นับตั้งแต่ที่เกม ‘Resident Evil Village’ วางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา หนึ่งสิ่งที่มาควบคู่กับเกมนั่นคือคำพูดของใครหลาย ๆ คน ที่ยังไม่ได้ซื้อเกมในวันแรกว่าต้องหลบสปอยล์(Spoil) ให้ดีจนกว่าจะซื้อเกมมาเล่น ซึ่งเมื่อพูดถึงการสปอยล์ก็ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในเกมนี้เป็นครั้งแรก แต่มันมีมานานแล้วและไม่ใช่แค่ในวงการเกมแต่ยังรวมถึงวงการภาพยนตร์ไปจนถึงสื่อต่าง ๆ จนมีการประกาศบอกหรือขอร้องคนอื่นว่าอย่างเอาเนื้อหาตรงนั้นมาเปิดเผย จนกลายเป็นประเด็นในหลายคนมาถกเถียงกันว่าการสปอยล์คืออะไรควรหรือไม่ควรทำ วันนี้เรามาวิเคราะห์เจาะลึกกันว่าการสปอยล์เหมาะหรือไม่ควรรึเปล่า มาดูเหตุผลเป็นกลางของทั้งฝ่ายกันเพื่อว่าจะได้แง่คิดมุมมองที่น่าสนใจขึ้นมาบ้าง
หมายเหตุ. ในบทความนี้จะไม่มีการสปอยล์ภาพเนื้อหาสำคัญของภายนตร์เกมใด ๆ ทั้งสิ้น
สปอยล์เกมคืออะไร
ก่อนเข้าสู่เนื้อหาเรามาทำความรู้จักคำว่า ‘Spoil’ หรือสปอยล์ ในภาษาอังกฤษที่หมายถึงการทำให้เสียหาย ซึ่งสามารถเอามาใช้ในความหมายอ้อม ๆ ได้ในวงการสื่อ ที่หมายถึงการเฉลยเปิดเผยเนื้อเรื่องหรือส่วนสำคัญจุดใดจุดหนึ่งของสื่อนั้น ๆ เพื่อให้คนที่ยังไม่ได้รับรู้เรื่องราวล่วงหน้าได้ทราบ จะแบบเต็มใจรึไม่ก็ถือว่าเป็นการสปอยล์ทั้งหมด ซึ่งในต่างประเทศก็ใช้ความว่าสปอยล์ในการสื่อความหมายในแบบเดียวกัน และคำว่าสปอยล์นั้นจะมีความหมายในทางที่ไม่ดีทั้งหมด โดยเฉพาะในวงการภาพยนตร์เราจะเห็นได้บ่อยที่สุด กับการเอาฉากเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์นั้น ๆ มาเปิดเผยผ่านตามสื่อต่าง ๆ เพื่อแกล้งคนที่ยังไม่ได้ดูให้รับรู้ หรือบางทีก็เกิดจากความรู้สึกประทับใจของคน ๆ นั้นที่มีต่อภาพยนตร์เกมหรือหนังสือที่อ่าน จนเอาส่วนนั้นมาพูดถึงตามสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งบางคนที่ไม่ได้อยากรับรู้หรืออาจจะไม่มีเวลาไปติดตามสื่อเหล่านั้น ก็ต้องมารับรู้ในส่วนสำคัญนั้นจนทำให้คนที่ได้รับเสียความรู้สึกดี ๆ ที่มีในสื่อนั้น ๆ ไป ซึ่งถ้าเป็นแบบไม่ได้ตั้งใจนี่ก็พอให้อภัยแต่ที่แบบจงใจนี่ก็น่าโกรธอยู่
แค่ไหนเรียกว่าสปอยล์
ด้วยความหมายที่ค่อนข้างกว้างกับคำว่าการเปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญในเกมหรือภาพยนตร์ จนทำให้หลายคนไม่เข้าใจว่ามากแค่ไหนถึงเรียกว่าสปอยล์ ถ้าให้อธิบายแบบเห็นภาพง่าย ๆ การสปอยล์คือการบอกจุดสำคัญสั้น ๆ ผ่านรูปหรือข้อความ เช่นตัวละครตัวนี้ตายในเรื่องนี้ หรือคนนี้เป็นพ่อกับคนนั้นและเป็นหลานของคนนี้ที่เป็นลูกของหลานเขยอีกคน นั่นก็ถือว่าเป็นการสปอยล์ ซึ่งในวิดีโอเกมยุคนี้ที่นอกจากจะเน้นไปที่ระบบการเล่นกราฟิกแล้ว เนื้อเรื่องก็เป็นส่วนสำคัญที่นักพัฒนาเกมใส่ใจ และการเปิดเผยเนื้อเรื่องในเกมเมื่อเทียบกันแล้วในเกมจะมีจุดให้สปอยล์มากกว่าในภาพยนตร์ ที่อาจจะมีจุดสำคัญที่สปอยล์ได้จุดหรือสองจุด แต่ในวิดีโอเกมที่ผู้เล่นต้องอยู่กับเกม ๆ หนึ่งเกินกว่า 10 ชั่วโมง จึงมีจุดที่ถูกสปอยล์ออกมาได้เยอะมากที่นอกจากเนื้อเรื่องแล้วยังสามารถสปอยล์วิธีการผ่านบอกจุดสำคัญในเรื่อง เช่นเกม ‘The Last of Us Part II’ ในช่วงที่เกมออกมาใหม่ ๆ การให้เห็นตัวละครดีน่า (Dina) ในเกมก็ถือว่าสปอยล์แล้ว รวมถึงวิธีปราบหัวหน้าตัวนี้คือแบบนี้ ไปจนถึงจำนวนร่างของหัวหน้าว่าตัวนี้มี 3 ร่างในการสู้ เพียงแค่นี้ก็ทำให้คนเล่นรู้สึกหมดสนุกได้เลย เพราะการไปเล่นเองรู้เองประมาณว่ามีร่างสองร่างสามด้วย กับแบบที่เรารู้ล่วงหน้าว่ามันมีสามร่างจากการสปอยล์ ความรู้สึกมันต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ของคนเล่น อย่างในกรณีของเพจเกมชื่อดังที่ถูกปิดเพราะมีคนไปแจ้ง ‘FaceBook’ ว่าเพจนี้เปิดเผยเนื้อหาในเกม ‘God of War’ เกี่ยวกับอาวุธของตัวละคร ที่แม้จะเป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ แบบนี้หลายคนก็รู้สึกไม่พอใจได้ แต่บางคนอาจจะคิดว่าแค่นี้ก็มีปัญหาเรื่องมาก ซึ่งต้องบอกว่าความรู้สึกคนเรามันต่างกันเอามาเทียบกันไม่ได้
ตัวอย่างเกมภาพยนตร์ถือว่าสปอยล์ไหม
ต่อเนื่องจากหัวข้อที่แล้วถ้าเราบอกว่าแค่จุดเล็ก ๆ ในเกมที่เอามาพูดถึงก็เท่ากับสปอยล์ ถ้าอย่างนั้นตัวอย่างที่ค่ายเกมภาพยนตร์เอามาปล่อยให้เราดูนี่เรียกว่าสปอยล์รึเปล่า ซึ่งก็ต้องบอกว่าใช่นั่นคือการสปอยล์แบบไม่มีอะไรเถียงได้เลย ยกตัวอย่างเกม ‘Resident Evil Village’ ที่เปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญว่าอีธาน (Ethan) ที่รอดชีวิตจากภาคที่แล้วกลับมามีความสุขและได้ลูกสาว ก่อนจะถูกครีส (Chris) ฆ่าภรรยาต่อหน้าต่อตาเราและแย่งลูกไป เอาจริง ๆ นั่นถือว่าเป็นการสปอยล์ที่รุนแรงมาก ๆ เพราะมันคือการเปิดเผยเนื้อเรื่องสำคัญในเกมออกมาเลยทีเดียว แต่ถ้าเรามองในแง่ของการตลาดการเปิดเผยเนื้อเรื่องส่วนนี้ ก็เป็นการดึงผู้เล่นให้หันมาสนใจได้เหมือนกัน เพราะตอนที่ตัวอย่างนี้ถูกปล่อยออกมาสื่อทุกที่ต่างตีความกันไปมากมายว่าครีสจะเปลี่ยนเป็นตัวร้าย ครีสทำแบบนี้ไปทำไม พร้อมเหตุผลมากมายที่แฟน ๆ ช่วยกันคิด ซึ่งนั่นคือผลดีทางการตลาดที่ปล่อยตัวอย่างสปอยล์แบบนี้ออกไป และแน่นอนว่าต้องมีคนไม่พอใจที่มีการสปอยล์แบบนี้ ทาง ‘Capcom’ ที่เตรียมการไว้แล้วจึงบอกว่านั่นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของเนื้อหาเท่านั้น ซึ่งภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องก็เลือกจะทำแบบนั้น ยิ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่ไม่ใช่ภาคต่อการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนเพื่อบอกคนดูให้สนใจ เช่นภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะไปบุกรังซอมบี้เพื่อเอาเงินในคาซิโนที่อยู่ใจเมืองในภาพยนตร์ ‘Army of the Dead’ นั่นก็คือการสปอยล์แต่มันก็ทำให้เราอยากดูมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ดีกว่าการปล่อยตัวอย่างที่ไม่ตรงกับเนื้อหาในเกมที่ ‘The Last of Us Part II’ อันนั้นเรียกว่าหลอกลวงคนเล่นมากกว่าการสปอยล์ของ ‘Capcom’ เสียอีก หรือให้สรุปตัวอย่างที่ปล่อยออกมานั่นคือการคิดและกลั่นกรองมาแล้วของทีมการตลาด เพื่อผลประโยชน์ของตัวสื่อที่จะนำเสนอไม่ใช่การทำลายภาพยนตร์หรือเกมตัวเอง
Spoil Phobia โรคกลัวสปอยล์
ในระหว่างที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการสปอยล์ก็ได้ไปเจอคำ ๆ หนึ่งที่ถูกใช้สำหรับคนที่กลัวการสปอยล์ นั่นคือโรค ‘Spoil Phobia’ หรือความกลัวการถูกสปอยล์ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อคน ๆ นั้นต้องการความบันเทิงอย่างภาพยนตร์เรื่องนี้เกมนี้เราอยากเล่น แต่เราอาจจะยังไม่มีเวลาไปดูหรือซื้อมาเล่น คน ๆ นั้นจะกลัวการถูกเปิดเผยเนื้อหาขึ้นมาทันที ซึ่งความรุนแรงของโรคนี้ก็จะต่างกันไป บางคนก็ไปบอกตามสื่อต่าง ๆ ที่ตนเองอยู่ว่าห้ามสปอยล์เนื้อเรื่องเกมหรือภาพยนตร์นั้น ๆ บางกรณีก็อาจจะไม่เล่นโทรศัพท์เพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้เนื้อหาที่อาจหลุดมา บางรายหนักถึงขนาดไปแจ้งปิดเพจหรือเพื่อนคนนั้นเพราะเขาเปิดเผยเนื้อเรื่องที่เรายังไม่ได้รับรู้ บางคนก็อาจจะโพสต์ข้อความที่รุนแรงเชิงด่าต่อว่าคนที่จะสปอยล์ก็มี นั่นคืออาการของโรค ‘Spoil Phobia’ แต่เมื่อไปหาข้อมูลเรื่อง ‘Phobia’ กลับไม่พบโรคนี้แต่อย่างใด แม้แต่ในต่างประเทศก็ไม่มีใครพูดถึงโรคนี้จะมีก็แค่ในบ้านเราเท่านั้น แต่ถึงจะไม่มีชื่อโรคนี้จริง ๆ แต่คนที่มีการเหล่านี้เราก็เห็นได้ทั่วไป
ระยะเวลาที่สปอยล์ได้
ถ้าถามว่าระยะเวลานานแค่ไหนถึงจะเริ่มสปอยล์ได้ อันนี้เอาจริง ๆ ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้เพราะขนาดภาพยนตร์ที่ออกมาแล้วหลายสิบปีอย่าง ‘Titanic’ หรือ ‘ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ’ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีคนเคยดูหรือรู้ตอนจบ การที่เราไปบอกคนเหล่านั้นถึงเนื้อเรื่องสำคัญของ 2 เรื่องนี้จะพูดด้วยปากหรือโพสต์ตามสื่อต่าง ๆ ก็ถือว่าเป็นการสปอยล์อยู่ดี แต่คนอาจจะไม่สนใจสิ่งที่คุณโพสต์บอกไป เพราะคนส่วนมาเขารับรู้เนื้อเรื่องส่วนนี้ไปแล้ว ดังนั้นเวลาจึงมีส่วนสำคัญมาก ๆ ในการกำหนดเงื่อนไขในการสปอยล์ ซึ่งทางด้านภาพยนตร์เรายังพอเข้าใจว่าเมื่อภาพยนตร์นั้นออกจากโรงฉายได้ไม่นานเราก็สามารถสปอยล์ได้ แต่กับเกมที่ไม่มีกำหนดตายตัวจึงยากกว่าที่จะกำหนดว่าเมื่อใดควรหรือไม่ควรสปอยล์ ยกตัวอย่าง ‘The Last of Us Part II’ ตอนนี้เราจะสปอยล์ได้รึยังก็ไม่มีใครตอบได้ว่าควรไหม แต่ที่เราบอกได้คือกระแสตอบกลับจากคนที่กลัวการสปอยล์จะลดลง หรือบางทีจะไม่มีใครมาว่าคนสปอยล์ด้วยซ้ำ เพราะมันผ่านมานานแล้วหลายคนเริ่มรู้แล้วว่าเนื้อเรื่องมันเป็นอย่างไร หรือบางคนก็อาจจะไม่สนใจอยากรู้แล้วก็มี ยกตัวอย่างอีกหนึ่งกรณีอย่างเกม ‘Resident Evil Village’ ที่ถ้าคุณเล่นเกมจนจบแล้วสปอยล์เนื้อเรื่องในเกมคุณจะถูกรุมต่อว่าทันที แต่ถ้าเวลาผ่านไป 2-3 อาทิตย์หรืออาจจะหนึ่งเดือนผ่านไป คุณที่โพสต์สปอยล์จะไม่ถูกใครว่าแล้วก็ได้ สรุปง่าย ๆ ก็คือเราไม่สามารถบอกได้ว่าเมื่อใดถึงสปอยล์ได้ แต่เราที่อยู่ในวงการเกมจะรู้ได้เองว่าตอนนี้คือสปอยล์ได้แล้ว มันคือความรู้สึกที่คนซึ่งไม่ได้อยู่วงการเกมจะไม่มีวันเข้าใจ
สปอยล์ได้ไหมถ้าอยากทำ
ถ้าการสปอยล์มันรุนแรงมีคนไม่ชอบแบบนี้เราสามารถสปอยล์ได้ไหมถ้าอยากทำ คำตอบคือได้คุณสามารถสปอยล์ลงรูปเปิดเผยข้อความหรือจะทำอะไรก็ได้ทั้งหมดไม่มีใครว่า ตรงข้ามถ้ามีคนมาว่าคุณก็สามารถตอบโต้กลับไปได้ แต่นั่นต้องเป็นสื่อในพื้นที่ของคุณเท่านั้นไม่ใช่สื่อสาธารณะอย่างตามกลุ่มเพจอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พื้นที่ของคุณ ถ้าเป็นอันนี้คือผิดควรโดนต่อว่า หรือใครที่ไปสั่งปิดเพจหรือเพื่อนคนนั้นเพราะเขาสปอยล์เนื้อหาในเกมภาพยนตร์คุณก็ผิด เพราะมันคือพื้นที่ของเขา เราไม่มีสิทธิ์ไปต่อว่าคนอื่นในพื้นที่ของเขา ถ้าไม่ชอบก็เลิกเป็นเพื่อปิดการมองเห็นไปไม่ใช่ไปว่าคนอื่น แต่ถ้ามองในแง่ของความถูกต้องการเห็นใจคนอื่นที่ไม่ใช่แค่ตัวฉันคนอื่นไม่สนฉันจะสปอยล์ มันก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองว่าจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นมากน้อยแค่ไหน
ในอดีตเคยมีการสปอยล์แบบนี้ไหม
ถ้าถามว่าการสปอยล์นั้นมีมานานแค่ไหนก็ต้องบอกว่ามีมานานพร้อม ๆ กับการสร้างภาพยนตร์เลย ที่ในอดีตสมัยก่อนที่การติดตามข่าวสารต่าง ๆ ยังอยู่ในหนังสือพิมพ์ก็เคยมีการหลุดสปอยล์มาแล้ว อย่างภาพยนตร์ ‘Star Wars Episode V The Empire Strikes Back’ ที่ก่อนภาพยนตร์จะฉายเคยมีนักแสดงที่ถ่ายทำในตอนนั้น เผลอบอกเนื้อหาสำคัญในเรื่องนี้ออกไปผ่านสื่อหนังสือพิมพ์เล็ก ๆ เจ้าหนึ่งแบบไม่ตั้งใจ ขณะที่วงการเกมนั้นถ้าจะมองกันจริง ๆ ก็เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นช่วงปลาย ‘PlayStation 3’ ถึงช่วงต้น ‘PlayStation 4’ ที่ในตอนนั้นตัวเกมเริ่มจะมีเนื้อเรื่องซับซ้อนเหมือนภาพยนตร์มากขึ้น บวกกับการสื่อสารที่รวดเร็วเข้าถึงมากขึ้นกว่าอดีต ซึ่งในอดีตนั้นตัวเกมส่วนมากจะไม่ค่อยมีเนื้อเรื่องที่ซับซ้อนหรือต้องปิดบังเมื่อเทียบกับสมัยนี้ แต่ก็มีหลายเกมที่เน้นเนื้อเรื่องอย่าง ‘Final Fantasy Vll’ ที่ลงบน ‘PlayStation 1’ ที่ในยุคนั้นการติดตามข่าวสารจะทำได้จากนิตยสารเกมที่แปลมาจากต่างประเทศอีกที ซึ่งกว่าที่บ้านเราจะได้รับรู้ข่าวนี้คนส่วนมากก็เล่นเกมจบไปเกือบหมดแล้ว แต่บางคนที่ยังไม่เล่นพอมาอ่านเจอก็เท่ากับโดนสปอยล์เช่นกัน หรือถ้าจะโดนจริง ๆ ก็น่าจะมาจากเพื่อนที่เล่นเกมมาบอก แต่คนยุคนั้นก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองโดนสปอยล์แต่อย่างใดเมื่อเทียบกับยุคนี้ เพราะการสปอยล์มันทำได้ยากหรือนาน ๆ จะเจอทีนั่นเอง
คนที่ไม่รู้สึกอะไรกับการถูกสปอยล์ก็มี
แน่นอนว่าเมื่อมีคนที่ไม่ชอบการถูกสปอยล์ก็ต้องมีคนที่ต้องการรับรู้เรื่องราวก่อนดูภาพยนตร์หรือเล่นเกมนั้น ๆ เพื่อความสนุกตอนเล่นหรือดู แค่คนแบบนี้จะมีน้อยและไม่ค่อยบอกใครว่าตัวเองเป็นคนแบบนั้น ซึ่งเราต้องแยกกับคนประเภทที่ไม่สนใจไม่รู้จักหรืออะไรก็ได้ออกไป เพราะคนประเภทนั้นเขาไม่ได้อินหรือสนใจ ประมาณดูก็ได้ไม่ได้ดูหรือรับรู้เรื่องราวก่อนก็ไม่เป็นอะไร ซึ่งหลายคนก็คงจะเป็นแบบนั้นกับสิ่งที่ตัวเองไม่สนใจ แต่กับคนที่ชอบการสปอยล์รู้เนื้อเรื่องก่อนไปเล่นไปดูนั้นเขาคือคนที่ไปดูหรือซื้อเล่นแน่นอน แต่ขอรู้ก่อนไม่อยากไปรู้ในเกมหรือในภาพยนตร์เพื่อเป็นการตัดสินใจว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สนุกไหมเกมนี้มีอะไรน่าสนใจ เราจึงได้เห็นเพจหรือช่องตาม ‘YouTube’ มีรายการเกมภาพยนตร์ที่มีการเปิดเผยเนื้อเรื่องบอกทุกอย่างอยู่มากพอ ๆ กับรายการที่พูดถึงเกมภาพยนตร์นั้น ๆ แต่จะกำกับใต้ชื่อหรือบอกคนดูเลยว่าวิดีโอนี้ไม่มีการสปอยล์ ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจหรือมองว่าตัวเองผิดปกติที่อยากรับรู้เรื่องราวก่อน แต่คุณแค่ไม่สิทธิ์ที่จะเอาความชอบของตัวเองไปตัดสินคนอื่น ว่าคนที่กลัวการสปอยล์คือคนที่ใช้ไม่ได้เท่านั้น
ความรู้สึกของคนที่ถูกสปอยล์
คราวนี้มาดูความรู้สึกของคนที่ถูกสปอยล์บ้างว่าเขารู้สึกอย่างไร เมื่อต้องมารับรู้เนื้อหาสำคัญหรือเรื่องราวที่เป็นจุดสำคัญในเนื้อเรื่อง ยกตัวอย่างง่าย ๆ กับเกมหรือภาพยนตร์ที่คุณชื่นชอบรอคอยเพื่อที่จะได้ดูหรือเล่นเกมนั้น ๆ แต่ด้วยปัญหาหลาย ๆ อย่างเช่นการเงินที่ยังไม่อำนวยในกรณีของเกมที่มีราคาสูง ไปจนถึงเวลาที่ไม่พร้อม(ซื้อมาแต่ยังไม่มีเวลาเล่น) หรืออะไรก็ตามที่ทำให้คุณรับรู้สิ่งนั้นช้ากว่าคนอื่น คุณก็อยากที่จะไปรับรู้ตกใจกับสิ่งที่นักพัฒนาเกมหรือภาพยนตร์บอกกับเรา เช่นตัวละครตัวนี้ตายในเกมระหว่างที่เราเล่น มันจะให้ความรู้สึกตกใจเศร้าไปจนถึงโกรธเกลียดตัวละครที่ฆ่าตัวละครที่เราชอบในเกม ตรงข้ามกับเราที่รับรู้ว่าตัวละครตัวนี้ตายจากคนที่สปอยล์ พอมาเล่นก็จะไม่รู้สึกอะไรคือรู้อยู่แล้วว่าเดี๋ยวตัวละครตัวนี้ต้องตายแน่ ๆ แถมเกมที่เราซื้อมาเล่นมันราคาไม่ใช่ถูก ๆ การรู้สึกตกใจกลัวสนุกตื่นเต้นจากเกมจึงเป็นสิ่งที่เราต้องการ เหมือนการดูหนังผีที่มีคนซึ่งดูแล้วบอกคุณว่า “เดี๋ยวผีจะออกมาฉากนี้” คุณก็คงไม่ตกใจอะไรเพราะรู้ล่วงหน้าแล้ว กับการนั่งดูหนังผีแล้วตกใจเพราะไม่รู้ว่าผีจะออกมาตอนไหน มันให้อารมณ์ที่ต่างกันขนาดไหน นั่นคือสิ่งที่คนถูกสปอยล์ต้องการบอกให้คนที่ไม่เข้าใจรับรู้
สรุปประเด็นเกี่ยวกับการสปอยล์
มาถึงตรงนี้เราก็สามารถสรุปได้เลยว่าการสปอยล์นั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะการสปอยบางครั้งก็ทำให้ภาพยนตร์หรือเกมนั้น ๆ น่าเล่นมากขึ้น เพราะคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะซื้อเกมหรือเข้าไปดูภาพยนตร์ตัดสินใจง่ายขึ้น ซึ่งทางการตลาดเขาคิดมาแล้ว แต่ก็มีกรณีที่ทางการตลาดคิดผิดอย่างภาพยนตร์เรื่อง ‘10 Cloverfield Lane’ ที่ตัวโปสเตอร์หน้าโรงภาพยนตร์กลับเปิดเผยเนื้อเรื่องหลัก ที่ตัวภาพยนตร์พยายามปิดมาตลอดทั้งเรื่องให้คนดูสงสัยออกมาเสียอย่างนั้น(ใครที่เคยดูมาแล้วจะเข้าใจ) หลายคนที่ได้เห็นรูปนั้นก็ไม่ต้องลุ้นเลยว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร หรือจะเป็นสิ่งที่ ‘Naughty Dog’ ทำกับคนเล่นเกมด้วยการสร้างเนื้อหาที่ไม่ตรงกับตัวเกมออกมา เพราะตอนนั้นมีข่าวหลุดว่าเกี่ยวกับการสปอยล์เกม ‘The Last of Us Part II’ ออกมาก่อนเกมวางจำหน่าย จนทำให้ทางค่ายต้องทำโฆษณาที่ไม่ตรงกับตัวเกมออกมาเพื่อดึงกระแส ซึ่งก็น่าเห็นใจทั้งคนที่ถูกหลอกและทีมพัฒนาที่ต้องหลอกคนเล่น เพราะถูกคนเอาเนื้อเรื่องมาสปอยล์ และที่แย่กว่านั้นคือคนที่รับการสื่อสารนั้นมาแล้วก็เผยแพร่ต่อ ประมาณว่าฉันโดนมาแล้วคนอื่นก็ต้องโดนแบบฉัน หรือทำไปเพราะความสนุกที่ได้แกล้งคนอื่น แบบนั้นคือสิ่งที่สมควรโดนต่อว่ามากกว่า
ก็จบกันไปแล้วกับ 10 ประเด็นเกี่ยวกับการสปอยล์ โดยเป้าหมายของบทความนี้ก็เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงหัวอกของคนที่ไม่อยากถูกสปอยล์ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งถ้าขาดตกตรงส่วนไหนไปก็สามารถเพิ่มเติมเนื้อหากันมาได้เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองกัน เพราะบางทีเกม ๆ หนึ่งราคาไม่ใช่ถูก ๆ การเสียเงินให้กับบางสิ่งเราก็ต้องการรับรู้สิ่งที่มีให้คุ้มค่า ดังนั้นอย่างไปตัดความสุขของคนอื่นพียงเพราะความรู้สึกของตนเองเลย เพราะเมื่อเวลามาถึงเราก็สามารถพูดคุยเรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่ หรืออาจจะไปตั้งกลุ่มหรือพื้นที่สำหรับพูดคุยสำหรับเกมนั้นก็ได้ เพราะคุณจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันได้อย่างสนุกของคนที่เล่นมาแล้ว มากกว่าต้องมาอ่านคำต่อว่าขอร้องของคนที่ยังไม่ได้เล่น และถ้าใครทำได้หรือทำอยู่ก็ขอบคุณทุกที่ร่วมมือกันเพื่อสังคมเกมที่น่าอยู่มากขึ้น
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส