท แต่ในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 10 บาทกับเด็กที่ได้เงินไปโรงเรียนเฉลี่ย 20 บาทมันเป็นอะไรที่ยากในการซื้อเกมตลับใหม่ ในตลาดจึงมีระบบ Turn Game เกิดขึ้น โดยการ Turn นั้นจะอ้างอิงความจุของตลับเป็นตัววัดคุณค่า เช่นเกมนี้มีความจุเท่านี้ก็จะมีราคาสูงถ้าเราเอาเกมที่มีความจุต่ำกว่ามา Turn เราต้องจ่ายเงินเพิ่มในส่วนต่างนั้น แต่ถ้าความจุเราเยอะกว่าก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีค่าคิดความจุต่างกัน แต่มันก็ทำให้เราสามารถเล่นเกมใหม่ ๆ ได้เรื่อย ๆ จนมาถึงยุค PlayStation ที่ระบบ Turn ก็ยังมีแต่จะรับเพียงแค่แผ่นแท้ โดยเพิ่มส่วนต่างเงินเพียงเล็กน้อยเพื่อแลกกับเกมใหม่ที่เพิ่งวางจำหน่าย โดยเกมที่ทางร้าน Turn มานั้นก็จะถูกเอามาขายเป็นแผ่นมือสองในราคาถูก และการ Turn ก็รวมถึงเครื่องเกมด้วยแต่จะไม่นิยมเท่าการ  Turn เท่าแผ่นเกมเพราะเครื่องเกมในยุคนั้นจะมีแค่ไม่กี่เจ้า

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ
Gconhub Forum

คว่ำเครื่อง PlayStation เป่าตลับเกม Famicom

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

อีกหนึ่งความยากลำบากที่นักเล่นเกมยุคนั้นได้เจอ ก็คืออาการมีปัญหาของเครื่องเกมที่เราเล่น ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง Famicom ที่เมื่อเปลี่ยนตลับไปเล่นเกมอื่นแล้วเกมกลับเปิดไม่ติด และต่อให้เราจะแกะตลับมาใส่กี่ครั้งก็ไม่ติด แต่พอเราเอาปากเป่าตลับ(ตามรูป) เมื่อเสียบเปิดเครื่องเกมกลับติดได้อย่างน่าประหลาด หรือจะเป็นยุค PlayStation 1 ที่เมื่อเครื่องเกมใช้ไปนาน ๆ หัวอ่านที่เป็นตัวอ่านข้อมูลบนแผ่นจะสึกจนทำให้เปิดเกมเหล่านั้นไม่ติด สิ่งที่คนเล่นเกมในยุคนั้นทำก็คือการคว่ำเครื่องเกม เพื่อให้หัวอ่านไปอยู่ในจุดที่มันควรเป็น หรือถ้าใครมีฝีมือในการแกะก็จะเอากระดาษมารองใต้หัวอ่านแทนการคว่ำเครื่อง จนมาถึงเครื่อง PlayStation 2 อาการเหล่านี้ก็หาย

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

เล่นเกมมาก ๆ จะโง่ ทีวีพังเร็ว

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

ปิดท้ายกับความยากลำบากที่นักเล่นเกมในยุคก่อนต้องเจอ กับคำต่อว่าติติงจากเหล่าผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ในยุคนั้น ที่มองว่าวิดีโอเกมที่คนยุคนั้นเล่นคือสิ่งไร้สาระงมงายทำเด็ก ๆ ให้เสียคน การเล่นเกมจะทำให้เราโง่เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง จนอาจจะทำให้สายตาเสียสมองเสื่อม หรือไม่ก็ใช้ข้ออ้างว่าเล่นเกมมาก ๆ ทีวีจะพังเร็ว เพราะเครื่องเกมไปเปลี่ยนแปลงระบบภายในของทีวีที่เราเล่น(ความคิดของคนยุคเก่าที่เข้าใจกัน) ซึ่งการที่วิดีโอเกมได้รับการยอมรับมากขึ้นในยุคนี้ ก็มาจากคนรุ่นเก่าที่เติบโตมากับวิดีโอเกม จึงรู้ว่าวิดีโอเกมนั้นไม่ใช่สิ่งที่ทำร้ายสำหรับเด็ก ๆ ขณะที่คนแก่ที่ยังคงคิดแบบนั้นและต่อว่าเกมอย่างที่เราเห็นตามสื่อต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ แต่ก็มีผู้ใหญ่หลายคนในยุคนั้นเริ่มเปลี่ยนความคิด เพราะสุดท้ายสิ่งที่มันไม่จริงยังไงมันก็ไม่จริง อะไรที่มันไม่ดีปิดเท่าใดมันก็ปิดไม่มิด และอะไรที่มันดีต่อให้ถูกว่าขนาดไหนสุดท้ายคนก็รู้ว่ามันดีนั่นเอง

ความยากลำบากในการเล่นเกมที่คนยุคก่อนต้องเจอ

เป็นอย่างไรกันบ้างกับการย้อนอดีต ไปดูความยากลำบากที่คนในยุคนั้นต้องเจอ โดยเป้าหมายของบทความนี้ ต้องการให้คนเด็กยุคนี้ได้รู้จักเรื่องราวของวิดีโอเกมในอดีตว่าเป็นอย่างไร และเพื่อให้คนเล่นเกมในยุคนั้นได้หวนรำลึกอดีตกัน หวังว่าจะถูกใจกันไม่มากก็น้อย และถ้าใครมีอะไรอย่างเพิ่มเติมก็มาบอกกันได้เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส