หากพูดถึงสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เป็นอันดับต้น ๆ ของเกม แน่นอนว่า Soundtrack หรือเพลงประกอบนั้น มันสำคัญมากไม่แพ้กับในส่วนของกราฟิก หรือเกมเพลย์เลยทีเดียว โดยในโลกของเกมนั้น มันก็เหมือนกับภาพยนตร์ที่จะเอาเพลงประกอบเหล่านี้มาช่วยกระตุ้นหรือสร้างอารมณ์ร่วมไปด้วยกัน
ลองนึกดูเล่น ๆ ว่าถ้าเราดูหนังอยู่สักเรื่องหนึ่ง และเพลงประกอบมันก็แย่มาก ๆ หรือบ้างก็ไม่มีเพลงอะไรเลย สิ่งที่ตามมาคือเราก็จะรู้สึกรำคาญ ไม่มีอารมณ์เข้าถึง ไม่อินไปกับบทบาทของมัน โดยในโลกของวิดิโอเกมเองก็เช่นกัน ที่เพลงประกอบเหล่านี้ถือเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกไปกับมัน และเข้าสู่โลกที่ผู้พัฒนาตั้งใจเอาไว้ครับ
ในวันนี้ผมจะมาพูดถึงกลุ่มบุคคลหนึ่ง ที่เป็นนักแต่งเพลงจากเกมดัง เกมที่ผมชอบเป็นการส่วนตัว และเป็นบุคคลที่สร้างแรงบัลดาลใจ รวมไปถึงสร้างความรักและความผูกพันที่ผมมีกับเกมเหล่านั้น มาตลอดชีวิตการเล่นเกมของผมกันครับ
แน่นอนว่าผมก็คงจะไม่มาเล่ารายละเอียดหรือประวัติความเป็นมาของนักแต่งเพลงเหล่านี้ตั้งแต่ต้นยันจบ เพราะมันก็จะกลายเป็นบทความที่พูดถึงประวัติของคนนั้น ๆ ไป แต่ผมจะหยิบเอาผลงานที่โดดเด่น รวมไปถึงสไตล์การแต่งเพลงของเขากันครับ
คนแรกที่ผมจะพูดถึง ก็คือ ‘โชจิ เมกุโระ’ (Shoji Meguro) นักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็น Sound Director และมือกีตาร์ โดยเขาทำงานให้กับบริษัท Atlas มาตั้งแต่ปี 1995 และเขาเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเพลงประกอบของเกม Shin Megami Tensei (ตั้งแต่ภาค 3), Devil Summoner และ Persona
เมกุโระเป็นนักแต่งเพลงที่ได้เอาแนวเพลง ร็อก, อิเล็กทรอนิกส์, แจ๊ส, คลาสสิก และ เจพอป มาผสมผสานเข้าด้วยกัน อีกทั้งเขายังเป็นคนที่สามารถฝัง “ลายเซ็น” ของตัวเองลงไปในทุก ๆ เพลงที่เขาแต่งเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน และมีชั้นเชิงมาก ๆ
โดยผลงานชุดแรกของเราอยู่ในเกม Revelations: Persona หรือชื่อญี่ปุ่น Megami Ibunroku Persona เกม Persona ภาคแรกสุดของซีรีส์ โดยเขาได้ทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ภายในบริษัท โดยในผลงานชุดนี้เขาได้แต่งมาทั้งหมด 16 Track และหนึ่งในนั้นก็มีเพลงที่กลายเป็นตำนานแห่ง Velvet Room ของวงการเกมจนถึงทุกวันนี้ “Aria of the Soul”
จนในที่สุดเขาก็ได้รับการยอมรับจาก Atlas และเพื่อนร่วมงาน ในปี 2003 เขาได้เป็นหัวหน้าทีมแต่งเพลงประกอบเกม Shin Megami Tensei III: Nocturne และนี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ฟังผลงานที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของเมกุโระ โดยในเกมนี้จะพูดถึงโลก Post-Apocalyptic หลังวันสิ้นโลกที่ถูกเหล่าปีศาจเข้ายึดครองในช่วงเวลาปัจจุบัน
Tokyo Conception คือเพลงที่ถูกใช้ในฉากต้นเกม โดยมันจะเป็นฉากที่โลกของเราล่มสลาย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเกม โดยแน่นอนว่าเราจะไม่พูดไปมากกว่านี้เพื่อไม่ให้เกิดการสปอยล์ โดยในเพลงนี้จะเล่นไปพร้อม ๆ กับ Cutscene ในเกมที่จะแสดงให้เห็นถึง วันสิ้นโลก ที่มันจะทำให้เรารู้สึกถึงวันสิ้นโลกที่แท้จริง และตราตึงใจผู้เล่นไปอีกนาน
เมกุโระได้ใช้เทคนิคการแต่งเพลงของตัวเอง ผสมผสานแนวเพลง ร็อก, อิเล็กทรอนิกส์, แจ๊ส, เข้าด้วยกัน โดยนี่ถือว่าเป็นงานที่เขาถนัดที่สุดมากเลย ยกตัวอย่างเช่นเพลงที่ผมชอบมากทีี่สุดในผลงานของเมกุโรทั้งหมด กับเพลง Normal Battle ~Town~ เป็นหนึ่งในเพลงที่ถูกใช้ในฉากต่อสู้ของเกมครับ
โดยเขาได้ใช้รูปแบบของ ‘ฟิวชันแจ๊ส’ ที่เป็นที่นิยมในปลายยุค 60-70 โดยเป็นการนำเอาแจ๊ส – ร็อกลูกผสม กันให้ลงตัวโดยใช้เครื่องดนตรีเดิม ๆ เพิ่มเติมคือกีตาร์ไฟฟ้า พร้อมกับ Effect Fuzz หนา ๆ แบบที่ Jimi Hendrix ชอบใช้ นั่นเอง
Normal Battle ~Town~ เป็นเพลงต้นแบบ ที่แสดงตัวตน สไตล์ และรูปแบบการเขียนเพลงของเขาออกมาได้อย่างชัดเจนที่สุด กับการใช้รูปของแบบพอปร็อก ที่มีจังหวะง่าย ๆ สบาย ๆ โดยใช้เสียงลีดกีตาร์ที่เป็นเอกลักษณ์ ของ Fender Stratocaster ทำหน้าที่เหมือนนักร้องนำ พร้อมกับใส่จังหวะร็อคหนัก ๆ เขามาช่วงคอรัส โดยเราจะเห็นเพลงรูปแบบนี้ในผลงานยุคหลัง ๆ ของเขาบ่อยมาก ที่ชัด ๆ เลยก็อย่างเช่นใน Persona ทั้ง 3 ภาคหลัง
และอย่างที่รู้กันว่า Shin Megami Tensei III (SMT3) นั้น เมกุโระเป็นผู้นำทีม เขาจึงมีอำนาจในการสร้างและทดลองอะไรใหม่ ๆ ตามที่เขาต้องการได้ตลอด ผลที่ออกมาคือเราจะได้ยินเพลงมากมายหลากหลายรูปแบบในเกมเดียวกัน แต่สุดท้ายแล้วเมกุโระก็ยังสามารถทิ้งลายเซ็นของตัวเองเอาไว้ได้ทุกเพลงที่เขาทำในเกม
อีกหนึ่งโจทย์ที่ยากมาก ๆ สำหรับการแต่งเพลงให้กับเกม RPG ก็คือ การที่จะทำยังไง ให้ผู้เล่นไม่รู้สึกเบื่อ หรือรำคาญ เมื่อต้องฟังและได้ยินเพลงนี้มันซ้ำ ๆ วนไปมาทุกครั้งตลอดการเล่น แถมยังต้องทำให้ผู้เล่นรู้สึกเข้าถึงอารมณ์ของเกมในช่วงเวลานั้น ๆ
Fierce Battle เป็นเพลงประกอบฉากตอนสู้กับบอสภายในเกม และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของเพลงที่ไม่จำเป็นต้องใช้คอร์ดหรือตัวโน้ตอะไรให้มันเยอะและยุ่งยาก ก็ออกมาดูดีและติดหูได้ทันที แถมยังฟังวนไปได้เรื่อย ๆ ไม่มีวันเบื่อ ถึงแม้จะใช้จังหวะที่หนักหน่วงก็ตาม เพลงนี้ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเพลงที่มีลายเซ็นของเมกุโระอยู่เต็ม ๆ กับผลงานยุคแรกของเขา ที่เราจะได้เห็นการพัฒนาได้ในเกมต่อ ๆ มาครับ
อีกหนึ่งเพลงสุดท้ายที่ผมจะหยิบเอามาพูดถึง ก็คือเพลงในฉาก Overworld ตามฉบับเกม JRPG ทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเพลงนี้มันมีอะไรมากกว่าเพลงประกอบฉากทั่ว ๆ ไป ก็เพราะว่ามันดันทำให้ผมรู้สึกเหมือนกับว่าได้กลับไปอยู่ในยุค 2003 โลกที่ล่มสลายไปแล้ว และมันก็มีเพลงนี้เล่นขึ้นมาจากที่ไหนสักที่ ให้ความรู้สึกทั้งสิ้นหวัง และมีหวังในเวลาเดียวกันได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียวล่ะ
ในยุคต่อมาของเขา หลังจากที่ได้พิสูจน์ฝีมือของตัวเองไปแล้วใน SMT3 รวมไปถึงเกมชุด Digital Devil Saga และในที่สุดก็มาถึงยุค Persona ที่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เนื้อหาของทั้งสองเกมอย่าง Shin Megami Tensei และ Persona นั้น มันจะแตกต่างกันมาก ถึงแม้ว่า Persona จะเป็น Spin-off มาจาก SMT แต่ก็เนื้อหามันก็จะไม่เกี่ยวกัน ไม่ได้อยู่ในโลกเดียวกัน และใน Persona เองนั้นจะมีเนื้อหาที่เบาลงมาหน่อย ไม่ออกแนวผู้ใหญ่แบบ SMT ครับ
และเมกุโระก็ได้เปิดตัวยุคใหม่ของ Persona ในภาคที่ 3 กับเพลงที่มีความยาวแค่ 1 นาทีครึ่ง “Burn My Dread”
เพลงประกอบของเกมชุด Persona ในยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ภาค 3 – 4 – 5 นั้น เป็นการทดลอง และเป็นการโชว์ฝีมือของเมกุโระออกมาแบบสุดขีด โดยในภาค 3 เราจะได้พบกับเพลงแนว ฮิปฮอป แรปร็อก และก็ยังมีกลิ่นเดิม ๆ ที่มาจากซีรีส์ SMT อยู่มาก
โดยเพลงที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้อย่าง Mass Destruction ที่เป็นเพลงโคตรฮิตของเกม และฟังได้เรื่อย ๆ ฟังกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ ตามหลักการที่เพลงนี้ เป็นเพลงที่ถูกใช้ในฉากต่อสู้ของเกม และน่าจะเป็นครั้งแรกที่ในที่สุดเราก็จะได้ยิน “เนื้อเพลง” แบบภาษาอังกฤษ ที่เมกุโระตั้งใจแต่งมันขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเกมของเขานั้นขายที่ญี่ปุ่นเป็นหลักเสียอีกด้วย
สาเหตุที่เพลงของเมกุโระมีเนื้อร้องภาษาอังกฤษนั้น เพราะเขาเคยให้เหตุผลไว้ว่า “มันช่วยสร้างเพลงที่ไม่กวนใจพวกเขา เหมือนที่เพลงญี่ปุ่นจะเป็น” แต่ถึงแบบนั้นในเนื้อร้องภาษาอังกฤษ มันก็มีความหมายเข้ากับตัวเกมอีกด้วย
จนมาถึงในยุคของ Persona 4 ที่เมกุโระได้กลับมาเลือกใช้แนวเพลง เจร็อก เจพอป แบบดั้งเดิม และคราวนี้จะเป็นครั้งแรกของเขาที่ได้แต่งเพลงจนหลุดกรอบเดิม ๆ และไม่มีกลิ่นของ SMT หลงเหลืออยู่อีกต่อไป ทำให้เพลงประกอบของ Persona 4 นั้นถือว่าเป็นผลงานที่สร้างมาตรฐานของ Soundtrack เกมซีรีส์ Persona เอาไว้เลยล่ะ
มีอยู่หลายเพลงมากใน Persona 4 ที่ผมชอบ โดยในแต่ละเพลงก็จะให้ความรู้สึกที่ คล้ายกัน แต่แตกต่างช่วงเวลา และสถานการณ์ โดยในเพลงในฉากต่อสู้อย่าง Reach Out To The Truth และ Time to Make History ที่ทำออกมาได้ดีมาก ๆ รวมไปถึงเพลงในฉาก Overworld อย่าง Signs of Love, Heartbeat, Heartbreak ที่ฟังได้ทั้งวัน ทั้งคืน ก็ยังไม่เบื่อเลยทีเดียวล่ะ
มาถึงยุค Persona 5 ยัน Persona 5 Strikers ที่เหมือนเป็นการกลับไปสู่ “รากฐาน” ตามแบบของเมกุโระที่เขาถนัดมาตลอด นั้นก็คือการนำเอาแนวเพลง ‘ฟิวชั่นแจ๊ส’ โดยการใช้ดนตรีร็อกแบบกีตาร์แน่น ๆ มาผสมผสานกับ ‘เอซิดแจ๊ส’ ซึ่งเป็นแนวเพลงที่ไม่ค่อยจะได้ยินกันสักเท่าไร ในชีวิตประจำวันครับ
เอซิดแจ๊ส เป็นแนวเพลงที่พื้นฐานแล้วไม่แตกต่างอะไรกับแจ๊สแบบเดิม ๆ ทั้งเท่าไร โดยในอเมริการู้จักอีกชื่อว่า กรูฟแจ๊ส เป็นแนวเพลงที่รวบรวมเอาองค์ประกอบของเพลงแจ๊ส, ฟังก์ และฮิปฮอป มารวมเข้าด้วยกัน โดยจุดเด่นของมันเลยก็คือการใช้จังหวะซ้ำไปซ้ำมา หรือการใช้ตัวโน้ตเดิม ๆ ซ้ำ ๆ วนไปมา รวมไปถึงการใช้เครื่องดนตรีหลากหลายชนิดให้เล่นโน้ตตัวเดียวกัน หรือภาษาดนตรีจะเรียกว่า Unison นั่นเอง
แน่นอนว่าเราจะไม่ลงลึกไปมากกว่านี้ เพราะมันจะกลายเป็นบทเรียนดนตรี 101 แทน โดยยกตัวอย่างจากเพลง Last Surprise เพลงฉากต่อสู้ประจำ Persona 5 ที่ได้เอาส่วนผสมของทั้ง ‘ฟิวชันแจ๊ส’ ‘เอซิดแจ๊ส’ มาผสมกัน
Last Surprise นั้นเป็นเพลงที่ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถระดับสูงของเมกุโระ ให้ตายยังไงชาตินี้เราก็คงหาเพลงแบบนี้ฟังจากที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว กับเพลงพอป ร็อก แจ๊ส ร่วมสมัย ที่ต่อให้เอาเพลงนี้ไปเปิดอีก 10-20 ปี มันก็ยังไม่เก่า และอยู่ในหัวของเราไปอีกนาน อีกทั้งเรายังสามารถเอาเพลงนี้ไปเปิดที่อื่นได้ โดยที่คนอื่น ๆ ก็ยังไม่รู้เลยว่ามันเป็นเพลงที่มาจากเกมเลยล่ะ
มีอีกหลายบทเพลงในฉากต่อสู้ของ Persona 5 ที่ผมอยากจะพูดถึง แต่มันจะกินหน้ากระดาษไปมากกว่านี้ อย่างเช่นเพลง Life Will Change หรือ Will Power ที่เป็นผลงานระดับ Masterpiece โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องดนตรี หรือคอร์ดและตัวโน้ตที่เยอะเลย
สำหรับผมแล้ว Persona 5 คือผลงานของเมกุโระที่ได้หยิบเอาแนวเพลงดั้งเดิมที่เขาชื่นชอบอยู่แล้วกลับมาทำใหม่ เพื่อให้คนในยุคนี้ได้ฟัง โดยเพลงที่ผมชอบที่สุดในชุดนี้ก็คือ When My Mother Was There ที่เป็นการใช้คอร์ดไมเนอร์ทั้งเพลง ให้ความรู้สึกสบาย รู้สึกถึงความเก่าความใหม่ ความเศร้า และรู้สึกนึกถึงย้อนไปในอดีตในเวลาเดียวกัน โดยมีน้อยเพลงมากที่จะทำให้ผมรู้สึกแบบนี้ได้ (อีกเพลงก็คือ Overworld ใน SMT3 และ Endwalker Theme ใน FFXIV)
อีกหนึ่งเพลงที่ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ อย่างเพลง The Whims of Fate ที่เป็นการนำเอาโครงสร้างคอร์ดเมเจอร์และคอร์ดไมเนอร์ แบบแจ๊สดั้งเดิมเข้ามาผสมผสานกันกับความเป็นเอซิดแจ๊ส ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของมัน และน่าจะเป็นเพลงที่ทำให้หลาย ๆ คนไม่จบ Palace (เป็นเหมือนดันเจี้ยนในเกม) นี้กัน เพราะมัวแต่ยืนฟังเพลงที่วนไปมาไม่รู้จบนี่ล่ะครับ
โดยจนถึงตอนนี้ หากใครที่นั่งฟังมาหมดทุกเพลงที่ผมยกมา ก็น่าจะพอมองออกแล้วว่าตัวเมกุโระนั้น เขาชอบดนตรีแจ๊สมากขนาดไหน โดยเขาได้เอาพื้นฐานของมันมาแต่งเพลงอยู่ตลอดเวลา หรือเรียกได้ว่า แจ๊๋สนั้นเป็น “รากฐาน” ของตัวตนที่แท้จริงของเขาเลยก็ว่าได้
ด้วยเหตุนี้ผมจึงขอยกตัวอย่างเพลง 3 เพลง ที่มาจากทั้งหมด 3 เกมที่ต่างกันไป โดยสิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 3 เกมนี้ ก็คือแนวเพลงที่เป็นแจ๊สง่าย ๆ สบาย ๆ กันทั้งหมดครับ
เพลงแรก Svadhistana จาก Shin Megami Tensei: Digital Devil Saga
จริง ๆ เพลงนี้จะมีกลิ่นบลูส์แรงมากกว่าอยู่ โดยถ้าหากใครที่ฟังเพลงนี้ แล้วไปเปิดเพลง Blues in Velvet Room ก็จะเห็นถึง ‘ลายเซ็น’ ของเมกุโระชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ผมเลือกเพลงนี้มา เพราะว่ามันเป็นเพลงจากซีรีส์ SMT ที่ถึงแม้จะเป็นภาคแยก แต่มันก็เป็นเกมที่ดี และเพลงประกอบในเกมนี้ก็ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากเท่าไร
เพลงต่อมา Also Sprach Brooks จาก Catherine
Catherine นั้นเป็นอะไรที่ใหม่มาก ๆ สำหรับตัวเมกุโระ ในระหว่างการพัฒนาเกมนั้น ทีมงานได้ให้คีย์เวิร์ดมา 3 อย่างนั่นคือ คลาสสิก มีความเป็นผู้ใหญ่ และ อิโรติก โดยมันไม่ใช่แนวของเมกุโระเลย แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาได้ไปลองใช้เครื่องดนตรีอย่าง Synthesizer ที่จะใช้เสียงจำลองแบบเต็มรูปแบบดูเป็นหลัก ซึ่งเดิมทีแล้วเขามักจะชอบใช้เครื่องดนตรีจริง ๆ อัดเสียงสด ๆ มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามผลที่ออกมามันก็ฟังดูดีมาก ๆ จนตัวเมกุโระเองก็ไม่อยากจะเชื่อ ทำให้ผลงานชิ้นต่อมาอย่าง Persona 5 ก็ได้รับอิทธิพลนี้ไปด้วยครับ
เพลงต่อมา Butterfly Kiss จากเกม Persona 5
Butterfly Kiss เป็นอีกหนึ่งเพลงใน Persona 5 ที่ผมชอบมาก โดยเพลงนี้หากฟังดูให้ดี ๆ จะพบว่ามันก็มี ลายเซ็นของเมกุโระฝังอยู่แบบให้เห็นกันชัด ๆ ในช่วงคอรัสของเพลง โดยตัวโน้ต 5 ตัว และเมโลดี้แบบเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ Persona 3 เป็นอีกหนึ่งเพลงที่นำเอาจังหวะของเอซิดแจ๊ส ที่เป็นแนวเพลงหลักของ Persona 5 มาผสมผสานเข้ากับการใช้เสียงสังเคราะห์จาก Synthesizer และแน่นอนกับเสียงลีดกีตาร์อันโดดเด่นของเมกุโระครับ
โชจิ เมกุโระ เป็นนักแต่งเพลงที่มีสไตล์ของตัวเองอย่างชัดเจน เทคนิคการใช้กีตาร์ไฟฟ้าของเขา ที่ผสมผสานกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ พร้อมกับการใส่ลายเซ็นของตัวเองเข้าไปในเกมต่าง ๆ ทำให้เราเมื่อได้ยินเมื่อไร ก็จะรู้สึกคุ้นเคย และรู้ได้ทันทีเลยว่านี่มันเป็นผลงานจากเขาคนนี้ทันทีที่ได้ฟังเลยล่ะ
โดยในปัจจุบันนี้ ผลงานล่าสุดของเมกุโระก็อยู่ใน Persona 5 Royal ที่วางขายไปในปี 2019 ที่มีเพลงอย่าง Take Over ออกมาเป็นเพลงใหม่ล่าสุด โดยเราก็ยังไม่รู้ว่าผลงานในอนาคตของเขาจะเป็นเกมอะไร แต่ผมก็แอบหวังไว้ว่าอยากให้เขากลับมาทำเพลงให้กับ Shin Megami Tensei ภาคหลักอีกครั้ง หลังจากในภาค 3 ที่ทำเอาไว้ดีมาก จนเป็นมาตรฐานและสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คนมาแล้วครับ
ยังมีบทเพลงอีกมากของเมกุโระที่ผมไม่ได้พูดถึง จริง ๆ มันมีเยอะมาก ๆ จนชนิดที่ว่าจะให้หยิบเอามาทั้งหมด ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากขาดเพลงไหนไปแล้วไม่ถูกใจใคร ก็ต้องขออภัยมาในที่นี้ด้วย สำหรับครั้งหน้า ผมจะกลับมาพูดถึงอีกหนึ่งนักแต่งเพลงชื่อดัง ที่สร้างตำนานบทเพลงของเขาเอาไว้ใน MMORPG ชื่อดังเกมหนึ่งครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส